SDG Updates | ความรุนแรงสุดโต่งกับเหตุกราดยิงในไทย: สังคมเช่นใดกดทับให้คนหยิบปืน

โดย ถิรพร สิงห์ลอ

#กราดยิง… แฮชแท็กที่ไม่มีใครอยากเห็น แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการใช้อาวุธปืนในที่สาธารณะและพฤติการแวดล้อมส่อไปในทางที่จะทำให้คนกลุ่มหนึ่งตกอยู่ในสภาวะอันตราย แฮชแท็ก #กราดยิง ตามด้วยชื่อสถานที่เกิดเหตุจะติดอันดับคำค้นหาสูงสุดในโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ จากผลการสำรวจ Thailand’s Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหน ในสายตาคุณ” ประเด็น “ความรุนแรงสุดโต่ง” เป็นประเด็นที่ผู้ตอบแบบสำรวจมองว่ามีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 จาก 51 ประเด็น โดยมุ่งประเด็นความสนใจไปที่กรณีเหตุการณ์กราดยิง สะท้อนว่าการใช้ความรุนแรงประเภทนี้อยู่ในการรับรู้และความห่วงกังวลของคนในสังคมอย่างมาก  

แม้จะเป็นเรื่องที่ทุกคนต่างห่วงกังวล ทว่าในการรับรู้และเข้าใจถึงเหตุการณ์กราดยิงของสังคมไทยนั้นมีความแตกต่างกัน ดังเห็นได้จากการที่คำว่า “กราดยิง” ถูกใช้กับทั้งเหตุการณ์ที่ผู้ก่อเหตุมุ่งหมายให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ปะปนไปกับเหตุการณ์ที่ผู้ก่อเหตุมิได้ข่มขู่ หรือแสดงพฤติการที่มุ่งหมายจะทำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เช่นนั้นแล้ว “กราดยิง” หมายถึงอะไรกันแน่ เหตุการณ์เช่นใดจึงจะเข้าข่ายกราดยิง  SDG Updates ฉบับนี้ หวังช่วยชี้ให้เห็นถึงต้นแบบคำนิยาม ลักษณะและบริบทของเหตุกราดยิงที่อาจแตกต่างไปจากการก่อเหตุอาชญากรรมรูปแบบอื่นที่คล้ายคลึงกัน  สังคมแบบใดที่ทำให้เกิดการกราดยิง แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (violent extremism) มีความสัมพันธ์หรือนับเป็นแรงขับของการก่อเหตุด้วยหรือไม่ และวิธีการป้องกันควรเป็นอย่างไร

ด้านมืดของสังคมไทยอย่างปัญหาอาชญากรรมมีรูปแบบมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการเสพและค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์และการแสวงประโยชน์ทางเพศ การทารุณกรรมและฆาตกรรม หรือความรุนแรงทางเพศ ล้วนต้องอาศัยการศึกษาทำความเข้าใจลักษณะและเหตุที่มาหลายมิติ หมายรวมถึงบริบทสังคมและวัฒนธรรมซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยบ่มเพาะปัญหาด้วย เพื่อให้สามารถพัฒนาวิธีการจัดการ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาให้ได้อย่างตรงจุดมากขึ้น เน้นการป้องกันหรือลดจำนวนเหตุไม่ให้เกิดขึ้นมากกว่าการปราบปรามเป็นหลัก ตัวอย่างอาชญากรรมที่หยิบยกมามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง (violent crime) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง “ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน” (gun/firearm violence) เป็นหนึ่งตัวการที่เอื้อให้คน ๆ หนึ่งสามารถก่อเหตุอุกฉกรรจ์ได้ ทั้งจากผู้ใช้พลเรือนก็ดี หรือฝ่ายผู้พิทักษ์กฎหมายก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการครอบครองอาวุธตามที่กฎหมายอนุญาต หรือลักลอบขนย้ายและค้าขายอย่างผิดกฎหมายก็ตาม นโยบายและกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดรวมถึงการบังคับใช้อย่างจริงจังจึงนับว่ามีความสำคัญยิ่ง

สำหรับไทย ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนกลับมาเป็นหัวข้อที่น่ากังวลอย่างที่สุด เมื่อเหตุกราดยิง (mass shooting) ซึ่งเป็นเรื่องที่มักพบได้ตามหน้าข่าวสารต่างประเทศ เผยให้สังคมไทยเห็นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563 เหตุกราดยิงสะท้อนถึงเหตุรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ซึ่งมิได้เป็นที่ตั้งของพื้นที่ความขัดแย้ง (conflict areas) และยังคร่าชีวิตประชาชนได้อย่างไม่เลือกหน้า เหตุกราดยิงในจังหวัดนครราชสีมาเมื่อปี 2563 และจังหวัดหนองบัวลำภูในปี 2565 เป็นสองกรณีเหตุกราดยิงครั้งใหญ่จากเหตุรุนแรงที่มีการใช้อาวุธปืนเหตุการณ์อื่น ซึ่งสำนักข่าวหลายแหล่งยังไม่สามารถหาจุดร่วมกันว่าสามารถนับเป็นเหตุกราดยิงได้หรือไม่ 

อันที่จริงแล้ว ความหวาดกลัวจากการใช้อาวุธปืนก่อเหตุอยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นระยะเวลานาน ข่าวอาชญากรรมที่ “ยิง” กันรายวันอย่างง่ายดายตามท้องถนน ร้านอาหาร ย่านชุมชน ครอบครัว หรือในความสัมพันธ์ของคู่รักเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชั้นดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการยืนยันด้วยข้อมูลสถิติปี 2565 ของ World Population Review ว่า “ไทยมีอัตราการการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนมากที่สุดในโลกติดอันดับที่ 15” หรือมีความสำคัญน้อยไปกว่าเหตุกราดยิงหนึ่งครั้ง

ทั้งจำนวนการฆาตกรรมด้วยการใช้อาวุธปืนและเหตุกราดยิงต่างถามคำถามสำคัญถึงกฎหมายของไทยที่เกี่ยวกับอาวุธปืนและสาเหตุของอาชญากรรมดังกล่าว 


01 – ทำความเข้าใจนิยามของ “เหตุกราดยิง” จากลักษณะของอาชญากรรม-ฆาตกรรมรูปแบบอื่น

หลายสื่อและบทความออนไลน์ของไทยเมื่อรายงานเหตุหรือวิเคราะห์สถานการณ์ มักใช้คำอยู่สองคำหลักสลับกันคือ “เหตุกราดยิง” และ “การสังหารหมู่” เมื่อดูผิวเผินอาจให้ความรู้สึกว่าเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะอธิบายจากคำว่ามวลชนคนจำนวนมาก (mass) ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการก่อเหตุ เช่น mass shooting, mass killing, และ mass murder กระนั้น แม้ในระดับสากลจะยังไม่มีคำนิยามที่เห็นพ้องกันว่า mass shooting หมายถึงอะไร (ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะนับจำนวนเหตุการณ์ทั้งหมด) แต่หากเรายึดจากต้นแบบคำนิยามของสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งประสบกับปัญหาการใช้อาวุธปืนและการกราดยิงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการสำรวจนิยามของคำเหมือนอื่น ๆ อาจช่วยให้เห็นความชัดเจนมากขึ้นเมื่อประเมินเหตุความรุนแรงหนึ่ง ๆ ว่าเข้าข่ายเป็นการก่อเหตุแบบใดและจึงต้องนำแนวทางการแก้ปัญหาแบบใดมาใช้จัดการ

| เส้นบาง ๆ ของเหตุกราดยิงกับการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืน (firearm homicide)

ข้อมูลการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการฆาตกรรมและการมีอาวุธปืนเผยแพร่ใน Harvard Injury Control Research Center School of Public Health ระบุว่า ที่ใดมีอาวุธปืนและการครอบครองปืน ที่นั่นย่อมมีปัจจัยเสี่ยงเอื้อให้เกิดการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืน (firearm suicide) และการฆาตกรรมผู้อื่นด้วยอาวุธปืนมากขึ้น

“การฆาตกรรม” (homicide) ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าโดยมีเจตนา (murder) หรือไม่มีเจตนา (manslaughter) เป็นคำอธิบายโดยทั่วไปของการกระทำที่ส่งผลให้ผู้อื่นเสียชีวิต โดยไม่ได้จำกัดเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต ลักษณะของผู้ก่อเหตุ วิธีการหรืออาวุธที่ใช้ ในแง่นี้ เหตุกราดยิงจึงเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การฆาตกรรมด้วย “อาวุธปืน” และสะท้อนถึงความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน 

| เหตุกราดยิงไม่ใช่การสังหารหมู่ (massacre) และไม่ใช่การก่อการร้าย (terrorism)

ประเด็นสำคัญที่ยังเป็นข้อถกเถียงว่าจะให้ความหมายอาชญากรรมที่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้คนจำนวนมาก (mass violence crimes) หรือการฆาตกรรมหมู่ (mass murder, mass killing) อย่างไรคือ “จำนวนเหยื่อผู้เสียชีวิต” จำนวนผู้บาดเจ็บ วิธีการหรืออาวุธที่ใช้ก่อเหตุ แรงจูงใจ ไปจนถึงเป้าหมายของการก่อเหตุ 

สำหรับกรณีของเหตุกราดยิง สำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation: FBI) สหรัฐฯ, Congressional Research Service และ Gun Violence Archive ให้คำนิยามที่คล้ายคลึงกันว่าเป็นเหตุความรุนแรงหนึ่งเหตุการณ์ที่มี “การยิงปืนหลายนัด” มีเหยื่อผู้เสียชีวิตสามถึงสี่รายหรือมากกว่านั้นจาก “การใช้อาวุธปืน” โดยไม่นับรวมการเสียชีวิตของผู้ก่อเหตุ และไม่ได้มีการกำหนดจำนวนผู้บาดเจ็บ

การก่อเหตุสามารถเกิดขึ้นในที่ตั้งหนึ่งแห่งหรือหลายแห่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน และดำเนินการในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน โดยสถานที่ของการก่อเหตุเป็นได้ทั้งสถานที่ทำงาน สถานศึกษา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ย่านธุรกิจ หรือคอนเสิร์ตกลางแจ้ง กล่าวคือเป็น “สถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน” และอาจมีผู้ก่อเหตุ (active shooter) คนเดียวหรือหลายคน โดยไม่ได้กระทำในนามกลุ่มอาชญากรรมหรือกลุ่มอันธพาล และไม่ได้อยู่ในบริบทของการทำสงคราม หรือลงมือกราดยิงโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมอื่น

ข้อมูลในรายงานของ Government Accountability Office 2020 สหรัฐฯ ให้คำนิยามกรณีของเหตุกราดยิงในสถานศึกษาที่แคบลงมา โดยไม่ได้เน้นว่าเหตุการณ์นั้นนับเป็นเหตุกราดยิงหรือไม่จากจำนวนผู้เสียชีวิต หรือต้องมีการยิงกระสุนปืนหลายนัด แต่จะนับตั้งแต่เมื่อ ‘มีการยิงปืนขึ้นในสถานศึกษา รถโรงเรียน กิจกรรมของโรงเรียน ระหว่างเวลาเรียน ก่อนเข้าเรียนหรือหลังเลิกเรียน’ อันเป็นเหตุให้นักเรียนหรือบุคลากรของโรงเรียนตกอยู่ในอันตราย ตามคำนิยามนี้ ไม่นับรวมการฆ่าตัวตายหรือการใช้ความรุนแรงของกลุ่มอันธพาลในพื้นที่เขตสถานศึกษา

ขณะที่แรงจูงใจของผู้ก่อเหตุมีไม่ตายตัว คำนิยามของการกราดยิงจึงไม่กำหนดว่าเป็นแรงจูงใจรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งผู้ก่อเหตุมีเจตนา ลงมือและโดยส่วนใหญ่มีการเตรียมการ มาก่อน ทั้งแผนการ อาวุธปืน และกระสุนหลายนัด หรือกระทั่งเสื้อเกราะป้องกันกระสุน ในบางรายอาจตั้งใจถ่ายทอดสดทางสื่อโซเชียลมีเดีย ณ ขณะที่กำลังก่อเหตุ โดยคาดหวังที่จะประกาศเจตจำนง เรียกร้องความสนใจหรือความต้องการบางประการ

อย่างไรก็ดี การก่อเหตุโดยผู้ก่อการร้ายไม่นับว่าเป็นเหตุกราดยิงในความหมายนี้ ข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างของผู้ก่อเหตุกราดยิงและการก่อการร้ายที่กระทำโดยลำพัง (lone wolf หรือ lone actor terrorist) เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ Office of Justice Programs, U.S. Department of Justice ระบุว่า แม้ความผิดทั้งสองจะเป็นการกระทำความรุนแรงต่อที่สาธารณะซึ่งมีเหยื่อผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่การก่อการร้ายมีเหตุจูงใจสำคัญมาจากอุดมการณ์ทางการเมืองหรือทางศาสนา โดยเฉพาะที่ลงมือก่อเหตุเพื่อหวังผลทางการเมือง ขณะที่เหตุกราดยิงมักเป็นเหตุผล ความรู้สึก ความไม่พึงพอใจ หรือความโกรธแค้นส่วนตัวในชีวิตของผู้ก่อเหตุรายบุคคลไม่ว่าจะมีที่มาหรือได้รับอิทธิพลมาจากอะไรก็ตาม โดยอาจไม่ได้มีเหตุผลทางการเมืองหรือทางศาสนาเลย 

ข้อแตกต่างของแรงจูงใจเองยังมีผลต่อสัญญาณก่อนเริ่มก่อเหตุหรือปฏิสัมพันธ์ต่อผู้ที่อาจมีส่วนรู้ร่วมคิด กล่าวคือ ผู้ก่อการร้ายอาจมีการส่งสัญญาณเป็นนัยถึงความตั้งใจและความเป็นไปได้ที่จะลงมือก่อเหตุมากกว่า กระนั้น ทั้งผู้ก่อเหตุกราดยิงและผู้ก่อการก่อการร้ายโดยลำพังก็มีความเหมือนในแง่ของพฤติกรรมก่อนที่จะก่อเหตุ แต่โดยมากไม่ได้มีความแตกต่างเรื่องพื้นฐานชีวิตและภูมิหลังทางสังคม 

ส่วนเหตุกราดยิงจะเป็นการสังหารหมู่หรือไม่ อันดับแรก แม้ทั้งสองกรณีเป็นการกระทำความรุนแรงต่อเหยื่อที่ไม่มีทางสู้ เหตุกราดยิงคือเหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธปืนก่อเหตุ ส่วนการสังหารหมู่ซึ่งไม่ได้มีคำนิยามชัดเจน ไม่ได้ระบุว่าอาวุธที่ใช้ก่อเหตุคืออะไรบ้าง เหตุการณ์ที่นับว่าเป็นการสังหารหมู่มีอาทิ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ของไทย และการสังหารหมู่นานกิงของจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีทั้งการใช้อาวุธปืนและวิธีการทารุณกรรมอย่างโหดร้ายรูปแบบอื่นร่วมด้วย นอกจากนี้ ระยะเวลาของเหตุการณ์ยังแตกต่างกัน ขณะที่เหตุกราดยิงนับเพียงเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ การสังหารหมู่อาจกินระยะเวลาได้นานกว่า 1 วัน ทั้งบริบทของเหตุการณ์ก็ยังแตกต่างกัน กล่าวคือ การสังหารหมู่มักเกิดขึ้นในบริบทแวดล้อมที่อยู่ระหว่างการทำสงคราม ความขัดแย้งระหว่างประเทศ หรือความขัดแย้งภายในประเทศ โดยฝ่ายผู้ก่อเหตุอาจเป็นฝ่ายผู้พิพักษ์กฎหมายมากกว่า 1 คน กระทำโดยมีกฎหมายรองรับ (แม้จะมีข้อครหาเรื่องศีลธรรมและความถูกต้อง) ขณะที่เหยื่อมักเป็นประชาชนที่ไม่ได้มีอาวุธ ดังนั้น ในบางครั้งการสังหารหมู่จึงถูกนับเป็นอาชญากรรมสงคราม (war crime) 

ภาพจาก : BBC News

ฉะนั้น หากลองใช้กรอบคำนิยามของเหตุกราดยิงที่พยายามเทียบเคียงกับอาชญากรรม – ฆาตกรรมรูปแบบอื่น ผู้เขียนขอยกหน้าที่ให้ผู้อ่านช่วยพิจารณาว่า จากกรณีการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนในช่วงปี 2563 ถึงปัจจุบันของไทย เหตุการณ์ใด (อาทิ สารวัตรกานต์ มีนาคม 2566 การก่อเหตุรุนแรงด้วยอาวุธปืนจังหวัดเพชรบุรี มีนาคม 2566) นับว่าเป็นเหตุกราดยิงได้บ้าง


02 – อะไรคือรากเหง้าของปัญหา

หากตั้งต้นจากสาเหตุของการก่ออาชญากรรม ในทางอาชญาวิทยาจะพิจารณาจากสองส่วนประกอบกันคือ มูลเหตุจูงใจ (พฤติกรรมของบุคคลนั้น สภาพแวดล้อม ตัวกระตุ้นที่ทำให้ตัดสินใจลงมือ) และโอกาส (จังหวะเวลา สถานที่ก่อเหตุ การเข้าถึงอาวุธปืน) นั่นหมายความว่า การเสาะหาวิธีการป้องกันต้องเจาะลึกลงไปในแต่ละส่วน

| พฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงกับการก่ออาชญากรรม

ไม่ว่าใครก็อาจแสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าวทางวาจาหรือการกระทำได้ทั้งสิ้น ความเข้มข้นของการแสดงออกอย่างการด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรง การใช้อำนาจบังคับข่มขู่ หรือกระทั่งใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหรือตัวกระตุ้นบางอย่างซึ่งเป็นปัจจัยขับให้แสดงพฤติกรรมเหล่านี้ 

ข้อมูลจาก อ.นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงอาจมีสาเหตุมาจากภาวะทางอารมณ์ที่รู้สึกกดดัน โกรธ หรือหงุดหงิด โรคทางกายโดยเฉพาะในหมู่ที่ใช้สารเสพติด โรคทางจิตเวชในบางกรณีที่มีภาวะหวาดระแวงและไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ และสุดท้ายคือครอบครัวโดยเฉพาะที่มีการใช้ความรุนแรงอยู่เสมอ

นอกจากนี้ รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม ระบุว่า “บุคลิก” บางลักษณะอาจมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรง อย่างการที่ไม่สามารถควบคุมตนเองหรือยับยั้งชั่งใจได้ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีส่วนบ่มเพาะความหุนหันพลันแล่น ในทางจิตวิทยา บุคคลที่มองโลกในแง่ร้ายอยู่เสมอ โทษผู้อื่นและสังคมโดยมองว่าตนเองเป็นเหยื่อ รู้สึกว่าไม่มีตัวตน รวมถึงการชื่นชอบพฤติกรรมความรุนแรงก็นับเป็นสัญญาณบ่งชี้เช่นกัน

ส่วนความกังลเรื่องการเลียนแบบพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงว่าจะทำให้เกิดการผลิตซ้ำหรือไม่ คงต้องย้อนกลับไปดูว่ามูลเหตุจูงใจ สภาพแวดล้อม และตัวกระตุ้นเป็นอย่างไร เวลา โอกาส และอาวุธมีพร้อมเอื้อให้ลงมือทำตามหรือไม่

| พฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงกับแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (Violent Extremism) 

พฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงย้ำถึง “ความก้าวร้าว” ที่แสดงออกมาไม่ว่าจะมีลักษณะเป็นอันตรายต่อผู้อื่นหรือไม่ ส่วนความสุดโต่ง (extremism) คือการยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อ ความศรัทธา และอุดมการณ์บางอย่างทางศาสนา พิธีกรรม หรือการเมือง โดยจะกลายร่างเป็นความรุนแรง (‘violent’ extremism) เมื่อบุคคลยึดมั่นในความเชื่อของตนอย่างสุดขั้วจนหันมาเลือกใช้หรือฝักใฝ่ในวิธีการที่ใช้ความรุนแรงเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ตนเชื่อคือความจริงที่สุด วิธีการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจะนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงยังมักหวังผลเปลี่ยนใจคนที่อยู่นอกความเชื่อดังกล่าวให้เข้ามาเป็นพรรคพวกเดียวกันด้วย

ในแง่นี้ แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงจึงมักเชื่อมโยงกับสถานการณ์ “ความขัดแย้ง” ผู้ก่อการร้ายโดยลำพัง และกลุ่มผู้ก่อเหตุขนาดเล็ก (small cell) ทั้งที่ก่อเหตุในประเทศและนอกประเทศซึ่งนับว่าเป็นการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย (terrorist act) เพราะได้รับอิทธิพลจากการเผยแพร่แนวคิดและเรื่องเล่า (narrative) อย่างอคติที่สร้างความเกลียดชัง เป็นต้น แม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายใดอย่างเป็นทางการก็ตาม

ภาพจาก : gcsp.ch

ตัวอย่างเหตุการณ์หรือกลุ่มที่สะท้อนถึงแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงมีอาทิ แนวคิดเหยียดผิวสุดโต่งของคนขาวที่มีอุดมการณ์ขวาจัด (white supremacy) ที่ต่อต้านผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย หรือชาวมุสลิมในสหรัฐฯ ก็ดีหรือยุโรปก็ดี

จุดนี้เองที่เราไม่สามารถสรุปได้ว่าเหตุกราดยิงมีตัวกระตุ้นหลักมาจากความสุดโต่งและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง นั่นเพราะแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุกราดยิงไม่เน้นว่าต้องเกี่ยวข้องกับความเชื่อหรืออุดมการณ์ใดเลยก็ได้ (แม้บทเรียนจากต่างประเทศจะพบว่าแนวคิดเหยียดผิวสุดโต่งของคนผิวขาวก็เป็นอีกหนึ่งแรงขับของการกราดยิงบางเหตุการณ์เช่นกัน) ส่วนวิธีการต่อต้านแนวคิดดังกล่าวข้อหนึ่งที่แตกต่างไปจากกรณีอื่น ๆ คือการเผยแพร่เรื่องเล่าตอบโต้ (counter-narrative) อย่างข้อมูลที่บิดเบือน หรือการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับศาสนา

ดังนั้น อาจพูดได้ว่าพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงมีแนวโน้มจะผลักดันให้คนแสดงออกในทางที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นได้ แต่จะลดความเป็นไปได้ลงเมื่อมีการควบคุมอารมณ์หรือลดตัวกระตุ้นและโอกาสที่เอื้อให้ลงมือ นอกจากนี้ เหตุกราดยิงบางกรณีอาจมีแรงขับมาจากแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง กระนั้นก็ไม่ใช่ทุกกรณี เพราะยังขึ้นอยู่กับบริบทเฉพาะของพื้นที่หนึ่ง ๆ ด้วย

| สังคมแบบใดที่ทำให้คนหยิบปืนมาใช้ก่อเหตุ – กราดยิง

ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ทำให้คนหันมานิยมความรุนแรงสุดโต่งอาจไม่ได้แตกต่างไปจากการบ่มเพาะพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงซึ่งนำไปสู่การฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนและการกราดยิงเลย

ในบริบทของสหรัฐฯ ข้อมูลจาก Educational Fund to Stop Gun Violence กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มี “การใช้ความรุนแรงระหว่างบุคคล” (interpersonal violence) ว่ามีอาทิ อาวุธปืน แอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด ความหุนหันพลันแล่น ความรุนแรงจากคนในครอบครัวและในความสัมพันธ์ (domestic violence) การมีประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรง ประวัติการมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรือใช้ความรุนแรง ไปจนถึงความยากจน การไม่มีงานทำ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

จากแหล่งข้อมูลเดียวกันนี้ยังเสริมว่ารากเหง้าของปัญหา “ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน” มีทั้งส่วนที่คาบเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงข้างต้น รวมถึงประเด็นอื่นอย่างในระดับโครงสร้างของสังคมที่การถูกเลือกปฏิบัติมักเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐ ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ การขาดโอกาสและความรู้สึกว่าไม่มีความหวังในชีวิต ไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องที่พักอาศัย สถานศึกษา หรือบริการจากภาครัฐ และที่สำคัญคือการที่บุคคลซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงจะใช้ความรุนแรงหรือมีประวัติการใช้ความรุนแรงมาก่อนสามารถ “เข้าถึง” อาวุธปืนได้โดยง่าย

นอกจากนี้ สังคมที่พบว่าประชาชนมีความเครียดสูงหรือซึมเศร้า อาจเผชิญคำกล่าวเหมารวมว่าเป็นสาเหตุของการก่อเหตุรุนแรง ทว่าโรคทางจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่ต้นเหตุ เมื่อดูจากข้อมูลสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนประชาชนที่เผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตจำนวนมากไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ พบว่ามีเหตุความรุนแรงที่ใช้อาวุธปืนในอัตราที่สูงกว่ามาก สะท้อนว่าสาเหตุย่อมมาจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย และแม้ในบางกรณีที่ผู้ก่อเหตุบางรายประสบกับปัญหาสุขภาพจิตจริง แต่ข้อมูลจากรายงานหลายฉบับระบุว่าผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยทางจิตเวชส่วนมากไม่มีพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ทั้งยังมีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วย ในทางกลับกัน หากมองว่าการใช้อาวุธปืนก่อเหตุรุนแรงมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพจิตเพียงอย่างเดียวจนเน้นแต่แนวทางการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตข้อเดียว แนวทางป้องกันนั้นย่อมไม่มีประสิทธิผล

ข้อมูลจากการสัมมนาแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง: การเสริมสร้างความเข้าใจของหน่วยงานภาครัฐ ณ กรุงเทพฯ เมื่อปี 2562 ชี้ว่าปัจจัยที่อาจส่งผลให้คนหันมานิยม “แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง” มีทั้งจากความไม่เป็นธรรมทางสังคมหรือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความรู้สึกไม่มีตัวตนหรือไม่ได้รับการยอมรับ ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือกระทั่งต้องการใช้ความรุนแรง ขณะที่งานวิจัยของ Uppsala University สวีเดนยังมีข้อมูลที่ยืนยันไปในทิศทางเดียวกันและยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติและทัศนคติต่อผู้อพยพของยุโรป เช่น สภาพสังคมของชาวมุสลิมซึ่งเกิดและเติบโตในโลกตะวันตกที่มักเผชิญกับความรู้สึกถูกเหยียดหยาม เอารัดเอาเปรียบ หรือไม่ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมเพราะถูกมองเป็นคนนอก มีแนวโน้มที่จะทำให้ประชาชนกลุ่มนี้สนับสนุนแนวคิดที่นิยมความรุนแรงมากกว่าชาวมุสลิมในสังคมอื่นซึ่งไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกัน

ส่วนกรณีของสังคมแถบอเมริกาใต้และแคริบเบียน Amnesty International ชี้ว่า การทุจริตคอร์รัปชัน กลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่มีการจัดตั้ง และปัญหาของกระบวนการยุติธรรม เป็นปัจจัยที่ยิ่งทำให้ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนหนักหน่วงขึ้น

เมื่อหันกลับมามองในบริบทของไทย เมื่อพิจารณาจากปัญหาใต้พรมภาพรวมของเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นจะพบว่า มีอาทิ การใช้สารเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ ซึ่งหมายรวมถึงทักษะการตัดสินใจและการควบคุมตัวเองต่ำลง หรือปัญหาความเครียดในชีวิตซึ่งอาจมาจากที่ทำงานและครอบครัวก็ได้ ไม่ต่างจากปัญหาพื้นฐานของผู้ที่มีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงในกรณีอื่น 

นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล จิตแพทย์ผู้ที่ติดตามเหตุกราดยิงยังได้อธิบายถึงวัฒนธรรมบางอย่างที่อาจแตกต่างไปจากตะวันตกว่า “ความหน้าบาง” ห้ามดูหมิ่นศักดิ์ศรีของสังคมไทยมักเป็นต้นเหตุทำให้เกิดความอับอายได้ง่าย เคียดแค้นเลือดขึ้นหน้าได้ง่าย จนแสดงออกด้วยความรุนแรงระหว่างบุคคล อีกทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างภายในระบบขององค์กรผู้พิทักษ์กฎหมายยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุตั้งต้นของความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเมื่อสามารถเข้าถึงอาวุธได้ง่ายจนมีคำถามถึงความปลอดภัยและมาตรฐานของการจัดเก็บอาวุธและกระสุน โดยเฉพาะคลังจัดเก็บอาวุธยุทธภัณฑ์ทางทหาร

| อาวุธปืนตัวการสำคัญเอื้อให้เกิดการใช้ความรุนแรงในหลายกรณี

ข้อมูลการครอบครองอาวุธปืนทั่วโลกเผยแพร่โดยองค์กร Small Arms Survey เมื่อปี 2563 ตามข้อมูลของปี 2560 ประเมินว่า มีอาวุธปืนอยู่ในโลกมากกว่าหนึ่งพันล้านกระบอกทั้งที่ขึ้นทะเบียนอนุญาตและไม่ขึ้นทะเบียนอนุญาต (เถื่อน) โดย 85% (857 ล้านกระบอก) อยู่ในการครอบครองของประชาชน 13% (133 ล้านกระบอก) เป็นอาวุธยุทธภัณฑ์ทางการทหาร และ 2% (23 ล้านกระบอก) อยู่ในการครอบครองของหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ การศึกษาขององค์กรดังกล่าวยังประเมินว่าในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา โลกมีคลังอาวุธปืนที่มากขึ้น โดยเฉพาะในการครอบครองของประชาชน จาก 650 ล้านกระบอกในปี 2549 เป็น 857 ล้านกระบอกในปี 2560 

ภาพจาก : urbancreature

ขณะที่ไทยติดอันดับครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดอันดับที่ 13 ของโลก ที่ 10.3 ล้านกระบอก นับเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ที่น่าตกใจคือในจำนวนนี้มีปืนที่ลงทะเบียนขอใบอนุญาตตามกฎหมาย 6.2 ล้านกระบอก และอีก 4.1 ล้านกระบอกเป็นปืนเถื่อน และที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือ มีการครอบครองปืนเฉลี่ย 15 กระบอกต่อประชากร 100 คน นับเป็นอันดับที่ 48 ของโลก

‘จำนวนอาวุธปืน’ และ ‘การเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย’ เป็นปัจจัยเสี่ยงของการใช้ความรุนแรงมากขึ้นดังที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ดี นอกจากจะต้องดูนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกประการสำคัญคือการสำรวจลึกไปถึงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน (gun culture) ของสังคมนั้น ๆ ด้วย

การศึกษา What is gun culture? Cultural variations and trends across the United States อธิบายไว้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่ปัจเจกบุคคลหรือสถาบันต่าง ๆ มีปฏิสัมพันธ์กับอาวุธปืน การครอบครอง และการใช้งานอย่างไร ทั้งในแง่ของความเชื่อ ความคิด พฤติกรรม ค่านิยมทางสังคม กฎหมาย รวมถึงโครงสร้างทางสังคม ซึ่งมุมมองและความรู้สึกนึกคิดที่มีต่ออาวุธปืนยังอาจแตกต่างไปตามแต่ละวัฒนธรรมด้วย อย่างสหรัฐฯ เองก็มีทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนจำนวนมากที่มองว่าการครอบครองอาวุธปืนยืนยันถึงสังคมแห่งเสรีภาพและปัจเจกบุคคลที่มีสิทธิในการป้องกันตนเอง (self-defense) 

หากมองในกรณีของไทย บทความ Thailand’s gun culture: weak oversight and an affinity for firearms sustain ongoing violence  อธิบายว่าปัญหาวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนที่ยังทำให้ไม่สามารถลดจำนวนอาวุธปืนและความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนได้ง่าย ๆ คือการมีตลาดมืด และ ‘ปืนเถื่อน’ ถ้าไม่นับว่าไทยเพิ่งประสบกับปัญหาเหตุกราดยิงมาหมาด ๆ ย้อนไปก่อนหน้านั้น ปัญหาเรื่องอาวุธปืนแทบไม่ถูกพูดถึงในระดับการเมืองเลย และหากเทียบกันกับเหตุผลเรื่องการครอบครองปืนเพื่อป้องกันตัวของสหรัฐฯ แล้ว การมีปืนไว้ในครอบครองสำหรับไทยอาจเป็นการแสดงสถานะและอำนาจทางสังคมเพื่อแสดงอิทธิพลมากกว่า

ข้อมูลจาก บทความ Thailand: An Outlier in Asia on Guns เผยแพร่ใน The Diplomat ยังย้ำไปในทิศทางเดียวกัน ย้อนไปเมื่อปี 2556 U.S. State Department พูดถึงความเหมือนและความแตกต่างเกี่ยวกับวัฒนธรรมคลั่งปืนของสองประเทศไว้ว่า การครอบครองปืนของไทยเป็นเรื่องของ “การเหนือกว่าคนอื่น” เป็นเหมือนสัญลักษณ์แสดงสถานะทางสังคมที่ใคร ๆ ต่างต้องการได้ครอบครอง นอกจากปัญหาตลอดกาลอย่างการลักลอบขนย้ายและการแพร่หลายของอาวุธเถื่อนแล้ว ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านการรัฐประหารมา 14 ครั้ง ยังทำให้กองทัพและตำรวจมีอำนาจมากล้น และหนึ่งในภาพสะท้อนชัดเจนก็คือ “อาวุธปืนสวัสดิการ” ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอาวุธปืนได้ไม่จำกัดจำนวน


03 – ลดโอกาสการก่อเหตุด้วยการควบคุมการเข้าถึงอาวุธปืนและการป้องกันอื่น ๆ

ข้อมูลการครอบครองปืนทางเว็บไซต์ World Population Review อธิบายว่า การที่ประชาชนสามารถครอบครองปืนได้เป็นเพราะหลาย ๆ ประเทศอนุญาต แต่ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายการควบคุมปืนของแต่ละประเทศว่ามีข้อบังคับมากน้อย ด้านใดบ้าง 

บางประเทศ อาทิ เม็กซิโก กัวเตมาลา และสหรัฐฯ ผลักดันให้การครอบครองปืนเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการกำหนดข้อห้ามไม่ให้มีอาวุธปืนบางชนิด ขณะที่ประเทศเกาหลีเหนือและเอริเทรีย ประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองอาวุธปืนเลย และกระนั้น แม้ประเทศที่มีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนเข้มงวดมากที่สุดอย่างจีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือที่มีอัตราการครอบครองอาวุธปืนน้อยที่สุดอย่างไต้หวันและอินโดนีเซีย แต่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ห้ามไม่ให้มีอาวุธปืน เพียงแตกต่างกันที่รายละเอียดของชนิดอาวุธปืนที่อนุญาตให้สามารถครอบครองได้ การตรวจสอบประวัติของผู้ขอครอบครองก่อนออกใบอนุญาต ข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ดูแลคลังอาวุธปืนและการจำหน่ายขายออก เป็นต้น

สำหรับไทยในตอนนี้ ประเด็นการควบคุมและการครอบครองอาวุธปืนกำลังเป็นเรื่องที่สังคม สื่อ และนโยบายระดับรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติไม่ต่างไปจากการจัดการกับปัญหาความมั่นคงอื่น มีการถอดบทเรียนมากมายจากเหตุภายในประเทศ ศึกษากรณีตัวอย่างของการจัดการและการแก้กฎหมายหรือกฎระเบียบของต่างประเทศ อีกทั้งยังมีการถกเถียงในการประชุมรัฐสภาและเสนอให้ทบทวน ปรับปรุง ปฏิรูปทั้งในมิติของกฎหมาย “ตรวจประวัติอาชญากรรม ตรวจสุขภาพจิต ขั้นตอนออกใบอนุญาต ใครครอบครองได้ ใครห้ามพกพา ระบบติดตามอาวุธปืน ความปลอดภัยของคลังแสง” รวมถึงปัจจัยทางสังคมอื่น อาทิ สุขภาพจิต ยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบ โครงสร้าง และวัฒนธรรมองค์กร” ของผู้พิทักษ์บังคับใช้กฎหมายซึ่งสามารถครอบครองอาวุธปืนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่จากเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นกลับพบว่าบ่อยครั้งเป็นผู้ที่ทราบถึงวิธีการใช้อาวุธปืนและรู้วิธีการเข้าถึงอยู่แล้ว

มากไปกว่านี้ ไม่ว่าจะในกรณีของความผิดที่เข้าข่ายเหตุกราดยิงหรือผู้ก่อการร้ายโดยลำพัง จะพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงหรือแนวคิดที่นิยมความรุนแรง จุดร่วมที่มีเหมือนกันคือการพัฒนากรอบการประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าและสัญญาณเตือนจากพฤติกรรมของผู้ที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุ อาทิ การเผยแพร่ว่ากำลังจะลงมือก่อเหตุ หรือสัญญาณที่อาจมีการเลียนแบบพฤติกรรมหลังจากก่อเหตุ โดยไม่จำกัดหน้าที่เฉพาะผู้พิทักษ์กฎหมาย แต่ต้องเป็นทุกภาคส่วนของสังคมคือ ครอบครัว เพื่อนฝูง ชุมชน หน่วยงานและองค์กรระดับชุมชน และนักจิตวิทยา เป็นต้น โดยพึงตระหนักว่าไม่ใช่แต่ความรุนแรงทางกายและการใช้อาวุธเท่านั้นที่ต้องจัดการ แต่รวมถึงปัญหาวังวนของ “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” และความขัดแย้งในระดับทางสังคม ที่ทำให้ผู้คนในสังคมนั้นคับข้องใจ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม การเลือกปฏิบัติ หรือการไม่ได้รับโอกาส ทั้งการป้องกันยังอาจมุ่งไปที่ปัญหาแวดล้อมของเพศและช่วงวัยหนึ่งที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุมากกว่า (หากมีสถิติระบุไว้) หรือมุ่งสร้างสังคมแห่งนิติรัฐ ขันติธรรม สิทธิมนุษยชน การไม่นิยมความรุนแรง การสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกระดับ กระทั่งปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับอาวุธปืนของสังคมนั้น

และเพื่อให้สามารถหาวิธีการจัดการปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น อาจจะใช้วิธีการตามแผนเกี่ยวกับการป้องกันแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงคือ เริ่มจากหาปัจจัยผลักดันภายในประเทศหรือแรงกระตุ้นในระดับพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่และชุมชนเองอาจมีความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว 

นอกจากนั้น วิธีการป้องกันยังรวมไปถึงจะทำอย่างไรให้บุคคลหรือพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงเลิกล้มเอาตัวเองไปพัวพัน (disengagement) กับความคิดที่กระหายอยากใช้ความรุนแรงหรือแนวคิดที่นิยมความรุนแรง (deradicalization) ด้วย

แม้ว่าการจะทำความเข้าใจและจัดการกับปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนจะเป็นประเด็นที่ซับซ้อน แต่อย่างน้อยที่สุดในจุดที่ทุกคนทำได้เลยคือการหยุดยั้งและไม่แพร่ขยายความเกลียดชัง รับฟังและแสดงความห่วงใยต่อกันเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ขจัดปัญหา “ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน” มาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลไทย เทียบแนวทางที่เป็นรูปธรรมจากต่างประเทศ
–  เหตุกราดยิงในระยะ 400 เมตรจากบ้านเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเด็กในสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้น
SDG Updates | การลดอาวุธและการควบคุมอาวุธ: สันติภาพที่ซ่อนไว้ในการขับเคลื่อน SDGs
SDG Updates | 10 อันดับ ความไม่ยั่งยืนผ่านการสำรวจการรับรู้ Thailand’s Unsustainable Development Review – พบเกินครึ่งเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ SDG 16 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เพื่อป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม


อ้างอิง
[1] สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, “การกราดยิง” from library parliament https://library.parliament.go.th/index.php/th/radioscript/rr2565-nov4

[2]  Thai PBS. (2566) “วิเคราะห์ปูมหลังเหตุ “กราดยิงหนองบัวลำภู””. thaiPBS from
https://www.thaipbs.or.th/news/content/320222

[3]คณาธิป ไกยชน “ มาตรการควบคุมการใช้อาวุธปืนในประเทศไทย” from library parliament https://library.parliament.go.th/th/radioscript/rr2565-dec4 

[4] สมิตานัน หยงสตาร์, “กราดยิงหนองบัวลำภู ชนวนสู่ ‘การแพร่ระบาดของสังหารหมู่’ ในสังคมไทย?” from The Matter https://thematter.co/social/thailand-nursery-attack-with-psychologist/188044 

[5] UNDP, “เรียนรู้ที่จะ ‘ป้องกัน’ ก่อนเกิดความรุนแรง” from thailand socialinnovation platform https://www.thailandsocialinnovationplatform.org/th/learn-to-pve/

[6] ณิชกมล บุญประเสริฐ, “ประเทศไทยมีเหตุกราดยิงบ่อยครั้ง เพราะกฎหมายหละหลวมหรือปืนเข้าถึงง่าย”, from  urban creature https://urbancreature.co/gun-ownership-in-thailand/ 

[7] การเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยา เหตุกราดยิงฯ (2563). สรุปประเด็นการเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยา เหตุกราดยิงฯ – ตอนที่ 1 สาเหตุการเกิด. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. from psy chula website  https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/talk-mass-shooting-ep1

[8] เข้าใจจิตวิทยาเรื่องการกราดยิง.คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. from  psy chula website https://www.chula.ac.th/cuinside/27633/ 

[9] กานต์ จำรูญโรจน์, “พฤติกรรมความรุนแรง เป็นอาการทางจิตเวชหรือไม่?”.คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี,https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/

[10] วรางคณา ก่อเกียรติพิทักษ์, “แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ภาค 1: เหตุใดภาครัฐจึงต้องให้ความสำคัญ”, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. from nsc website https://www.nsc.go.th/wp-content/uploads/Journal/article-00208.pdf 

[11] วรางคณา ก่อเกียรติพิทักษ์, “แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ภาค 2: แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง”. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. from nsc website https://www.nsc.go.th/wp-content/uploads/Journal/article-00605.pdf 

[12] Harvard Injury Control Research Center, Homicide from hsph harvard webite https://www.hsph.harvard.edu/hicrc/firearms-research/guns-and-death/ 

[13] National Institute of Justice, “What Can We Learn From the Similarities and Differences Between Lone Wolf Terrorists and Mass Murderers?,” January 2, 2017, from nij.ojp.gov https://www.ojp.gov/ncjrs/virtual-library/abstracts/what-can-we-learn-similarities-and-differences-between-lone-wolf 

[14] National Mass Violence Victimization Resource Center, “Definitions of Mass Violence Crimes” from nmmvvrc website  https://www.nmvvrc.org/learn/about-mass-violence/

[15] Center for Disaster Philanthropy, “Mass Shootings”. from disasterphilanthropy website https://disasterphilanthropy.org/resources/mass-shootings/ 

[16] Department of Criminology, “What is a Mass Shooting? What can be done?”, University of Pennsylvania.  from crim.sas website https://crim.sas.upenn.edu/fact-check/what-mass-shooting-what-can-be-done-0 

[17] Department of Criminology, “Is Violent Crime Increasing?”. University of Pennsylvania from crim.sas website  https://crim.sas.upenn.edu/fact-check/violent-crime-increasing

[18] (The Education Fund to Stop Gun Violence, “Mental Illness and Gun Violence”. from efsgv website https://efsgv.org/learn/learn-more-about-gun-violence/mental-illness-and-gun-violence/ 

[19] Global Firearms Holdings

[20] What is gun culture? Cultural variations and trends across the United States (Humanities and Social Sciences Communications, 2020)

[21] Thailand’s gun culture: weak oversight and an affinity for firearms sustain ongoing violence (aseantoday, 2562) 

[22] Thailand: An Outlier in Asia on Guns ( The Diplomat, 2566)

[23] Gun Violence Must Stop. Here’s What We Can Do to Prevent More Deaths (Prevention Institute)

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น