ทำความเข้าใจกับ ‘zero-waste’ ผ่านหนังสือ 5 เล่ม ที่จะช่วยให้การรู้จักจัดการขยะดียิ่งขึ้น

ปัจจุบัน โลกต้องเผชิญกับการฝังกลบขยะที่ล้นเมือง วิกฤตมลพิษจากขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลก และภาวะฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศวิทยา ด้วยนานาวิกฤตที่เกิดขึ้นล้วนแล้วเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเรามากกว่าที่เคย เพื่อสร้างแรงจูงใจและการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า SDG Recommends ฉบับนี้ ขอชวนผู้อ่านค้นพบแนวทางและวิธีการในการเริ่มต้นวิถีชีวิตแบบ ‘zero-waste’ ไปด้วยกัน ผ่านหนังสือทั้ง 5 เล่มที่ถูกคัดสรรมาแล้วว่าดีควรค่าแก่การอ่าน

เล่มที่ 1 – Mottainai Grandma
ผู้เขียน: Mariko Shinju

Mottainai Grandma แต่งโดย Mariko Shinju นักเขียนชาวญี่ปุ่น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความพยายามของเธอที่ต้องการสอนให้ลูกหลาน รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าไม่สิ้นเปลือง ผ่านหนังสือภาพที่ใช้ถ้อยคำเข้าใจง่าย พร้อมสอดแทรกคำสอนเรื่อง การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้รับประทานข้าวให้หมด การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ขณะแปรงฟัน เป็นต้น ผ่านการเน้นย้ำคำว่า Mottainai ซึ่งมีความหมายว่า “น่าเสียดาย” โดยพยายามให้ผู้ที่มีพฤติกรรมการบริโภคแบบสิ้นเปลืองได้ฉุกคิด กลับมาสำรวจตนเองว่าใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง เพื่อให้ทุกคนลดการเพิ่มขยะโดยไม่จำเป็น

เล่มที่ 2 – The Year Of Less
ผู้เขียน: Cait Flanders

หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกความทรงจำตลอด 2 ปีที่หยุดการชอปปิงของผู้เขียน โดยนำเสนอประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีชีวิตที่ลดความสิ้นเปลืองให้น้อยลง ตั้งแต่การค้นหาความสุขโดยไม่บริโภคสิ่งที่ไม่จำเป็นไปจนถึงการหันหลังให้กับวิธีการบรรเทา “ความเครียด” ที่มีราคาแพงและไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การชอปปิง การดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านเห็นคุณค่าของการบริโภคและช่วยกันลดขยะให้น้อยลง นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้ผู้อ่านหลุดพ้นจากวัฒนธรรมการบริโภคอย่างสิ้นเปลือง

เล่มที่ 3 – Goodbye, Things
ผู้เขียน: Fumio Sasaki

หนังสือจะพาคุณไปรู้จักกับคำว่า ‘minimalist’ หรือที่เรียกว่า “น้อยแต่มาก” ซึ่งได้อธิบายในแง่มุมที่ว่าเมื่อมีของน้อย เราก็ไม่ต้องเสียเวลาดูแลรักษาของมาก และยังใช้เวลาทำความสะอาดบ้านน้อยลง เพราะไม่ต้องโยกย้ายหรือยกของไปมา ซึ่งเมื่อเรามีวัตถุในครอบครองน้อย เราก็จะแบ่งใจไปให้สิ่งที่ไม่ใช่วัตถุได้มากขึ้น หรือเมื่อเราเลิกเอาวัตถุมาไว้ในครอบครองเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตนเอง เราก็จะได้เห็นว่าตัวตนจริง ๆ ของตนเองเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นแนวทางที่เรียบง่าย กระตุ้นให้ผู้อ่านนำหลักการเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวิถีชีวิตที่ใส่ใจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เล่มที่ 4 – The Uninhabitable Earth: Life After Warming
ผู้เขียน: David Wallace-Wells

เป็นหนังสือสารคดีปี 2562 โดย David Wallace-Wells เกี่ยวกับผลที่ตามมาของภาวะโลกร้อน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากบทความในนิตยสารนิวยอร์กเรื่อง “The Uninhabitable Earth” โดยหนังสือได้อธิบายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่อาจเลวร้ายขึ้นในอนาคตหากเรายังไม่ดำเนินการใด ๆ เช่น การขาดแคลนอาหาร วิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วโลก สงครามสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วมอย่างรุนแรง ความหายนะทางเศรษฐกิจ และนานาวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งหนังสือเล่มนี้พยายามที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและเปลี่ยนแปลงนิสัยประจำวันเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อโลก 

เล่มที่ 5  – Banish Clutter Forever: How The Toothbrush Principle Will Change Your Life
ผู้เขียน: Sheila Chandra

หนังสือเล่มนี้ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาของ “toothbrush principle” ซึ่งเป็นการสอนวิธีจัดบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่ว่าจะอยู่ในคฤหาสน์หรืออพาร์ทเมนต์หนึ่งห้องนอน หนังสือเล่มนี้จะสอนให้ผู้อ่านรู้วิธีจัดระเบียบโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้การจัดระเบียบเป็นเรื่องง่าย ซึ่งเมื่อใช้หลักการนี้ ผู้อ่านจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดควรทิ้งได้อย่างมั่นใจ ซึ่งช่วยให้เราทุกคนบอกลาวงจรของการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น หรือแม้แต่วิธีจัดตู้เสื้อผ้าอย่างไรให้ใช้ประโยชน์จากเสื้อผ้าที่มีอยู่ได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงวิธีทำงานจากที่บ้านอย่างไรให้ใช้พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนี่จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้พื้นที่ของคุณไม่จมอยู่ในกองขยะและสร้างพื้นที่ใหม่เพื่อใช้ชีวิตในฝันของคุณ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
รู้จัก SDG15 ผ่านลิสต์หนังสือภาษาอังกฤษที่คัดสรรโดย UN เนื้อหาอ่านสนุก เสริมความรู้ เหมาะกับเด็กอายุ 6-12 ปี
รู้จัก SDG16 เพื่อสร้างสังคมสงบสุข ผ่านลิสต์หนังสือภาษาอังกฤษที่คัดสรรโดย UN เนื้อหาอ่านสนุก เสริมความรู้ เหมาะกับเด็กอายุ 6-12 ปี
รู้จัก SDG17 เพื่อสร้างสังคมแห่งความร่วมมือ ผ่านลิสต์หนังสือภาษาอังกฤษที่คัดสรรโดย UN เนื้อหาอ่านสนุก เสริมความรู้ เหมาะกับเด็กอายุ 6-12 ปี
SDG Recommends | ‘World Wide Waste’ ซีรีส์ขยะโลก วิธีการจัดการ และไอเดียต่อยอดทางธุรกิจ 
 SDG Recommends | ดูสารคดีข่าวเรื่อง (ลด) ขยะอาหารใน 3 ตอน เก็บไว้เป็นไอเดียง่าย ๆ ให้ลองทำตาม 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.4)  เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชากรที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 256
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568

แหล่งที่มา:
5 Books To Kickstart Your Zero-Waste Lifestyle Journey- greenqueen
Goodbye, Things “ยิ่งเป็นเจ้าของวัตถุจำนวนน้อยเท่าไหร่ ใจเรายิ่งเบาขึ้นเป็นเท่าตัว” ? | THE MOMENTUM 
MOTTAINAI BAASAN หนังสือดีที่แนะนำ – Anone Club 
Banish Clutter Forever: How the Toothbrush Principle Will Change Your Life –  amazon

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กันยายน 13, 2023

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น