พัฒนาอุตสาหกรรมผ่าน ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ดำเนินการอย่างไร? ให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมระดับพื้นที่ ชวนค้นหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ. ดร.พีระ เจริญพร’

ชวนอ่านงานวิจัย “จัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัด” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)  

งานวิจัยฉบับนี้ ศึกษาเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนลงสู่ระดับพื้นที่ พร้อมเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านรูปแบบการผลิตตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนบนวัตถุประสงค์หลักที่ได้กำหนดไว้ คือ 1) เพื่อจัดทำแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การพัฒนาในระดับพื้นที่พร้อมนำไปสู่การขับเคลื่อนภายในพื้นที่ และ 2) เป็นโมเดลการพัฒนาเชิงพื้นที่ต้นแบบ (role model) ที่จะนำไปสู่การผลักดันและขยายผลการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้าง โดยให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เป็นพื้นที่ต้นแบบนำร่องในการดำเนินการ

สำหรับแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตาม ‘แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน’ ในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตั้งเป้าหมายมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตจากรูปแบบเดิมสู่รูปแบบใหม่ในระดับพื้นที่ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการการผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย และการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตามรายละเอียดของแผนฯ รวมถึงใช้ประโยชน์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

จากงานวิจัย รศ. ดร.พีระ ได้ดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่นำร่อง โดยได้จัดทำโมเดลต้นแบบ (role model) เป็นกรณีศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในพื้นที่ ‘สิงห์ปาร์ค’ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกษตรในจังหวัดเชียงราย นำมาสู่การกำหนดรูปแบบโมเดลการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบขั้นบันได้ (5-step approach) ดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 Eco-efficiency การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีศักยภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ขั้นตอนที่ 2 Industrial Symbiosis จัดการด้านการขนย้ายสินค้า เพื่อเปลี่ยน Waste to Raw Materials ในอุตสาหกรรมอื่น
  • ขั้นตอนที่ 3 Waste to Energy การแปรรูปของเสียเป็นพลังงาน
  • ขั้นตอนที่ 4 Upcycling การเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
  • ขั้นตอนที่ 5 Product Stewardship (Circular Enterprises / Startups) การส่งเสริมการปรับรูปแบบธุรกิจสร้างระบบการจัดการผลิตภัณฑ์หลังการใช้งานตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ทั้งนี้ เพื่อให้ดำเนินแผนขับเคลื่อนฯ บรรลุผลตามเป้าหมายตั้งไว้จึงกำหนดกลยุทธ์ ภายใต้ 3 แนวทางการดำเนินงานหลักตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีรายละเอียดการดำเนินงานที่ปรับให้สอดรับกับการดำเนินงานในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ดังนี้

  • แนวทางที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีศักยภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-efficiency)
  • แนวทางที่ 2 การเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรม/สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากของเสีย/วัสดุเหลือใช้ภายในประเทศ (Upcycling)
  • แนวทางที่ 3 การส่งเสริมการปรับรูปแบบธุรกิจสร้าง Circular Enterprises / Stratups

ท้ายที่สุด เมื่อดำเนินการแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดแล้วนั้น รศ. ดร.พีระ  ค้นพบว่าแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มในอัตราที่ค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยเศษวัสดุให้สูญเปล่า หรือการใช้ประโยชน์แบบทางตรงเพียงอย่างเดียว  แต่การจะดำเนินการให้ได้ครบตามวัฏจักรเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น จำเป็นต้องอาศัยพลังความร่วมมือของหลายภาคส่วน เพื่อให้มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ อันจะนำไปสู่การผลักดันและขยายผลให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางขึ้นต่อไป

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
# SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Last Updated on ธันวาคม 28, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น