สถานการณ์การหกล้มของผู้สูงอายุในอาเซียนเเละมาตรการป้องกันเป็นอย่างไร ชวนสำรวจผ่านการทบทวนงานวิจัยที่หลากหลาย

การหกล้มในหมู่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นับวันยิ่งมีความกังวลมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง East-West Center คาดการณ์ว่าในปี 2593 สัดส่วนผู้สูงอายุจะมากกว่าภูมิภาคเอเชียใต้ อเมริกาเหนือ และยุโรป

อย่างไรก็ดี พบว่างานวิจัยที่ศึกษาและเผยแพร่เกี่ยวกับการหกล้มของผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีข้อจำกัดและเข้าถึงได้ยาก ส่งผลให้การค้นคว้าและนำไปต่อยอดสู่การสร้างสรรค์แนวทางและมาตรการป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุในภูมิภาคจึงเป็นความท้าทายที่ต้องการการจัดการและศึกษาวิจัยมาตอบโจทย์ 

เพื่อสำรวจ รวบรวม ทบทวนและวิเคราะห์งานวิจัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งศึกษาประเด็นดังกล่าว รศ. ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะผู้วิจัย จึงได้ดำเนินงานวิจัย “Falls amongst older people in Southeast Asia: a scoping review” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและระบุถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการหกล้มของผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติต่อกรณีหกล้มในผู้สูงอายุพร้อมทั้งถกสนทนาถึงทิศทางในอนาคตเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

ด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้นคว้าวิจัยและสร้างสรรค์แนวทางป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ทำให้งานวิจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 1 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 

การดำเนินการวิจัยของ รศ. ดร.ไพลวรรณ และคณะ ใช้วิธีการศึกษาแบบการทบทวนวรรณกรรมอย่างมีขอบเขต (scoping review) โดยมีรายละเอียดสำคัญ ได้แก่

  • คำถามของการวิจัยกำหนดโดยพิจารณาประเด็นประชากรและมาตรการที่ใช้ป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
  • การสืบค้นวรรณกรรมหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการหกล้มของผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินอย่างเป็นระบบผ่านเว็บไซต์ฐานข้อมูล อาทิ  CINAHL, Web of Sciences, Scopus, Thai-Journal Citation Index, MyCite 
  • การคัดเลือกงานวิจัย เจาะจงเฉพาะงานศึกษาที่รายงานเกี่ยวกับการหกล้มในผู้สูงอายุที่มีลักษณะเป็นพื้นฐานเท่านั้น โดยคัดงานวิจัยที่ซ้ำออกแล้ว จึงคัดกรองตามลำดับชื่อเรื่อง บทคัดย่อ และเนื้อหา ขณะเดียวกันก็เลือกเฉพาะงานวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น
  • การวิเคราะห์ข้อมูลและผลการวิจัย เลือกพิจารณาประเด็นสำคัญผ่านเเนวทาง ได้แก่ 1) การศึกษาเชิงสังเกต (observational studies) 2) การวิจัยเชิงสังเคราะห์ (interventional studies) 3) การวิจัยเชิงประเมินผล (evaluation and assessments) และ 4) การศึกษาที่กำลังดำเนินการ (on-going studies)

งานวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบโดยสรุปที่น่าสนใจ ได้แก่

  • ข้อสรุปโดยภาพรวม พบว่างานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการหกล้มในผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทั้งสิ้น 900 เรื่อง เเต่ที่คัดเลือกมาศึกษาทบทวนในงานวิจัยของ รศ. ดร.ไพลวรรณ และคณะ มีเพียง 43 เรื่อง งานวิจัยที่คัดเลือกครอบคลุมอยู่ในหลายสาขาวิชา อาทิ การแพทย์ และสังคมศาสตร์
  • ผลการศึกษางานวิจัยของประเทศไทย พบว่าเป็นประเทศที่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้างต้นมากที่สุด จำนวน 18 เรื่อง โดยแบ่งเป็นงานวิจัยเชิงสังเคราะห์จำนวน 5 เรื่อง งานวิจัยเชิงสังเกตจำนวน 13 เรื่อง ด้านเนื้อหาของงานวิจัยที่ค้นพบมีความครอบคลุมประเด็นสำคัญหลายประเด็น อาทิ การศึกษาและประเมินความเสี่ยงจากการหกล้มในผู้สูงอายุ การทบทวนยาที่ใช้สำหรับการรักษา การเสริมสร้างสร้างกล้ามเนื้อและการออกกำลังกายเพื่อการทรงตัว รวมถึงการขจัดอันตรายภายในบ้าน
  • ผลการศึกษางานวิจัยของประเทศมาเลเซีย พบว่ามีการศึกษาจำนวน 10 เรื่องที่ดำเนินการในประเทศมาเลเซีย โดยแบ่งเป็นงานวิจัยเชิงสังเคราะห์จำนวน 1 เรื่อง และงานวิจัยเชิงสังเกตจำนวน 9 เรื่อง ด้านเนื้อหาของงานวิจัยที่ค้นพบ อาทิ การประเมินปัจจัยเสี่ยง การศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพของสิ่งแวดล้อมกับการป้องกันการหกล้ม รวมถึงการศึกษาผลกระทบจากอันตรายภายในบ้าน ซึ่งระบุว่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญของการหกล้มในผู้สูงอายุ
  • ผลการศึกษางานวิจัยของประเทศสิงคโปร์ พบว่ามีการศึกษาจำนวน 5 เรื่องที่ดำเนินการในประเทศสิงคโปร์ โดยแบ่งเป็นงานวิจัยเชิงสังเคราะห์จำนวน 1 เรื่อง และงานวิจัยเชิงสังเกตจำนวน 4 เรื่อง ด้านเนื้อหาของงานวิจัยที่ค้นพบ อาทิ การศึกษาปัจจัยเสี่ยง การศึกษาปัจจัยที่ช่วยในการป้องกัน รวมถึงการประเมินเปรียบเทียบระหว่างการใช้และไม่ใช้มาตรการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
  • งานวิจัยของประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย พบว่ามีจำนวน 2 เรื่อง 1 เรื่อง และ 1 เรื่อง ตามลำดับ โดยเนื้อหามุ่งพิจารณาปัจจัยเสี่ยงเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันไม่พบงานศึกษาวิจัยเรื่องข้างต้นในประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และบรูไน

นอกจากนี้  รศ. ดร.ไพลวรรณ และคณะ ยังได้เสนอแนะว่าควรนำมาตรการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุด้วยการออกกำลังกายมาประยุกต์ใช้กับผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นวิธีการสำคัญที่ช่วยป้องกันการหกล้มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่วิธีการอื่น ๆ อาทิ การเสริมวิตามินดี อาจนำมาใช้อย่างระมัดระวังเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันจากการศึกษาที่ชัดเจน และหากพิจารณาเชิงพื้นที่เฉพาะบริบทประเทศไทยก็อาจมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงความต้องการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้น โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่ดีและการสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ เนื่องจากการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในบ้านนับว่าเป็นมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน

กล่าวโดยสรุป แม้ว่างานวิจัย “Falls amongst older people in Southeast Asia: a scoping review” ไม่ได้ประเมินคุณภาพของงานวิจัยที่สำรวจ ทว่าการทบทวนงานวิจัยทั้งหลายที่รวบรวมจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ฉายภาพสถานการณ์และการดำเนินการทั้งปัจจุบันและอดีตที่ผ่านมาเกี่ยวกับการหกล้มในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงและมาตรการป้องกัน มากกว่านั้นยังช่วยสะท้อนถึงสิ่งที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องคิดค้น ปรับใช้ และดำเนินการ ทั้งด้านการวิจัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสนับสนุนเงินทุน หากในอนาคตมีงานวิจัยที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุในภูมิภาคได้ย่อมส่งผลดีแก่การสร้างสรรค์แนวทางและมาตรการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

ข้อมูลงานวิจัย: M.H. Romli , M.P. Tan, L. Mackenzie,  M. Lovarini , P. Suttanon , L. Clemson. (2560). Falls amongst older people in Southeast Asia: a scoping revie. Public Health. 145. 96 – 112. https://doi.org/10.1016/j.puhe.2016.12.035
ชื่อผู้วิจัย -สังกัด: M.H. Romli 1,2, M.P. Tan 3, L. Mackenzie 1, M. Lovarini 1, P. Suttanon 4, L. Clemson 1
1 Discipline of Occupational Therapy, Faculty of Health Sciences, Cumberland Campus, University of Sydney, 75 East Street, Lidcombe, NSW 2141, Australia
2 Department of Nursing and Rehabilitation, Faculty of Medicine and Health Sciences, Universiti Putra Malaysia, 43400 Serdang, Selangor, Malaysia
3 Ageing and Age Associated Disorders Research Group, Faculty of Medicine, University of Malaya, 50603 Kuala Lumpur, Malaysia
4 Faculty of Allied Health Sciences, Thammasat University, 99 Moo 18 Paholyothin Road, Klong Luang, Rangsit, Prathumthani 12120, Thailand

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น