‘8 มิถุนายน วันทะเลโลก’ MSC แนะนำ 4 กิจกรรมน่าทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องมหาสมุทรอย่างยั่งยืน

เมื่อทะเลจริง ๆ อาจไม่สวยงามเหมือนทะเลใน “The Little Mermaid” เพราะกำลังถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์หลายทาง โดยเฉพาะการประมงเกินขนาดและขยะพลาสติกตัวร้ายที่เป็นเหมือนแม่มดทำลายระบบนิเวศปั่นป่วน โลกจึงต้องมีวันอย่างน้อยหนึ่งวันไว้สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการรักษ์ทะเล

นั่นก็คือวันนี้ “World Ocean Day” หรือ “วันทะเลโลก” ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน เพื่อสร้างการตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องและอนุรักษ์ท้องทะเล โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2535 ตามแนวคิดของรัฐบาลแคนาดา ในการประชุมความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลก (The Earth Summit) 

สำหรับวันทะเลโลกประจำปี 2566 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดธีมของวันดังกล่าวคือ “Planet Ocean: Tides are Changing” ภายใต้แนวคิดว่าเราทุกคนจำเป็นต้องช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่สวยงามเพื่อคนรุ่นถัดไป ด้าน สำนักงานคณะกรรมการบริการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากทะเล (Marine Stewardship Council: MSC) ได้แนะนำ 4 กิจกรรมที่น่าทำเพื่อส่งเสริมการปกป้องท้องทะเล ดังนี้

1 – สอนและเรียนรู้เกี่ยวกับท้องทะเล (teach and learn about the ocean)

ผู้ที่สนใจสามารถใช้หลักสูตรของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพื่อสอนและเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลและคุ้มครองทะเลให้มีคุณภาพคงอยู่สำหรับคนรุ่นถัดไป โดยหลักสูตรศึกษาของออสเตรเลียคือ “Saltwater Schools” ได้รวบรวมแผนการเรียนรู้ (lesson plan) วิดีโอ ข้อมูลสรุปข้อเท็จจริง (fact sheets) เกม และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทะเลเอาไว้มากมาย ส่วน ‘Te Kawa O Tangaroa’ หลักสูตรศึกษาของนิวซีแลนด์ เน้นความสนใจไปที่แนวทางแก้ปัญหาการประมงเกินขนาด (overfishing) และวิธีการสร้างหลักประกันว่าท้องทะเลจะเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต

เข้าถึงแหล่งข้อมูลการสอนของออสเตรเลีย : World Ocean Day teaching resources for Australia
เข้าถึงแหล่งข้อมูลการสอนของนิวซีแลนด์ : World Ocean Day teaching resources for New Zealand

2 – เลือกอาหารทะเลยั่งยืนที่ผ่านการรับรองมาประกอบอาหาร (cook certified sustainable seafood)

วิธีนี้เป็นการมีส่วนร่วมรักษ์ทะเลง่าย ๆ เพียงแค่เลือกวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารทะเลที่ผ่านการรับรองอาหารทะเลยั่งยืนโดย MSC เนื่องจากอาหารเหล่านั้นผ่านมาตรฐานที่ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ทะเลอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ช่วยควบคุมรักษาปริมาณสัตว์น้ำในท้องทะเล 2) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) มีการบริหารจัดการการทำประมงอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เราสามารถสังเกตตรารับรองข้างต้นบนบรรจุภัณฑ์ของอาหารทะเลที่มีสัญลักษณ์ดังนี้ 

เข้าถึงสูตรการทำอาหารทะเลที่ยั่งยืน : Ocean friendly recipes

3 – สำรวจการประมงที่ยั่งยืน

วิธีที่ดีที่สุดสำหรับทำความเข้าใจผลที่เกิดจากการประมงที่ยั่งยืนซึ่งได้รับการรับรองจาก MSC คือการรับฟังการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ตรงจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นการสัมผัสและรับฟังเรื่องราวการประมงที่ยั่งยืนจากคนในชุมชนที่ใช้ชีวิตเกาะเกี่ยวอยู่กับการประมงและมีความกระตือรือร้นในการดูแลปกป้องมหาสมุทรซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพและเข้าใจความสำคัญของการรักษ์ทะเลมากขึ้น 

4 – ติดตามข่าวสารและแรงบันดาลใจ

ติดตาม MSC ผ่าน Facebook Instagram หรือ Twitter เพื่อจะได้รับทราบข่าวสารล่าสุด เรื่องราว รายงาน สูตรอาหาร และอื่น ๆ อีกมากมายเกี่ยวกับทะเล โดยสามารถสมัครรับจดหมายข่าวประจำที่มีให้เลือกมากมายตามความสนใจ เช่นจดหมายข่าวผู้บริโภครายเดือนที่มีเรื่องราวยอดนิยมและสูตรอาหาร และการอัปเดตการประมงรายสัปดาห์เกี่ยวกับการรับรองและการประเมินมาตรฐานอาหารทะเลต่าง ๆ

สมัครรับจดหมายข่าว : sign up for one of our regular newsletters

นอกจากกิจกรรมหลักทั้ง 4 กิจกรรมแล้ว MSC ยังแนะนำ World Ocean Day Quiz เกมปริศนาบนแพลตฟอร์ม Kahoot ที่ทดสอบและเสริมความรู้เกี่ยวกับสารพัดเรื่องทะเลกว่า 13 คำถาม ตัวอย่างเช่น “มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่กี่เปอร์เซ็นต์ของโลก”

สำหรับประเทศไทย ความเคลื่อนไหวที่น่าชื่นใจต้อนรับวันทะเลโลกก็คือประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่งเผยแพร่ลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกำหนดให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำการประเมินผลกระทบทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หลักจากที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งนำโดยกลุ่ม Beach for life และกลุ่มทวงคืนชายหาดเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– Global Tuna Alliance ย้ำความร่วมมือและวิสัยทัศน์ที่รับผิดชอบร่วมกันจะทำให้ทะเลไม่บอบช้ำและมีทูน่าพอสำหรับโลก
– Parties to the Nauru Agreement (PNA) – ข้อตกลงของแปดประเทศเกาะในแปซิฟิกเพื่อการประมงทูน่าที่ยั่งยืน
– SDG Recommends | เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับทะเลและมหาสมุทรมากขึ้นผ่าน Ocean Literacy
– อินโดนีเซียประเมินประชากรสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ในเขตประมงทั่วประเทศ เพื่อวางแผนการประมงและอนุรักษ์สัตว์น้ำได้ยั่งยืนขึ้น
– จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง 
– ชาวประมงพื้นบ้านล่องเรือจากปัตตานีถึง กทม. ติด #ทวงน้ำพริกปลาทู เรียกร้องทุกภาคส่วนหยุดจับ-ซื้อ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน
– ระบบนิเวศชายฝั่ง: อ่างกักเก็บคาร์บอนของโลกที่ช่วยลด ‘Social Cost of Carbon (SCC)’ และผลกระทบจาก Climate Change
“ประมงอวนลาก ภัยเงียบคุกคามอนาคตทะเลไทย ? หาคำตอบผ่านรายงานอุตสาหกรรมอวนลากฯ ฉบับล่าสุดของ EJF”

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล

แหล่งที่มา : World Ocean Day 2023 (MSC)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น