WHO อนุมัติใช้ “วัคซีนมาลาเรีย” ตัวที่สองสำหรับเด็ก มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกลง

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) อนุมัติคำแนะนำให้ใช้วัคซีนต้านมาลาเรียชนิดใหม่สำหรับเด็ก คือ “R21/Matrix-M” โดยมีราคาที่ถูกกว่าวัคซีนตัวแรกของโลกอย่าง RTS,S หรือ Mosquirix ที่ค้นพบในปี 2564 โดยจะพร้อมวางจำหน่ายให้ประเทศต่าง ๆ ในช่วงปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งวัคซีน R21 มีประสิทธิภาพถึง 75% ที่สามารถช่วยลดอาการของโรคมาลาเรียได้

วัคซีนต้านมาลาเรียตัวที่สองนี้ ชื่อว่า R21/Matrix-M เป็นวัคซีนตัวที่สองที่ได้รับคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก หลังจากเปิดตัววัคซีนตัวแรก RTS,S/AS01 ในปี 2564 วัคซีนตัวที่สองนี้ถูกพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยสามารถใช้ควบคุมโรคที่เกิดจากยุง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคที่สามารถแพร่กระจายไปสู่คนและเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต โดยได้ระบุว่าวัคซีนต้านมาลาเรียทั้งสองตัวแสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมาลาเรียสำหรับเด็ก เพราะโรคมาลาเรียสร้างผลกระทบแก่เด็ก ๆ ในภูมิภาคแอฟริกาเป็นอย่างมาก ในแต่ละปีมีเด็กเกือบ 500,000 คนเสียชีวิตด้วยโรคนี้

ที่ผ่านมาวัคซีนตัวแรกอย่าง RTS,S มีความต้องการเป็นอย่างมากและยังคงขาดแคลน การมีวัคซีน R21 เพิ่มเข้ามาในรายการวัคซีนที่ได้รับการอนุมัตินั้น คาดว่าจะช่วยตอบสนองความต้องการวัคซีนต้านมาลาเรียได้อย่างเพียงพอ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อโรคมาลาเรีย รวมถึงสุขภาพของประชาชนทุกคน

Dr. Matshidiso Moeti ผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลก ประจำภูมิภาคแอฟริกา ระบุว่า “วัคซีนมาลาเรียตัวที่สองนี้มีศักยภาพที่แท้จริงในการปิดช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานครั้งใหญ่ วัคซีนทั้งสองชนิดได้รับการจัดส่งตามขนาดและเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนความพยายามในการป้องกันและควบคุมโรคมาลาเรีย และช่วยชีวิตคนหนุ่มสาวหลายแสนคนในแอฟริกาจากโรคร้ายแรงนี้”

อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลก กำลังตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของวัคซีน เมื่อได้รับการอนุมัติจะเปิดให้สมาพันธ์วัคซีนระหว่างประเทศ (Gavi) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) สามารถซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตได้ โดยวัคซีน RTS,S จะวางจำหน่ายในบางประเทศในแอฟริกา รวมถึงบูร์กินาฟาโซ กานา และไนจีเรีย ในช่วงต้นปี 2567 และวัคซีน R21 จะวางจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ ในช่วงกลางปี 2567 ซึ่งแต่ละโดสจะมีราคาอยู่ระหว่าง 2 ถึง 4 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 70 – 140 บาท)

ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลก ก็ได้แนะนำวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกของ Takeda Pharmaceuticals สำหรับเด็กอายุ 6 ถึง 16 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งเป็นอีกปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะไข้เลือดออกสามารถพบได้ทั่วไปในภูมิอากาศเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ซึ่งการติดเชื้อไวรัสที่เป็นพาหะจากยุงไปสู่คน ซึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงสูงควรมีการดำเนินการติดตามผลในช่วงระยะเวลาที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจาย

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
WHO อนุมัติใช้ “วัคซีนต้านมาลาเรียตัวแรกของโลก” กับเด็กในทวีปแอฟริกาแล้ว
ปรับปรุงที่พักด้วยการยกบ้านให้สูงขึ้นจากพื้น อาจช่วยลดการแพร่เชื้อมาลาเรียในทวีปแอฟริกาได้
‘Zero Malaria’ เพราะทุกการตายจากโรคมาลาเรียป้องกันได้
จีนทำอย่างไรให้ปลอดจากโรคมาลาเรียได้สำเร็จจนได้ใบรับรองยุติโรคมาลาเรียจาก WHO 
วิกฤตสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้คนมากถึง 8 พันล้านคนทั่วโลกเสี่ยงต่อมาลาเรียและไข้เลือดออก เพราะอากาศอุ่นขึ้น 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ตามปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPS) และการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลง TRIPS อย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า

แหล่งที่มา : 
WHO approves second malaria vaccine for children – UN News
WHO recommends R21/Matrix-M vaccine for malaria prevention in updated advice on immunization – WHO  

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น