SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 1 ประจำเดือนมิถุนายน 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  25 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ยูนิเซฟ เรียกร้องให้ ‘สถานรองรับ’ เป็นทางเลือกสุดท้ายในการดูแลเด็ก เพื่อสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

จากเหตุการณ์การทารุณกรรมเด็กในสถานสงเคราะห์ครั้งล่าสุดที่จังหวัดสระบุรี เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจและไม่ควรที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่เด็กถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้ง และถูกลืม เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมไทย โดยประเทศไทย มีเด็กกว่า 120,000 คนอาศัยอยู่นอกบ้านในสถานรองรับต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น สถานสงเคราะห์ของรัฐและเอกชน โรงเรียนประจำและวัด มีหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เด็กที่เติบโตในสถานรองรับมักมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะถูกทำร้ายและต้องเผชิญผลกระทบเชิงลบทั้งทางร่างกายและจิตใจเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง คือการไม่มีกลไกในการกำกับติดตามความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ในสถานรองรับเด็กทุกคนควรได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเต็มที่ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง 

ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้สถานรองรับเป็นทางเลือกสุดท้ายในการดูแลเด็ก มุ่งเน้นให้เด็กได้อยู่ภายใต้การดูแลแบบครอบครัว มีการประสานงานกันระหว่างองค์กรภาครัฐ รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้มีการกำกับดูแลสถานรองรับประเภทต่าง ๆ รวมถึง สถานสงเคราะห์ โรงเรียนประจำ และวัด ผ่านระบบการขึ้นทะเบียนและการกำหนดมาตรฐาน และรัฐต้องจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสถานรองรับเด็กทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐและเอกชน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ มีความปลอดภัย ได้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง รวมทั้งได้เรียนรู้และได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเต็มที่ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.1 ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่ 5.2 ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก  และ 16.a เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม

เข้าถึงได้ที่ : การทารุณกรรมเด็กในสถานสงเคราะห์ครั้งล่าสุดที่จังหวัดสระบุรี – UNICEF Thailand

รัฐบาลไทยร่วมกับ UNHCR และ UNICEF เร่งการยุติภาวการณ์ไร้รัฐไร้สัญชาติในเด็ก

กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย UNHCR และ UNICEF ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาระดับชาติว่าด้วยการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็กในประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานสหประชาชาติ ร่วมกันผนึกกำลังเพื่อยุติความไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็ก ซึ่งหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านกฎหมายและนโยบายในการจัดการกับปัญหา ไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่การแก้ปัญหายังคงเป็นงานที่ยังคงต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นายจูเซปเป้ เดอ วินเซนทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ยินดีต่อความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็ก UNHCR จะยังคงสนับสนุนรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และพิจารณาแสดงเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติที่การประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย (Global Refugee Forum) ในปลายปีนี้

รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมการรณรงค์ #IBelong ของ UNHCR เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติภายในปี 2567 และให้คำมั่นสัญญาที่จะลดและแก้ปัญหาสถานะทางกฎหมายสำหรับบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติรวมถึงเด็ก ให้ได้เข้าถึงการศึกษาและสวัสดิการทางสังคมและการคุ้มครองเด็ก ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ขึ้นทะเบียนกว่า 63,000 คน ได้รับสัญชาติไทย ซึ่งปัจจุบัน กฎหมายไทยอนุญาตให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยสามารถจดทะเบียนการเกิด ได้รับสูติบัตร เข้าเรียนในโรงเรียนหรือเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้แม้ว่าจะไม่มีสถานะทางกฎหมายหรือเอกสารใด ๆ ก็ตาม

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573 และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.9 จัดให้มีอัตลักษณ์ทางกฎหมายสำหรับทุกคน 

เข้าถึงได้ที่ : รัฐบาลไทย ผนึกกำลังร่วมกับ UNHCR และ UNICEF เพื่อเร่งความก้าวหน้าในการยุติภาวะการไร้รัฐไร้สัญชาติในเด็ก – unicef

ประเทศไทยอยู่อันดับ 8 เสี่ยงร้อนระดับวิกฤติ ภายในปี 2070

ภาวะโลกร้อนกำลังกดดันให้ประชากรมากกว่า 1 ใน 5 ของโลก ต้องย้ายออกจากภูมิอากาศจำเพาะ หรือภูมิอากาศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากที่สุด ภายในปี 2100 จากการคาดการณ์ของงานวิจัยล่าสุด ระบุว่า หากอุณหภูมิยังคงเพิ่มสูงขึ้น ในทศวรรษต่อๆ ไป จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของโลก หากผู้กำหนดนโยบายไม่ดำเนินการอย่างเด็ดขาด เรื่องการลดผลกระทบจากความร้อนระดับอันตราย และภายในสิ้นศตวรรษนี้ ผู้คนเกือบ 2,000 ล้านคนอาจมีชีวิตอยู่กับอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีที่ร้อนกว่า 29 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิสูงสุดต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีต

หากยังคงดำเนินตามนโยบายอย่างปัจจุบัน อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2.7 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ แต่ถ้าทั้งโลกทำตามเป้าหมายของสหประชาชาติ (UN) จะทำให้อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียส และสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากกว่า 1,500 ล้านคน ภายในปี 2070 ขณะที่ ข้อมูลจากงานวิจัย ระบุจำนวนประชากรที่ต้องเผชิญกับความร้อนในระดับอันตรายภายในปี 2070 ได้แก่ อินเดีย 617.7 ล้านคน, ไนจีเรีย 323.4 ล้านคน, อินโดนีเซีย 95.2 ล้านคน, ฟิลิปปินส์ 85.6 ล้านคน, ปากีสถาน 84.1 ล้านคน, ซูดาน 79.5 ล้านคน, ไนเจอร์ 72 ล้านคน, ไทย 54.1 ล้านคน, ซาอุดีอาระเบีย 48.9 ล้านคนและบูร์กินาฟาโซ 47.2 ล้านคน อย่างไรก็ดี งานวิจัยข้างต้น ได้พยายามมุ่งเน้นสร้างความสนใจเกี่ยวกับผลกระทบของมนุษย์จากภาวะโลกร้อนมากขึ้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีและ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

เข้าถึงได้ที่ :  โลกร้อนปี 2070 ไทยอยู่อันดับ 8 เสี่ยงร้อนระดับวิกฤติ – Thairath Plus

กระทรวงศึกษาฯ เปิดข้อมูลปี 65 เด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1 แสนคน

ปลัด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผย ข้อมูลเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ปี 2565 สูงขึ้นกว่า 1 แสนคน พบปัญหาใหม่ เด็กหลายคนไม่ชอบรูปแบบการศึกษาแบบเดิม และเลือกที่จะออกจากระบบการศึกษากลางคัน เนื่องจากตั้งแต่ช่วงโควิด-19 พบว่าวิวัฒนาการของโลกออนไลน์ช่วยให้การเรียนรู้เรียนที่ไหนก็ได้ เด็กหลายคนจึงมุ่งสู่การทำงานตั้งแต่อายุน้อย คืออายุระหว่าง 15 – 23 ปี ซึ่งพบว่า ไทยมีเด็กกลุ่มนี้สูงขึ้นถึง 1.3 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุข้างต้น อาจมีผลมาจากปัจจัยความยากจน ที่ทำให้เกิดปัญหาปากท้อง กลายเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าปัญหาการศึกษา ทำให้เด็กอายุ 14 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เลือกที่จะออกจากระบบการศึกษา มาทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งงานออนไลน์ได้รับความสนใจอย่างมากเพราะมีรายได้สูง เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีแนวทางปรับรูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มองว่า ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยเพิ่มรูปแบบการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายมากกว่าเดิม และเหมาะสมกับความต้องการของเด็กละคน พร้อมสนับสนุนวิธีการเรียนรูปแบบ Home School ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพมหานครที่มีการเรียนรูปแบบนี้ กว่า 1,600 คน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG4 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.1 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573 และ 4.5 ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : ศธ.เผยข้อมูลปี 65 เด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1 แสนคน – ThaiPBS

ประเทศภูมิภาค ‘ลุ่มน้ำโขง’ ผสานความร่วมมือเดินหน้าสู่การอนุรักษ์ป่าภูมิภาคอย่างยั่งยืน

UN-REDD โครงการความร่วมมือแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยถึงการร่วมมือกันของประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน เนื่องจากในอดีตการค้าผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ไปยังประเทศจีนส่งผลต่อการลักลอบตัดไม้ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างมาก แต่ผลจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทำให้ปัจจุบันภูมิภาคดังกล่าวกำลังก้าวสู่ยุคของการค้าป่าไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายและยั่งยืน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการอนุรักษ์ระบบนิเวศของป่าไม้ การป้องกันสัตว์ป่าจากการรุกราน และการบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ดี การอนุรักษ์ป่าไม้และการส่งเสริมการค้าไม้อย่างยั่งยืน ต้องการแนวทางที่ชัดเจนและครอบคลุม ในการดูแลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การบริหารจัดการป่าไม้ การขนส่ง การออกใบอนุญาตรับรอง การตลาด ตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเป็นด่านหน้าในการประยุกต์การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เพื่อปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าป่าไม้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง 15.2 ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจังและ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

เข้าถึงได้ที่ : ประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผสานความร่วมมือ ร่วมเดินหน้าสู่การอนุรักษ์ป่าภูมิภาคอย่างยั่งยืน – The Reporters 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น