SDG Updates | เสริมภูมิคุ้มกันให้ประเทศไทย ผ่านกลไกการประกันและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง 

ฎาฎะณี วุฒิภดาดร 
อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์ 
ธนวัฒน์ วชิรทองคำ
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย


ทราบหรือไม่ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสิบประเทศทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุด จากรายงานความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Country Profile) [1] นอกจากนี้ รายงานความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศทั่วโลก (Global Climate Risk Report) ซึ่งจัดทำโดย Germanwatch ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับที่เก้าจากสิบประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุการณ์สูญเสียซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ [2]

สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ทำให้เกิดการสูญเสียมากกว่า 475,000 ชีวิตทั่วโลก  ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ [3] จากรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2565 (Global Risks Report 2022) “สุขภาวะของโลก” (health of the planet) เป็นเรื่องน่ากังวลทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดย “ความล้มเหลวในการลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” “สภาพอากาศสุดขั้ว” และ “การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ” เป็นความเสี่ยงรุนแรงที่สุด 3 อันดับแรกในระยะ 10 ปีข้างหน้า

ประเทศไทยต้องพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจของประชาชน ทุนทางธรรมชาติ ซึ่งรวมถึง ป่าไม้ ที่ดิน แร่ธาตุ พื้นที่ชายฝั่ง และสัตว์ทะเล ล้วนเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นร้อยละ 40 ของ GDP และเกือบร้อยละ 60 ของการจ้างงานทั้งหมด 

นอกจากนี้ รายงานความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Country Profile) พ.ศ. 2564 ของประเทศไทย ยังชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน (precipitation) ประจำปีทั่วประเทศไทย และสะท้อนถึงภัยธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำท่วม ภัยแล้ง และไซโคลน  หากพิจารณามหาอุทกภัยปี 2554 เพียงเหตุการณ์เดียว จะพบว่าสามารถสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง และชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเปราะบางต่อภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมากเพียงใด อุทกภัยครั้งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 13 ล้านคนใน 26 จังหวัด ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย และสร้างความเสียหายทั้งสิ้น 4.59 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.4 ล้านล้านบาท) [4] โดยภาคการท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย นับตั้งแต่โรงแรมที่พัก ไปจนถึงบรรดาบริษัทขนส่งและนำเที่ยว คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (9.48 หมื่นล้านบาท) และผลกระทบของภัยพิบัติต่อภาคการเงินและการประกันภัยอยู่ที่ประมาณ 3.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.153 แสนล้านบาท) [5]

ภัยพิบัติได้ทำลายทรัพย์สินที่จับต้องได้ เช่น อาคารและอุปกรณ์ ตลอดจนทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นการลดทอนศักยภาพในการผลิตของทรัพย์สินดังกล่าว ภัยพิบัติได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความสูญเสียต่อสินทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น บ้าน โรงเรียน โรงงานและอุปกรณ์ ถนน เขื่อน และสะพาน นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดความสูญเสียในด้านทุนมนุษย์ จากการเสียชีวิต การสูญเสียแรงงานทักษะ และการหยุดชะงักของการเรียนการสอนเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาถูกทำลาย อีกทั้งยังทำให้การเข้าถึงบริการสาธารณะต้องถูกจำกัดหรือหยุดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ประชากรกลุ่มยากจนที่สุดและกลุ่มชายขอบเป็นผู้ประสบกับความสูญเสียและความเสียหายมากกว่าคนกลุ่มอื่น หากประเทศไทยไม่ปรับตัว คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลงร้อยละ 43.6 ภายในปี 2591 (Swiss Re Institute 2021)  

ภาพจาก : The Urbanis

เพื่อบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รัฐบาลไทยจึงออกพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งวางกรอบงานหลัก เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงและตอบสนองต่อภัยพิบัติของประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 – 2563 ตลอดจนแผนการจัดการความเสี่ยงต่อภัยพิบัติในระดับจังหวัดและอำเภอ โดยในระดับประเทศ มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเป็นผู้กำหนดนโยบายหลัก ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบอำนาจ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ในระดับท้องถิ่น แต่ละจังหวัดมีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำจังหวัด นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับกรุงเทพมหานคร มีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน ภายใต้กรอบการดำเนินการนี้ หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศ ระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานครต้องกำหนดแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของตนเอง ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติได้ดียิ่งขึ้น  

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีหน้าที่จัดการความเสี่ยงด้านการคลัง รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคในแง่ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง ผลกระทบของภัยธรรมชาติต่อเศรษฐกิจประเทศไทยและดุลการคลัง ติดตามระบบสัญญาณเตือนภัยทางด้านการคลัง และประมาณการรายได้ที่ต้องสูญเสียจากภัยพิบัติ นอกจากนี้ สศค.ยังทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกำหนดสัดส่วนของงบประมาณเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ต่องบประมาณรวมทั้งหมด โดยตั้งงบประมาณสำหรับการจัดการภัยพิบัติโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีกรอบการดำเนินการและการประเมินและจัดการความเสี่ยงดังกล่าว ทว่ารายงานดัชนีชี้วัดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประจำปี 2564 ของ Germanwatch ยังคงจัดให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 39 จาก 48 ประเทศ ในแง่ของศักยภาพในการรับมือกับภัยธรรมชาติ 

ปัจจุบัน การพิจารณาความเสี่ยงจากภัยพิบัติยังไม่ได้ถูกผนวกอย่างชัดเจนในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ นอกเหนือไปจากการจัดสรร ร้อยละ 2.5 – 3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อการตอบสนองและการจัดการเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ยังไม่ได้ผนวกกลไกการถ่ายโอนความเสี่ยงหรือการประกันเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือการจัดการความเสี่ยง ในการวางแผนและการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ในปัจจุบัน กรอบการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยงของประเทศไทย ยังคงใช้วิธีการรับความเสี่ยงไว้เอง ผ่านการใช้เงินสำรอง การจัดสรรงบประมาณใหม่และงบประมาณฉุกเฉิน เพื่อให้ครอบคลุมรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ มาตรการการถ่ายโอนความเสี่ยงที่รัฐบาลได้ดำเนินการ คือ โครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งภาคประกันภัยมีส่วนร่วม สำหรับทรัพย์สินสาธารณะ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดความสูญเสีย แทนที่จะซื้อประกันภัยจากบุคคลที่สาม

ในแง่ของความครอบคลุม ประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงตลาดและความหนาแน่นของตลาดต่ำ ทั้งในตลาดประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ในปี 2560 อัตราการเข้าถึงตลาดของภาคประกันภัยในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.4 อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราการเข้าถึงตลาดของภาคประกันวินาศภัยในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 4.1 

แม้ว่าประเทศไทยจะมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยราคาย่อมเยาสำหรับกลุ่มคนยากจนหรือคนเปราะบาง (microinsurance)  [6] แต่ก็มีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมด โดยค่าเบี้ยประกันภัยรายปีคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.2 (ไม่รวมประกันภัยพืชผล) ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมดในตลาด นอกจากนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยยังเปิดจำหน่ายแค่บางครั้ง โดยมักจำหน่ายในช่วงเทศกาล เช่น วันขึ้นปีใหม่หรือเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูง โครงการประกันภัยพืชผลมีอัตราการคุ้มครองสูงที่สุด โดยในปี 2564 มีสัดส่วนการเข้าถึงอยู่ที่ร้อยละ 72.3 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด และคุ้มครองเกษตรกร 3.41 ล้านคน 

ภาพจาก : galaxycredit

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ระบบคุ้มครองทางสังคมและประกันภัยในปัจจุบันยังไม่ตอบสนองความต้องการด้านการคุ้มครองความเสี่ยงทางการเงินอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับแรงงานนอกระบบ แรงงานอพยพ [7] ประชากรสูงอายุ และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม ซึ่งความคุ้มครองการสูญเสียรายได้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับแรงงานนอกระบบ  นอกจากนี้ร้อยละ 40 ของแรงงานอพยพปกติ (regular migrant workers) [8] ไม่ได้รับสิทธิในกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ส่วนแรงงานอพยพไม่ปกติ (irregular migrant workers)  [9] ไม่มีสิทธิเข้าถึงโครงการคุ้มครองทางสังคมใด ๆ ของรัฐบาล ยกเว้นแผนประกันสุขภาพสำหรับผู้อพยพ (Migrant Health Insurance Scheme) [10]

จากความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือและตอบสนองผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงอื่น ๆ ประเทศไทยจึงต้องสร้างกรอบการจัดการความเสี่ยงที่เป็นระบบและครอบคลุมมากกว่าเดิม ซึ่งควรพิจารณา 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

ประเด็นแรก คือ การผนวกกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงของประเทศให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านการเงินในภาพรวม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายใต้กรอบงานของข้อตกลงไตรภาคี ระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ความร่วมมือด้านการประกันเพื่อการพัฒนา (Insurance Development Forum-IDF) และรัฐบาลเยอรมนี โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้จัดทำการศึกษาเชิงวิเคราะห์ (diagnostic study) ว่าด้วยการประกันภัยอย่างครอบคลุมและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมกลยุทธ์ด้านการประกันที่ครอบคลุมและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง เพื่อสนับสนุนการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติในขั้นต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนเชิงระเบียบข้อบังคับสำหรับการพัฒนาตลาดประกัน (ประกันรายย่อยหรือไมโครอินชัวรันส์) ที่ครอบคลุม โดยเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายใหญ่ในการมอบความคุ้มครองทางการเงินแก่ประชากรกลุ่มเปราะบาง รวมถึงใช้เครื่องมือถ่ายโอนความเสี่ยง เช่น การประกันภัย เพื่อสามารถนำทรัพยากรสาธารณะไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆ การประกันและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยงจึงควรเป็นส่วนหนึ่งของกรอบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Integrated National Financing Framework : INFF) ของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของประเทศในการรับมือกับวิกฤตในอนาคต และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leave No One Behind) ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังจะเป็นรัฐสมาชิกแรก ๆ ของสหประชาชาติที่จัดทำกลยุทธ์ทางการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเสี่ยง

ประเด็นที่สอง คือ การส่งเสริมการจัดการและการวิเคราะห์ข้อมูล และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการประกันแบบครอบคลุม และการจัดการความเสี่ยง

เนื่องจากผลกระทบจากความเสี่ยง (โดยเฉพาะความเสี่ยงจากภัยพิบัติ) เป็นผลกระทบที่ไร้ขอบเขต ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีฐานข้อมูลที่เป็นเอกภาพ เพื่อสร้างการประกันที่ครอบคลุมและการจัดการการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง ความพร้อมของข้อมูลที่ทันสมัยและการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยอำนวยประโยชน์ให้การติดตามผลกระทบจากความเสี่ยง รวมถึงความถี่และความรุนแรงของความเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง ผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อ และตัวเลขความเสียหายโดยประมาณ 

การวิเคราะห์ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการประกัน การวิเคราะห์ข้อมูลและเทคโนโลยี (โดยอาศัยระบบ paremetric insurance แบบใหม่ ภาพถ่ายดาวเทียม และโดรน) จะช่วยให้บริษัทประกัน สามารถอนุมัติการจ่ายสินไหมทดแทนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยเหลือเหยื่อภัยพิบัติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลยังจะช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการด้านประกันอีกด้วย 

ประเด็นสุดท้าย ประเทศไทยควรอาศัยความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับภาคส่วนด้านการพัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 

การสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม (whole-of-society approach) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความเสี่ยงในอนาคต ตั้งแต่โรคระบาด จนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ จึงมีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการประกันและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง (Working Group on Insurance and Risk Finance) ขึ้น ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ความร่วมมือด้านการประกันเพื่อการพัฒนา (Insurance Development Forum-IDF) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ คณะทำงานนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมประกันภัย ในการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาด้านการประกันและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงต่อประชากรที่ยากจนและเปราะบาง และช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้อย่างมั่นคง

บทสรุป

การประกันและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน [11] และสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการลดความเปราะบางต่อผลกระทบจากวิกฤตสุขภาพ สังคม-เศรษฐกิจ และสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้ ภาคประกันในประเทศไทย ยังคงมีอัตราการเข้าถึงตลาดในระดับต่ำ จึงยังสามารถเพิ่มอัตราการเข้าถึงได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ ที่สำคัญต่อความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  เช่น การประกันรายย่อย การประกันภัยพืชผล และการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง ความเปราะบางของประเทศไทยต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศ ยังสะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนากลยุทธ์ทางการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสอดคล้องกันของการวางแผนการพัฒนาและมาตรการทางการเงิน ตลอดจนการบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ ประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในการขยายอัตราการเข้าถึงของภาคการประกัน และส่งเสริมให้การประกันมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สิ่งนี้เมื่อประกอบกับฐานข้อมูลที่เป็นเอกภาพและการวิเคราะห์ข้อมูลที่เชิงลึกยิ่งขึ้น จะช่วยเสริมบทบาทของภาคการประกันและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยง และปกป้องผู้คนจากความเสี่ยง โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือและการร่วมงานอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นกับหุ้นส่วนด้านการพัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อการขับเคลื่อนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้วาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030)

ผู้เขียน : ฎาฎะณี วุฒิภดาดร (CO Chief Economist) อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์ (CO Economist) และธนวัฒน์ วชิรทองคำ (Research Assistant) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย

อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ


● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เปิดตัว “แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) โดย 5 หน่วยกำกับดูแลภาคการเงินไทย 
การลงทุนอย่างยั่งยืนมีมูลค่าสูงกว่าหนึ่งในสามของสินทรัพย์ใน 5 ตลาดการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก 
SDG Updates | เปิดรายงาน WIR 2021 การลงทุนที่ยั่งยืนยังเป็นไปได้หรือไม่? ในยุคหลังโควิด
 SDG Updates | กลไกทางการเงินกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
SDG Updates | การเงินเพื่อความยั่งยืน ท่ามกลางพายุวิกฤตและความขัดแย้ง : กรณีศึกษาจากประเทศไทย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัฒกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.10) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันทางการเงินภายในประเทศเพื่อส่งเสริมและขยายการเข้าถึงการธนาคาร การประกัน และบริการทางการเงินแก่ทุกคน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.a) ระดมและเพิ่มทรัพยากรทางการเงินจากทุกแหล่งอย่างมีนัยสำคัญเพื่ออนุรักษ์และใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา

อ้างอิง

[1] Climate Risk Country Profile: Thailand. The World Bank Group and Asian Development Bank,2021. https://www.adb.org/sites/default/files/publication/722251/climate-risk-country-profile-thailand.pdf
[2] [3] Germanwatch’s Global Climate Risk Index 2021: Who Suffers Most from Extreme Weather Events? Whether-Related Loss Events in 2019 and 2000-2019. https://reliefweb.int/report/world/global-climate-risk-index-2021.
[4] อุทกภัยปี 2554 สร้างความเสียหายและความสูญเสียในไร่นามากกว่า 7.3 ล้านไร่ ปศุสัตว์ 6.2 ล้านตัว และการประมง 1.771 แสนไร่
[5] World Bank. 2012. Thai Flood 2011: Rapid Assessment for Resilient Recovery and Reconstruction Planning. World Bank, Bangkok.  https://openknowledge.worldbank.org/handle/10986/26862 License: CC BY 3.0 IGO (ใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ย พ.ศ. 2554 หรือ 30.5 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)
[6] สำหรับประเทศไทย มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยทั้งสิ้น 5 ประเภทหลัก ได้แก่ ประกันอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันอุบัติเหตุนักเรียนหรือนักศึกษา ประกันอัคคีภัยสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และประกันภัยพืชผล ประกันภัยพืชผลคุ้มครองเกษตรกรที่ปลูกข้าวและข้าวโพด และเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยเพียงประเภทเดียวที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2554
[7] ในปี พ.ศ. 2564 แรงงานอพยพคิดเป็นประมาณร้อยละ 6.23 ของอัตราการจ้างงานในประเทศไทยทั้งหมด (สํานักงานสถิติแห่งชาติ, 2565) ส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้ทำงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำ ซึ่งรวมถึงในภาคการประมง เกษตรกรรม การก่อสร้าง การผลิต งานบ้าน และบริการอื่น ๆ
[8] แรงงานอพยพปกติ (regular migrant workers) ได้แก่บุคคลที่ไม่ใช่คนไทยและมีใบอนุญาตทำงาน วีซ่า และเอกสารอื่น ๆ ที่ให้สิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมาย
[9] ในทางตรงกันข้าม แรงงานอพยพไม่ปกติ (irregular migrant workers)ไม่มีเอกสารหลักฐานที่พิสูจน์ว่าตนมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
[10] IOM, ILO, UNICEF, UNWOMEN, Social Protection for Migrant Workers and Their Families in Thailand (Thailand Social Protection Diagnostic Review: Social Protection for Migrant Workers and Their Families in Thailand | IOM Publications Platform)
[11] ตามรายงานแผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (DG Investor Map Report) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ภาคประกันภัยสามารถช่วยเหลือให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเรื่อง ความยากจนต้องหมดไป (SDG 1) งานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต (SDG 8) และลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10) นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ (SDG 5) อีกด้วย

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น