จากสลัมถึงห้องเรียน: บนเส้นทางที่ท้าทายและโอกาสไปถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กจนเมืองในมหานครกรุงเทพ

“มหานคร” หรือ “Megacity” เป็นคำสำคัญที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในกระแสการพัฒนาของศตวรรษปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการตั้งถิ่นฐานและดำรงชีวิตของผู้คนที่มีแนวโน้มขยับย้ายจากชนบทมาอาศัยในเมืองมากขึ้น ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่ความต้องการบริการสาธารณะที่ครบครัน กิจกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์ความต้องการชีวิต ไปจนถึงโอกาสในการเข้าถึงการมีงานทำ ส่งผลให้หลายเมืองทั่วโลกเผชิญกับ “ภาวะประชากรขยายตัว” ขณะที่ขนาดเมืองยังคงเท่าเดิม ภาวะเช่นนี้อาจส่งผลดีในการช่วยให้เศรษฐกิจเมืองขยายตัว แต่หากพิจารณารอบด้านอาจต้องคำนึงถึงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนด้วยเช่นกัน เนื่องจาก “สิ่งแวดล้อม” และ “คุณภาพชีวิตมนุษย์” เป็นฐานหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “เศรษฐกิจ” 

กรุงเทพฯ หนึ่งในมหานครของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีโจทย์ท้าทายในการพัฒนามหานครให้ยั่งยืนคล้ายคลึงกับมหานครอื่น ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ดีภายใต้โจทย์ใหญ่ดังกล่าว มีโจทย์ย่อยที่สำคัญเเละเร่งด่วนที่ควรเเก่การถกสนทนา นั่นคือ “ประเด็นการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้” เนื่องจากเด็กจำนวนมากในกรุงเทพฯ ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาและบางส่วนต้องออกจาการศึกษากลางคัน ด้วยเหตุผลเรื่องความยากจน ภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาเกินความสามารถหาได้ และข้อจำกัดอื่น ๆ อาทิ ข้อบังคับของโรงเรียน รวมถึงความจำเป็นของสภาพการณ์ในครอบครัว ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวจนเมืองติดหล่มวงจรความยากจน ขาดทักษะเเละความรู้ในการเลื่อนสถานะทางสังคม 

นอกจากนี้หากพิจารณา “แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556 – 2575)” ที่วางเป้าหมายพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็น “มหานครแห่งเอเชีย” เเละนโยบายการพัฒนาของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน ก็พบว่าระบุการพัฒนาการศึกษาให้เป็นประเด็นหลักของการพัฒนากรุงเทพฯ เช่นกัน

เพื่อถกสนทนาและร่วมค้นคิดแนะแนวทางแก้ปัญหาประเด็น “การพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้สำหรับเด็กจนเมืองในกรุงเทพมหานคร” บทความนี้จึงเเบ่งเนื้อหาสำคัญเป็น 6 ส่วน ครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • การฉายภาพสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิตในกรุงเทพฯ 
  • ความสำคัญเเละความคุ้มค่าของการลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษา
  • อุปสรรคเเละความท้าทายในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กจนเมืองในกรุงเทพฯ 
  • กรณีศึกษา “โครงการครูข้างถนน” ซึ่งเป็นตัวเเบบที่น่าสนใจของสร้างการเข้าถึงการศึกษา 
  • โจทย์คิดสำคัญเชิงนโยบายเเละเชิงกระบวนการในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเเละสร้างการเข้าถึงการศึกษา 
  • สำรวจนโยบายการพัฒนาการศึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนปัจจุบัน เพื่อมุ่งมองถึงความเป็นไปได้ในผลักดันให้เด็กจนเมืองเข้าถึงการศึกษามากขึ้น

กรุงเทพฯ มหานครแห่งความเหลื่อมล้ำ 

กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่มีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นอันดับที่ 26 ของโลก โดยหากอ้างอิงข้อมูลประชากรตามทะเบียนบ้านจะพบว่ามีเพียง 5.5 ล้านคน แต่เมื่อนับรวมประชากรแฝงด้วยจะมีประชากรประมาณ 15 ล้านคน  ใกล้เคียงกับจำนวนประชากรเขตนครโอซากะ (Osaka) – โคเบะ (Kobe) – เคียวโตะ (Kyoto) ของญี่ปุ่น ที่มีอยู่ประมาณ 17 ล้านคน ขณะที่มิติขนาดเศรษฐกิจ กรุงเทพฯ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 8.2 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับขนาดเศรษฐกิจของกรุงมะนิลา (Manila) เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ [1]

ประชากรที่อาศัยในกรุงเทพฯ มีความหลากหลายเรื่องภูมิลำเนา โดยมีทั้งผู้อาศัยเดิมซึ่งเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ ผู้อพยพย้ายถิ่นจากต่างจังหวัดและผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยส่วนใหญ่มักเข้ามาค้าแรงงานทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย นอกจากนี้ประชากรในกรุงเทพฯ ยังมีความแตกต่างเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ โดยครอบครัวที่ยากจนมีรายได้เพียง 1,964 บาทต่อคนต่อเดือนซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนของคนทั้งประเทศที่กำหนดไว้ที่รายได้ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน ยิ่งไปกว่านั้นพบว่าร้อยละ 75 ของครัวเรือนในชุมชนแออัดมีรายได้จากเงินเดือนหรือค่าจ้างเพียงทางเดียว [2]

สถานะของประชากรที่หลากหลายและความแตกต่างของฐานะทางเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นความท้าทายของโจทย์การพัฒนาประชากรเมืองอย่างครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องจากผู้ที่อพยพมาจากต่างถิ่นจำนวนมากเข้ามาอาศัยในฐานะประชากรแฝง คือไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ทั้งด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ไม่ตัดสินใจย้าย การไม่มีบ้านประจำเพื่อย้ายทะเบียนเข้า และข้อจำกัดทางกฎหมายสำหรับแรงงานข้ามชาติ ล้วนส่งผลต่อสิทธิในการเข้าถึงบริการของรัฐโดยเฉพาะสิทธิในการรักษาพยาบาลและการศึกษาที่อาจไม่ได้รับเทียบเท่ากับผู้ที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ กลายเป็นว่าแรงงานจำนวนไม่น้อยที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนมหานครกรุงเทพฯ ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเมืองได้อย่างครอบคลุม

ขณะที่ความยากจนเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของการพัฒนาประชากรเมืองกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นกับดักที่ฉุดรั้งวงล้อการพัฒนามนุษย์ไม่ให้ขยับขับเคลื่อนไปได้ โดยความไม่สามารถจ่ายเพื่อบริการและกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้คนจนเมืองในกรุงเทพฯ ไม่อาจเอื้อมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำที่วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่รู้จบสิ้น “มหานคร” จึงไม่ใช่มหานครแห่งความสุขของคนทุกคนอย่างแท้จริง 

ยกระดับชีวิตประชากร พัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ด้วยการลงทุนด้านการศึกษา

มีแนวคิดมากมายที่ระบุให้การพัฒนาเมืองหรือการพัฒนามหานครต้องคำนึงถึงการพัฒนาการศึกษาของประชากรเมืองให้มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงได้ อาทิแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ซึ่งเป็นกระแสนิยมของการพัฒนาเมืองในปัจจุบันก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประชากรเมืองให้มีความรู้และทักษะที่ดี โดย 1 จาก 7 มิติของการพัฒนา คือ พลเมืองอัจฉริยะ (smart people) ซึ่งเน้นพัฒนาประชากรเมืองให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต พร้อมกับสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้นอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางสังคม [3] 

ขณะที่ผลการศึกษาขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  หรือ ยูเนสโก เผยเเพร่เมื่อปี 2557  ที่ชื่อว่า “Teaching and learning – Achieving quality for all” คาดการณ์ว่าหากสอนนักเรียนทุกคนในประเทศกำลังพัฒนาให้อ่านออกเขียนได้ จะสามารถลดจำนวนคนยากจนทั่วโลกได้ถึง 171 ล้านคน สะท้อนว่าการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเลื่อนสถานะทางสังคม (social mobility) [4]

นอกจากนี้หากพิจารณาในเชิงความคุ้มค่าของการลงทุนเพื่อการศึกษาจากผลการวิจัยของ ศาสตราจารย์เจมส์ เจ. เฮกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จาก University of Chicago พบว่า การลงทุนให้เด็กได้รับการเรียนรู้และพัฒนาการที่สมวัยในช่วง 5 ปีแรกของชีวิตจะให้ผลตอบแทนมากถึงร้อยละ 7-10 [5]

แนวคิดเหล่านี้สอดคล้องกับทฤษฎี Endogenous growth ซึ่งเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวที่เกิดจากปัจจัยภายใน และเชื่อว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนนั้น นอกจากจะเกิดจากการสะสมทุนทางกายภาพแล้วยังต้องอาศัยการพัฒนาด้านทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญด้วย นอกจากนี้การศึกษายังช่วยเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดของประชากรเมืองให้มีความสามารถคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงตนเองกับการพัฒนาเมืองอย่างรู้คำนึงรอบด้าน 

การพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่เติบโตอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการวางแผน ออกแบบนโยบายและลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ประชากรเมืองสามารถเข้าถึงการศึกษา การเรียนรู้ และพัฒนาทักษะได้อย่างเต็มที่ อันจะเป็นดอกผลต่อการพัฒนามิติอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ ตามมา

“เข้าไม่ถึง จ่ายไม่ไหว ภาระล้นเกิน” แลหลังทางแสนเข็ญของเด็กจนเมือง

ดังที่กล่าวในเบื้องต้นว่า “การศึกษาคือความคุ้มค่าระยะยาวของการพัฒนาเมือง” อย่างไรก็ดีสำหรับกรุงเทพฯ นั้นมีความคล้ายคลึงกับมหานครอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน อย่างเมืองจากาตาร์ ของอินโดนีเซีย และมะนิลาของฟิลิปปินส์ นั่นคือมี  “ความยากจน” เป็นกับดักสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเต็มที่ โดยสถานการณ์และอุปสรรคทางการศึกษาของเด็กจนเมืองในกรุงเทพฯ โดยสรุปเบื้องต้น มีดังนี้ 

  • ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ มีชุมชนแออัด 641 ชุมชน ประกอบด้วย 146,462 ครัวเรือน ประชากร 579,630 คน ร้อยละ 30 ของจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กและเยาวชน โดยลักษณะของครอบครัวเด็กยากจนในกรุงเทพฯ มีอยู่ 15 กลุ่ม อาทิ แรงงานเด็ก เด็กในชุมชนแออัด แม่วัยใส หรือเด็กชาติพันธุ์ เด็กเหล่านี้มีภาวะเสี่ยงออกนอกระบบการศึกษา [6]
  • จากการสำรวจเด็กยากจนในกรุงเทพฯ โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่าเด็กยากจนพิเศษ 1,408 คน มีร้อยละ 4 ที่ยังใช้น้ำบาดาล ร้อยละ 59 ไม่มีโทรทัศน์ ร้อยละ 1.7 ไม่มีไฟฟ้าใช้ และมีเด็กยากจนพิเศษเพียง 7 คนที่มีคอมพิวเตอร์สำหรับเรียนออนไลน์ [7]
  • ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2565 ระบุว่าภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กกรุงเทพฯ เฉพาะที่มีอายุ 15 ปีลงมา มีมูลค่าสูงถึง 37,257 บาท เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 17,832 บาท พบว่าต่างกันเกือบ 2 เท่า [8]
  • การสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในชุมชนแออัดของพื้นที่กรุงเทพฯ จาก 6 ชุมชน จำนวน 1,018 คน พบว่าส่วนใหญ่เลือกลาออกกลางคันเพราะความยากจน (ร้อยละ 22.38) รองลงมาคือปัญหาครอบครัว (ร้อยละ 13.40) ถูกผลักออกจากโรงเรียน (ร้อยละ 10.77) ได้รับความรุนแรง (ร้อยละ 5.52) เกิดจากปัญหาสุขภาพ (ร้อยละ 3.87) ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา (ร้อยละ 2.76) และต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 2.35) [9]

ขณะที่ “ทองพูล บัวศรี” หรือ “ครูจิ๋ว” มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ซึ่งทำงานส่งเสริมและช่วยเด็กจนเมืองให้สามารถเข้าถึงการศึกษามานานมากกว่า 20 ปี ฉายภาพสถานการณ์ทางการศึกษาของเด็กจนเมืองให้เห็นชัดขึ้นว่าเมื่อพูดถึงการศึกษาของเด็กจนเมืองเราต้องแบ่งพิจารณา เนื่องจากเด็กเหล่านั้นมีหลายกลุ่ม และกระบวนการจัดการศึกษาก็แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามโดยหลัก ๆ แล้วเราแบ่งเด็กจนเมืองออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

  • กลุ่มแรก เด็กเร่ร่อนไทย ซึ่งได้แก่ เด็กเร่ร่อนขอทาน และเด็กที่ขายสินค้าตามท้องถนน เด็กกลุ่มนี้อาจเร่ร่อนชั่วคราวหรือเร่ร่อนถาวร โดยส่วนมากเคยอยู่ในระบบการศึกษาไทยแต่ต้องออกจากมากลางคันหรือระหว่างภาคการศึกษา ด้วยเหตุผลที่เป็นไปได้หลายประการ อาทิ ความยากจน ยาเสพติด และปัญหาครอบครัว โดยระบบการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กกลุ่มนี้คือการศึกษานอกระบบ (กศน.) ในรูปแบบที่เรียนหนังสือพร้อมกับการฝึกอาชีพไปด้วย 
  • กลุ่มที่สอง เด็กเร่ร่อนต่างด้าว เป็นลูกของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในไทย การจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้มีความยากมากที่สุดเนื่องจากเด็กไม่มีเลขประจำตัวประชาชนไทย ทำให้การเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาในกรุงเทพฯ อาจมีข้อจำกัดและไม่ครอบคลุมเท่าเด็กไทยทั่วไป แนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าปัจจุบันคือการขอให้เด็กได้รับอักษร G และเลข 13 หลักตามหลัง ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำคัญให้เด็กต่างด้าวสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาไทยได้
  • กลุ่มสุดท้าย ลูกกรรมกรก่อสร้าง เป็นเด็กที่ปักหลักอาศัยและเคลื่อนย้ายที่อยู่ตามพื้นที่ของโครงการก่อสร้างต่าง ๆ โดยมากเด็กกลุ่มนี้มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด และต้องเผชิญกับปัญหาการย้ายโรงเรียนบ่อยซึ่งอาจกระทบให้การเรียนขาดความต่อเนื่อง

“ครูข้างถนน” ตัวแบบการแผ้วทางให้เด็กจนเมืองได้เรียนหนังสือ

สถานการณ์และอุปสรรคท้าทายในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กจนเมืองข้างต้นเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันมองหาแนวทางแก้ไขทั้งในเชิงนโยบายและกระบวนการเชิงปฏิบัติ เพื่อพัฒนาตัวแบบ (model) ของการเปิดทางให้เด็กจนเมืองได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับความต้องการหรือข้อจำกัดโดยไม่ต้องออกจากการเรียนกลางคัน

ทั้งนี้หากพิจารณาจากความริเริ่มดำเนินการและเห็นผลมาบ้างแล้ว “โครงการครูข้างถนน” และ “โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่” ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเป็นสองตัวแบบที่น่าศึกษาทั้งเชิงวิธีคิดและเชิงกระบวนการ ดังเช่นที่ ครูจิ๋ว เผยว่า “วิธีคิดหลักของมูลนิสร้างสรรค์เด็กคือการทำให้เด็กทุกคนในกรุงเทพฯ ได้เรียนหนังสือ เราจะพยายามหาลู่ทาง วิธีการที่จะพาพวกเขาเข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะจะช่วยยกระดับชีวิตของพวกเขาให้สามารถเติบโตได้อย่างดีในมหานครแห่งนี้”

สำหรับโครงการครูข้างถนน ครูจิ๋วเล่าให้ฟังว่าริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2532 โดยแนวคิดหลักของโครงการมุ่งไปที่การสร้างพื้นที่ด่านแรกของการเปิดประตูสู่การศึกษาให้กับเด็กจนเมือง ขณะที่ในเชิงกระบวนการเน้นการทำงานเชิงรุกและเข้าถึงพื้นที่ โดยให้ครูในโครงการเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีเด็กจนเมืองอาศัยอยู่ พร้อมกับกระเป๋าสองใบ ใบแรกบรรจุอุปกรณ์การเรียน ส่วนใบที่สองจะบรรจุอาหาร นม ขนม และยารักษาโรค จากนั้นให้ดำเนินการตามกระบวนการซึ่งมีอยู่ดังนี้

  • แจกจ่ายอุปกรณ์การเรียนและอาหารแก่เด็ก
  • ทำกิจกรรมสร้างเสริมการเรียนรู้และสร้างความไว้วางใจ 
  • ให้คำปรึกษาและแสวงหาทางออกแก่เด็กและครอบครัวของเด็กในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การคืนสู่ครอบครัวเดิม  การกลับไปเรียนหนังสือ การฝึกอาชีพ การบวชสามเณร  การเข้าสู่บ้านขององค์กรพัฒนาเอกชน และสถานสงเคราะห์ของรัฐ 
  • การผลักดันให้เด็กที่พบเจอได้เข้าสู่ระบบการศึกษา โดยใช้การทำงานเชิงประสานงานระหว่างครูข้างถนน อาสาสมัครในพื้นที่ และผู้ปกครองเด็ก ตั้งต้นจากการสำรวจเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ จากนั้นประสานให้อาสาสมัครในพื้นที่ช่วยตรวจสอบว่าเด็กคนดังกล่าวได้เรียนหนังสืออยู่หรือไม่ เรียนอยู่ที่ไหน ก่อนจะติดต่อไปยังผู้ปกครองเด็กเพื่อให้ความช่วยเหลือตามความต้องการ ซึ่งบางรายอาจช่วยเหลือเพียงการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน แต่บางรายอาจต้องช่วยนำเข้าโรงเรียนไปจนถึงช่วยดูแลผู้เจ็บป่วยในครอบครัว เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างเต็มที่ 
  • สุดท้ายคือการติดตามเด็กในโครงการซึ่งครอบคลุมทั้งการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่

ครูจิ๋ว ยังระบุถึงข้อกังวลและอุปสรรคที่พบเจอจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ว่า “เด็กเขาจะไม่พูดกับเรา เพราะเขาไม่ไว้วางใจเรา เราก็จะติดต่อกับอาสาสมัครในพื้นที่เพื่อสืบสาวว่าเด็กคนนั้น คนนี้ ได้เรียนหนังสือหรือเปล่า จากนั้นเราก็จะติดตามไปถึงบ้าน แต่ก่อนปี 2563 เขาไม่ให้เราเข้าบ้านเลย เพราะเขาไม่วางใจเรา จนเมื่อโควิด-19 ระบาด เขายอมให้เราได้เยี่ยมถึงบ้านเพื่อแลกกับความช่วยเหลือ จึงทำให้เราได้เห็นสภาพบ้านและสภาพความเป็นอยู่จริง ๆ ของเขา”

อีกหนึ่งตัวแบบคือ “โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่” จะมีลักษณะของการดำเนินการที่คล้ายคลึงกับโครงการครูข้างถนน คือมีทั้งการจัดกิจกรรม ให้คำปรึกษา และนำเข้าสู่ระบบการศึกษา ต่างกันแต่เพียงกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้มุ่งไปที่ลูกของกรรมกรก่อสร้างตามแหล่งก่อสร้างต่าง ๆ เป็นหลัก โดยใช้รถที่ดัดแปลงให้มีความพร้อมสำหรับบริการเป็นพาหนะกลางสำหรับการลงพื้นที่ 

อย่างไรก็ดี ทั้งสองโครงการกำลังเผชิญข้อจำกัดเรื่องเงินสนับสนุนการดำเนินการที่ต้องใช้มากขึ้นเพื่อดูแลเด็กทุกคนอย่างทั่วถึง ซึ่งครูจิ๋วเปิดเผยว่าปัจจุบันมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้รับเงินสนับสนุนหลักจากสองแหล่งเท่านั้น คือกองทุนวิกฤติพัวพันและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และแม้เด็กจะได้รับสิทธิในการเรียนฟรีพร้อมกับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาทั้งหมด ซึ่งมูลนิธิต้องรับผิดชอบต่อ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติ ครูจิ๋วระบุว่าค่าใช้จ่ายของเด็ก 1 คนต่อ 1 ภาคการศึกษาอยู่ที่ประมาณ​ 7,000 – 10,000 บาท ประกอบด้วย ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าประกันอุบัติเหตุ รวมถึงค่าครูสอนภาษาอังกฤษ  

ทั้งนี้ หากตรวจสอบรายละเอียดของค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะพบว่ามีบางรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น อาทิ ค่าเครื่องแต่งกาย พบว่าเด็กหนึ่งคนต้องซื้อชุดอย่างน้อย 6 ชุด ได้แก่ ชุดนักเรียน ชุดยุวกาชาด ชุดปฏิบัติธรรม  ชุดสัญลักษณ์ประจำจังหวัด ชุดพละ และชุดลูกเสือ ซึ่งเฉพาะชุดลูกเสือมีราคากว่า 1,000 – 2,000 บาท โดยครูจิ๋ว ระบุว่า “ชุดเหล่านี้แม้จะเป็นอุปกรณ์เสริมแต่กลับกลายเป็นภาระของครอบครัว มากไปกว่านั้นกฎระเบียบของโรงเรียนยังบีบบังคับให้เด็กต้องทำตาม โดยหากไม่สวมชุดดังกล่าวตามวันที่โรงเรียนกำหนดจะส่งผลให้นักเรียนถูกหักคะแนนพฤติกรรมและคะแนนทักษะชีวิตอย่างน้อย 20 คะแนน สุดท้ายก็จะกระทบกับผลการเรียนเด็ก” นอกจากนี้ยังมีค่าเดินทางไปโรงเรียนที่เด็กต้องรับผิดชอบซึ่งในแต่ละวันต้องจ่ายถึง 30 – 100 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางระหว่างบ้านและโรงเรียน เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้ยากและลำบากขึ้น

“เพิ่มงบการศึกษา – เสริมบริการสาธารณะ – ทบทวนระเบียบโรงเรียน” สามโจทย์คิดขจัดกับดักการศึกษา

ข้อมูลจากครูจิ๋วชี้ชัดให้เห็นว่าแม้จะพยายามออกแบบแนวทางเพื่อช่วยให้เด็กจนเมืองเข้าถึงการศึกษาอย่างเต็มที่เพียงใด แต่ก็ยังมีปัจจัยขวางกั้นอย่างน้อย 3 ประการที่สร้างความยากลำบากแก่เด็กจนเมืองในกรุงเทพฯ ได้แก่ งบประมาณสนับสนุนเพื่อการศึกษาที่จำกัด บริการสาธารณะที่ไม่เกื้อหนุนในการเข้าถึงการศึกษา และกฎระเบียบของโรงเรียนไทยที่สร้างภาระเกินความจำเป็น

ประการแรก งบประมาณสนับสนุนเพื่อการศึกษาที่จำกัด นอกจากข้อมูลจากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กที่ระบุถึงการได้รับเงินสนับสนุนที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาข้างต้นแล้ว หากพิจารณางบประมาณที่กรุงเทพมหานครจัดสรรเพื่อการศึกษา จะพบว่างบส่วนที่ถูกจัดไว้ลำดับท้ายสุด โดยปี 2564 กรุงเทพมหานคร มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งสิ้น 76,451 ล้านบาท ส่วนปี 2565 งบประมาณสูงขึ้นเป็น 79,855 ล้านบาท แต่งบประมาณส่วนใหญ่ใช้ไปกับสำนักการระบายน้ำมากที่สุดกว่า 7,000 ล้านบาท ส่วนงานด้านการศึกษาถูกจัดไว้ลำดับท้ายสุดด้วยงบประมาณ 786 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่เคยได้รับงบประมาณ 900 ล้านบาท [10] เพื่อส่งเสริมให้การพัฒนาประชากรเมืองโดยเฉพาะการศึกษาเด็กจนเมืองให้มีคุณภาพและเอื้อต่อการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น กรุงเทพมหานครจึงอาจต้องทบทวนการสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาให้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพื่อให้สามารถกระจายงบประมาณสนับสนุนแก่ทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนการศึกษาได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะภาคส่วนที่ทำงานหน้าด่านนำทำงานเชิงพื้นที่นำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา 

ประการต่อมา บริการสาธารณะที่ไม่เกื้อหนุนสำหรับการเข้าถึงการศึกษา ดังที่ครูจิ๋วเปิดเผยว่าเด็กต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงเรียน นั่นหมายความว่าภายในหนึ่งเดือน หากนับเฉพาะวันที่โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน ครอบครัวยากจนในกรุงเทพฯ ซึ่งมีรายได้ต่อคนเพียงเดือนละ 1,964 บาท ต้องจ่ายค่าเดินทางให้ลูกไปโรงเรียนอย่างน้อยสุดคือ 660 บาท และอาจมากสุดที่ 2,200 บาท นับว่าเป็นรายจ่ายที่หลายครอบครัวยากจนอาจไม่สามารถจ่ายได้ การแก้ปัญหานี้จึงต้องมองไปถึงระบบขนส่งสาธารณะของเมืองที่ควรขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และบริการฟรีแก่นักเรียนหรือเรียกเก็บค่าบริการในอัตราถูก เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับโรงเรียนของเด็กจนเมือง ดังเช่นกรณีศึกษาเมืองจากาตาร์ ที่ดำเนินนโยบายออกบัตร “Kartu Jakarta Pintar” ให้เด็กจนเมือง ซึ่งเป็นบัตรที่เติมเงินให้สำหรับไว้จ่ายค่าการศึกษารายเดือนซึ่งครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปกลับโรงเรียน [11]

ประการสุดท้าย กฎระเบียบของโรงเรียนไทยที่สร้างภาระเกินความจำเป็น รัฐบาลกลางโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการและกรุงเทพมหานครอาจต้องทบทวนกฎบังคับที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายส่วนเกินโดยเฉพาะเรื่อง “เครื่องแบบการแต่งกาย” อาจยกเลิกทั้งหมดหรือปรับลดให้เหลือเพียงชุดนักเรียนและชุดพละ เพื่อไม่ให้เป็นปัจจัยบังคับที่จะส่งผลกระทบต่อการเรียนและวัดผลการเรียนของเด็ก

สวมแว่นนโยบายชัชชาติ ส่องทางข้างหน้าด้วยความหวัง

แม้ความหวังของการพัฒนาการศึกษาในกรุงเทพฯ ให้มีคุณภาพและเข้าถึงได้ อาจฝากไว้กับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวเรือหลักคือกรุงเทพมหานครภายใต้การนำของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งได้มอบความหวังผ่านนโยบายการศึกษาไว้ถึง 31 นโยบาย  [12] อาทิ

  • นโยบายเรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม โดยรัฐบาลและกรุงเทพมหานครจะเพิ่มเงินอุดหนุนค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้สอดคล้องกับราคาตลาด ครอบคลุมราคาเสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า กระเป๋า และอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ
  • นโยบายดูแลนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาและป้องกันกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบ โดยกรุงเทพมหานครจะสร้างทางเลือกให้กับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้สามารถกลับเข้ามาเรียนหนังสือได้ หรือเลือกฝึกอาชีพพัฒนาทักษะยุคใหม่ตอบโจทย์ตลาดงาน พร้อมกันนั้นจะมีการจะดำเนินงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการค้นหานักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบ เมื่อระบุตัวตนได้แล้วจะดำเนินการป้องกันผ่านการให้ทุนการศึกษา หรือ ค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าเดินทาง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มเติม
  • นโยบายดูแลห้องสมุดชุมชน บ้านหนังสือ ให้มีความทันสมัยน่าใช้งาน โดยกรุงเทพมหานครดูแล ปรับปรุงสภาพ รูปแบบของพื้นที่บ้านหนังสือซึ่งเป็นโครงการห้องสมุดขนาดย่อมจำนวน 117 แห่งให้มีความร่วมสมัย เป็นมิตร น่าใช้งาน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนพูดคุยแบบผ่อนคลาย และตอบสนองต่อวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้น

ถึงตรงนี้ อย่างน้อยที่สุดคงได้เห็นภาพฉากการศึกษาของเด็กจนเมืองแจ่มชัดขึ้นว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาและความท้าทายใดที่ต้องเร่งจัดการ และแนวนโยบาย กระบวนการ รวมถึงการสนับสนุนควรตั้งต้นและออกแบบอย่างไรให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริง แน่นอนที่สุดว่าหากพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมย่อมส่งผลให้ประชากรเมืองมีทักษะความรู้ที่สูงขึ้น เป็นพลเมืองที่รู้คิดวิเคราะห์ เข้าถึงงานที่มีคุณภาพ ช่วยให้เกิดการเลื่อนสถานะทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนามหานครที่ยั่งยืน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
UN และพันธมิตรเปิดตัวแคมเปญ #LetMeLearn ก่อนการประชุมสุดยอดด้านการศึกษา – หลังพบว่าเด็ก 260 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ
– สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอนและรวันดา ทุ่มงบประมาณพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ หวังผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้น เพิ่มการเข้าถึงแก่ทุกคน
SDG Updates | ปรับโฉมการศึกษาในเอเชียเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต – สรุปการแสดงปาฐกถา โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ SDG 101 | รู้หรือไม่? การศึกษาไม่ได้อยู่แค่ใน SDG 4

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี 2573
– (4.3) สร้างหลักประกันให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้ ภายในปี 2573
– (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี 2573
– (4.5) ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573
– (4.6) สร้างหลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและสัดส่วนของผู้ใหญ่ในทั้งชายและหญิง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ ภายในปี 2573
– (4.a) สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.2) ภายในปี 2573 จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ เป็นพิเศษ
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

อ้างอิง:
[1] ณัฐชนน ปราบพล. (2565, 3 มีนาคม). มองผ่านวิสัยทัศน์การพัฒนา “กรุงเทพฯ มหานครแห่งเอเชีย”. The Urbanis. https://theurbanis.com/public-realm/03/03/2022/6201

[2] [8] กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2565, 3 สิงหาคม) สภากรุงเทพฯ จับมือ กสศ. ผนึกกำลัง ส.ก. 50 เขต หนุน กทม. ลุยแก้ ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ดันกทม.เมืองต้นแบบ ให้เงินอุดหนุนเด็กยากจนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลพร้อมวางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกมิติเป็นรายคน. https://www.eef.or.th/news-040822/

[3] สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล. การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ. (2564, 8 สิงหาคม). https://www.depa.or.th/th/smart-city-plan

[4] UNESCO. (2014). Education for All Global Monitoring Report 2013/4: Teaching and learning – Achieving quality for all. Paris: United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization. https://en.unesco.org/gem-report/report/2014/teaching-and-learning-achieving-quality-all

[5] [6] [9] 10] โกวิท โพธิสาร. (2565, 13 พฤษภาคม).โจทย์ของผู้ว่าฯ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมการพัฒนาเมือง. Way Magazine. https://waymagazine.org/education-inequality-in-bangkok/

[7] ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค. (2565, 5 เมษายน). “กรุงเทพฯ จะไปต่อไม่ได้” ถ้าเด็กยากจน-เด็กชายขอบถูกทิ้งไว้ข้างหลัง. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. https://www.eef.or.th/article-unlock-bangkok-050422/
[11] Bank DKI. Kartu Jakarta Pintar. https://bankdki.co.id/id/product-services/layanan/2016-11-26-10-00-44/kartu-jakarta-pintar

[12] ชัชชาติ สิทธิพันธ์. เรียนดี. https://www.chadchart.com/policy/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Megacities – Leading by Example” ภายใต้การดำเนินการโดย DW Akademia Asia เเละการสนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี (German Foreign Office)

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น