หากไทยไร้เสรีภาพสื่อ จะขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs ได้แค่ไหน?

เมื่อกล่าวถึง ‘เสรีภาพสื่อ’ ในพื้นที่ของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยผิวเผิน เรามักเพ่งความสนใจไปที่เป้าหมายย่อย (target) ที่ 10 ของ SDG16 “สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ” ในฐานะหนึ่งในเป้าหมายที่ต้องบรรลุให้ได้ บทสนทนาที่เกิดขึ้นจึงมักปรากฏในลักษณะว่า “จะทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่าการเข้าถึงข้อมูลและสื่อสารเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นได้อย่างมีเสรีภาพ”

SDG Updates ฉบับนี้ ผู้เขียนชวนมอง ‘เสรีภาพสื่อ’ ในมุมที่ต่างไปจากเดิม คือมองในฐานะที่เป็นเครื่องมือหรือปัจจัยสำคัญของการบรรลุทุกเป้าหมายของ SDGs โดยพลิกเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า “เสรีภาพสื่อมีความสำคัญต่อการหนุนเสริมการบรรลุ SDGs มากน้อยเพียงใด อย่างไร” และ “หากประเทศใด สื่อถูกจำกัดหรือลดทอนเสรีภาพจะกระทบต่อการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs หรือไม่ อย่างไร”


ทำไมสื่อต้องมีเสรีภาพ

ก่อนขยับไปคลี่ตอบคำถามข้างต้น อยากชวนตั้งต้นถึงความเข้าใจต่อบทบาทและอิทธิพลของสื่อต่อสังคมก่อนในเบื้องแรก เพื่อช่วยชี้ชัดให้เห็นว่าการพูดถึง ‘เสรีภาพ’ และ ‘สื่อ’ เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจแยกขาดกันได้ 

‘สื่อ’ ในที่นี้หมายความครอบคลุมถึงสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ เช่น เพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ โดยบทบาทที่เราคุ้นชินมากที่สุดของสื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่คือการเป็นผู้แจ้งข่าว (messenger) ที่คอยรายงานให้ได้รับรู้ถึงสภาพปัจจุบันของสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่หากมองกว้างและไกลกว่านั้นสื่อยังมีบทบาทอย่างน้อยอีก 4 บทบาท คือ 1) บทบาทสุนัขเฝ้าบ้าน (watchdog) ทำหน้าที่สืบสวนและรายงานถึงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางร่างกาย เศรษฐกิจ หรือการเมืองของประชาชน รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการบริหารจัดการ 2) บทบาทการตัวกลาง (intermediary) ในการถ่ายข้อเท็จจริงและความเห็นระหว่างแหล่งข่าว (news sources) กับมวลชนผู้รับข่าว (news audience) และระหว่างแหล่งข่าวด้วยกันเอง 3) บทบาทการเป็นตัวเชื่อม (relay) ในการผูกโยงและส่งต่อเรื่องราวจากที่หนึ่งให้ที่อื่น ๆ รับรู้ และ 4) บทบาทการเป็นผู้เฝ้าประตู (gatekeeper) ในการคัดกรองข่าวสารด้วยเกณฑ์สาระและความสำคัญเพื่อส่งต่อไปยังผู้รับข่าวสาร [1]

บทบาทเหล่านี้หนุนเสริมให้สื่อมีอิทธิพลต่อการกำหนดความสนใจของสังคม ชี้นำและชักจูงสังคมผ่านกระบวนการนำเสนอข่าว ทั้งยังมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองของผู้คน ทั้งนี้ อาจสรุปอิทธิพลของสื่อในทางสังคมการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ได้ดังนี้ 

1) สื่อมีอิทธิพลในการกำหนดความสนใจของสังคม เนื่องจากการสวมบทบาทผู้เฝ้าประตูและผู้แจ้งข่าวทำให้ประเด็นที่สื่อเลือกหยิบมานำเสนอมักกลายเป็นประเด็นถกสนทนาระหว่างผู้คน โดยเฉพาะปัจจุบันมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ไวรัล” และ “กระแส” ที่ยึดโยงและดึงดูดผู้คนให้สนใจอย่างเป็นอุปทานหมู่ ดังจะเห็นว่าหลายครั้งประเด็นที่ถูกนำเสนอผ่านรายการ “โหนกระแส” ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการที่หยิบประเด็นที่เป็นไวรัลหรือกระแสในสังคมมาขยี้คลี่คลายนั้นสามารถสร้างแรงกระเพื่อมของความสนใจและการถกเถียงในสังคมให้ขยายวงกว้างออกไปได้

2) สื่อมีอิทธิพลในการตีแผ่ประเด็นทางสังคม การสวมหมวกอีกใบในฐานะ ‘สุนัขเฝ้าบ้าน’ ทำให้สื่อต้องทำงานค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก จนหลายครั้งค้นพบข้อเท็จจริงที่ถูกซุกซ่อนและไม่ถูกทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน สื่อจึงกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นทางสังคมที่คอยขุดรื้อและคลี่เปิดให้ผู้คนเห็นความจริงที่ต่างออกไปจากเดิมที่เคยรับรู้ จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวขยายวงสืบสวนสอบสวนในทางกฎหมายตามมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่นการเล่นบทบาทนี้ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน’ ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 9 แสนบัญชีผู้ใช้ เพจนี้นำเสนอข้อมูล ตีแผ่ และเปิดโปงการ      คอร์รัปชันของหน่วยภาครัฐจนหลายครั้งนำไปสู่การตรวจสอบอย่างเป็นรูปธรรมตามมา

3) สื่อมีอิทธิพลในการสร้างแรงจูงใจการมีส่วนร่วมทางสังคม กล่าวคือการนำเสนอความคิดความเห็นต่อประเด็นทางสังคมโดยสื่อมีผลต่อการโน้มน้าวและเชิญชวนมวลชนให้ร่วมกระทำหรือต่อต้านต่อปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ ได้ไม่มากก็น้อย สิ่งสำคัญที่สุดคือหลายคนมักบอกว่า ‘สื่อเป็นกลาง’ แต่โลกความเป็นจริงคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อจำนวนหนึ่งเลือกข้างที่ตัวเองเห็นว่าถูกต้องหรือสอดรับกับอุดมการณ์ที่สื่อสำนักตนยึดมั่น แม้จะพยายามเป็นกลางมากเท่าไรแต่ก็คงไม่สามารถสลัดทิ้งกลิ่นอายของชุดคุณค่าของตัวเองได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี อิทธิพลข้างต้นจะสร้างขึ้นได้มากแค่ไหนก็ยึดโยงอยู่กับ ‘เสรีภาพของสื่อ’ เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะการเล่นบทบาทสุนัขเฝ้าบ้านที่ต้องติดตาม ค้นคว้า ตีแผ่ข้อเท็จจริง และวิพากษ์วิจารณ์ หากเสรีภาพมีน้อยก็มักตามมาด้วยราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งอาจมาในรูปแบบของการฟ้องปิดปากหรือฟ้อง SLAPPs (strategic lawsuits against public participation) และการถูกลดทุนสนับสนุนจากภาครัฐหรือภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับประเด็นที่ถูกตีแผ่


จะขับเคลื่อน SDGs ให้ขยับได้ ต้องพึ่งสื่อที่มีเสรีภาพไหม

“ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิดเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่จะแสวงหา รับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน” 

ข้อความข้างต้นบัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1948 ข้อ 19 ที่มักถูกหยิบยกมาอ้างถึงบ่อยครั้งเมื่อมีการกล่าวถึงเสรีภาพสื่อ ในแง่จุดมุ่งหมาย ข้อความสั้น ๆ ไม่กี่บรรทัดนี้เปรียบเสมือนหลักประกันที่นานาประเทศต่างยอมรับที่จะปฏิบัติไปในแนวเดียวกัน

นอกจากนี้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights :ICCPR) ข้อ 19 (2) ก็เป็นอีกหนึ่งหลักการที่หลายประเทศทั่วโลกยึดถือปฏิบัติ ซึ่งระบุว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ขอ้มูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่า ด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก”

เพื่อไม่ให้ตกขบวน ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้สัตยาบันต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เเละเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในทางปฏิบัติจึงควรปกป้องและคุ้มเสรีภาพแห่งการสื่อสารให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการวางหลักปักฐาน ‘เสรีภาพสื่อ’ มาตั้งแต่ 75 ปีก่อน แต่การขับเคลื่อนผลักดันเรื่องนี้ให้คงอยู่ก็ยังคงเป็นวาระของโลกปัจจุบัน โดยในเป้าหมายของ SDGs เรื่องนี้ถูกระบุไว้ในเป้าหมายย่อยที่ 16.10 “สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นการวาง ‘เสรีภาพสื่อ’ ไว้ในฐานะเป้าหมายที่โลกต้องขยับเคลื่อนให้เกิดขึ้นและรักษาให้คงอยู่ไว้ แต่หากมองต่างมุม ให้ เสรีภาพสื่อ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนหรือหนุนเสริมเพื่อบรรลุ SDGs เป้าหมายอื่น ๆ มากน้อยเพียงใด ก็เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่น่าถกสนทนา

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามบทบาทของสื่อดังที่กล่าวถึงแล้วในเบื้องต้น กล่าวได้ว่าสื่อมีพลังต่อการสื่อสารและผลักดันประเด็น SDGs ได้อย่างน้อย  2 ประการ ดังนี้ 

ประการแรก สื่อเป็นสะพานสื่อสารและกระจายความรู้เกี่ยวกับ SDGs ให้คนทั่วไปเข้าใจมากขึ้น เพราะแม้ SDGs จะถูกรับนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2559 แต่ความเข้าใจและคุ้นชินส่วนใหญ่ก็กระจุกอยู่ที่ภาควิชาการ สถาบันการศึกษา ภาครัฐและภาคเอกชน เฉพาะที่มีภาระงานเกี่ยวข้อง ขณะที่ในภาคประชาชน SDGs ยังเป็นเรื่องแปลกใหม่และไกลตัวพอสมควร การได้สื่อเป็นสะพานส่งทอดความรู้และเชื่อมโยง SDGs เข้ากับประเด็นทางสังคมให้เข้าใจง่ายและเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว จึงเป็นโจทย์น่าสนใจที่สื่อไทยอาจขยับไปให้ถึง 

ประการต่อมา สื่อเป็นกระบอกเสียงในการติดตาม ตรวจสอบ และตีแผ่สถานการณ์การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนของภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้หมวก ‘สุนัขเฝ้าบ้าน’ สื่อทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินโครงการของหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและระดับท้องถิ่น เมื่อพบว่านโยบายหรือโครงการใดกระทบต่อความยั่งยืน กล่าวคือกระทบต่อเศรษฐกิจ (prosperity) สังคมและผู้คน (people) และสิ่งแวดล้อม (planet) สื่อก็ต้องขยับนำเสนอและตีแผ่ข้อเท็จจริง นอกจากนี้ยังรวมถึงการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามสนธิสัญญา ข้อตกลง หรือความร่วมมือระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการตามที่ลงนามหรือสัญญาไว้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมาบทบาทเหล่านี้ของสื่อหลายสำนักค่อนข้างแสดงออกมาต่อเนื่อง เพียงแต่อาจไม่มีการชี้ชัดให้เห็นว่าแบบที่ทำอยู่นั้นเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs อย่างไร

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารและส่งเสียงของสื่อในประเด็น SDGs ก็ไม่ต่างจากประเด็นทางสังคมอื่น ๆ เพราะต้องอาศัยปัจจัยเสรีภาพสื่อเป็นสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะการติดตาม ตรวจสอบ และตีแผ่ จะกระทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเสรีภาพในการเข้าถึงและนำเสนอข้อมูลของสื่อเป็นสำคัญ โดยหากสื่อถูกจำกัดหรือลดทอนเสรีภาพจะด้วยกลไกทางกฎหมายหรือกลไกอื่น ๆ เช่นการแทรกแซงโดยกลุ่มทุนหรืออำนาจอุปถัมภ์ ผลที่ตามมาคือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมก็จะดังน้อยลง เพราะการขับเคลื่อน SDGs ต้องอาศัยการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ยั่งยืนที่แนวนโยบายของรัฐหรือแนวทางของบริษัท หากขาดส่วนนี้ไป โครงการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนหรือกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความครอบคลุมใด ๆ ซึ่งสภาวะเช่นนี้เองที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคขัดขวางการบรรลุ SDGs 


ประเทศใดสื่อมีเสรีภาพ ประเทศนั้น SDGs จะก้าวหน้าด้วย? 

ความน่าสนใจระหว่างความสัมพันธ์ของเสรีภาพสื่อกับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs อาจพิจารณาเพิ่มเติมผ่านการเทียบเคียงดัชนีที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ 2 ดัชนี คือ ‘SDG Index 2023’ ดัชนีที่จัดอันดับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศทั่วโลก จัดทำโดย เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) และ ‘World Press Freedom Index 2023 ดัชนีอันดับเสรีภาพสื่อของประเทศทั่วโลก จัดทำโดย องค์กรเพื่อเสรีภาพสื่อมวลชน (Reporters Without Borders) 

หากพิจารณา 10 อันดับแรกของทั้ง 2 ดัชนี จะพบว่า ‘SDG Index’ ประกอบด้วย ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก เยอรมนี ออสเตรีย ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เช็ก โปแลนด์ และเอสโตเนีย ตามลำดับ ขณะที่ 10 อันดับแรกของ ‘World Press Index’ ประกอบด้วย นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลิทัวเนีย เอสโตเนีย โปรตุเกส และติมอร์-เลสเต ตามลำดับ

ข้อน่าสังเกตคือ ประเทศที่ติด top 10 ของทั้งสองดัชนีร่วมกัน มีมากถึง 5 ประเทศ ได้แก่ ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ และเอสโตเนีย ซึ่งหากพิจารณาบางประเทศอย่าง ‘ฟินแลนด์’ พบว่าสื่อส่วนใหญ่เป็นอิสระจากการครอบงำของพรรคการเมืองและนักการเมืองโดยสิ้นเชิง ขณะที่ในทางกฎหมาย เสรีภาพสื่อมวลชนได้รับการรับรองได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2309 ในสมัยที่ฟินแลนด์ยังอยู่ภายใต้การปกครองของสวีเดน 

อย่างไรก็ดี ดังกล่าวเป็นเพียงการเทียบเคียงอย่างรวบรัดที่อาจสรุปไม่ได้เสียทีเดียวว่าความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs สัมพันธ์หรือมีจุดตัดกับเสรีภาพสื่ออย่างมีนัยยะสำคัญที่จุดใดเพียงเพราะอันดับของประเทศที่อยู่ 10 อันดับแรก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเสรีภาพสื่อมีส่วนช่วยผลักดันความก้าวหน้าของ SDGs ในประเทศดังกล่าวไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะในมิติของการสร้างการมีส่วนร่วม และสะท้อนประสิทธิภาพของกลไกในการตรวจสอบของประเทศนั้น ๆ  


สื่อไทยถูกจำกัดเสรีภาพจากการนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับ SDGs อย่างไรบ้าง 

หากพิจารณาในภาพรวมปีนี้ (2566) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 43 ของ SDG Index (จาก 166 ประเทศ) จัดอยู่ในประเทศที่มีอันดับการพัฒนาอยู่ในช่วงค่อนบน คืออันดับสูงกว่าอีกกว่า 120 ประเทศที่ถูกประเมิน ทว่าดัชนีเสรีภาพสื่อของไทยกลับอยู่ในอันดับที่ 106 ของ World Press Index (จาก 180 ประเทศ) จัดอยู่ในช่วงค่อนล่าง กล่าวคือมีประเทศที่มีอันดับสูงกว่าไทยกว่า 105 ประเทศ สะท้อนว่าแม้ภาพรวมอันดับการพัฒนาของไทยจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อยังต้องการการพัฒนาอีกมาก 

อย่างไรก็ดี การคิดคะแนนและอันดับของ SDG Index ในปีนี้นั้น ไม่ได้รวมเอาข้อมูลที่สะท้อนถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนเข้ามาใช้ในการประเมินด้วยเนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูล ดังนั้น การจะทำความเข้าใจสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนผ่านการประเมินของ SDG Index  จึงไม่อาจสะท้อนสถานการณ์เฉพาะด้านได้โดยตรงมากนัก

นอกจากนี้ การประเมินความพร้อมของข้อมูลตัวชี้วัด SDGs โดย UN ESCAP ผ่านรายงาน Asia and the Pacific SDG progress report 2023 พบว่า แม้จะผ่านมาแล้ว 8 ปี ประเทศไทยก็ยังไม่มีข้อมูลทางการสำหรับตัวชี้วัดที่ 16.10.1 “จำนวนคดีฆาตกรรม ลักพาตัว การถูกพราก การกักขังหน่วงเหนี่ยว การทรมานผู้สื่อข่าว บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสื่อ สหภาพทางการค้าและผู้ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา” ซึ่งใช้ในการประเมินสถานการณ์การคุกคามสื่อมวลชน และใช้สะท้อนว่าสื่อมวลชนในประเทศนั้นมีเสรีภาพที่จะทำงานสื่อสารได้อย่างปลอดภัย มีอิสระทางความคิดมากน้อยเพียงใด  เมื่อไม่มีข้อมูลในระดับทางการ การพึ่งพาข้อมูลจากหน่วยงานภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน จึงเป็นทางเลือกเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา https://data.unescap.org/data-analysis/country-sdg-profiles  

หากพิจารณาจากสถานการณ์ภายในประเทศ กรณีที่สะท้อนความความน่ากังวลของเสรีภาพสื่อมวลชนไทยส่วนมากมักกระจุกอยู่ที่การติดตาม ตรวจสอบ และตีแผ่การพัฒนาหรือไม่พัฒนาของภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นถึงการเล่นบทบาทนี้ของสื่อไทย เช่นการนำเสนอข่าวโครงการกำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) จนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการกดดันภาครัฐให้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2566 ต่อมาในภายหลัง

อย่างไรก็ดี การแสดงบทบาทดังกล่าว หลายครั้งก็นำมาซึ่งการฟ้องร้องสื่อ เช่นกรณี ‘คดีบริษัทเหมืองของคนไทยในเมียนมาฟ้องร้องบรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมหรือกรีนนิวส์ เมื่อปี 2563’ จากการที่บรรณาธิการคนดังกล่าวรายงานข่าว “ศาลพม่าสั่งบริษัทเหมืองแร่ไทยชดใช้ชาวบ้านทวาย 2.4 ล้านบาท เหตุเหมืองดีบุกทำสิ่งแวดล้อมพัง” ผ่านเฟซบุ๊กกลุ่มสาธารณะ จนต่อมาถูกบริษัทเหมืองแร่ที่ถูกเอ่ยถึง แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แม้ล่าสุดศาลจังหวัดนครปฐมมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้ความเห็นว่าการโพสต์ข้อความของบรรณาธิการคนดังกล่าวว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ตามปกติวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำได้ แต่ก็ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีต้นทุนที่ต้องเสีย ทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายและต้นทุนเรื่องเวลา ทั้งยังอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจและความเครียดสะสมจากภาระผูกพันของการดำเนินคดีด้วย 

อีกกรณีที่คำพิพากษายกฟ้องออกมาในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือกรณีบริษัทฟาร์มไก่ในจังหวัดลพบุรีฟ้องอดีตนักข่าววอยซ์ทีวี แผนกข่าวต่างประเทศ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากกรณีรีทวีตแจ้งข่าวคำพิพากษาของศาลสูงสุดที่ส่งผลให้บริษัทดังกล่าวต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่แรงงานชาวพม่าทั้ง 14 คน เป็นจำนวน 1.7 ล้านบาทเศษ โดยในข้อความดังกล่าวมีคำว่า “กรณีใช้แรงงานทาส” ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าข้อความดังกล่าวเป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์อันเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ขณะที่ศาลฎีกา มีความเห็นว่าการโพสต์ข้อความของนักข่าวคนดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การพิจารณาโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีอคติ หรือนำเสนอข่าวเพื่อให้มีอำนาจเหนือโจทก์ จุดมุ่งหวังเพื่อที่จะขายข่าวเอาประโยชน์ใส่ตน และนายจ้าง จึงฟังไม่ได้ว่า เป็นการกระทำโดยทุจริตตามที่โจทก์ตีความ [2]

จะเห็นได้ว่าทั้งกรณีของอดีตบรรณาธิการกรีนนิวส์และอดีตนักข่าววอยซ์ทีวี ประเด็นที่ทั้งสองตีแผ่เผยแพร่มีความเกี่ยวข้องกับ SDGs กล่าวคือกรณีของอดีตบรรณาธิการกรีนนิวส์เกี่ยวข้องกับ SDG12 ‘การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน’ และ SDG15 ‘ระบบนิเวศบนบก’ ขณะที่กรณีของอดีตนักข่าววอยซ์ทีวีเกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG8 ‘งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ’ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของสื่อสารมวลชนเช่นนี้จึงกระทบต่อการติดตาม ตรวจสอบ และตีแผ่ประเด็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนซึ่งคุกคามผู้คนและสิ่งแวดล้อม สภาวะเช่นนี้สะท้อนภาพจริงที่เห็นได้ชัดว่า SDGs ในไทยกำลังเผชิญปัญหาอะไร และไม่สามารถขยับต่อได้อย่างไร 

ทั้งนี้ หากพิจารณาเพิ่มเติมผ่านรายงานข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี จัดทำโดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เผยแพร่เมื่อปี 2562 จะพบว่าภาพรวมและประเด็นน่าสนใจของการฟ้อง SLAPPs ในไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือจำกัดเสรีภาพสื่อที่สำคัญ มีดังนี้ 

  • กรณีที่เข้าข่ายเป็น SLAPPs ระหว่างปี 2540 – 2562 (ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม) มีมากถึง 212 กรณี แบ่งเป็นการดำเนินคดีแพ่ง 9 กรณี คดีแพ่งและอาญา 7 กรณี และคดีอาญา 196 กรณี
  • กลุ่มเป้าหมายของการของการฟ้อง SLAPPs มากที่สุด 5 กลุ่มแรก ได้แก่ นักกิจกรรมทางการเมือง (27%) กลุ่มชาวบ้านและแรงงาน (23%) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (16%) อาสาสมัครทางการเมือง (12%) สื่อมวลชน (9%)
  • การกระทำที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องคดี SLAPPs มากที่สุด 10 อันดับแรก คือ การเผยแพร่ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ (25.47%) รองลงมาคือการชุมนุมสาธารณะ (15.09%) การ จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ (กิจกรรมล้อเลียน ดนตรี ละคร ชูป้าย เดิน เป็นต้น) (12.73%) การทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงาน (8.01%) การให้สัมภาษณ์หรือเขียนบทความเผยแพร่ทางสื่อ (5.66%) การชุมนุมหรือจัดกิจกรรมในพื้นที่โครงการ (5.66%) การเผยแพร่ข่าวหรือบทความในสำนักข่าวออนไลน์ (3.77%) การแจกเอกสาร (3.77%) การแถลงข่าวหรือแถลงการณ์ (3.30%) การเข้าไปในพื้นที่ดำเนินโครงการเพื่อตรวจสอบ (3.30%) ตามลำดับ
  • ประเด็นที่มีการฟ้องร้องมากที่สุดคือประเด็นเกี่ยวกับการปกครอง (ความชอบธรรมของรัฐบาล การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญและการออกกฎหมาย) (39.13 %) รองลงมาคือประเด็นสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (เหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า) (32.07 %) ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ กระบวนการยุติธรรมและการตัดสินคดีของศาล (12.26%) ประเด็นการทุจริต (5.66%) ประเด็นแรงงาน (5.18%) ประเด็นสาธารณสุขและการแพทย์ (2.35%) ประเด็นพลังงาน (2.35%) และประเด็นอื่น ๆ (0.94%)

บทสรุป: ปลดแอก SLAPPs ให้สื่อไทยพูดเรื่อง SDGs ได้ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง 

กล่าวได้ว่าการจะขยับเคลื่อน SDGs จำเป็นต้องอาศัยสื่อเป็นกลไกหรือพลวัตหนึ่ง โดยบทบาทการติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสียงถึงความไม่เป็นธรรมและความไม่ยั่งยืนของนโยบายหรือโครงการต่าง ๆ นั้นเป็นบทบาทที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบรรลุ SDGs เพราะเป็นหนทางที่จะช่วยหนุนเสริมให้การพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ SDGs สามารถถูกสนทนาบนโต๊ะสาธารณะ ไม่ซ้อนเร้น คนทั่วไปหรือหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเป้าหมายต่าง ๆ ของ SDGs สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้

สำหรับประเทศไทย แม้สื่อจะมีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่ในทางปฏิบัติหลายครั้งก็ถูกจำกัดหรือลดทอนเสรีภาพโดยเฉพาะการใช้การฟ้อง SLAPPs โดยภาคเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการตีแผ่หรือวิพากษ์วิจารณ์ แม้ต่อมาจะถูกยกฟ้องเพราะศาลเห็นว่าเป็นการติชมที่อยู่ในวิสัยอันกระทำได้ของประชาชนทั่วไป แต่กว่าจะถึงขั้นตอนนั้นคนทำงานสื่อที่ถูกฟ้องร้องก็ต้องเผชิญกับต้นทุนค่าใช้จ่ายและการเสียเวลาไป

การจะขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs จึงจำเป็นต้องสนใจแก้ไขประเด็นเสรีภาพสื่อ ข้อเสนอที่น่าสนใจของ เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และในฐานะนักวิชาการอิสระที่ศึกษาประเด็นนี้ ระบุถึงการจัดการฟ้อง SLAPPs ว่า “มาตรการที่เหมาะสมเพื่อจัดการกับคดี SLAPPs คือต้องทำให้คดี SLAPPs ไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่แรก หรือเมื่อศาลเห็นว่าคดีดังกล่าวมีลักษณะ SLAPPs ศาลจำต้องมีกระบวนการพิจารณาพิเศษเพื่อให้คดีหลุดออกไปจากกระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งยังต้องกำหนดเงื่อนไขต่อผู้ฟ้องคดี เช่น ห้ามฟ้องซ้ำ รวมทั้งศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษต่อผู้ฟ้องคดีปิดปาก สำหรับในแง่ของการออกกกฎหมายหรือมาตรการป้องกันการฟ้อง SLAPPs อย่างเดียวอาจจะไม่ทันท่วงที เพราะฉะนั้นจึงควรใช้แนวทางอื่นควบคู่กัน เช่น การกดดันเชิงนโยบายหรือกระบวนการมาตรการทางการค้าเพื่อลงโทษ (trade sanctions)  ทั้งนี้การกดดันจากประเทศคู่ค้าจะส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจมหาศาลต่อตัวบริษัทที่ฟ้อง SLAPPs ได้เหมือนกัน [3]

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | บทบาทของสื่อมวลชนต่อ SDGs ในวันที่ข่าวสารข้อเท็จจริงปะปนกับการบิดเบือน และเสรีภาพของสื่อถูกคุกคาม
เดินไปพร้อมกัน ! เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะคืบหน้าก็ต่อเมื่อประชาชนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
SDG Insights | 1 ปีของการสื่อสารเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน: ถอดบทเรียนจากการทำงาน
จับตารัฐสภาผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. สื่อ หลายองค์กรสื่อยืนกรานค้าน-ระบุว่าเป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพการนำเสนอข่าว

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง

– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

อ้างอิง:
[1] ปรมะ สตะเวทิน. (2539). การสื่อสารมวลชน :กระบวนการและทฤษฎี. หน้า 30-32.
[2] ประชาไท. (2565, 9 สิงหาคม). ศาลฎีกายกฟ้องคดี อดีตนักข่าววอยซ์ทวีตข่าวศาลสั่ง ‘ธรรมเกษตร’ จ่ายชดเชยแรงงาน เป็นการติชมสุจริต. https://prachatai.com/journal/2022/08/99958 
[3] ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ. (2566, 27 กุมภาพันธ์). นักวิชาการแนะเลิกหมิ่นฯทางอาญา ป้องกันฟ้องปิดปาก เผยนักปกป้องสิ่งแวดล้อมตกเป็นเป้าสูงหลายประเทศ. https://prachatai.com/journal/2023/02/102955

Last Updated on กรกฎาคม 22, 2023

Authors

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

  • Wijanee Sendang [Graphic designer]

    นักออกแบบนิเทศศิลป์

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น