เลขาธิการบริหาร UNECE เสนอว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่คือความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อโลก

การประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติในยุโรป ( United Nations Economic Commission for Europe: UNECE) ที่กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน 2021 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 69 โดยในปีนี้มีธีมหลักคือ “การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในภูมิภาค UNECE” ในการณ์นี้ นาง Olga Algayerova เลขาธิการบริหารของ UNECE ได้ออกบทความที่แสดงให้เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีใจความดังนี้

นาง Algayerova เขียนว่า ตามข้อมูลของ UN International Resources Panel การสกัดและการแปรรูปทรัพยากรส่งผลให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกถึง 90% และยังมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่ไม่รวมจากการใช้ที่ดิน ถึงครึ่งหนึ่งจากปริมาณทั้งหมดทั่วโลก โดย 56 ประเทศในภูมิภาค UNECE เป็นผู้ใช้และผู้ผลิตทรัพยากรธรรมชาติรายใหญ่ จึงต้องแบกความรับผิดชอบนี้ไว้ด้วย

นาง Algayerova ระบุว่า เราไม่สามารถมีกิจกรรมเศรษฐกิจในรูปแบบ ถลุง ผลิต ทิ้ง (Take, Make, Waste) อย่างที่มีมาตลอด 70 ปีได้อีกแล้ว และวัฒนธรรมการบริโภคแบบ ‘รวดเร็ว’ ต้องสิ้นสุดลง เพราะเราไม่มีดาวโลกดวงที่สองเพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรสำรอง ดังนั้น เราจึงต้องเปลี่ยนชุดความคิดของสาธารณะและผู้บริโภคให้มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อทรัพยากรที่ใช้ โดยต้องเริ่มจากทั้งผู้บริโภค ผู้ค้าปลีก และหน่วยงานกำกับดูแล ผลักดันให้มีการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง และอย่างชาญฉลาดขึ้น ต้องมีการสนับสนุนเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) และให้การใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแกนกลางของระบบเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจหมุนเวียนมีส่วนสำคัญในการลดปริมาณคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามความพยายามเพื่อบรรลุข้อตกลงปารีส และตอบโจทย์หลายเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบนั้นอาจนำไปสู่การจัดสรรงานใหม่ทั่วโลกถึง 18 ล้านตำแหน่งและสร้างงานสุทธิได้ถึง 1.8 ล้านตำแหน่งภายในปี 2040

ถึงแม้ว่าอัตราการหมุนเวียน (ร้อยละของวัสดุที่นำกลับคืนจากวัสดุที่ใช้ไปโดยรวม) ในสหภาพยุโรปจะมีอัตราเพิ่มขึ้น แต่ก็มีความคืบหน้าช้ามากตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาจะยากขึ้นเมื่อทำได้ในระดับหนึ่ง

“สิ่งที่เราต้องการคือการรีเซ็ตระบบใหม่” นาง Algayerova กล่าวในข้อเขียน ต้องมีการใช้แนวโน้มในปัจจุบันเป็นข้อเรียกร้องที่ชัดเจนให้ออกแบบกระบวนการและแรงจูงใจใหม่เพื่อควบคุมรูปแบบการผลิตและการบริโภค อาทิเช่น มาตรการทางการคลัง เพื่อแก้ไขสถานการณ์เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างไม่สามารถใช้วัสดุรีไซเคิลจำนวนมากได้เพราะต้นทุนสูงกว่า หรืออีกวิธีหนึ่งคือ การตั้งราคาสินค้าที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบภายนอก เช่น ปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

ในการประชุมคณะกรรมาธิการ UNECE ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ รัฐบาลของแต่ละประเทศในภูมิภาคคาดว่าจะประกาศคำมั่นระดับชาติเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเลขาธิการบริหารของ UNECE เรียกร้องให้ทุกประเทศใช้โอกาสนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19

เข้าถึงข้อมูล การประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติในยุโรป ครั้งที่ 69 ได้ ที่นี่

เศรษฐกิจหมุนเวียน เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 12 รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในประเด็น การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน (12.2) ลดของเสียโดยกระบวนการ reuse และ recycle (12.5) และ ปรับโครงสร้างภาษีและราคาให้สะท้อนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (12.c)

ที่มา: IISD SDG Knowledge Hub

Last Updated on เมษายน 18, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น