แนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลกปี 2566 พบ 1 ใน 3 ของผู้อยู่ในเรือนจำถูกคุมขังก่อนพิจารณาคดี และระบบสาธารณสุขเรือนจำกำลังมีปัญหา

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) และองค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล (Penal Reform International) เผยแพร่รายงาน ‘แนวโน้มสถานการณ์เรือนจำโลก’ ประจำปี 2566 (Global Prison Trends 2023) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลสถานการณ์เรือนจำทั่วโลก เช่น จำนวนประชากรในเรือนจำ ผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจต่อเรือนจำและผู้ต้องขัง  ผลกระทบของการจำคุกต่อเด็กและครอบครัว และการเพิ่มขึ้นของการใช้เทคโนโลยีและความสามารถด้านดิจิทัลของเรือนจำ

รายงานข้างต้นระบุถึงปัจจัยที่นำไปสู่การจำคุกที่ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน 4 ปัจจัย ได้แก่ 1) การใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุกยังคงมีน้อยเกินไป 2) บทลงโทษจำคุกที่มากขึ้นและยาวนานขึ้น 3) นโยบายยาเสพติดที่เน้นการลงโทษ และ 4) แนวปฏิบัติและกฎหมายที่ยังเน้นการเลือกปฏิบัติ 

ข้อค้นพบอื่น ๆ ที่ปรากฏในรายงานข้างต้น เช่น

  • ปัจจุบันจำนวนประชากรผู้ต้องขังโลกมีมากถึง 11.5 ล้านคน นับว่าสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นกว่า 24% จากปี 2543 
  • จำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นเร็วกว่าผู้ต้องขังชาย โดยเมื่อเทียบจากปี 2543 พบว่า ผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นกว่า 60% ส่วนผู้ต้องขังชายเพิ่มขึ้น 22% อย่างไรก็ดีผู้ต้องขังชายยังมีสัดส่วนมากถึง 93% ขณะที่ผู้ต้องขังหญิงมีเพียง 7% ของจำนวนผู้ต้องขังทั่วโลก
  • 1 ใน 3 ของผู้ที่อยู่ในเรือนจำ คือผู้ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีและพึงสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยพบว่ากว่า 50 ประเทศ ที่มีผู้ถูกคุมขังในชั้นก่อนการพิจารณาคดีมากกว่าผู้ต้องขังเด็ดขาด
  • เรือนจำมีความแออัดมากขึ้น โดยพบว่าเรือนจำในหลายประเทศมีจำนวนผู้ต้องขังเกินความจุที่จะรับได้ 
  • ระบบสาธารณสุขในเรือนจำกำลังประสบปัญหา เช่น อัตราการระบาดของโรคติดต่อในเรือนจำสูงกว่าในชุมชน ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต 
  • วิกฤติค่าครองชีพสูงส่งผลให้เกิดความไม่เพียงพอด้านงบประมาณ ขณะที่ครอบครัวผู้ต้องขังก็ประสบความยากลำบากในการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขัง

นอกจากนี้ อัตราการจำคุกที่เพิ่มสูงขึ้นยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กกว่า 23 ล้านคน โดยพบว่าเด็กที่ต้องเข้าไปอยู่ในสถานคุมขังมีมากถึง 261,200 คน และเด็กกว่า 22.5 ล้านคน มีพ่อหรือแม่โทษจำคุก และมีเด็กกว่า 19,000 คน ที่อาศัยอยู่กับมารดาในเรือนจำ ด้วยเหตุเหล่านี้ล้วนน่ากังวลต่อการเติบโตและพัฒนาการของเด็กทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมถึงอาจก่อให้เกิดปัญหาการเพิ่มขึ้นของเด็กที่หลุดออกจากบ้านไปสู่สถานรองรับหรือเลี้ยงดูทดแทนอื่น ๆ 

สำหรับประเทศไทย รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2566 สำรวจโดยกรมราชทัณฑ์ระบุจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งสิ้น 268,306 คน แบ่งเป็นชาย 236,708 คน และหญิง 31,598 คน ขณะที่รายงานชื่อ “ประเทศไทย รายงานสภาพเรือนจำประจำปี 2565” จัดทำโดยสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2565 เปิดเผยปัญหาของเรือนจำและทัณฑสถานไทยซึ่งสอดคล้องกับรายงานสถานการณ์เรือนจำโลกหลายปัญหา เช่น มีสภาพที่เเออัด มาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 ล่าช้า เเละไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสในทัณฑสถานทั่วประเทศ มีการลงโทษที่โหดร้าย การขังเดี่ยวเป็นเวลานาน การลงโทษทางวินัย การปฏิบัติที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นในเรือนจำ จึงเป็นโจทย์สำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ที่จะต้องหาแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังให้ดีขึ้นและได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | เพราะสิทธิที่จะมีชีวิตรอดเป็นของทุกคน | ส่องสถานการณ์วัณโรคในเรือนจำเมื่อโควิดเข้าไปกดทับ
โควิดในเรือนจำ: เมื่อ ‘เรื่องในคุก’ ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง
นักโทษจะกลับคืนสู่สังคมพร้อมกับการมีสุขภาพกายและใจดีได้ เริ่มต้นจากโภชนาการอาหารที่ดีในเรือนจำ
‘หลักนิติธรรมไทย’ รั้งอันดับ 80 ของโลก – กระบวนการยุติธรรมทางอาญาคะแนนถดถอย ‘สังคมสงบสุขและยุติธรรม’ จึงยังเกินเอื้อมถึง? ชวนสำรวจผ่านดัชนี WJP Rule of Law 2022

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง 
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา : Global Prison Trends 2023 (TIJ)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น