ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022 หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตของโควิด-19 พร้อมนำเสนอแนวคิด ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’

การประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ประจำปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) สำหรับปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม APEC 2022 Thailand’ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และรองนายกรัฐมนตรีทุกท่านเป็นรองประธานกรรมการ และมีอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งการจัดประชุม APEC ปีนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ภายใต้ธีม “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล หรือ Open. Connect. Balance.” สำหรับการประชุมดังกล่าว จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ในรูปแบบการประชุมแบบพบหน้ากันเต็มรูปแบบ (physical meeting) เป็นครั้งแรก หลังจากต้องจัดประชุมในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (video conference) ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

เอเปค (APEC) เป็นการรวมกลุ่มแบบพหุภาคี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 มีเป้าหมายหลัก เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในมิติสังคมและการพัฒนาต่าง ๆ โดยสาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญในปี 2565 ประกอบด้วย 8 เรื่อง ได้แก่ ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ด้านการคลัง ด้านการท่องเที่ยว ด้านการเกษตร ด้านป่าไม้ ด้านกิจการสตรี ด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises : MSMEs) และด้านสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อมุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบัน ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยมีประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกเป็นสมาชิก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย เป็นต้น เอเปคมีประชากรรวมกันกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท ซึ่งเกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

สำหรับการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ได้มุ่งผลักดันประเด็นหลัก 3 ประเด็น ดังนี้

  • 1) เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ (Open) เปิดการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ที่ต้องสะดวก รวดเร็ว และทุกคนต่างได้รับประโยชน์อย่างครอบคลุม ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด-19 ที่จะสร้างการลงทุนให้เปิดกว้างขึ้น พร้อมตั้งรับการปรับเปลี่ยนสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน 
  • 2) สร้างการเชื่อมโยงทุกมิติ (Connect) ฟื้นฟูการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไกการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ (APEC Safe Passage Taskforce) พร้อมหารือแนวทางที่จะช่วยในการส่งเสริม อาทิ การอำนวยความสะดวกให้แก่อาชีพที่สำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีระบบรหัสแบบกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure : PKI) ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางที่เปิดกว้างขึ้น เช่น ผู้ประการรายย่อย ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนและต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว
  • 3) สร้างสมดุลรอบด้าน (Balance) ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ภายใต้แนวคิด Balance in all aspects ให้ความสำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่
    • (1) เศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ (inclusive economy) มีการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง โดยเน้นแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลา เซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth) รวมถึงผลักดันการสร้างเครือข่ายสตรีผู้ประกอบการ BCG ไปขยายผลในเอเปค
    • (2) พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) มาปรับใช้ เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพ (startup) โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมพร้อมไปกับสร้างผลกำไรทางธุรกิจ 
    • (3) ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainability through managing resources) เช่น การจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยในปีหน้า APEC 2022 จะยังคงส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมป่าไม้ต่อไป และในสี่ปีถัดไปประเทศไทยจะเรียกประชุมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านป่าไม้ เพื่อส่งเสริมการจัดการและการฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการรับรองผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ซึ่งเอเปค จะมีการสำรวจวิธีการเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ที่เก็บเกี่ยวมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
    • (4) ด้านความมั่นคงทางอาหาร (food security) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เอเปค จะส่งเสริมการใช้ข้อมูลและการวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาขยะในทะเล รวมถึงส่งเสริมการทำประมงรายย่อยและประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน ส่วนด้านแผนงานความมั่นคงทางอาหาร (food security roadmap) เอเปค จะรับรองความปลอดภัย ความมั่นคง และความยั่งยืนของอาหารสำหรับทุกคน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เช่น Big Data

อย่างไรก็ดี แม้การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน แต่ตลอดทั้งปี 2565 จะมีการประชุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกเดือน สำหรับเดือนสิงหาคมนี้ มีกำหนดการประชุมที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย อาทิ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่สาม (Third Senior Officials’ Meeting : SOM3) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง วันที่ 16 – 31 สิงหาคม ที่จังหวัดเชียงใหม่ / การประชุมรัฐมนตรีการท่องเที่ยวเอเปคครั้งที่ 11 (Tourism Ministers Meeting : TMM) และการประชุมคณะทำงานการท่องเที่ยวเอเปคครั้งที่ 60 (Tourism Working Group : TWG) วันที่ 19 สิงหาคม ที่กรุงเทพมหานคร / การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ (Senior Disaster Management Officials Forum) วันที่ 20 สิงหาคม ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

สำหรับการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยครั้งนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้ใช้ประโยชน์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตของโควิด-19 ให้เกิดแนวทางที่เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งหวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและการท่องเที่ยว จึงต้องติดตามต่อว่าผลลัพธ์จากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 Thailand ครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

สามารถติดตามกำหนดการประชุมต่าง ๆ ของ APEC 2022 Thailand ที่นี่

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
World Bank เผยปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ยังน่าห่วงเผชิญภาวะหยุดชะงัก – พร้อมชี้เศรษฐกิจหมุนเวียนคือหนึ่งในทางออก – SDG Move 
เวียดนามชูยุทธศาสตร์ชาติ Decision 450 หวังปกป้องสิ่งแวดล้อม-สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายในปี 2573 – SDG Move 
เลขาธิการบริหาร UNECE เสนอว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่คือความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อโลก – SDG Move 
SDG Updates | เปิดรายงานความก้าวหน้า SDGs ในเอเชียและแปซิฟิก ความมุ่งมั่นบรรลุทันในปี 2030 คงไกลเกินเอื้อม 
SDG Updates | เมื่อโลกต้องการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ไทยจึงมี ‘BCG’ (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติปี 2564 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.1) ดำเนินการให้เป็นผลตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนทุกประเทศนำไปปฏิบัติ โดยประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำ โดยคำนึงถึงการพัฒนาและขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.13) เพิ่มพูนเสถียรภาพเศรษฐกิจมหาภาคของโลก โดยรวมถึงผ่านทางการประสานงานนโยบายและความสอดคล้องเชิงนโยบาย

แหล่งที่มา: 
Balance – APEC 
เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation 
รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-ไทยเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพเอเปค 2565 
APEC 2022 Thailand โอกาสบนวิกฤตฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคโควิด 
ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และพัฒนาการสำคัญในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย – กระทรวงการต่างประเทศ 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on สิงหาคม 21, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น