SDG Insights | โลกรวนป่วนโรค: สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กับโรคระบาด

ผศ. ดร.พรพรรณ สอนเชื้อ
คณะเเพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ปีนี้ทำไมอากาศถึงได้ร้อนขนาดนี้นะ เข้าสู่ฤดูหนาวแล้วแต่อากาศยังคงร้อนอยู่เลย”

โลกเรากำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนและมลภาวะทางอากาศ โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ออกมาเป็นปริมาณมากในแต่ละปี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า Climate Change  ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน (Global Warming) และยังส่งผลกระทบอื่น ๆ เช่น ฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น ฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิที่ไม่หนาวเย็นเหมือนเดิมและมีระยะเวลาที่สั้นลง การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบลม ซึ่งส่งผลต่อการกระจายและความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)  สภาพอากาศที่รุนแรงและไม่สามารถคาดเดาได้ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบฝน

เหล่านี้ล้วนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ สัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกใบนี้ รวมไปถึงส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กแต่ร้ายกาจอย่างเชื้อก่อโรคด้วย อาจกล่าวได้ว่าภาวะ Climate Change นี้ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเกิดโรคระบาดจากเชื้อโรคต่าง ๆ มากมาย และยังทำให้มีโอกาสเกิดโรคอุบัติซ้ำและโรคอุบัติใหม่ขึ้นได้ในอนาคต


01 – สำรวจความเชื่อมโยงระหว่าง Climate Change กับโรคระบาด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เรากำลังเผชิญกับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผลกระทบนี้เกิดขึ้นกับทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั่วโลก ประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสนใจคือประเด็นเกี่ยวกับโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อก่อโรคที่แพร่ระบาดและก่อให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตายของมนุษย์เป็นจำนวนมาก มีการกล่าวถึงประเด็นโลกร้อนกับโรคระบาดกันอย่างกว้างขวาง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสภาวะโลกร้อนกับโรคระบาดหลาย ๆ โรค เช่น ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ได้ให้ข้อมูลว่า พบโรคติดเชื้อบางอย่างที่มีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น โรคลายม์ (Lyme Disease) โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus Disease) และ ไข้รีฟต์วาลเลย์ (Rift Valley Fever) อีกทั้งยังแพร่ระบาดไปในพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยพบโรคเหล่านี้มาก่อน ทั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากการที่ฤดูหนาวที่สั้นลง ฤดูร้อนที่ร้อนรุนแรงขึ้น ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทั้งนี้หากจัดกลุ่มโรคระบาดติดเชื้อที่สำคัญที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน สามารถแบ่งได้ดังนี้

โรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค (Vector-borne Disease)

แมลงที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่คนที่สำคัญได้แก่ ยุง เห็บ หมัด เป็นต้น โรคติดต่อที่เกิดจากยุงที่สำคัญในบ้านเรา ได้แก่ ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ซิกา ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และโรคมาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ในขณะที่ Climate Change ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน โลกร้อนขึ้น ฝนตกผิดฤดู ฤดูหนาวที่สั้นลง กลับส่งผลให้แมลงหลายชนิดรวมทั้งยุงมีการขยายพันธุ์ได้ดีขึ้น และแพร่กระจายเชื้อโรคได้ดีขึ้นด้วย อีกทั้งปริมาณฝนก็มีผลต่อวงจรชีวิตของยุงด้วย ปีไหนที่มีฝนตกชุกก็จะทำให้มีน้ำขังในหลายพื้นที่ จัดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปยุงลายสามารถเจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 20 ถึง 30 องศาเซลเซียส ดังนั้นประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นอย่างประเทศแถบตะวันตกจึงมักไม่พบยุงลายหรือโรคติดต่อจากยุงลาย  ในขณะที่ประเทศเหล่านั้นพบโรคอื่นที่ติดต่อโดยมีแมลงเป็นพาหะ ได้แก่  Lyme disease, West Nile virus disease และ โรคเออร์ลิชิโอสิส (Ehrlichiosis) โดยที่ Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC รายงานข้อมูลจำนวนผู้ป่วยจากโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะระหว่างปี  2547 ถึง 2561 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งก็สัมพันธ์กับอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังพบโรคระบาดในพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนเกิดขึ้นอีกด้วย  

โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic Disease)

โดยปกติแล้วโอกาสที่มนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงจะไปสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่าจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่เมื่ออุณหภูมิโลกแปรปรวนทำให้สัตว์ป่าบางชนิดมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจย้ายถิ่นฐานหรือออกมาจากป่าเพื่อหาอาหารหรือแหล่งน้ำ ทำให้มีโอกาสมาสัมผัสใกล้ชิดกับมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ได้มากขึ้น อีกทั้งอาจนำโรคบางอย่างมาสู่คนที่เรียกว่า Zoonotic Disease หรือโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ทั้งนี้มนุษย์เองก็อาจมีพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่าบางชนิดจึงเป็นช่องทางที่ทำให้ไปสัมผัสกับสัตว์ป่าได้ สัตว์อาจแพร่เชื้อสู่คนผ่านสารคัดหลั่ง การสัมผัสใกล้ชิด หรือส่งต่อโรคผ่านสัตว์เลี้ยงสู่คนก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ที่นอกจากจะมีสุนัขหรือแมวเป็นพาหะนำโรคแล้ว ยังมีสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว เป็นพาหะนำโรคนี้ได้ด้วย คนที่ไปสัมผัสใกล้ชิดหรือจับค้างคาวมาบริโภคก็จะมีโอกาสได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ มีการตั้งสมมติฐานว่าไวรัสโควิด-19 น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว เนื่องจากพบว่าไวรัสนี้มีสารพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกันสูงมากกับไวรัสที่พบในค้างคาว เมื่อคนไปสัมผัสค้างคาวก็เกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น และเนื่องจากโรคนี้ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่ายจึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคเป็นวงกว้างทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วเเละทำให้มีการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกหลายล้านราย 

อีกโรคหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนซึ่งอาจเป็นผลมาจาก Climate Change คือ โรคฝีดาษวานร (Monkey Pox) โรคนี้จัดเป็นโรคอุบัติใหม่ของประเทศไทยที่มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก CDC ระบุว่า monkey pox ถูกพบครั้งแรกในลิง เมื่อปี 2501 ต่อมาในปี  2513 ก็พบในคนเป็นครั้งแรก ช่องทางการติดเชื้อมี 2 แบบ คือติดเชื้อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ การสัมผัสแผล หรือการสัมผัสสารคัดหลั่ง เชื้อจากลิงสามารถติดต่อไปยังสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก เช่น แพรรีด็อก (หรือกระรอกดิน) จากนั้นแพร่สู่คนผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับการตัดไม้ทำลายป่าโดยฝีมือมนุษย์ส่งผลให้สัตว์ป่ากับมนุษย์เข้าใกล้กันมากขึ้น เชื้อโรคที่เคยก่อโรคได้ในสัตว์ชนิดหนึ่งอาจมีการปรับตัวแล้วไปก่อโรคในสัตว์ชนิดอื่นหรือมาก่อโรคในคนก็เป็นได้ 

โรคที่เกิดจากเชื้อรา (Fungal Infection)

เมื่อโลกร้อนขึ้นส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการแพร่กระจายของเชื้อราก่อโรค อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นก็จะส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อราบางชนิด เนื่องจากเชื้อราก่อโรคบางชนิดสามารถเจริญได้ในอุณหภูมิค่อนข้างสูงได้เป็นอย่างดี การที่เชื้อราเจริญได้ดีก็มีโอกาสในการก่อโรคในมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ส่วนทางอ้อมสามารถยกตัวอย่างเช่น การเกิดภัยพิบัติ การเกิดน้ำท่วม ก็เพิ่มโอกาสให้เชื้อราเจริญภายในที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้ เมื่อมนุษย์ได้รับเชื้อราเข้าสู่ร่างกายแล้วเชื้อเหล่านี้อาจก่อโรคได้ที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ที่ปอดหรือที่สมอง ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตตามมาได้  

เมื่อปี 2559 โรงพยาบาลในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อราที่ชื่อว่า Candida auris ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่เคยพบรายงานมาก่อนในสหรัฐอเมริกา เชื้อนี้สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรงได้ CDC รายงานว่าเชื้อรานี้ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงถึง 30-60% เลยทีเดียว ต่อมาก็พบเคสผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในหลาย ๆ รัฐของสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งปี  2565 พบผู้ป่วยใน 29 รัฐ ซึ่งได้รับการตรวจยืนยันจำนวน 2,377 ราย เป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี  2560 ถึง 1,200% แม้กระทั่งที่ประเทศแถบยุโรปก็พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปี 2563 และ 2564 ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มีการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อรานี้น่าจะมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และเมื่ออุณหภูมิโลกค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น เชื้อราบางชนิดอาจจะมีการปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมจนสามารถทนทานต่ออุณหภูมิสูงและมาก่อโรคในคนได้  

โรคติดต่อจากอาหารและน้ำ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของคนและสัตว์ทั่วโลก โดยมีผลกระทบทำให้ปริมาณและคุณภาพอาหารลดลง ซึ่งประเด็นนี้มีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคระบาดอย่างแน่นอน การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก ช่วงฤดูกาล ปริมาณความชุกของน้ำฝน ส่งผลให้บางปีโลกอาจเผชิญกับความแห้งแล้ง ในขณะที่บางปีอาจเกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการแพร่กระจายและความสามารถในการปรับตัวให้อยู่รอดของเชื้อก่อโรคหลายชนิด รวมไปถึงเชื้อก่อโรคที่มีอาหารเป็นสื่อ (Foodborne Pathogen) อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้แบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหารแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วขึ้น ผลที่ตามมาคืออาหารเน่าเสียเร็วขึ้น หรือการที่มีปริมาณเชื้อในอาหารจำนวนมากขึ้นอาจเกินค่ามาตรฐานที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และก่อโรคในผู้บริโภคได้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า climate change ส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพอาหารลดลง เมื่อแหล่งอาหารของมนุษย์ลดลง ในอนาคตมนุษย์เราก็เสี่ยงที่จะเผชิญกับวิกฤติอาหารโลกก็เป็นได้

เนื่องจาก Climate Change กำลังส่งผลให้ในบางปีมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นหรือมีน้ำท่วมอย่างรุนแรงในบางพื้นที่ กรณีนี้ทำให้เชื้อก่อโรคที่ปนเปื้อนในอุจจาระถูกน้ำพัดพาไปยังพืชผลทางการเกษตร ผู้บริโภคจึงมีโอกาสได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนมากับผักผลไม้นั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เชื้อก่อโรคหลายชนิดเจริญได้รวดเร็วขึ้นและนำโรคต่าง ๆ มาสู่คนผ่านทางการรับประทานสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเหล่านี้ เมื่อคนบริโภคสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไปก็จะทำให้เกิดโรคตามมา ที่สำคัญ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง และ อหิวาตกโรค ส่วนการสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคตาแดง หรือโรคฉี่หนูได้ ในบางพื้นที่อาจพบโรคโรคอะมีบากินสมอง หรือ โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา (Amoebic Meningoencephalitis) แม้จะเป็นโรคจากเชื้ออะมีบาที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

ภาพที่ 1 ผลกระทบของ climate change ต่อคุณภาพอาหาร 
ที่มา: https://climateandhealthalliance.org/uncategorized/climate-change-and-food-safety/


02 – ผลกระทบของสถานการณ์ Climate Change ต่อการเกิดโรคระบาดในคนและสัตว์

Climate Change กำลังทำให้มนุษย์และเชื้อโรคเข้ามาอยู่ใกล้กันมากขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การปรับตัวรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้มีการย้ายถิ่นฐานของประชากรมนุษย์หรือสัตว์บางชนิด สัตว์ป่าอาจเคลื่อนตัวเข้าใกล้ที่อยู่อาศัยของมนุษย์มากขึ้น สัตว์หรือแมลงพาหะบางชนิดอาจเดินทางไปกับยวดยานพาหนะของมนุษย์ทั้งทางอากาศ ทางบก หรือทางน้ำ และไปอาศัยยังถิ่นฐานใหม่ รวมทั้งนำโรคใหม่ ๆ ไปยังบริเวณนั้น ๆ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ยังคัดสรรเชื้อโรคที่สามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น เชื้อเหล่านี้อาจมีการกลายพันธุ์และมีวิวัฒนาการจนสามารถขยายเผ่าพันธุ์ให้ดำรงอยู่ได้เป็นอย่างดีและก่อโรคในมนุษย์ได้รุนแรงขึ้นก็เป็นได้ยิ่งขึ้นหากเป็นเชื้ออุบัติใหม่ด้วยแล้ว มนุษย์ก็ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะจัดการกับเชื้อโรค ไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะไปต่อต้านกับเชื้อโรคพวกนี้ ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรคที่จะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ส่งผลให้มนุษย์และ/หรือสัตว์ล้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคระบาดเป็นจำนวนมาก

A graphic showing the effects of climatic, technological and demographic change on disease emergence, dynamics and spread.

ภาพที่ 2 ผลกระทบของ climate change ต่อการเกิดโรคระบาด 
ที่มา: https://www.weforum.org/agenda/2023/01/climate-change-is-adding-to-a-growing-infectious-disease-burden-our-healthcare-systems-need-coordinated-action-now/

อาจกล่าวได้ว่า Climate Change ยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อการเกิดโรคระบาดด้วย เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากเรื่องความร้อนแล้ว ยังก่อให้เกิดความแห้งแล้งและไฟป่า ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศ และน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ผู้คนป่วยด้วยโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น มะเร็ง ภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งการเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลดลงและง่ายต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ตามมา หรือหากจะมองในประเด็นการเกิดคลื่นความร้อนต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ (Airborne Infectious Disease) ก็อาจกล่าวได้ว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ผู้คนออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งลดลงและใช้เวลาอยู่ภายในอาคารมากขึ้น เปิดแอร์ ไม่ใส่หน้ากากอนามัย จึงเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น   

นอกจากอากาศแล้ว ภัยทางน้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็สามารถก่อให้เกิดการระบาดของโรคได้ โดยในปี 2565 ได้เกิดอุทกภัยที่รุนแรงที่ประเทศปากีสถาน ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากกว่า 33 ล้านคน โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,700 ราย หลังจากน้ำท่วมไม่นานก็พบการแพร่ระบาดของหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง โรคคอตีบ โรคหิด อหิวาตกโรค และ โควิด-19 นี่น่าจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบจาก Climate Change ต่อการเกิดโรคระบาดที่ทำให้มนุษย์ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงเป็นจำนวนมาก ยิ่งหากการบริหารจัดการในการควบคุมโรคทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ก็อาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคออกไปเป็นวงกว้างในหลายประเทศหรือหลายภูมิภาคทั่วโลกได้อีกด้วย   


03 – แนวทางรับมือ จัดการ และบรรเทาผลกระทบของ Climate Change ต่อโรคระบาด 

เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ทั้งโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากผลของ Climate Change ทุกภาคส่วนควรร่วมกันรับมือกับปัญหานี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับสาเหตุของการเกิด Climate Change ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ การให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาด การดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อจะได้มีภูมิต้านทานต่อโรคและไม่เจ็บป่วยได้โดยง่าย รวมถึงควรมีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเห็นได้ว่าต้องเริ่มจากตัวบุคคล ไปจนถึงชุมชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ไม่เพียงแต่ภายในประเทศเท่านั้นแต่ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกด้วย   

ในการประชุมสมัชชาสุขภาพโลก หรือ World Health Assembly ที่จัดโดยองค์การอนามัยโลก ได้มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับแผนการควบคุมพาหะนำโรคติดต่อ ที่กำหนดดำเนินการช่วงปี  2561 – 2573 กลยุทธ์หลักคือ การสร้างองค์ความรู้แก่ประเทศสมาชิกและให้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญในการควบคุมพาหะนำโรคติดต่อ เช่น การควบคุมยุง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญหลายโรค มีกลยุทธ์ที่เน้นให้หน่วยงานภายในประเทศทำงานร่วมกันอย่างมีบูรณาการ เช่น กรมควบคุมโรคควรร่วมมือกับกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อช่วยกันควบคุมโรคจากสัตว์ป่าหรือแมลง อีกทั้งยังมีกลยุทธ์ในเรื่องการให้องค์ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตัวเองจากการสัมผัสใกล้ชิดพาหะนำโรค หรือการกำจัดและควบคุมพาหะนำโรคอย่างถูกวิธี 

สำหรับการดำเนินการภายในประเทศไทยควรอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อเฝ้าระวัง หรือเตือนภัยประชาชนจากโรคระบาด เพื่อให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น กรมควบคุมโรคร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้นักอุตุนิยมวิทยารายงานพยากรณ์อากาศเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝน หรือการเกิดฝนตกนอกฤดูกาล เพื่อที่นักระบาดวิทยาจะสามารถคาดการณ์การเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก แล้วมีการแจ้งเตือนประชาชนให้ช่วยกันกำจัดควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หรือป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด อีกทั้งแนะนำให้ประชาชนเฝ้าสังเกตอาการตัวเองและผู้ใกล้ชิดว่ามีอาการเจ็บป่วยจากโรคไข้เลือดออกหรือไม่ และเพื่อให้สถานพยาบาลสามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกได้ เป็นต้น 

| ความร่วมมือระหว่างประเทศ

ในปี 2566 นี้ เลขาธิการสหประชาชาติได้ออกมาแถลงเตือนว่า “ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว ยุคโลกเดือด (Era of Global Boiling) มาถึงแล้ว” อีกทั้งยังเรียกร้องให้แต่ละประเทศตระหนักถึงความสำคัญของสาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G20 ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 80% ของทั่วโลก ที่ผ่านมาองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญกับประเด็นการเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะหลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก เนื่องจากทำให้มีการเจ็บป่วยล้มตายของประชากรหลายล้านคนทั่วโลก และการที่โรคระบาดจะเกิดขึ้นอีกก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง 

ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum:WEF) ปี 2565 ณ เมืองดาวอส สหพันธรัฐสวิส ได้มีการประชุมหารือในประเด็นที่สำคัญทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาระหว่างประเทศ หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงและให้ความสำคัญคือ เรื่องของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิกฤตอาหาร และวิกฤตพลังงาน อีกประเด็นที่น่าสนใจเป็นเรื่อง การเตรียมพร้อมสำหรับการแพร่ระบาดครั้งหน้า โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ ดังจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงกับประเทศที่มีรายได้ต่ำมีความแตกต่างกันอย่างมากในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวบริษัท Pfizer ซึ่งเป็น พันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (strategic partner) ของ สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ได้มีข้อตกลงร่วมกัน ในการนำเสนอยาและวัคซีนที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรของทางบริษัท แบบไม่แสวงหาผลกำไรให้กับ 45 ประเทศที่มีรายได้น้อย เพื่อเตรียมการสำหรับการแพร่ระบาดของโรคในอนาคต นี่เป็นตัวอย่างของการร่วมมือกันระหว่างประเทศขององค์กรภาครัฐและเอกชน ที่เตรียมรับมือกับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบจาก Climate Change   

| ข้อเสนอแนะอื่น ๆ

แม้ว่าในปัจจุบันโลกเราจะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่จะใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค การป้องกันหรือรักษาโรค แต่ยังพบว่าการแพร่ระบาดของโรคยังคงมีอย่างต่อเนื่องและบางโรคมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นหรือยากต่อการป้องกันและรักษา Climate Change จึงไม่เพียงเป็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุขด้วย ผลกระทบของ Climate Change ต่อปัญหาสุขภาพประชากรมนุษย์จากโรคระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นผลทางตรงหรือทางอ้อม ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงเท่านั้น การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและเร่งด่วนจึงมีความสำคัญ ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ภาครัฐและเอกชน ตลอดจนถึงภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ การปกป้องและฟื้นฟูป่าไม้และระบบนิเวศ การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ การรับวัคซีนที่จำเป็น เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของการเกิดโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อติรุจ ดือเระ – บรรณาธิการ
ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี เเละ เเพรพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
SDG Insights | ท่ามกลางวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ระบบสุขภาพไทยต้องรับมือกับอะไรบ้าง?
SDG Updates | หายนะจาก ‘สภาพอากาศร้อนจัด’ ผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก
รายงาน IPCC ฉบับใหม่เผยข้อมูลผลกระทบและความเสี่ยงจาก Climate Change ต่อปัญหาสุขภาพปัจจุบัน
ก้าวไกล ยื่นร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อม 4 ฉบับ เข้าสภา หวังผลักดันแก้ปัญหา PM2.5 และ Climate Change ในเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสําหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกําลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

อ้างอิง:
1. A, P. L., & Tatu, U. (2022). Climate change and infections: lessons learnt from recent floods in Pakistan. New Microbes New Infect, 49-50, 101052.
2. Centers for Disease Control and Prevention. (n.d.). Climate change and infectious diseases. Retrieved December 5, 2023, from https://www.cdc.gov/ncezid/what-we-do/climate-change-and-infectious-diseases/index.html
3. Climate and Health Alliance. (n.d.). Climate Change and Food Safety. Retrieved December 7, 2023, from https://climateandhealthalliance.org/uncategorized/climate-change-and-food-safety/
4. World Economic Forum. (2023, January). Climate change is adding to a growing infectious disease burden – we need coordinated action now. Retrieved December 5, 2023, from https://www.weforum.org/agenda/2023/01/climate-change-is-adding-to-a-growing-infectious-disease-burden-our-healthcare-systems-need-coordinated-action-now/
5. Yale Climate Connections. (2023, February). Climate change is increasing the risk of infectious diseases worldwide. Retrieved December 5, 2023, from https://yaleclimateconnections.org/2023/02/climate-change-is-increasing-the-risk-of-infectious-diseases-worldwide/
6. Associated Press. (n.d.). Dangerous fungus is becoming more prevalent. Scientists believe climate change could be to blame. Retrieved December 6, 2023, from https://apnews.com/article/dangerous-fungus-climate-change-new-york-
7. CNN. (2022, September 25). First came the floods. Now, Pakistan’s children face a new disaster. Retrieved December 8, 2023, from https://edition.cnn.com/2022/09/25/asia/pakistan-floods-children-water-borne-disease-intl-hnk-dst/index.html
8. Centers for Disease Control and Prevention. (n.d.). Food and Waterborne Diarrheal Disease. Retrieved December 7, 2023, from https://www.cdc.gov/climateandhealth/effects/food_waterborne.htm
9. National Institute of Environmental Health Sciences. (n.d.). Foodborne Illness and Nutrition. Retrieved December 7, 2023, from https://www.niehs.nih.gov/research/programs/climatechange/health_impacts/foodborne_diseases/index.cfm
10. NPR. (2022, September 29). Zoonotic diseases like COVID-19 and monkeypox will become more common, experts say. Retrieved December 8, 2023, from https://www.npr.org/2022/09/29/1119561088/monkeypox-climate-change-zoonotic-diseases
11. ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2566). ของฝากจากงาน WORLD ECONOMIC FORUM. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2566, จาก https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-65-3/global-trend-65-3-1.html
12. มหิดลศิริราช. (n.d.). โรคที่มากับน้ำท่วม. สืบค้นเมื่อ 8 ธันวาคม 2566, จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=926
13. โรงพยาบาลรามาธิบดี. (2566). โรคฝีดาษวานร (Monkeypox). สืบค้นเมื่อ 8 ธันวาคม 2566, จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/sites/default/files/public/img/infographics/infographics273-260565.pdf
14. ThaiPBS. (n.d.). “โลกร้อน – โรคระบาด” วิกฤตสาธารณสุขในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2566, จาก https://dxc.thaipbs.or.th/news_update/โลกร้อน-โรคระบาด-วิกฤตส/

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on มกราคม 23, 2024

Authors

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

  • Wijanee Sendang [Graphic designer]

    นักออกแบบนิเทศศิลป์

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น