SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 1 ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  1 – 5 พฤษภาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ชนพื้นเมืองทั่วโลกเรียกร้องให้คำนึงถึงผลกระทบจากมาตรการแก้ปัญหา Climate Change

องค์การสหประชาชาติจัดการประชุมว่าด้วยประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Permanent Forum on Indigenous Issues: UNPFII) ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 17 – 28 เมษายน 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีผู้นำชนพื้นเมืองทั่วโลกเข้าร่วม

สาระสำคัญของการประชุมดังกล่าวเน้นไปที่การหารือและแสดงความเห็นต่อมาตรการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกดำเนินโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่กลับสร้างปัญหาและความขัดแย้งต่อชุมชนพื้นเมือง ผู้แทนชนพื้นเมืองบางส่วนวิจารณ์ว่าการพูดคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในเวทีต่าง ๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชนพื้นเมือง เช่นการประชุม COP27 ที่ผ่านมา ก็ไม่มีการอ้างถึงชนพื้นเมืองในข้อตกลง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.b ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ

เข้าถึงได้ที่: ผู้นำชนพื้นเมืองทั่วโลกแสดงความกังวลต่อโครงการเศรษฐกิจสีเขียวที่กระทบชีวิตและสิทธิชนพื้นเมือง (Thairath Plus)

กระทรวงทรัพฯ เตรียมพร้อมประกาศปรับปรุงค่าดัชนีคุณภาพอากาศใหม่

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ได้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เป็นประธานการประชุม 

การประชุมดังกล่าวมีสาระสำคัญ 2 เรื่อง คือการรับทราบรายงานสรุปสถานการณ์ฝุ่นละอองปี 2566 ของประเทศไทย และการพิจารณาร่างประกาศกรมควบคุมมลพิษเรื่อง “ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย พ.ศ…….” เพื่อปรับความหมายและข้อความคำเเจ้งเตือนการแนะนำการปฏิบัติตนสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพใหม่ ตามที่มีการปรับปรุงค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ตามค่ามาตรฐาน PM2.5 ที่จะปรับจาก 50 มคก./ลบ.ม. เป็น  37.5 มคก./ลบ.ม. ในวันที่ 1 มิ.ย. 2566 นี้ โดยใช้ WHO Guidelines และ Interim Targets เป็นช่วงแบ่งระดับการแจ้งเตือนดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งยังคงแบ่งเป็น 5 ระดับค่าสีตามเดิม คือ ฟ้า เขียว เหลือง ส้ม และแดง  โดยปรับค่าระดับสีแดง จากเดิม 91 มคก./ลบ.ม. เป็น 75.1 มคก./ลบ.ม.

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ

เข้าถึงได้ที่: เตรียมปรับเกณฑ์ PM2.5 ใหม่ 37.5 มคก./ลบ.ม. เริ่ม 1 มิ.ย. 66 นี้ (ประชาไท)

เอ็นจีโอไทยผนึกกำลังยื่นจดหมายตรวจสอบเครือ CP เรื่องข้าวโพดต้นตอฝุ่นพิษข้ามพรมแดน

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และกรีนพีซ ประเทศไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ กรณีห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และฝุ่นพิษข้ามพรมแดน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อกดดันให้เครือเจริญโภคภัณฑ์เปิดเผยข้อมูลระบบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทานซึ่งรวมถึงแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการรับซื้อที่มีรายละเอียดชัดเจนและโปร่งใสต่อสาธารณะ อาทิ 

  • ข้อมูลในรายละเอียดและรอบด้านทั้งห่วงโซ่อุปทานของระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (corn traceability) ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องเปิดเผยนั้นรวมถึงภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามแปลงเพาะปลูก และวิเคราะห์จุดที่ยังพบการเผาหลังเก็บเกี่ยวที่รับรองว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากแหล่งปลูกที่ปราศจากการเผา
  • เพื่อให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.6 สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ เเละ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เข้าถึงได้ที่: ภาคประชาชนส่ง จม.เปิดผนึกถึงซีพี กรณีห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และฝุ่นพิษข้ามพรมแดน (ประชาไท)

UN เผยแพร่การสังเคราะห์เอกสารเตรียมพร้อมประชุม HLPF 2023

สำนักเลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่การสังเคราะห์เอกสารประกอบการยื่นของ 64 ประเทศสมัครใจในการนำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews: VNR) โดยเอกสารสังเคราะห์ดังกล่าวชื่อ “Advance Unedited Version: Synthesis of Submissions by Functional Commissions of the Economic and Social Council and Other Intergovernmental Bodies and Forums

เนื้อหาที่ระบุในการสังเคราะห์เอกสารข้างต้นเน้นไปที่ภาพรวมของความคืบหน้า ความท้าทาย และผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ต่อ SDGs จำนวน 5 เป้าหมายที่จะมีการทบทวนในปีนี้ ได้แก่ SDG6 SDG7 SDG9 SDG11 และ SDG17 โดยสรุปประเด็นที่การดำเนินการเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จ ตลอดจนประเด็นที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ การประชุม HLPF จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2566 ภายใต้ธีม ‘Accelerating the recovery from the coronavirus disease (COVID-19) and the full implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development at all levels’ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG6 SDG7 SDG9 SDG11 และ SDG17

เข้าถึงได้ที่: ECOSOC Commissions, Intergovernmental Bodies Submit Inputs to 2023 HLPF (IISD)

FSIN เผยแพร่รายงาน ชี้กว่า 285 ล้านคนทั่วโลกเผชิญความอดอยากรุนแรง

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 Food Security Information Network (FSIN) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มทางเทคนิคด้านความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานชื่อ Global Report on Food Crises (GRFC) 2023 หรือ “รายงานระดับโลกว่าด้วยวิกฤติอาหาร ปี 2566” ซึ่งระบุเนื้อหาสำคัญ อาทิ คนทั่วโลกกว่า 258 ล้านคนใน 58 ประเทศเผชิญกับภาวะอดอยากที่รุนแรงในระดับวิกฤติหรือแย่กว่านั้น และผู้คนใน 7 ประเทศเผชิญกับภาวะอดอยาก/ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบกว่า 35 ล้านคนตกอยู่ในภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ รายงานข้างต้นยังระบุถึงแนวทางแก้วิกฤติการขาดแคลนอาหารตามที่ประชาคมระหว่างประเทศได้เรียกร้องคือให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่การแก้ไขต้นตอของวิกฤตการณ์อาหารแทนที่จะรอตอบสนองต่อผลกระทบเมื่อเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องใช้แนวทางที่เป็นนวัตกรรมใหม่และการประสานงานมากขึ้นโดยองค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาล ภาคเอกชน องค์กรระดับภูมิภาค ภาคประชาสังคม และชุมชน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG2 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 2.1 ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง เป้าหมายย่อยที่ 2.2 ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

เข้าถึงได้ที่: Around 258 million need emergency food aid: UN-backed report (UN)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น