รายงาน UNCTAD ชี้มหาสมุทรกำลังถูกคุกคาม จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) ได้เผยแพร่รายงาน  Trade and Environment Review 2023 วิเคราะห์เศรษฐกิจมหาสมุทร (ocean economy) ของโลก ซึ่งมีมูลค่าระหว่าง 3 – 6 พันล้านดอลลาร์ และประเมินว่ากิจกรรมของมนุษย์และวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การประมง อาหารทะเล การขนส่งและการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง รายงานฉบับนี้ ได้นำเสนอในการประชุม UN Trade Forum ครั้งที่ 3 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 8 – 9 พฤษภาคม 2566 เรียกร้องให้มีการค้าและการลงทุนระดับโลก “Blue Deal” เพื่อใช้มหาสมุทรอย่างยั่งยืน ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตอีกกว่าร้อยละ 80 ที่อาศัยอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร

รายงานได้เน้นย้ำถึงภาคส่วนที่มีผลต่อความยั่งยืน 2 ภาคส่วน ได้แก่ การทำฟาร์มสาหร่ายทะเล (seaweed farm) และวัสดุทางเลือกทดแทนพลาสติก (plastic substitutes) ซึ่งตลาดสาหร่ายทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าในสองทศวรรษ โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2543 เป็น 16.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 ซึ่งนับว่ามีการขยายตัวทางการตลาดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสาหร่ายทะเล เป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำจืดหรือปุ๋ยในการเจริญเติบโต โดยรายงานของ UNCTAD พยายามชี้ให้เห็นว่า สามารถนำไปปลูกได้ในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเป็นอาหาร เครื่องสำอาง และเชื้อเพลิงชีวภาพ และเป็นวัสดุทางเลือกทดแทนพลาสติก ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากพบว่าในแต่ละปีมีขยะพลาสติกไม่น้อยกว่า 11 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทร จากรายงานพยายามสะท้อนให้เห็นว่ามีวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่สามารถนำมาใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติก อาทิ วัสดุเหลือใช้จากไม้ไผ่ กาบมะพร้าว ต้นกล้วย และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น

การลงทุนเกิดใหม่ในภาคเศรษฐกิจมหาสมุทรสามารถช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการกระจายการส่งออกสินค้าทางทะเล ซึ่งมูลค่าการส่งออกทั่วโลกของสินค้าทางทะเล เช่น อาหารทะเล เรือและอุปกรณ์ท่าเรือ และบริการต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งทางเรือและการท่องเที่ยวชายฝั่ง มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563 ซึ่งจากวิกฤตโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและการตั้งรับปรับตัวของบางภาคส่วน และความเปราะบางของภาคส่วนต่าง ๆ รายงานระบุว่ารัฐบาลควรตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมเศรษฐกิจทางทะเลที่หลากหลายและยั่งยืนไว้ในกลยุทธ์การกู้คืนความเสียหายจากวิกฤต และการลดปัญหาและความพยายามในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ดี รายงานสะท้อนให้เห็นว่าทรัพยากรทางทะเลกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss) ซึ่งจากการประเมิน พบว่า ปัจจุบันมีการลงทุนมูลค่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับแก้ปัญหามหาสมุทรให้ยั่งยืน ทั้งสิ้น 4 วิธี ได้แก่ หนึ่ง การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน สอง การลดคาร์บอนของการส่งสินค้าระหว่างประเทศ สาม การผลิตอาหารที่ได้จากทะเลอย่างยั่งยืน และ สี่ การผลิตพลังงานจากกังหันลมนอกชายฝั่ง ซึ่งคาดว่าหากแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จะให้ผลประโยชน์สูงสุดถึง 15.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2593 และหากไม่มีข้อตกลง “Global Blue Deal” คาดว่าผลประโยชน์ดังกล่าวและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG14 ทรัพยากรทางทะเล จะดำเนินการเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งเวลานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะกำหนดแนวทางใหม่และเพิ่มการลงทุนที่มากขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
Global Tuna Alliance ย้ำความร่วมมือและวิสัยทัศน์ที่รับผิดชอบร่วมกันจะทำให้ทะเลไม่บอบช้ำและมีทูน่าพอสำหรับโลก 
อินโดนีเซียประเมินประชากรสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ในเขตประมงทั่วประเทศ เพื่อวางแผนการประมงและอนุรักษ์สัตว์น้ำได้ยั่งยืนขึ้น
“ประมงอวนลาก ภัยเงียบคุกคามอนาคตทะเลไทย ? หาคำตอบผ่านรายงานอุตสาหกรรมอวนลากฯ ฉบับล่าสุดของ EJF” 
จากเศรษฐกิจสีเขียวสู่ ‘สีน้ำเงิน’ : ศักยภาพของท้องทะเลในอเมริกาเหนือโดยการขับเคลื่อนของแคนาดา 
SDG Updates | ท่ามกลางคราบน้ำมัน และ Climate Change: ทะเลและมหาสมุทรยังเป็นความหวังใหม่ 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
– (14.c) เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่สะท้อนใน UNCLOS ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 158 ของเอกสาร The Future We Want
#SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา: Countries must forge ‘Global Blue Deal’ to protect the ocean: UNCTAD | UN News 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น