‘น้ำท่วมปากีสถาน’ กระทบประชาชนนับล้าน – วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่หลายประเทศในเอเชียอาจต้องเผชิญ

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายประเทศในเอเชียใต้ โดยเฉพาะประเทศปากีสถาน ต้องเผชิญกับฤดูมรสุมอย่างรุนแรง ฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้พื้นที่ราว 1 ใน 3 ของประเทศถูกน้ำท่วม บ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย ประชาชนมากกว่า 33 ล้านคนได้รับผลกระทบ มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน นับว่าเป็นภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ 

เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565 กลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ (World Weather Attribution: WWA) เผยร่องรอย “fingerprints” ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (fingerprints of climate change) จนเกิดฝนมรสุมอย่างรุนแรงในปากีสถาน ซึ่งพบว่ามีสองสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก คือ หนึ่ง การเกิดอุทกภัยจากลมมรสุมที่รุนแรงในช่วงฤดูร้อน ช่วง 60 วัน มีปริมาณน้ำฝนสูงบริเวณเหนือลุ่มแม่น้ำสินธุ  และสอง เกิดจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน ในเดือนสิงหาคม ส่งผลให้จังหวัดสินธ์ (Sindh) และจังหวัดบาลูจิสถาน (Balochistan) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ได้รับความเสียหายมากที่สุดจากการที่น้ำท่วมสูง การศึกษายังระบุอีกว่า การที่ฝนตกอย่างรุนแรง ปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อน (global warming) ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส 

ฮินา รับบานี คาห์ร (Hina Rabbani Khar) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน กล่าวว่า “สถานการณ์ของประเทศปากีสถานเป็น “วิกฤตการณ์ในระดับวันสิ้นโลก” คนยากจนผู้แทบไม่มีส่วนทำให้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น กลับต้องรับผลกระทบหนักที่สุด”

สอดคล้องกับ การวิเคราะห์ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP)  ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และ 2 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้เอเชียใต้ต้องเผชิญผลกระทบสูงสุดจากฝนตกหนัก รองลงมา คือ ภัยแล้งทางการเกษตร (agricultural drought) อุณหภูมิที่ร้อนจัด และคลื่นความร้อน (heatwaves) โดยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกเอเชียใต้ว่า “พื้นที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” (climate crisis hotspot) ผู้คนจำนวนมากมีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น 

รายงานภัยพิบัติในเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2562 (Asia-Pacific Disaster Report 2019) ได้ประมาณการความเสียหายจากภัยพิบัติประจำปี ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 675 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกือบร้อยละ 85 ของความเสียหายที่เกิดขึ้น มาจากภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุหมุนเขตร้อนในช่วงที่เกิดมรสุม นอกจากนี้ มรสุมยังทำให้ปัญหาโรคระบาด ภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น

กุญแจสำคัญในการพัฒนาชุมชนในเอเชียใต้ให้สามารถตั้งรับปรับตัวได้นั้น คือ การจัดการที่มีประสิทธิภาพต่อฤดูมรสุมที่มีความเสี่ยงใกล้เข้ามาในบริเวณพื้นที่ ซึ่งการคาดการณ์ผลกระทบจากลมมรสุมฤดูร้อนในเอเชียใต้มีความก้าวหน้ามากขึ้น ตัวอย่างเช่น การคาดการณ์มรสุมฝนตามฤดูกาล ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ปีพ.ศ. 2565 ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ว่าหลายจังหวัดในประเทศปากีสถาน มีแนวโน้มเผชิญกับฝนตกหนักมากกว่าปกติ และแสดงผลออกมาได้อย่างชัดเจน แต่ในหลายพื้นที่ก็ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เพราะยังพบข้อจำกัดบางประการ เช่น รายละเอียดของข้อมูล ลักษณะความน่าจะเป็นในการวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถระบุพื้นที่เสี่ยงในอนาคตได้อย่างแม่นยำ

Figure: Seasonal Outlook for Precipitation, June-September 2022 (left), Satellite image of flood affected provinces in Pakistan (right)

ด้วยวัตถุประสงค์นี้ กองทุน ESCAP Multi-Donor Trust Fund for Tsunami, Disaster, and Climate Preparedness ร่วมมือกับ Regional Integrated Multi – Hazard Early Warning System (RIMES) องค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินงานให้ข้อมูลการเตือนภัยกับชุมชน เพื่อลดความเสียหายและสูญเสียชีวิต จึงได้จัดตั้ง National Monsoon Forum และ South Asian Seasonal Climate Outlook Forum (SASCOF) ขึ้น สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในเอเชียใต้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกาะเล็กในมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อสนับสนุนการดำเนินการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ภัยพิบัติปากีสถานครั้งนี้ ไม่เพียงสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงปัญหาขาดแคลนอาหาร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรถูกทำลายและการดำรงชีวิตของประชาชนอีกด้วย เช่นนั้นแล้ว ทุกภาคส่วนทั้งในระดับองค์กรระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค หรือแม้แต่ในประเทศเอง จึงต้องร่วมกันเสริมสร้างสิ่งที่จำเป็นต่อการตั้งรับปรับตัวให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านอาหาร น้ำ พลังงาน เพื่อรับมือต่อความผันผวนของสถานการณ์ พร้อมช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ไม่เกิดเป็นภัยที่ทับซ้อนขึ้น

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
‘ภัยพิบัติจากน้ำ’ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงมาทุกยุคสมัย และจะเกิดถี่ขึ้น – รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สถิติอุณหภูมิโลกปี 2021 แสดงว่าในปีที่ผ่านมา โลกร้อนที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ในประวัติศาสตร์
2564 ปีของวิกฤติน้ำในโลก: น้ำล้น แห้งแล้งไป ปนเปื้อนมาก ภัยพิบัติน้ำเกิดถี่ขึ้น
จะจัดการน้ำให้ยั่งยืน ต้องลงมือทำอย่างเป็นองค์รวมร่วมกับการปรับตัวต่อ Climate Change
แนวคิด “Sponge City – เมืองฟองน้ำ” รับมือน้ำท่วม ด้วยการพัฒนาเมืองให้ ‘คนและน้ำอยู่ร่วมกัน’ 
รัฐเคนทักกี เผชิญ ‘มหาอุทกภัย’ พบผู้เสียชีวิตเเล้ว 25 ราย บ้านเรือนนับร้อยเสียหาย ทุกฝ่ายประสานส่งความช่วยเหลือ 
ทำความรู้จัก “Extreme Weather” สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่เปลี่ยนท้องฟ้ากรุงเทพฯ ดำมืด ปัญหาท้าทายที่โลกต้องเร่งจัดการ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน

แหล่งที่มา: 
Managing riskier Asian monsoon is key to region’s resilience | ESCAP 
น้ำท่วมประเทศพัง ปากีสถานรับกรรมที่ไม่ได้ก่อ – THE STANDARD 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น