SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือนตุลาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  8 – 12 ตุลาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

การประชุม UN-SPBF มุ่งสร้างความยั่งยืนในเอเชียแปซิฟิก

ผู้นำระดับโลกและระดับภูมิภาค จากอุตสาหกรรมชั้นนำ สถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงภาคประชาสังคม เป็นตัวแทนสำรวจความจำเป็นของความสอดคล้องเชิงนโยบายและการสร้างโอกาส เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในเอเชียแปซิฟิก โดยระหว่างการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 2 ของฟอรัมธุรกิจนโยบายวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติ (UN-SPBF) เน้นสาระสำคัญเรื่องการจัดหาเงินทุนสำหรับการเติบโตสีเขียว (green growth) อย่างเท่าเทียมกันในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศสำหรับองค์กรต่าง ๆ โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนเพื่ออนาคตที่เท่าเทียมและแข็งแรง รวมถึงอนาคตของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน นอกจากนี้ยังได้ร่วมหารือเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล และความร่วมมือในการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยคุณค่าและบทบาทในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.4 ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.4 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.1 เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา 

เข้าถึงได้ที่: UN Forum Puts Sustainability into Gear in Asia-Pacific | News | SDG Knowledge Hub | IISD 

WHO เรียกร้องการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านสุขภาพของผู้ประสบภัยในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ 

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เรียกร้องการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านสุขภาพและมนุษยธรรม ท่ามกลางความขัดแย้งในอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์ สืบเนื่องจากวันที่ 9 ตุลาคม 2566 Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้พบกับประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ของประเทศอียิปต์ ร้องขอให้มีการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสิ่งของด้านสุขภาพและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ จากหน่วยงานไปยังฉนวนกาซาผ่านด่านพรมแดนราฟาห์ 

องค์การอนามัยโลก รายงานว่าโรงพยาบาลในฉนวนกาซาใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่คาดว่าน้ำมันจะหมดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องจัดหาสิ่งของและเชื้อเพลิงไว้ล่วงหน้าไปยังสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุดสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัย นอกจากนี้  ยังแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ผู้ที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันที่กลุ่มฮามาสจับมาจากอิสราเอล พร้อมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันให้ออกมาอย่างปลอดภัย

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.8 บรรลุการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพและราคาที่สามารถซื้อหาได้ 3.c เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ การสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา  และ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

เข้าถึงได้ที่: World News in Brief: Health access in Israel-Palestine, Myanmar bombing, child refugee mental health – UN News 

การประชุม IGF มุ่งเสริมความก้าวหน้าและความเท่าเทียมทางเทคโนโลยี 

การประชุมว่าด้วยธรรมาภิบาลด้านอินเทอร์เน็ต ครั้งที่ 18 (Internet Governance Forum :IGF) ประจำปี 2566 ภายใต้ธีม “อินเทอร์เน็ตที่เราต้องการ – เสริมพลังแก่ทุกคน” ในประเด็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว รวมถึงบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เสี่ยงจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่รุนแรงขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่วิธีที่เราใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลพร้อมทั้งลดความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ยังมีผู้คนอีก 2.6 พันล้านคนยังคงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกใต้และกลุ่มเปราะบาง ตามที่องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งสังคม โดยส่งผลกระทบต่อประชากรที่เชื่อมต่อและไม่เชื่อมต่อกัน แต่การกระจายผลประโยชน์ยังคงไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก การประชุมดังกล่าว รวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลกเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวโน้มและความท้าทายในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน ความเข้มแข็ง ความปลอดภัย เสถียรภาพ และการพัฒนาของอินเทอร์เน็ต

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.c การเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่าย และ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และการเลือกปฏิบัติ 

เข้าถึงได้ที่: UN calls for closing internet connectivity and digital governance gap – UN News

‘ก้าวไกล’ เสนอญัตติตั้ง กมธ. สันติภาพชายแดนใต้ ห่วงกระบวนการพูดคุยและการรับรู้จำกัด

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ทีมสื่อของพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลว่าในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการอภิปรายเสนอญัตติ เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี โดยผู้เสนอคือ รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ห่วงกระบวนการพูดคุยสันติภาพชะงักยาวนานและประชาชนรับรู้จำกัด ชี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องอาศัยฉันทามติทั้งสังคม ควรใช้สภาเป็นพื้นที่กลางให้ทุกฝ่ายร่วมพูดคุยหาทางออก ด้าน สส.ก้าวไกลอภิปรายสนับสนุน ชี้ปัญหาการดำรงอยู่ของกฎหมายพิเศษเป็นชนวนขยายความขัดแย้ง ซึ่งรัฐสภาแห่งนี้ควรจะเป็นพื้นที่สนทนาพูดคุย ขยายโอกาสในการสร้างสันติภาพ เน้นย้ำให้รัฐบาลมุ่งมั่นจริงจัง ตอบสนองต่อความปลอดภัย ความสงบ และสันติภาพอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้สภาวะที่ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่: ‘ก้าวไกล’ เสนอญัตติตั้ง กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ห่วงกระบวนการพูดคุยสันติภาพชะงักยาว-ปชช.รับรู้จำกัด – ประชาไท

กมธ. ศาลฯ – ที่ดินฯ  เร่งแก้ปัญหาบางกลอยและนโยบายคาร์บอนเครดิตแย่งยึดที่ดินชุมชน

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระองค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ที่รัฐสภา โดยมี เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.ศาลฯ และพนิดา มงคลสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ.ศาลฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาคดีความของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งกรณีนโยบายคาร์บอนเครดิต หลังจากชาวบางกลอยถูกอพยพจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน มาสู่บางกลอยล่าง ก็ได้รับผลกระทบจากการไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งก่อนอพยพลงมา เจ้าหน้าที่อุทยานรับปากจะจัดสรรที่ดินให้แต่ก็ไม่เป็นไปตามนั้น นอกจากนั้น ตัวแทนกลุ่มพีมูฟ นำโดย ณัฐธยาน์ แท่นมาก ได้ยื่นหนังสืออีกฉบับ กมธ. ที่ดินฯ ตรวจสอบการดำเนินนโยบายคาร์บอนเครดิตกับการแย่งยึดที่ดินชุมชน โดยเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อมูลทางนโยบายเกี่ยวกับการค้าคาร์บอนเครดิต และโครงการปลูกป่าที่ถูกสอดแทรกอยู่ในนโยบายด้านที่ดิน-ป่าไม้ของรัฐบาล

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.4 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องประสบปัญหาความยากจนและเปราะบาง มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและควบคุมเหนือที่ดินและอสังหาในรูปแบบอื่น SDG13  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ SDG15  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.2 ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี พ.ศ. 2563 และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่: 2 กมธ.ขยับเร่งแก้ “บางกลอย-นโยบายคาร์บอนเครดิตแย่งยึดที่ดินชุมชน” – greennews

ครม. เห็นชอบแผนการใช้เงิน กสศ. ปีงบฯ 67 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงาน

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566  ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า กสศ. ได้รับเอกสารยืนยันมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 7,094.97 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ซึ่งการเสนอแผนการใช้เงินของ กสศ. ในครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณและนโยบายของรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่การเสนอทบทวนเนื่องจากถูกตีกลับแต่อย่างใด

สำหรับแผนการใช้เงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ประกอบไปด้วย 9 แผนงาน ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 และแผนกลยุทธ์ กสศ. 2565-2567 ที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาไปตามขั้นตอนและปฏิทินการจัดทำงบประมาณ 2567 เพื่อป้องกันการดำเนินงานที่ซับซ้อนและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน ผ่านการบูรณาการทำงานและทรัพยากรจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 4  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.1 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573 และ SDG 16  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ

เข้าถึงได้ที่: ครม. เห็นชอบแผนการใช้เงิน กสศ. ปีงบฯ 67 วงเงิน 7,094 ล้านบาท – The Reporters 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น