TU SDG Seminars | การทำงานวิจัยข้ามศาสตร์ : เจาะลึกกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SDGs และทิศทางการวิจัยในอนาคตของธรรมศาสตร์ – ชวนหาคำตอบจากบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน

ชวนอ่านบทสรุปสัมมนา ครั้งที่ 4 หัวข้อ “การวิจัยด้านหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน” โดย ศ. ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ รศ. ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยแบ่งประเด็นการพูดคุยออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) การนำเสนอผลงานวิจัยที่ผ่านมา 2) อุปสรรคและความท้าทายของการทำวิจัยในปัจจุบัน และ 3) ช่วงถามตอบประเด็นการวิจัยจากผู้เข้าร่วมในห้องสัมมนา ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ผ่านระบบ Zoom Meeting

ด้วยประเด็นที่กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน SDG โดยการสร้างความร่วมมือข้ามศาสตร์ นำงานวิจัยสู่สังคม และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วน จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


01 – การนำเสนอผลงานวิจัยที่ผ่านมา

ผลงานวิจัยที่ผ่านมาของ ศ. ดร.รุธิร์ เป็นการศึกษาที่รวมกันหลายสาขาวิชา ทั้งเศรษฐศาสตร์ บริหาร และวิศวกรรมโลจิสติกส์/ห่วงโซ่อุปทาน โดยผลงานเด่นคือ Evaluating Trade Corridor Performance: A Myanmar Case Study เป็นการทำงานร่วมกับธนาคารโลกเพื่อเข้าช่วยเหลือประเทศเมียนมาในช่วงที่เกิดการปฏิวัติ จากการศึกษาวิจัยพบว่า ประเทศเมียนมามีการส่งออกถั่วไปยังประเทศอินเดีย แต่ในการส่งออกไม่สามารถไปทางบกได้ จำเป็นต้องส่งออกทางทะเล งานวิจัยนี้จึงศึกษาว่าการส่งออกทางทะเลมีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร และเกี่ยวข้องกับการติดสินบนหรือไม่ นอกจากนี้ อีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าสนใจของ ศ. ดร.รุธิร์ คือ Humanitarian Supply Chain (A Purchasing Portfolio Model for Humanitarian Supply Chain Resilience: Perspectives from a Development Aid Context) เกี่ยวข้องกับการจัดการโลจิสติกส์ห่วงโซ่อุปทานของกาชาดสากลเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติ โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิหนึ่งเพื่อเข้าไปช่วยเหลือองค์กรศุภนิมิต ประเทศลาว ในการพัฒนาเครื่องมือบริหารการจัดซื้อจัดหา เนื่องจากองค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร การบริหารงบประมาณให้คุ้มค่าที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

สำหรับผลงานวิจัยที่ผ่านมาของ รศ. ดร.ธีร มีการทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนำระบบ Internet of Things (IoT) และการเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ (cloud) ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านการใช้หลักสถิติและคณิตศาสตร์เพื่อศึกษาอุปสรรคในโรงงานอุตสาหกรรม มีปัญหาเกิดขึ้นในกระบวนการใดบ้าง และต้องแก้ไขอย่างไร ทำให้ผู้ประกอบการและโรงงานสามารถประเมินความสามารถของกำลังคน รวมถึงอัตราการผลิต หากมีแนวโน้มลดลงก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที จากการศึกษากับโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง พบว่า สามารถแก้ไขปัญหาที่พบและเพิ่มมูลค่าการผลิตได้ค่อนข้างสูง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของการนำเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลมาใช้ นอกจากนี้ อีกหนึ่งผลงานวิจัยของ รศ. ดร.ธีร คือ โครงการคลินิกเทคโนโลยีและโครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สินค้าโอทอป (OTOP) และการเข้าถึงแหล่งทุนต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของรัฐ กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหรือชุมชน


02 – อุปสรรคและความท้าทายของการทำวิจัยในปัจจุบัน

ในมุมมองของ ศ. ดร.รุธิร์ อุปสรรคสำคัญของการทำงานวิจัยคือ ความไม่ลงรอยระหว่างการทำงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการและการทำงานวิจัยเพื่อการปฏิบัติใช้จริง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องตีพิมพ์ผลงานวิชาการเพื่อความก้าวหน้า ทว่าการทำวิจัยทั้งสองทางสามารถดำเนินไปด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ การทำงานวิจัยที่สร้างผลกระทบ (impact) บางอย่างเพื่อขับเคลื่อนและสร้างประโยชน์แก่สังคม

รศ. ดร.ธีร เผชิญอุปสรรคในการทำงานวิจัยเช่นเดียวกับ ศ. ดร.รุธิร์ เนื่องจากหลายหน่วยงานผู้ให้ทุนให้ความสำคัญกับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยมากเกินไป บางงานวิจัยไม่สามารถส่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการได้ แต่สามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งงานวิจัยในลักษณะนี้มักไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ในขณะที่บางงานไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสังคมมากนัก แต่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนมากเนื่องจากสามารถตีพิมพ์ได้ ดังนั้น การหาความสมดุลในการผลักดันงานวิจัยเพื่อลดข้อจำกัดเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง


03 – ช่วงถามตอบประเด็นการวิจัยจากผู้เข้าร่วมในห้องสัมมนา

ผู้เข้าร่วมในห้องสัมมนาได้สอบถามประเด็นที่น่าสนใจหลายคำถาม ซึ่ง ศ. ดร.รุธิร์ และ รศ. ดร.ธีร ได้ให้คำตอบที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

แนวทางงานวิจัยของธรรมศาสตร์ในอนาคตควรจะเป็นไปทางใด

ศ. ดร.รุธิร์ กล่าวว่า สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องยอมรับว่าทางด้านสังคมศาสตร์ค่อนข้างมีความเข้มแข็ง แต่เมื่อมองทางด้านวิทยาศาสตร์ อาจจะเน้นการผลิตงานวิจัยที่เป็นการศึกษาข้ามศาสตร์ หรือรวมหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งและการมีตัวตนที่ชัดเจนขึ้น โดยอาจแบ่งการทำงานเป็นหลายระยะ เนื่องจากการวิจัยข้ามศาสตร์ แต่ละศาสตร์จะต้องมีความเข้มแข็ง และอาจจะต้องจัดกิจกรรมเพิ่มขึ้นเพื่อให้แต่ละสาขาได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น

รศ. ดร.ธีร เห็นด้วยกับ ศ. ดร.รุธิร์ โดยแสดงความเห็นว่า ปัจจุบันทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็มีการทำงานวิจัยข้ามศาสตร์มากขึ้นเช่นกัน คาดว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 50% ที่ทำงานร่วมกันคณะหรือหน่วยงานอื่น ๆ

ปัจจุบันมีการส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาอาหารลดหวาน มัน เค็ม เพื่อผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases: NDCs) และมีการทำงานที่เชื่อมโยงกับ SDGs หลายข้อ แต่ยังมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ยังจัดการไม่ได้ เช่น การจัดการกระบวนการโลจิสติกส์ที่จะช่วยให้อาหารดีจากต้นทางไปถึงมือผู้บริโภคในราคาที่จับต้องได้ จึงอยากขอคำแนะนำในการทำงาน

ศ. ดร.รุธิร์ เสนอว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนมีความสนใจในการทำกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) มากขึ้น แต่แนวโน้มนี้ยังไม่ได้รับการพัฒนาเพียงพอ ซึ่งการพัฒนาจำเป็นต้องอาศัยการทำงานข้ามศาสตร์ นอกจากนี้ การทำงานไม่ได้รองรับแค่ภาคธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการทำเพื่อภาคสังคมด้วย ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบและตีพิมพ์งานวิจัยไปพร้อมกันได้ นอกจากนี้ ในการทำงานร่วมกัน อาจารย์อาวุโสอาจเป็นตัวเชื่อมนักวิจัยรุ่นใหม่ สร้างเครือข่ายการวิจัยเพื่อประโยชน์ในอนาคตต่อไป และ รศ. ดร.ธีร กล่าวเสริมท้ายว่า กระบวนการที่ทำแล้วมีคนได้ประโยชน์ สังคมได้ประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยควรทำร่วมกัน

ข้อเสนอแนะในด้านกลยุทธ์หรือบทบาทที่จะสนับสนุนการวิจัยที่เชื่อมโยงกับ SDGs ให้เกิดขึ้น

รศ. ดร.ธีร กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของผู้บริหารในการผลักดันอาจารย์ในคณะให้ไปสู่การทำงานและได้รับทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ องค์ความรู้ไม่ควรอยู่แค่ภายในคณะ การสร้างความร่วมมือต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว นักวิจัยจะไม่เข้าใจถึงเป้าหมายในการทำงาน สำหรับคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็มีความพยายามผลักดันให้นักวิจัยรวมกลุ่มกันเพื่อขอทุนสนับสนุนการวิจัย

สำหรับความคิดเห็นของ ศ. ดร.รุธิร์ นักวิจัยบางคนมองว่า SDGs มีกรอบบางอย่างและต้องปฏิบัติตามกรอบนั้น เป็นเพราะเขาขาดความเข้าใจและความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นความท้าทายในการสร้างความเชื่อและผลักดันการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ บางครั้งอาจารย์ในคณะไม่ต้องการขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เนื่องจากให้งบประมาณค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาว่าจำนวนเงินเท่าใดจึงจะเหมาะสม รวมถึงการประเมินโครงการวิจัยจากผู้ทรงคุณวุฒิ มักเป็นการให้ความเห็นที่ไม่ได้เข้าใจการทำงานอย่างแท้จริงและไม่สร้างสรรค์ ทำให้นักวิจัยหลายคนเสียกำลังใจในการทำงาน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวคนเดียว ดังนั้นการทำงานวิจัยจึงเป็นไปในลักษณะของเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ


ช่วงท้ายของการสัมมนา ผู้เข้าร่วมในห้องสัมมนาต่างพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานวิจัยในประเทศไทย โดยสามารถสรุปได้ว่า ปัจจุบันมีช่องว่างระหว่างนักวิชาการและภาคธุรกิจค่อนข้างกว้าง โจทย์ทางธุรกิจมีอยู่มาก เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เราต้องคำนึงถึงกลุ่มคนบางกลุ่ม เช่น คนจนที่ไม่สามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดหรือรถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle: EV) และอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้เกิดภัยแล้ง ซึ่งส่งผลต่อการเพาะปลูก ดังนั้น การทำงานวิจัยที่จับต้องได้เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม อาจเป็นจุดเน้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะนำมาใช้ในการสร้างความแตกต่าง นอกจากนี้ มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม แต่ผลของการศึกษานั้นไม่กลับมาที่พฤติกรรมผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งสำคัญในการนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยลงจากหิ้ง และนำไปปรับใช้ เช่น จับคู่กับภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป งานสัมมนาการวิจัยด้านหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน กลุ่มการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ฉายภาพให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างภาควิชาการและภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักวิจัยสามารถนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ ทว่าการทำงานจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือข้ามศาสตร์จากนักวิจัยหลากหลายสาขา เพื่อขับเคลื่อนและสร้างประโยชน์แก่สังคมต่อไป

รับชมวิดีโอบันทึกจากงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ที่นี่ : https://youtu.be/PmmNlR2MMs4
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : อ่านสรุปสัมมนาทั้งหมด

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่สมควรความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และส่งเสริมการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อยขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งรวมถึงผ่านทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.6) เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศและในภูมิภาคแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี และการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และยกระดับการแบ่งปันความรู้ตามเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน โดยรวมถึงผ่านการพัฒนาการประสานงานระหว่างกลไกที่มีอยู่เดิมเฉพาะอย่างยิ่งในระดับของสหประชาชาติ และผ่านทางกลไกอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยีของโลก
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

ขนิษฐา สมศรี – ถอดความ
กนกพร บุญเลิศ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น