4 องค์การด้านสุขภาพเรียกร้องให้ลด “มลพิษทางอากาศ” ชี้เป็นหนึ่งตัวการโรคหัวใจและหลอดเลือด และความเสี่ยงต่อโควิด-19

ถิรพร สิงห์ลอ

การลดจำนวนการตายและการป่วยจาก “มลพิษทางอากาศ” เป็นเป้าประสงค์หนึ่งของเป้าหมาย SDG เป้าหมายที่ 3 ประเด็นสุขภาพและสุขภาวะที่ดี

“คุณภาพอากาศที่แย่เป็นอันตรายต่อหัวใจและสมอง ชุมชนที่มีรายได้ต่ำและยากจนที่อาศัยอยู่กับแหล่งมลพิษนั้นยิ่งได้รับผลกระทบมาก… มลพิษทางอากาศเป็นตัวการหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง แต่คนมักมองข้าม…จึงต้องมีการชี้ปัญหาให้สังคมโลกได้รับรู้ ต้องมีการลดการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศอย่างเสมอภาคกัน รวมถึงมีการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศที่แย่ด้วย”

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 มีการตีพิมพ์แถลงการณ์ความเห็นร่วมของ World Heart Federation (WHF), American College of Cardiology (ACC), American Heart Association (AHA) และ European Society of Cardiology (ESC) เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเน้นย้ำบทบาทของผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และชี้ให้เห็นความสัมพันธ์และความเสี่ยงของมลพิษทางอากาศที่มีต่อสุขภาพของคน โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยในปี 2562 ร้อยละ 12 ของการเสียชีวิตทั่วโลกหรือประมาณ 6.7 ล้านคน เกิดจากมลพิษทางอากาศทั้งจากการทำกิจกรรมภายในและภายนอกบ้าน ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นผลมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมลพิษทางอากาศยังได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งยิ่งทำให้สุ่มเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงมากขึ้นด้วย

ตามแถลงการณ์ได้ชี้บทบาทสำคัญของผู้ให้บริการด้านสุขภาพเพื่อป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ อาทิ

  • ให้การรณรงค์ลดมลพิษทางอากาศเป็นมาตรการด้านสุขภาพ มีการทำวิจัยเรื่องคุณภาพอากาศและผลกระทบที่มีต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และมีการแทรกแซงเพื่อลดมลพิษทางอากาศและผลกระทบที่มีต่อโรคไม่ติดต่อ
  • มีมาตรการช่วยเหลือคนไข้เพื่อลดการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ อาทิ การติดตั้งระบบกรองอากาศในห้องคนไข้
  • บูรณาการประเด็นมลพิษทางอากาศเข้ากับแนวทางบริหารจัดการโรค อาทิ การใช้ดัชนีคุณภาพอากาศ
  • เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • สร้างการตระหนักรู้และความรู้เกี่ยวกับอากาศที่ดีจะส่งผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือดอย่างไร
  • ส่งเสริมการดำเนินงานของกระทรวงด้านสิ่งแวดล้อม (อาทิ การจัดการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นตัวเร่งให้เกิดไฟป่ารุนแรงและทำให้เกิดหมอกควันขนานใหญ่) พลังงาน (อาทิ ประเด็นเชื้อเพลิงแข็งอย่างถ่านไม้หรือถ่านหิน) และการคมนาคมในการลดมลพิษทางอากาศ
  • ร่วมมือกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจระดับสูงในระดับชาติ ภูมิภาค และองค์การระหว่างประเทศที่จะทำให้มลพิษทางอากาศซึ่งเกี่ยวกับโรคหัวใจเป็นความสำคัญอันดับแรก

อ่านแถลงการณ์และข้อมูลประกอบฉบับเต็ม:

https://globalheartjournal.com/articles/10.5334/gh.948/

แหล่งที่มา:

#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น