SDG Insights | 1 ปีของการสื่อสารเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน: ถอดบทเรียนจากการทำงาน

แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการคาดหวังให้มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี โดยคำนึงถึงมิติการพัฒนาอย่างรอบด้านตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น กระบวนการพัฒนาจะต้องรวมคนทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและกลุ่มเปราะบางเข้ามาร่วมในกระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น “การสื่อสาร” จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ ที่จะช่วยสร้างพื้นที่เพื่อการเข้าถึงข้อมูลอย่างรอบด้าน สร้างการตระหนักรู้และเข้าอกเข้าใจผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงสร้างการรับรู้เพื่อดึงทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาต่อไป

1 ปี ที่ผ่านมาของการสื่อสารองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการ SDG Watch ผ่านใต้ความร่วมมือของศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ได้พยายามทำหน้าที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่การสื่อสาร และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ข้อมูล แนวคิด บทเรียน และประสบการณ์จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อปักหมุดการตระหนักรับรู้ของสังคมไทยให้เห็นความสำคัญ และประสานให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

SDG Insight ฉบับนี้ จึงถือโอกาสที่จะครบรอบ 1 ปี ของการทำงานสื่อสารองค์ความรู้ด้าน SDGs เชิญชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมกันจับกระแส สำรวจความท้าทาย และถอดบทเรียนจากมุมมองของผู้ทำงานด้านการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Watch ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตและสื่อสารเนื้อหาต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่การวางแผนการจัดการสื่อสาร การรวบรวมข่าวสารและแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ สรุป และเรียบเรียงเป็นตัวหนังสือและภาพเพื่อถ่ายทอดให้ผู้อ่านทุกท่านเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญและซับซ้อนได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น


ภาพรวมของการสื่อสาร SDGs ตลอด 1 ปี
| พิมพ์นารา  อินต๊ะประเสริฐ

ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราเห็นความพยายามที่จะเชื้อชวนให้ทุกฝ่ายนำเอา SDGs เข้ามาเป็นหมุดหมายการพัฒนาทั้งในระดับประเทศ องค์กร ชุมชน หรือกระทั่งในระดับบุคคล ทว่ากระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกระบวนการขับเคลื่อนที่ทำอย่างเป็นระบบตั้งแต่สร้างการรับรู้ (Awareness) การเสริมศักยภาพ (Capacity Building) โดยเฉพาะในมิติของการสร้างและสื่อสารความรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคส่วน ตลอดจนกระบวนการติดตาม ประเมินผล การสื่อสารความรู้ (knowledge communication) เป็นหนึ่งในกระบวนการที่จะผลักดันให้เกิดทั้งการรับรู้ และกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรู้ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเราได้ริเริ่มการสื่อสารองค์ความรู้ งานวิจัย ข้อคิดเห็นและติดตามสถานการณ์ ปรากฏการณ์ ที่เกี่ยวข้อง หรือส่งผลกระทบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะประเทศไทย โดยมีข้อสังเกต ดังนี้

01. ความต้องการความรู้มากขึ้น ทั้งในระดับพื้นฐานและความรู้เฉพาะกลุ่ม แต่ผู้เล่นที่ผลิต-สื่อสารความรู้อย่างจริงจัง สม่ำเสมอนั้นยังต้องการการเติมเต็ม
ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการเราเห็นพฤติกรรมการสืบค้น การเสาะหาเพื่อเข้าถึงความรู้การพัฒนาที่ยั่งยืนที่มากขึ้น ทั้งที่สะท้อนจากจำนวนการเข้าถึงผ่านทางเว็บไซต์ sdgmove.com ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร เพื่อเข้าถึงความรู้ในหมวดหมู่พื้นฐานเกี่ยวกับ SDGs รวมถึงการสอบถาม หรือส่งจดหมายหารือโดยตรงมายังศูนย์วิจัยฯ เพื่อหารือและเข้าถึงความรู้ในเชิงลึก มีลักษณะเฉพาะเจาะจงด้วยความคาดหวังที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาสู่การปฏิบัติ อีกทั้งยังมีตัวแทนจากภาคส่วนที่หลากหลายทั้งจากหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงความตื่นตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นำมาสู่ความต้องการความรู้ ทว่า ผู้เล่นที่เข้ามาผลิตความรู้ และสื่อสารสู่สาธารณะอย่างจริงจัง สม่ำเสมอนั้นมีน้อยราย และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเข้าถึงความรู้ในระดับที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้มีลักษณะเป็น “คอขวด”

02. ข้อมูลพื้นฐานบางประการที่จำเป็นต่อการสื่อสารในประเทศไทยหลายส่วนยังขาดความเป็นเอกภาพ ไม่เป็นปัจจุบัน
ในเชิงโครงสร้างการขับเคลื่อน SDGs ระดับประเทศ นับว่าไทยมีความตื่นตัวและจัดตั้งคณะทำงานในชื่อ คณะกรรมการเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) มีคณะอนุกรรมการที่มีบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ รองรับตามแผนการขับเคลื่อน Thailand’s SDGs Road map อย่างครบถ้วน ซึ่งระบุถึงการสร้างการตระหนักรู้ ให้เป็นหนึ่งในกระบวนการของแผนนั้น

โดยปัจุบันพบว่าประเทศไทยมีช่องทางการสื่อสารการขับเคลื่อน SDGs ในระดับทางการจากหน่วยงานรัฐผ่านเว็บไซต์ https://sdgs.nesdc.go.th/ ที่รวบรวมเอารายงาน เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประชุมของ กพย. ผลงานการนำ SDGs ไปปฏิบัติเชิงพื้นที่ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายย่อย ตัวชี้วัดในรูปแบบภาษาไทย ทว่า ข้อมูลที่มีอยู่นั้นหลายส่วนไม่เป็นปัจจุบัน และไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ได้โดยง่าย เช่น

  • ชื่อตัวชี้วัด (Indicators) ที่ทำการแปลเอาไว้ในเว็บไซต์นั้น แม้ว่าจะมีการปรับให้อยู่ในรูปแบบที่ประเทศไทยมีข้อมูล สามารถรายงานได้ แต่ก็มิได้เพิ่มเติม หรือชี้แจ้งเกี่ยวกับตัวชี้วัดจากระดับโลกที่เพิ่มเติมขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนต่อผู้ใช้งาน
  • นอกจากนี้ข้อมูลข้างต้นไม่ได้ถูกจัดทำให้อยู่ในรูปที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้โดยง่าย กล่าวคือ มิได้จัดทำให้อยู่ในรูปแบบไฟล์สำหรับเผยแพร่ ทั้ง PDF หรือไฟล์แก้ไขอื่น ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันการใช้ถ้อยคำ ชื่อเรียกเป้าหมาย เป้าหมายย่อย ตัวชี้วัด ภาษาไทยของหน่วยงานต่าง ๆ กระทั่งหน่วยงานรัฐด้วยการเองยังขาดความเป็นเอกภาพ  แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ แต่ก็สร้างความสับสนสำหรับผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะผู้ทำงานเกี่ยวกับการสื่อสาร

03. การทำให้ SDGs เข้าใจ เข้าถึงง่าย นับเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก

การสื่อสาร SDGs ต่อบุคคลทั่วไปมักถูกคาดหวังให้เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ทว่านั่นตรงข้ามกับลักษณะโครงสร้างของ SDGs ที่ถูกออกแบบให้เป็นเครื่องมือติดตามประเมินผล และสามารถใช้ในเชิงนโยบายได้ อีกทั้งการนำเสนอความรู้ในระดับพื้นฐานแต่เพียงผิวเผิน มักนำมาสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และอันตรายสำหรับผู้นำไปปฏิบัติ ดังนั้นแล้ว ในฐานะคณะทำงานเห็นว่าสำคัญอย่างยิ่งที่จะผลิตและสื่อสาร SDGs ให้ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ควรมุ่งไปที่การกระตุ้นเพื่อให้เกิดความอยากที่จะศึกษา เข้าถึงเพิ่มเติม หรือชี้ให้เห็นประโยชน์ มากไปกว่าการนำเสนอเพียงว่า SDGs คืออะไร เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เป้าหมายระดับโลกนี้ก็จะกลายเป็นเพียงกระแสนิยมที่ทำให้ทุกคนต้องท่องจำเสียเท่านั้น

อีกประการหนึ่ง ด้วยสถานการณ์ทางสังคมและความรวดเร็วเทคโนโลยีการสื่อสาร นับได้ว่าประชาชนมีความสนใจและให้ความสำคัญกับความเป็นไป สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม และโลกมากในเชิงโครงสร้าง ที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม เช่นนั้นแล้ว การเคารพในความสามารถ ความสนใจของผู้รับสารก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ผลิต สื่อสารความรู้ควรตระหนัก

04. กระบวนการขับเคลื่อนไม่ใช่เส้นตรง แต่เป็นวงรอบที่ส่งผลถึงกันแบบกลับไปกลับมา ไม่ต้องรอให้ทั้งสังคมรับรู้ก็ถึงเวลาต้องขับเคลื่อนงานส่วนอื่นควบคู่กันไป

แน่นอนว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลง หรือขับเคลื่อนทางสังคมที่ประชาชนตื่นตัว มีความรับรู้ ตระหนักรู้ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนจะทำให้บันไดเกิดการขับเคลื่อนขั้นต่อไปเป็นไปได้โดยง่าย ทว่าในทางปฏิบัติ ไม่ว่าการขับเคลื่อน SDGs หรือประเด็นอื่น ๆ มิได้มีลักษณะเป็นเส้นตรงที่จะต้องทำทีละขั้นตอน หรือรอให้สังคมเกิดการรับรู้ก่อนแล้วค่อยเริ่มดำเนินกานส่วนถัดไป เพราะการรับรู้ของสังคมนั้นเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงขณะของการขับเคลื่อน กล่าวคือ การรับรู้นำไปสู่การผลักดัน ปฏิบัติ ขณะเดียวกันการผลักดัน/ปฏิบัติ ก็ทำให้เกิดการรับรู้ของสังคมได้ด้วยเช่นกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราไม่จำเป็นต้องรอให้สังคมรับรู้จนพร้อมเพียง แต่สภาพแวดล้อมที่มีข้อมูล ความรู้ และการปฏิบัติเชิงประจักษ์จะทำให้ประชาชนเกิดกับซึมซับ ตริตรอง มีส่วนร่วมไปเอง

การเดินทางสู่ปีที่ 6 หรือเกือบครึ่งทางของวาระการพัฒนาสหประชาชาติ ประกอบกับความเสี่ยง ปัญหาที่มวลมนุษยชาติเผชิญนับได้ว่าเป็นจุดที่สุกงอมมากเกินกว่าจะรอให้ทุกคนตระหนักรู้ แต่ต้องมุ่งเน้นให้กลุ่มคนที่มีบทบาท (Key player) ทั้งผู้ผลิตความรู้ ผู้ใช้ความรู้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้เป็นสำคัญ

อ่านงานเขียนของพิมพ์นารา เพิ่มเติม


สำรวจเทรนด์และความท้าทายในการสื่อสาร
| ถิรพร สิงห์ลอ

หากพูดถึงเทรนด์ SDGs ใน 1 ปีที่ผ่านมานี้ คำแรกต้องเป็น ผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อ จุด จุด จุด เป็นองค์ประกอบหลักแรกที่เจอในแทบทุกข่าวสารและรายงานตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี เราพบว่ามันเผยถึงปัญหาที่มีอยู่เดิมแทบจะทุกวงการให้เห็นชัดขึ้น ซ้ำยังเพิ่มความเข้มข้นหรือรุนแรงเข้าไปเติมไฟอีก เพราะฉะนั้น ที่ย้ำบอกกันว่าจะต้องฟื้นฟูกลับมาให้ได้อย่างไร ก็ถูกแล้วที่จะต้องโฟกัสในจุดนั้น เพราะเป็นงานหินทีเดียวที่จะต้องจัดการทั้งกับตัวปัญหาเดิมรวมถึงผลกระทบหรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับทุกกลุ่มประชากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นหนึ่ง ๆโดยที่ทุกประเทศเจอชะตากรรมนี้เดียวกันหมด (เสริมเข้าไปกับความท้าทายตามที่แต่ละบริบทของประเทศเผชิญ) แต่สกิลการรับมือไม่เท่ากันแน่นอน และนั่นทำให้ต้องไปดูศักยภาพ นโยบาย หรือกระทั่งวิธีการมองปัญหาและการรับรู้เรื่องในโลกของแต่ละประเทศว่า จะพาไปสู่การเดินหน้าหรือถอยหลังลงคลอง ในจุดนี้ไม่พ้นการผนวกหลักการ SDGs เข้าไปในวิธีคิดและการดำเนินการด้วย ในเมื่อเทรนด์ของโลกโปรโมทเป้าหมายการพัฒนานี้อย่างแข็งขัน จุดนี้เข้าใจว่าเป็นอะไรที่ผู้อ่านเองน่าจะรับรู้ร่วมกันถึงเทรนด์ SDGs ในปีนี้

นอกจากนั้น หลายเรื่องในปี 2564 พอเรา watch จะเห็นว่าทุกอย่างก็สำคัญไปหมดทั้ง 5P ที่โดดเด่นขึ้นมาแน่นอนคือประเด็นเศรษฐกิจ อีกส่วนที่ชัดเจนคิดว่าเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หรือ P – Planet เพราะข่าวสารจากช่องทางที่ใช้ watch ประจำ ข่าวด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศนี่แหละที่มีให้ตามได้แทบทุกวัน คือเราไม่ต้องเร่งหาข่าวนี้เลยว่ามีความคืบหน้าหรือบทสนทนาในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะมันจะถาโถมเข้ามาเอง ซึ่งก็อนุมานได้ว่าเป็นสิ่งที่โลกกำลังจะบอกเรา และที่สำคัญคือผู้อ่านที่ติดตาม SDG Move ก็มีความสนใจหรือติดตามประเด็นสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศอยู่จำนวนไม่น้อย

| ข้อสังเกต/ความท้าทายต่อการผลิตเผยแพร่เนื้อหา

ใจอยากจะพูดว่า ‘ทุกอย่าง’ เป็นความท้าทายในการสื่อสารเรื่อง SDGs หนึ่ง เราเจอด่านที่ว่า SDGs ประกอบด้วยองค์ความรู้ที่หลากหลายตั้งแต่เป้าหมายที่ 1 ถึงเป้าหมายที่ 17 ด่านที่สอง คือ การติดตามความเป็นไปในหลายสเกล ระดับโลก ระดับประเทศ ระดับชุมชน ระดับปัจเจกบุคคล หรือ มองในแต่ละภาคส่วน (ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและวิชาการ) ด่านที่สาม คือ ความถนัดและความรู้ของผู้ถ่ายทอดเองว่าจะสามารถเรียบเรียงออกมาได้ถูกต้องและครบถ้วนตามข้อมูลทางวิชาการหรือไม่ ด่านที่สี่ คือ ‘จุดยืน’ ของเราที่ต้องทบทวนเสมอตอนคัดสรรเรื่องมาสื่อสาร และด่านที่ห้า ด่านสุดท้ายเป็นเรื่องของกระบวนการทำงานของผู้ที่ทำงานสื่อสารเอง หมายรวมถึงสไตล์การสื่อสาร ถ้อยคำภาษาที่ใช้ และความพยายามสื่อสารโดยตระหนักถึงผู้อ่านที่มีความสนใจที่หลากหลาย

ต้องเริ่มจากเล่าให้ฟังว่าสมาชิกของทีมมีความถนัดและความสนใจที่แตกต่างกัน แต่ละคนก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะหาเรื่องมาสื่อสารให้ได้ครบทั้ง 17 เป้าหมาย บางครั้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ SDGs โดยตรง คือตรงกับระดับเป้าหมายและที่เขียนในเป้าประสงค์ แต่บางเรื่องก็ตรงกับหลักการ เพียงแต่ไม่ปรากฏตามตัวหนังสือของเป้าประสงค์ ไม่ว่าจะอย่างไรเราตีคลุมว่าเกี่ยวข้องแล้วเชื่อมโยง ใส่เป้าหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเกี่ยวข้องรองลงมาในข่าวเอาไว้ให้ผู้อ่านได้เห็นว่า มาอ่านข่าวนี้ในประเด็นนี้จะเจอว่ากำลังพูดถึง SDGs เรื่องอะไรหรือหลักการอะไร จุดนี้เป็นความพยายามทำให้แตกต่างและเป็นจุดขายของงานสื่อสาร SDGs ไม่เพียงแต่เพื่อประโยชน์ของผู้รับสารเท่านั้น แต่ความพยายามทำมาพร้อมกับการผลักดันให้ผู้ที่ถ่ายทอดออกสำรวจประเด็นอื่นที่นอกเหนือจากความถนัดของตนเอง และเรียนรู้เรื่อง SDGs ไปพร้อมกันด้วย

หากพูดโดยรวมของกระบวนการคิดและทำอย่างเป็นกิจวัตร ในการเขียนข่าวหรือบทความหนึ่งชิ้นก็จะต้องใช้เวลาเลือกสรรเรื่อง ประเมินความเชื่อมโยงของเป้าหมาย ทำความเข้าใจเนื้อหาด้วยตัวเองก่อน รวมถึงการตรวจสอบการใช้ภาษาหากเป็นคำเฉพาะ แปลและเรียบเรียงออกมาใหม่ให้เข้าใจง่ายมากที่สุด ไปจนถึงการวางขอบเขตเนื้อหาของงานชิ้นที่ใหญ่ขึ้นเพื่อส่งต่อให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญช่วยอธิบายประเด็นที่มีความซับซ้อนให้ชัดแจ้งขึ้น

ความท้าทายในกระบวนการที่ว่านี้ มีอีกจุดสำคัญคือการตรวจสอบจุดยืนในการสื่อสาร ใน 1 ปีนี้ คำถามที่ถามกันเสมอคือ เราเป็นใครในการสื่อสารเรื่องนี้ ก่อนจะถามว่าเราควรจะสื่อสารอย่างไร เพราะทีมผู้สื่อสารไม่ใช่นักวิจัยหรือนักวิชาการเสียทีเดียว และไม่ใช่นักข่าวตามสำนักข่าว เคยตั้งคำถามให้ตัวเองหัวเราะเล่นว่า หรือฉันเป็นโฆษก UN เพราะใช้แหล่งข้อมูลของ UN เยอะมาก ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่ สุดท้ายเราคงเป็นทุกอย่าง เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นลูกผสมของงานเขียนที่หนักและผ่อนคลาย เช่น การเล่าองค์ความรู้ผ่านงานวิจัย เล่าเทรนด์ผ่านโพลสำรวจ เล่าความก้าวหน้าในระดับโลกผ่านรายงาน ใครเขาทำอะไรที่ไหน นำหลักการ SDGs มาผนวกในการทำงานของตนเองอย่างไร หยิบข่าวการลงมือทำเอามาเล่าเป็น SDGs in Action นั่งคัด ‘คำ’ ที่มองว่าจะเป็นภาพแทนของเป้าหมายต่าง ๆ ปั้นออกมาให้เป็น SDG Vocab อะไรแบบนี้ เพราะหลาย ๆ ประเด็นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวอยู่แล้วแต่คนอาจจะเข้าใจว่า SDGs เป็นเนื้อหาที่ไกลตัวเกินไป เพราะฉะนั้น ในภายภาคหน้า ทีมงานผู้ผลิตองค์ความรู้ก็จะพยายามสรรหาไอเดียมาต่อเติมความครบถ้วนของอรรถรสในการอ่านมากขึ้น เรียกว่าพยายามเอาตาข่ายเหวี่ยงออกไปจับทั้งปลาเล็กและปลาใหญ่ให้ได้เยอะไว้ก่อน

สำหรับปีนี้ ถือเป็นปีแห่งการทดลองของคนทำงานการสื่อสารด้าน SDGs ที่อาจจะยังไม่มีใครทำอย่างจริงจังมาก่อน อย่างน้อยในระยะแรกนี้ ผู้อ่านก็มีช่องทางของ SDG Move ไว้ติดตามข่าวสาร ความรู้ หรือกระทั่งไอเดียใหม่ ๆ ไว้ค่อย ๆ เรียนรู้และซึมซับหลักการของ SDGs ไปในตัว (จนอาจจะไปโผล่ผ่านทางความคิดหรือพฤติกรรมโดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้) ขณะเดียวกัน หวังว่าความตั้งใจที่จะเล่าผ่านตัวหนังสือให้ได้อ่าน อาจจะได้ชวนผู้อ่านให้ได้ขบคิด เห็นด้วย เถียงกลับ รวมถึงว่าสามารถหยิบเนื้อหาเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อได้

เพราะหน้าที่การสื่อสารองค์ความรู้ SDGs ไม่มีวันหมดอายุ ทีมงานผู้ผลิตองค์ความรู้จะต้องพัฒนาวิธีการสื่อสาร หาวิธีการวัดความต้องการอ่านและความต้องการนำไปใช้งานต่อไป เพื่อให้ทำหน้าที่บริการองค์ความรู้ได้ดีขึ้น

อ่านงานเขียนของถิรพร เพิ่มเติม


สำรวจเทรนด์และความท้าทายในการสื่อสาร
| เนตรธิดาร์ บุนนาค

ผ่านมา 6 ปีแล้วที่โลกมีสิ่งที่เรียกว่า SDGs แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า (ในบางครั้ง) ถ้าคุณไม่ได้อยุ่ในวงวิชาการ วงทำงานภาครัฐ หรือวงเอกชนในตำแหน่งที่ต้องคิดเรื่องจับเทรนด์โลกแล้ว อาจจะไม่เคยได้ยินคนพูดถึงคำว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “SDGs” โดยรู้จริง ๆ ว่ามันคืออะไรก็ได้ (ปีนี้อาจจะรู้มากขึ้นเพราะได้ศิลปินเกาหลีช่วยเป็นกระบอกเสียง) งานส่วนสื่อสารความรู้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของ SDG Move ตรงนี้ มีความพยายามตั้งต้น คือ กระจายเสียงเรื่องนี้ให้ออกไปทั้งในทางกว้างและในทางลึกให้ได้มากที่สุดเท่าที่ระบบอัลกอรึทึมของโซเชียลเน็ตเวิร์กจะเอื้ออำนวย โดยหวังให้ SDGs กลายเป็นคำที่คุ้นหูให้ได้สักที

| การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้มีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม

แน่ใจมากว่าทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่า ‘ยั่งยืน’ เพราะเป็นคำที่ฮิต (แม้กระทั่งในวิสัยทัศน์ของ คสช.) และคิดว่ามีความเข้าใจคอนเซปต์คำว่า ‘ยั่งยืน’ กันมาไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเข้าใจในมิติใดก็ตาม แต่ประเด็นการนำเสนอเรื่องความยั่งยืนในพื้นที่สื่อหรืออื่น ๆ เทไปในมิติด้านสิ่งแวดล้อม จนอาจทำให้ความคิดแรกของหลายคนเมื่อพูดถึง การพัฒนาที่ยั่งยืน คือยั่งยืนเพราะไม่ทำลายธรรมชาติ ซึ่งไม่ผิด แต่ไม่ถูกทั้งหมด

อาจเป็นเพราะความวิตกกังวลถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกไม่มีใครไม่รู้จัก Greta Thunberg หน้าหนึ่งประจำวันของสำนักข่าวต่างประเทศจะต้องปรากฏประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงทำให้ทุกครั้งที่ทีมงานลงคอนเทนต์สื่อสารเรื่อง Climate Change และประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนเพจอย่างคาดการณ์ได้เสมอ

ด้วยเหตุนี้ ความตั้งใจหลักอย่างหนึ่งของงานสื่อสารการพัฒนาที่ยั่งยืนของ SDG Move คือ ต้องผลักการรับรู้ของผู้อ่านบนโลกอินเทอร์เน็ตให้ก้าวเข้าขอบเขตความยั่งยืนในอีกสองมิติที่เกี่ยวข้องด้วย นั่นคือ เศรษฐกิจ และ สังคม เพราะ ‘สื่อสีเขียว’ ในปัจจุบันมีตัวเลือกให้รับสารหลากหลายมากมาย ที่ผ่านมาเราจึงได้พยายามนำเสนอเนื้อหาของความยั่งยืนให้ครบทุกมิติ โดยบางครั้งอาศัยประเด็น Climate Change มาดึงความสนใจแล้วแตกแขนงเนื้อหาออกไปให้ผู้อ่านได้เห็นความเชื่อมโยงในมิติที่อาจคาดไม่ถึงจากเพียงจุดเริ่มต้นความกังวลว่าโลกจะพัง มันจะส่งผลต่อทุกคนอย่างไร โดยไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเป็นคนรักสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่ต้องรู้

| ความยาว ความยาก ความง่าย ประเด็นที่ถกเถียงเมื่อต้องสื่อสาร

เมื่อต้องนำเสนอประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ครบทั้งสามเสาหลักของ SDGs ความท้าทายหลักที่คนทำงานเจอ คือ SDGs เป็นเรื่องใหญ่ มีความเป็นองค์รวม (รวมทุกเรื่อง) และเป็นเรื่องระยะยาว ยากที่จะกลั่นกรองให้เป็นข้อความที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองคนธรรมดาแล้ว คำว่า “วาระการพัฒนา” “เป้าหมายระดับโลก” “องค์การสหประชาชาติ” ช่างดูยิ่งใหญ่ไกลตัว และคล้ายจะเป็นเรื่องของระบบการเมืองและเศรษฐกิจเสียมากกว่าที่คนตัวเล็ก ๆ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงการพัฒนาอะไรได้

คำถามสำคัญของงานสื่อสาร คือ ทำอย่างไรให้คนสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ? ส่วนตัวคิดว่า คนจะสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องชีวิตของเรา เป็นงานของเรา เป็นสุขภาพของเรา เป็นเรื่องเงินทองของเรา และเป็นอนาคตของเรา เป็นอะไรที่จับต้องได้และเป็นรูปธรรม เป็นอะไรที่มีความเป็นมนุษย์ไม่ใช่เพียงแค่แผนงาน/โครงการ/วิสัยทัศน์/วาระ เพราะฉะนั้น คอนเทนต์ที่นำเสนอในแบบที่ใกล้ตัวผู้อ่านมากขึ้น ที่ทำให้เห็นการลงมือทำจริง เป็นเรื่องที่ในวันนี้หรือในอนาคตอันใกล้เราจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ และอ่านสนุก เป็นไอเดียตั้งต้นให้เกิดคอลัมน์ที่สามารถดึงผู้อ่านหน้าใหม่หรือกลุ่มผู้อ่านทั่วไปได้ดี เช่น SDGs in Action ที่เห็นเลยว่าใครทำอะไรแล้วบ้าง , SDG Recommends ที่เสนอสื่อน่าสนใจในประเด็น SDGs หรือตั้งต้นเพียงแค่กางคำศัพท์แล้วมานั่งอธิบายว่าทำไมมันอยู่ในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน SDG Vocab/SDG 101 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าสนใจในตลอดหนึ่งปีในงานสื่อสารการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น แม้ต้องยอมรับว่าเมื่อตั้งต้นเป็นตัวแทน ‘คนธรรมดา’ ในวงการวิชาการเรื่องการพัฒนาแล้ว ก็อยากจะทำคอนเทนต์ให้ย่อยง่ายที่สุดเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้จริง รวมไปถึงความกดดันในการทำงานเขียนออนไลน์ที่ต้องดึงคนให้หยุดอ่านให้ได้บนกระแสธารของโพสต์มหาศาล แต่หลายเรื่องต้องยาก การอธิบายให้ง่ายเกินไปอาจทำให้การสื่อสารผิดพลาดหรือตกหล่น ไม่ครบถ้วน เพราะอย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นซับซ้อนและเชื่อมโยงกันไปหมด เกินกว่าที่จะให้ทำตามคัมภีร์คอนเทนต์การตลาดที่ต้องอ่านให้จบภายในเวลานาทีเท่านี้ แต่ผู้อ่านให้ความสนใจบทความขนาดยาวเสมอ จะเห็นได้ทุกครั้งเมื่อมีการเผยแพร่งานเขียนที่เป็นบทวิเคราะห์หนัก ๆ จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา กลายเป็นว่าความกังวลว่า ยาวไปไม่อ่าน นั้นอาจคิดไปเอง อาจเพราะว่าบทความดังกล่าวได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้ผู้อ่าน มีพื้นที่มากพอให้บรรยายความสำคัญ ความเชื่อมโยงของประเด็นที่พบเห็นอยู่กับ SDGs ให้เห็นภาพได้ชัด นี่อาจเป็นอีกข้อค้นพบที่สำคัญว่า เมื่อความยาวของเนื้อหาเป็นเหตุเป็นผลกับเรื่องจะสื่อสาร ก็ไม่มีคำว่ายาวเกินไป

| สื่อสารที่ไม่ใช่แค่รายงาน

ส่วนนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘รูปแบบการนำเสนอ’ เรื่อง SDGs ในสื่อไทยจากตลอดหนึ่งปีของการค้นหาข่าวบนโลกออนไลน์ สิ่งที่ได้พบ คือ การพูดถึงความเคลื่อนไหวของการพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปแบบของการรายงานของ ‘คนใส่สูทบนเวที’ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาการทำรายงานความยั่งยืนของบริษัทยักษ์ใหญ่ หน่วยงานราชการรายงานผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เป้าหมาย ประกาศนโยบายเฉพาะองค์กร เหล่านี้ดูเป็นพื้นที่ของความทางการไปเสียทั้งหมด ไม่เห็นความเชื่อมโยงชัดเจนกับคนธรรมดาที่ทำงานประจำอย่างเรานัก ไม่ปฏิเสธว่าทั้งหมดคือความก้าวหน้าที่ทุกภาคส่วนของไทยกำลังพยายามทำงาน แต่การสื่อสารเช่นนี้ มองไม่เห็นความเชื่อมโยงในระดับใกล้ชิด เป็นเรื่องดีนะแต่.. “จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไรนะ ?” “จะทำให้ลูกหลานเรามีโลกที่ดีกว่าอยู่อย่างไรนะ ?” เมื่อข้อความห่างเหินเสียแต่ต้นก็ยากที่จะดึงผู้อ่านไว้ เมื่อไม่อ่านก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ขาดเสียงไปผลักดันนักการเมือง ไปตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐตามที่สัญญากับโลก จะว่าไปก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

สรุปว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา หากให้ถอดบทเรียนของการทำงานสื่อสารความรู้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของ SDG Move เราได้พยายามพาผู้อ่านไปเปิดโลกกับคอนเทนต์ที่ครอบคลุมครบทุกมิติความยั่งยืน ผ่านรูปแบบเนื้อหาที่หลากหลายและได้รับผลตอบรับที่น่าประทับใจจากผู้อ่าน ทั้งหมดนี้อยู่บนความตั้งใจดีของทีมงานทุกคนที่อยากให้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นได้กลายเป็นเรื่องของทุกคนได้จริง ๆ เสียที

อ่านงานเขียนของเนตรธิดาร์ เพิ่มเติม


จากเสียงสะท้อนทั้งหมดของคนทำงานด้านการสื่อสารองค์ความรู้ SDGs จะเห็นได้ว่ากระแส SDGs เป็นที่ได้รับความสนใจจากหลากหลายภาคส่วน ตั้งแต่หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปจนถึงบทเรียนจากการลงมือปฏิบัติในหลากหลายแง่มุม และในปีนี้ความเชื่อมโยงระหว่าง SDGs กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเป็นหัวข้อที่ได้รับการตอบรับและให้ความสำคัญจากผู้อ่านเป็นอย่างมาก อาจเนื่องด้วยเป็นเรื่องใกล้ตัวที่จับต้องได้ง่าย

นอกจากนั้น เราจะเห็นว่า การสื่อสารเรื่องที่สลับซับซ้อน ที่ครอบคลุมหลากหลายประเด็นอย่าง SDGs เป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะสร้างการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกและเข้าใจง่าย นั่นจึงเป็นประเด็นที่คณะผู้จัดการองค์ความรู้ต้องร่วมกันขบคิดและออกแบบแนวทางการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพอีกมากพอสมควร และในปีต่อ ๆ ไป SDG Move คาดหวังว่าเราจะยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดทั้งมวลของประเทศที่ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่ภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ธุรกิจ นักวิชาการ ภาคประชาสังคมและชุมชน และช่วยกระตุ้นให้ทุกท่านเข้ามาร่วมกันพัฒนาสังคม เพื่อการมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป


Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น