ปี 2023 นับเป็นปีที่ 7 ของการจัดอันดับ SDG Index ซึ่งประเทศไทยมีส่วนร่วมกับการจัดอันดับนี้มาโดยตลอด เนื่องจากไทยมีข้อมูลสถิติอยู่ในฐานข้อมูลนานาชาติค่อนข้างครบถ้วนให้พิจารณา จากบทความ SDG Updates | SDG Index 2023 สถานการณ์โลก – อาเซียน – ไทยหลังผ่านมาครึ่งทาง ซึ่งทำให้เห็นภาพที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะของแต่ละเป้าหมายของ SDGs ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
คำถามที่สำคัญคือ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สาเหตุที่ทำให้สถานะ SDGs ของประเทศไทย ดีขึ้น/แย่ลง คืออะไร ? เป็นเพราะเราทำได้ดีขึ้นหรือแย่ลงจริงใช่หรือไม่ หรือเพราะอะไรอื่น ? บทความ Inside SDG Index ฉบับนี้มีคำตอบไขข้อข้องใจครับ
01 – ทำความเข้าใจกับ Methodology และข้อมูลที่ใช้
ทบทวนอีกครั้งโดยย่อเกี่ยวกับ Methodology และข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน SDG Index เป็นดังต่อไปนี้
ประการแรก ข้อมูลตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินและจัดอันดับ SDG Index ในแต่ละปีนั้นมิได้เหมือนกันทั้งหมด ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเทียบ performance ใน SDG Index ของประเทศได้โดยตรง สำหรับในปีล่าสุดนี้ (2023) มีการใช้ตัวชี้วัดทั้งหมด 97 ตัวชี้วัดสำหรับการประเมิน SDG Index ของ 166 ประเทศ และมีตัวชี้วัดเพิ่มเติมอีก 27 ตัวชี้วัดสำหรับกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งถ้าเทียบกับปีก่อน ๆ ทั้งจำนวนตัวชี้วัดและจำนวนประเทศที่เข้ารับการประเมินจะแตกต่างกันเล็กน้อย
ในการนี้ SDG Index จึงได้มีการจัดทำค่าคะแนนที่ใช้ตัวชี้วัดชุดเดียวกับปีล่าสุดแต่คำนวณคะแนนย้อนกลับไปถึงราวปี 2000 ไว้บนหน้า dashboard ของแต่ละประเทศด้วย เพื่อแสดงให้เห็นแนวโน้มของพัฒนาการที่เปรียบเทียบกันได้กับปีปัจจุบัน ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ก็กล่าวได้ว่ามีพัฒนาการที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในประเด็นตามตัวชี้วัดของ SDG Index
ประการที่สอง การกำหนดค่าสี เขียว เหลือง ส้ม แดง ในระดับตัวชี้วัด (Indicators) นั้น ส่วนหนึ่งเป็นการตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม กล่าวคือ สถานะ SDGs ของประเทศไทยอาจมิได้ขึ้นกับค่าตัวชี้วัดของไทยเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับ performance ของประเทศอื่น ๆ ด้วย
ประการที่สาม ค่าสีเขียว เหลือง ส้ม แดงในระดับเป้าหมาย (Goals) กำหนดโดยพิจารณาสถานะของตัวชี้วัด 2 ตัวที่มีสถานะแย่ที่สุดในเป้าหมายนั้น ซึ่งมีข้อดีคือทำให้ประเด็นที่เป็นปัญหาวิกฤติในเป้าหมายหนึ่ง ๆ นั้นไม่ถูกละเลยไป แม้ว่าจะมีตัวชี้วัดส่วนใหญ่อยู่ในระดับทำได้ดีแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังทำให้ค่าสีของเป้าหมายมีความแตกต่างกันที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ระบุได้ชัดว่าเป้าหมายใดยังมีประเด็นวิกฤติอยู่
[ทำความเข้าใจ Methodology ในการประเมิน SDG Index เพิ่มเติมได้ที่นี่]
02 – เปรียบเทียบสถานะเป้าหมาย SDGs ของไทยใน SDG Index ระหว่างปี 2017-2023
เมื่อพิจารณาสถานะ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายของไทยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า หลายเป้าหมายมีสถานะที่ค่อนข้างคงที่ อาทิ SDG1 ขจัดความยากจน ที่อยู่ในสถานะสีเขียวมาตั้งแต่ต้น (ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเกณฑ์การประเมินใช้เส้นความยากจนสากล (poverty line) ซึ่งระดับต่ำกว่าบริบทไทยมาก หากใช้เกณฑ์เส้นความยากจนในที่กำหนดในประเทศจะเห็นปัญหาความยากจนได้ชัดเจนกว่านี้) และ SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ และ SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และ SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งอยู่ในสถานะสีส้มมาตลอด
แต่ถึงกระนั้นบางเป้าหมายก็มีการเปลี่ยนแปลงสถานะขึ้นลง ซึ่งบางเป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนอย่างน่าประหลาดใจ เช่น SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล ที่อยู่ในสถานะสีเหลืองเมื่อปี 2017 ขยับเป็นสีเขียวในปี 2018 ก่อนที่จะตกลงมาอยู่ที่สีส้มตลอดนับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา บางประเด็นก็มีสถานะที่ดีขึ้นในแบบที่ไม่ค่อยตรงกับการรับรู้ของสังคมมากนัก เช่น SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ ที่ในปี 2019 ขยับขึ้นมาเป็นสีเหลือง และปีล่าสุดก็ขึ้นมาเป็นสีเขียว และ SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ ที่ขยับจากสีแดงขึ้นมาเป็นสีส้มในปี 2022 จนถึงปี 2023 ทั้ง ๆ ที่การรับรู้ของสังคมยังเข้าใจว่าความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยนั้นยังเป็นปัญหาที่วิกฤติ รวมไปถึง SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เช่นกัน ที่จากข้อมูลของ UNESCAP นั้นนับว่าเป้าหมายที่ถดถอยที่สุดของภูมิภาคและของประเทศไทย แต่เหตุใดสถานะของเป้าหมายนี้จึงขยับขึ้นเป็นสีส้มตั้งแต่ในปี 2020 จนถึงปัจจุบัน
สถานะของบางเป้าหมาย อาทิเช่น SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง ของประเทศไทยที่ขยับลงมาเป็นสีแดงในปี 2022 และ 2023 ซึ่งแม้จะตรงกับการรับรู้ของผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามประเด็นในเป้าหมายดังกล่าว แต่สาเหตุของการกลายเปลี่ยนสถานะเป็นสีแดงในกรณีนี้นั้นเป็นเพราะตัวชี้วัด SDG Index สามารถแสดงให้เห็นสถานการณ์จริงเป็นสถานะในดัชนี้นี้ได้จริงหรือ ?
03 – อะไรคือสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสถานะของเป้าหมายเหล่านี้ ?
สาเหตุประการแรก คือ มีการเปลี่ยนแปลงในค่าตัวชี้วัดจริงจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของสถานะ นั่นแปลอย่างตรงตัวว่า เมื่อเป้าหมายหนึ่ง ๆ มีสถานะบนดัชนีนี้ดีขึ้น ก็เพราะเป็นผลมาจากการดำเนินการที่ดีขึ้นของไทยจริง หรือในบางเป้าหมายที่มีสถานะแย่ลงก็เป็นผลมาจากการดำเนินการที่ไม่สู้ดีของไทยจริงเช่นกัน
ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงสถานะของเป้าหมายในลักษณะนี้ ได้แก่
- SDG2 ในปี 2019 สถานะระดับเป้าหมายขยับขึ้น (แดง >> ส้ม) เพราะสถานะตัวชี้วัดด้านภาวะทุพโภชนาการของไทยนั้นขยับขึ้นจากสีแดงเป็นสีส้ม
- SDG4 ในปี 2023 สถานะระดับเป้าหมายขยับขึ้น (เหลือง >> เขียว) เพราะสถานะอัตราการจบการศึกษาระดับมัธยมต้นของไทยถูกประเมินให้อยู่ระดับสีเขียว
- SDG9 ในปี 2019 เป็นต้นมา สถานะระดับเป้าหมายขยับขึ้น (แดง >> ส้ม) เพราะพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของตัวชี้วัดด้านสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้น การตีพิมพ์บทความวิชาการที่สูงขึ้น รวมไปถึงสัดส่วนของงบประมาณวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ก็สูงขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน
- SDG14 ในปี 2021 สถานะระดับเป้าหมายถูกปรับลง (ส้ม >> แดง) มีสาเหตุหนึ่งอันเนื่องมาจากการลดลงของพื้นที่เฉลี่ยที่ได้รับการอนุรักษ์ในพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล จึงทำให้ตัวชี้วัดนี้ขยับจากสีเขียวลงมาเป็นสีแดง และพาให้ทั้งเป้าหมาย SDG14 ขยับสถานะลงมาเป็นสีแดงด้วย
สาเหตุประการที่สอง คือ มีการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดที่ใช้ในการคำนวณ ซึ่งในบางกรณีทำให้สถานะของประเทศไทยดีขึ้นเนื่องจากตัวชี้วัดที่เราทำได้ไม่ดีถูกถอดออกแทนที่ด้วยตัวชี้วัดที่เราทำผลงานได้ดีพอดี ในทางกลับกันก็ทำให้สถานะของประเทศไทยแย่ลงไดด้วย เมื่อตัวชี้วัดที่นำเข้ามาเติมเป็นตัวที่ประเทศไทยทำผลงานได้ไม่ดี ดังนั้นในกรณีนี้ การเปลี่ยนแปลงสถานะของเป้าหมาย SDGs หาได้เป็นผลต่อเนื่องที่แสดงถึงความก้าวหน้าหรือถดถอยของตัวชี้วัดของประเทศไทยแต่อย่างใด
ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงสถานะของเป้าหมายในลักษณะนี้ ได้แก่
- SDG2 ในปี 2021 สถานะระดับเป้าหมายถูกปรับลง (ส้ม >> แดง) เพราะมีการนำเสนอตัวชี้วัดเรื่องการส่งออกสารเคมีฆ่าแมลงเพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ไทยทำได้ไม่ดี (มีสถานะสีแดง) จึงทำให้ในเป้าหมายมีตัวชี้วัดที่แย่ที่สุดอยู่ในระดับสีแดงทั้ง 2 ตัว (อีกตัวชี้วัดหนึ่งคือ ดัชนีการจัดการไนโตรเจนอย่างยั่งยืน (Sustainable Nitrogen Management index)) จึงดึงให้สถานะของ SDG2 ลงมาอยู่ที่ระดับสีแดง
- SDG4 ในปี 2019 สถานะระดับเป้าหมายขยับขึ้น (ส้ม >> เหลือง) เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวชี้วัดจากจำนวนปีเฉลี่ยในการศึกษามาเป็นอัตราการจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ประเทศไทยมีการดำเนินการอยู่ในระดับดี จึงส่งผลดีต่อทั้งเป้าหมาย
- SDG6 ในปี 2019 สถานะระดับเป้าหมายถูกปรับลง (เขียว >> ส้ม) เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดที่สำคัญในปี ดังกล่าว โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ มีการเพิ่มตัวชี้วัดเกี่ยวกับสัดส่วนน้ำเสียจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ได้รับการบำบัดเข้ามา ซึ่งประเทศไทยทำงานกับตัวชี้วัดนี้ได้ไม่ดีเลย (มีสถานะสีแดง) จึงดึงให้สถานะเป้าหมายตกลง
- SDG10 ในปี 2022 สถานะระดับเป้าหมายขยับขึ้น (แดง >> ส้ม) เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในตัวชี้วัดสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) จากเดิมที่เป็นรูปแบบเฉพาะของการทำ SDG Index คือการเปรียบเทียบระหว่างคนจน 10% ล่างสุดกับคนรวย 1% มาเป็นการใช้ Gini coefficient แบบมาตรฐาน คือการเปรียบเทียบระหว่างคนจน 10% ล่างสุดกับคนรวย 10% โดยใช้ฐานข้อมูลของ World Bank ซึ่งเป็นข้อมูลที่จัดทำโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
- SDG13 ในปี 2020 สถานะระดับเป้าหมายขยับขึ้น (แดง >> ส้ม) เพราะมีการดึงเอาตัวชี้วัดที่ว่าด้วยผลกระทบจากภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออก เหลือเพียงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกแทน จึงทำให้สถานะของประเทศไทยขยับขึ้น (ตัวชี้วัดว่าด้วยผลกระทบดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดที่ไทยมีค่าแย่ที่สุดตัวหนึ่ง)
- SDG14 ในปี 2018 สถานะระดับเป้าหมายถูกปรับลง (ส้ม >> แดง) เพราะมีการเพิ่มตัวชี้วัดเกี่ยวกับมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ที่ถูกจับมากเกินขนาดในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ)
สาเหตุประการที่สาม การปรับเพิ่มขึ้นของจำนวนประเทศในการประเมินหรือสถานะของประเทศอื่นที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของ SDG15 ที่ดัชนีบัญชีแดง (Red List Index) ของไทยอยู่ในสถานะระดับสีแดงในปี 2017 แต่ถูกปรับขึ้นให้เป็นสีส้มในปี 2018 ทั้ง ๆ ที่ค่าคะแนนตัวชี้วัดได้เท่าเดิม เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้สถานะของเป้าหมาย SDG15 ขยับขึ้นเป็นสีส้ม หรือในกรณีของ SDG14 ในตัวชี้วัดคะแนนน้ำสะอาดจากดัชนีคุณภาพมหาสมุทร (Ocean Health Index: Clean water score) ที่ไทยได้คะแนนในปี 2021 สูงกว่าปี 2020 แต่สถานะตัวชี้วัดนี้กลับถูกปรับลงจากสีส้มมาเป็นสีแดง เป็นหนึ่งในเหตุที่ทำให้ SDG14 ถูกลดสถานะระดับเป้าหมายจากสีส้มเป็นสีแดง
ประการสุดท้าย คือ ปัญหาด้านข้อมูลของไทยในฐานข้อมูลนานาชาติ ปัญหานี้เกิดขึ้นในปี 2022 ในการประเมิน SDG16 และเป็นสาเหตุที่ทำให้สถานะ SDG16 ของไทยในปีนั้นถูกปรับลงจากสีส้มเป็นสีแดง ซึ่งถือว่าเป็นการลดระดับสถานะของเป้าหมายอย่างไม่เป็นธรรมกับประเทศไทยนัก
ตัวชี้วัดที่ทำให้เกิดกรณีข้างต้นคือ อัตราการฆาตกรรมต่อประชากรแสนคน ซึ่งข้อมูลของตัวชี้วัดนี้ถูกดึงมาจากฐานข้อมูลของ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) ซึ่งในการประเมินตัวชี้วัดนี้ของไทยในปี 2021 นั้นใช้ข้อมูลของปี 2017 ที่ไทยมีสถานะอยู่ในระดับสีเหลือง แต่ต่อมาในปี 2022 ตัวชี้วัดนี้กลับอยู่ในระดับสีแดง และเมื่อตรวจสอบข้อมูลที่ใช้พบว่าเป็นข้อมูลที่ย้อนกลับไปถึงปี 2011 จากการสอบถามคณะผู้วิจัยที่จัดทำ SDG Index นั้นได้ความว่า ฐานข้อมูล UNODC ได้ทำการถอดข้อมูลของไทยตั้งแต่ปี 2012 ออก (retire)
ด้วยเหตุปัญหาด้านข้อมูลข้างต้นนี้ สถานะ SDG16 ของไทยจึงถดถอยจากสีส้มเป็นสีแดงในปี 2022 อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวยังคงอยู่ในการประเมินปี 2023 นี้ และเมื่อผนวกกับตัวชี้วัดอีก 2 ตัวที่เพิ่มเข้ามาใหม่ซึ่งมีสถานะเป็นสีแดงไปเสีย 1 ตัว ส่งผลให้สถานะของ SDG 16 ของประเทศไทยกลายเป็นสีแดงโดยสมบูรณ์ ต่อให้มีการแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลตัวชี้วัดข้างต้นนั้นแล้วก็ตาม
04 – เราเรียนรู้อะไรจากการวิเคราะห์ข้างต้น
ประการแรก การจะขยับให้ SDG Index ของไทยเคลื่อนไปทิศเทางที่ก้าวหน้า สิ่งที่สำคัญก็คือการขับเคลื่อนความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง หากการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนมีทั้งหมด 100 ก้าว ประเทศไทยก็เดินมาเกือบ 75 ก้าวแล้ว เหลืออีกเพียง 25 ก้าว แต่ก้าวที่เหลือนั้นจะเดินไปได้โดยง่ายเหมือนทางราบหรือจะเป็นทางชันต้องปีนผาขึ้นไปนั้น เป็นสิ่งที่ขอยกไว้ในบทความ ‘Inside SDG Index’ ชิ้นถัดไป
ประการที่สอง การประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยกับองค์กรระหว่างประเทศที่ทำการดูแลตัวชี้วัดนั้น (Custodian Agency) มีความสำคัญไม่น้อยหากพิจารณาจากบริบทของ SDG Index กล่าวคือ หากมีกลไกการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ เราน่าจะไม่ต้องเผชิญปัญหาด้านข้อมูลดังที่พบกับประเด็นเรื่องตัวชี้วัดที่ใช้ข้อมูลจาก UNODC ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ทาง SDG Move ได้แจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับทราบแล้ว และขอบพระคุณทั้งสองหน่วยงานที่ช่วยรับไปดำเนินการต่ออย่างแข็งขัน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การพัฒนาระบบติดตามและช่วยควบคุมคุณภาพของข้อมูลทางสถิติทางการก่อนส่งไปยังองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลตัวชี้วัดต่าง ๆ ในรูปแบบของ Thailand Data Gateway
ประการสุดท้าย การใช้ประโยชน์จากดัชนีใด ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลงไปดูในระดับของตัวชี้วัดเพื่อให้เข้าใจประเด็นที่ประเทศไทยทำได้ดีและประเด็นที่ยังต้องปรับปรุง ซึ่งหากเราไม่ลงมาดูรายละเอียดตัวชี้วัดอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าประเทศมีความก้าวหน้าหรือถดถอย ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องสถานะหรือคะแนนเปลี่ยนจากการปรับเพิ่มหรือลดตัวชี้วัด หากเรามีโอกาสพิจารณาในรายละเอียดจะทำให้การใช้ประโยชน์จากดัชนีเป็นอย่างถูกต้องเที่ยงตรงที่สุด และทำให้การวางแผนเพื่อการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ติดตามบทความวิเคราะห์เจาะลึก SDG Index จากซีรีส์ “Inside SDG Index” ได้อีกเร็วนี้ ๆ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Index 2023 ไทยรั้งอันดับ 43 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย พบ SDG1 และ SDG4 อยู่ในสถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว
– SDG Updates | เปิดรายงาน Sustainable Development Report 2022 และ SDG Index 2022
– Director’s Note: 13: สถานะ SDGs ประเทศไทย SDG Index vs รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563
– SDG Insights | Inside SDG Index: ไขข้อข้องใจ SDG Index – ไทยยั่งยืนกว่าสิงคโปร์จริงหรือ? และอันดับ SDG Index เป็นผลงานรัฐบาล คสช. และ พปชร. หรือไม่ เพียงใด ?
– SDG Insights | Inside SDG Index : เจาะลึก SDG Index 2021 ของประเทศไทย
– SDG Updates | เปิดรายงาน Sustainable Development Report และ SDG Index 2021
– Director’s Note: 05 สิ่งที่ควรเข้าใจก่อนอ่าน Sustainable Development Report และSDG Index
– SDG Insights | สถานะประเทศไทยจาก SDG Index: 4 ปีผ่านไป อะไรดีขึ้นหรือแย่ลงบ้าง ?
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เนตรธิดาร์ บุนนาค – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
Last Updated on กรกฎาคม 12, 2023