SDG Spotlight – 7 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 1 ประจำเดือนมกราคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  31 ธันวาคม 2565 – 6 มกราคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

นักท่องเที่ยวขับเรือครูดปะการังรอบเกาะยาวาซำเสียหาย เร่งเอาผิดตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ

วันที่ 3 มกราคม 2566 กลุ่มอนุรักษ์ขยะมรสุม โพสต์เผยแพร่เหตุการณ์เรือใบของนักท่องเที่ยวครูดทับแนวปะการังที่อยู่บริเวณใกล้กับเกาะยาวาซำ ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ส่งผลให้ปะการังได้รับความเสียหายจำนวน 6 จุด เนื้อที่รวม 3.42 ตารางเมตร ได้แก่ ชนิด Montipora sp. Porites sp. และอื่น ๆ ซึ่งเป็นปะการังเเข็งที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภทสัตว์ป่าไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ลำดับที่ 4 ต่อมาอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ประสานเจ้าท่าเพื่อเร่งตรวจสอบเรือใบลำดังกล่าวว่าจดทะเบียนที่ใดและใครเป็นผู้ครอบครองเพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พร้อมกับการติดตามเจ้าของเรือมาทำการเปรียบเทียบปรับทุกราย รายละ 5,000 บาท ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำให้อุทยานฯ แต่ละแห่ง ประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวถึงกฎระเบียบการเยี่ยมชมธรรมชาติ เพื่อป้องกันความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.9 ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.8 สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และ SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน และ 14.c เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่: เร่งเอาผิด “นักท่องเที่ยว” จอดเรือใบทับปะการังเกาะยาวาซำ (Thai PBS) และ เร่งเอาผิด เรือใบนักท่องเที่ยวท้องเรือครูดปะการังเสียหาย ใกล้เกาะยาวาซำ (เพจเฟซบุ๊ก Enviroman)

“สิทธิและสถานะบุคคล” ขึ้นแท่นเรื่องร้องเรียนละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดของปี 2565

วันที่ 5 มกราคม 2566 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2565 โดยระบุว่า มีเรื่องร้องเรียนในปีที่ผ่านมาจำนวน 1,152 เรื่อง ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 สิทธิและสถานะของบุคคล (ร้อยละ 36.72) โดยเฉพาะกรณีขอความช่วยเหลือผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือสัญชาติ อันดับที่ 2 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 13.72) โดยกรณีนี้ ขอให้เร่งรัดการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนเป็นกรณีร้องเรียนมากที่สุด และอันดับที่ 3 สิทธิชุมชน (ร้อยละ 5.03) โดยการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในชุมชนเป็นกรณีที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 

ขณะที่ การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกับหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชน รวมทั้งการประสานกับบุคคลอื่นใดในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน นั้นมีเรื่องร้องเรียนที่ กสม. รับไว้เป็นคำร้องเพื่อดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในปี 2565 จำนวน 124 คำร้อง ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 96 คำร้อง อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของ กสม. จำนวน 6 คำร้อง และอยู่ระหว่างการติดตามผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 22 คำร้อง 

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ผ่านทางเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแอปพลิเคชัน “มีสิทธิ์” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มล่าสุดของ กสม. เพื่อสร้างความสะดวกและช่องทางที่หลากหลายแก่ประชาชนมากขึ้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรม และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และ 16.9 กำหนดสถานะทางกฎหมายสำหรับทุกคน

เข้าถึงได้ที่: กสม. เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียน ปี 2565 สิทธิและสถานะของบุคคลถูกร้องเรียนมากที่สุด (เฟซบุ๊กเพจ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)

รองปลัด ทส. ระบุกรณีอธิบดีกรมอุทยานฯ รับสินบน พบมีมูล ส่งสอบสวนทางวินัยต่อ

วันที่ 4 มกราคม 2566 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจากกรณีการจับกุม “รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ทุจริตเรียกรับสินบนโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัด ทั้งนี้การแต่งตั้งมีขึ้นหลังจากที่ปลัดกระทรวง ทส.  ได้รับรายงานสรุปข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 

อย่างไรก็ดี นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำกับดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติ และประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุว่า “คำสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง จริง ๆ เป็นคำสั่งลับ เพราะฉะนั้นลงรายละเอียดไม่ได้ แต่ว่าให้ข้อมูลได้ว่า มีมูลความผิดทางวินัย ก็เลยมีการรายงานขึ้นมาในระดับกระทรวงฯ แต่วินัยข้อไหน ผมก็จำข้อไม่ได้แล้ว มีมูลครับ แต่ระเบียบข้าราชการพลเรือนรายละเอียดการสอบสวนข้อเท็จจริงไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นคำสั่งลับ” 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.5 ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญ และ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส

เข้าถึงได้ที่ : แถลงวันนี้ ผลสอบข้อเท็จจริง ทส. “กรณีการเรียกรับสินบนอธิบดีกรมอุทยานฯ” สรุป “มีมูล-เปิดเผยรายละเอียดไม่ได้” (GREENNEWS)

100 พลเมืองไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลยุติเอื้อเอกชนผูกขาดผลิตไฟฟ้า

วันที่ 5 มกราคม 2566 นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เผยแพร่แถลงการณ์ 100 พลเมืองไทย เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการให้เอกชนผูกขาดการผลิตไฟฟ้าเกินกึ่งหนึ่งของรัฐ พร้อมจี้เปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับเอกชนเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐดําเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร ผู้ที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว อาทิ กมล กมลตระกูล กรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กาญจนี วัลยะเสวี กลุ่มชาวไทยหัวใจรักสงบ และ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.1 สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้  และ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน

เข้าถึงได้ที่ : ครป.เผยแพร่แถลง 100 พลเมืองไทย เรียกร้องให้รัฐบาลยุติเอกชนผูกขาดการผลิตไฟฟ้าเกินกึ่งหนึ่งของรัฐ และเปิดเผยสัญญาซื้อขายระหว่าง กฟผ.และเอกชน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน (ประชาไท)

ผู้จัดการของโรงแรมย่านปอยเปตที่ถูกไฟไหม้ ชี้กัมพูชาเปิดด่านช้า ดับเพลิงไทยเข้าช่วยไม่ทัน

วันที่ 28 ธันวาคม 2565 เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงแรมแกรนด์ไดมอนด์ ซิตี้ แอนด์ กาสิโน ย่านปอยเปต ที่ตั้งอยู่ข้ามกับตลาดโรงเกลือ ห่างจากชายไทย-กัมพูชา เพียง 200 เมตร หลังจากพบผู้เสียชีวิต 20 ราย และสูญหายอีก 53 ราย ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ข้อมูลจากศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือคนไทยผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ ระบุว่า เจ้าหน้าที่อาสาสมัครดับเพลิงและกู้ชีพจากฝั่งไทยปฏิบัติภารกิจปูพรมค้นหาผู้เสียชีวิตร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารของกัมพูชา จนพบศพเพิ่มอีก 7 ราย

ทั้งนี้  นายมนัส ตันเฮง ผู้จัดการโรงแรมแกรนด์ไดมอนด์ผู้อยู่ในเหตุการณ์ตอนเกิดไฟไหม้ได้เปิดเผยกับบีบีซีไทย ว่า “ตอนแรกคิดว่าจะเอาอยู่ แต่กระแสลมแรงมาก จึงเริ่มประสานขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของทั้งในพื้นที่และทางฝั่งไทย กว่าจะได้รับการอนุญาตเปิดด่านให้วิ่งข้ามมาที่ฝั่งปอยเปต ก็เป็นเวลานานนับชั่วโมง” ขณะที่ รถดับเพลิงของกัมพูชาที่เข้ามาถึงก่อนไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทำให้ไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ ดังกล่าวนี้สะท้อนถึงแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉิน การประสานงาน และความพร้อมของการจัดการภัยพิบัติที่มีความบกพร่องและล่าช้าจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกว้างขวางขึ้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.5 ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ 

เข้าถึงได้ที่ : ผู้จัดการโรงแรมในบ่อนปอยเปตเล่า ความช่วยเหลือมาช้า ทำไฟลุกลามจนคุมไม่อยู่ (BBC Thai)

สธ. หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการโควิดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เน้นไม่เลือกปฏิบัติ

วันที่ 5 มกราคม 2566 ได้มีการจัดประชุมกำหนดมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิดครั้งที่ 1/2566  โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

นายอนุทิน ระบุว่าจะยืนยันในหลักดำเนินการที่จะไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้ยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิดในทุกประเทศ และเป็นการระบาดที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน จึงไม่ควรให้โควิดมาเป็นประเด็นการกีดกันประเทศใดประเทศหนึ่ง 

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอมาตรการกรณีก่อนเข้าประเทศไทย จะต้องฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 2 เข็ม และหากมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ แนะนำให้เลื่อนการเดินทางและรักษาให้หายก่อนเดินทางเข้าไทย รวมถึงแนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพเดินทางที่ครอบคลุมการรักษาโควิดก่อนเข้าไทย เพื่อลดภาระการใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงพำนักในประเทศไทย

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม และ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ ในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก และ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียม รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ

เข้าถึงได้ที่: มาตรการรับนักท่องเที่ยวจีน สธ. กำหนดต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม-ซื้อประกันป่วยโควิด (The Standard)

เมียนมาปล่อยตัวนักโทษ 7,000 ราย องค์กรสิทธิ์ชี้เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของนานาชาติ

วันที่ 4 มกราคม 2566 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศให้อภัยโทษและปล่อยตัวนักโทษกว่า 7,000 ราย เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีที่เมียนมาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ โดย MRTV สื่อของรัฐบาลเมียนมา ระบุว่าผู้ที่ได้รับการอภัยโทษเป็นนักโทษที่ไม่ได้กระทำผิดในข้อหาฆาตกรรมและข่มขืน หรือถูกจำคุกในข้อหาเกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิด อาวุธ ยาเสพติด การบริหารภัยพิบัติธรรมชาติ การทุจริตคอร์รัปชันและการรวมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ในจำนวนผู้ได้รับการอภัยโทษมีนักโทษทางการเมืองเพียง 200 ราย 

อย่างไรก็ดี พบว่าในวันเดียวกันนั้นรัฐบาลทหารเมียนมาได้จับกุมนักโทษการเพิ่มถึง 22 ราย ด้านสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่าได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า “รัฐบาลผิดกฎหมายไม่สามารถประกาศอภัยโทษได้ นับแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา รัฐบาลทหารได้ประกาศสิ่งที่อ้างกันว่าเป็นการอภัยโทษหลายครั้งแล้วเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของนานาชาติ” พร้อมเปิดเผยด้วยว่า “นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 มีนักกิจกรรมและพลเรือนเสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่าไปแล้ว 2,701 ราย ปัจจุบันมีผู้ถูกควบคุมตัวโดยรัฐบาลทหารพม่ากว่า 13,356 ราย พิจารณาคดีและพิพากษาแล้วเพียง 1,923 ราย ในจำนวนนี้ถูกพิพากษาประหารชีวิตและอยู่ระหว่างรอการสำเร็จโทษ 100 ราย”

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และ  16.b ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ

เข้าถึงได้ที่: วันเอกราชพม่า ‘มินอ่องหล่าย’ ปล่อยนักโทษ 7,000 คน เป็นคดีการเมือง 200 คน แต่จับเพิ่ม 1 วัน 22 ราย (ประชาไท)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น