SDG Updates | หายนะจาก ‘สภาพอากาศร้อนจัด’ ผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก

สถานการณ์คลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมประเทศกรีซตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ทำให้อุณหภูมิในประเทศพุ่งสูงขึ้นถึง  47.1 องศาเซลเซียส  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ในยุโรป นี่นับเป็นคลื่นความร้อนที่ปกคลุมกรีซครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 40 ปี พร้อมกันกับเหตุการณ์ไฟป่าจากความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นหลายจุด รัฐบาลกรีซจึงได้ประกาศเตือนภัยระดับสูงทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนตื่นตัวพร้อมรับมือ เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นอีกสัญญาณเตือนสำคัญของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อปี 2016 ผู้นำจาก 196 ประเทศ/รัฐ ลงนามใน Paris Agreement หรือ ‘ความตกลงปารีส’ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC)  เพื่อยับยั้งผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสจากระดับในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ตามที่ตั้งเป้าไว้ก็ยังไม่คืบหน้าเพราะระดับการปล่อย CO2 ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และถึงแม้ว่าในปี 2020 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ปริมาณคาร์บอนลดลงมากที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2020 ก็สูงขึ้นเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมแล้วถึง 1.2 องศาเซลเซียส

รายงานอุณหภูมิโลกจากศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลกในปี 2020 ติด 3 อันดับแรกของปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นอันดับสองรองจากปี 2016 เท่านั้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะความเป็นกรดของน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนอีกด้วย


มีเพียงสี่สถานการณ์ที่สามารถคร่าชีวิตคนหลายร้อยล้านคนได้ นั่นคือ สงครามนิวเคลียร์ อุกกาบาต และโรคระบาดซึ่งล้วนแต่มีความเป็นไปได้ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้นแล้ว

Sir Richard Feachem ผู้อำนวยการ Global Health Group ประจำ University of California, San Francisco


| การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนึ่งในภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดในยุคเรา

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพมนุษย์
ที่มา : CDC

รายงาน Global Risks Report 2020 จัดอันดับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด โดยเป็นหนึ่งในห้าความเสี่ยงระดับโลกที่สร้างความเสียหายหรือน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด (top risks by impact amd likelihood) อย่างที่กล่าวไปว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงส่งผลร้ายต่อธรรมชาติ วิกฤตนี้ส่งผลกระทบต่อปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดสุขภาพของคน ทั้งอาหารและน้ำที่บริโภค อากาศที่ใช้หายใจ รวมไปถึงความเป็นอยู่และที่พักอาศัย ทำให้สุขภาพประชาชนแย่ลงและต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ โดยผลกระทบนี้ขยายตัวไปทั่วทุกภูมิภาคของโลกและทุกกลุ่มประเทศไม่ว่าจะอยู่ในระดับรายได้ใด โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ชุมชนและกลุ่มคนที่เปราะบาง เพราะต้องเผชิฐผลกระทบที่บ่อยขึ้นและผลกระทบนั้นคงอยู่นานกว่า ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศรุนแรงยิ่งขึ้น

องค์การอนามัยโลกได้การคาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้ ช่วงระหว่างปี 2030 – 2050 จะมีผู้เสียชีวิตจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากการขาดสารอาหาร โรคมาลาเรีย โรคท้องร่วง และความเครียดจากความร้อนเพิ่มอีกประมาณ 250,000 รายต่อปี โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การเกิด ‘คลื่นความร้อน’ หรือ heatwave ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและกินเวลานานกว่าเดิมได้คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 166,000 คน


| หายนะจาก ‘อากาศร้อน’ ที่มีวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นตัวเร่ง

การเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (Heat-related illnessses and deaths) - สภาพอากาศร้อนจัด เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนที่เพิ่มขึ้น ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจและระบบทางเดินหายใจ ภาวะไตวาย ภาวะไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย นิ่วในไต ผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ และการคลอดก่อนกำหนด รวมถึงอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นระหว่างและหลังเกิดคลื่นความร้อน
แผนที่อุณหภูมิโลกปี 2020
ที่มา : NOAA Climate.gov

การต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงและคลื่นความร้อนส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพตั้งแต่การเจ็บป่วยไปจนถึงการเสียชีวิต แม้ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาจะมีผู้เสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็นมากกว่าความร้อน แต่วิกฤตสภาพภูมิอากาศในระยะยาวคาดว่าจะเพิ่มตัวเลขการตายที่เกี่ยวข้องกับความร้อนให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อปี 2003 เป็นภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศครั้งแรกที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่ามีความเชื่อมโยงกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึงประมาณ 70,000 คน ทั้งที่สามารถป้องกัยได้ โดยเฉพาะในปารีสที่มีคนเสียชีวิตถึงประมาณ 12,000 รายในเวลาแค่หนึ่งสัปดาห์ที่คลื่นความร้อนเกิดขึ้น และอีกหลายคนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอย่างรุนแรงซึ่งอาจคงอยู่นานหลังจากความร้อนสลายไปแล้ว

ในสหรัฐอเมริกา ความร้อนจัดคร่าชีวิตผู้คนในแต่ละปีมากกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติประเภทอื่น ๆ การวิเคราะห์ในปี 2020 พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนในสหรัฐอเมริกาต่อปีที่อยู่ประมาณ 12,000 รายในขณะนี้ ถูกประเมินต่ำเกินไป และการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนต่อปีอาจเพิ่มขึ้นถึงเก้าเท่าเป็นมากกว่า 100,000 รายภายในปี 2100 หากโลกยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงเช่นนี้

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถานการณ์คลื่นความร้อนที่กระหน่ำพื้นที่ทางตะวันตกของแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ได้รับการระบุจากนักวิทยาศาสตร์ ว่าความรุนแรงในระดับนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหนึ่งใน 1,000 ปี และ ‘แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย’ หากไม่มีอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในระดับโลก ข้อมูลจาก 43 ประเทศจากงานวิจัยในวารสาร Nature Climate Change ที่วิเคราะห์การเสียชีวิตของประชากรเกือบ 30 ล้านคน พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเนื่องจากอากาศร้อนมากกว่า 1 ใน 3 มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (anthropogenic climate change) และอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นนั้นปรากฏชัดในทุกทวีป

รายงาน Lancet Countdown on Health and Climate Change ประจำปี 2020 ซึ่งเป็นรายงานฉบับที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2015 ที่ติดตามสถานการณ์ด้านสุขภาพที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แสดงข้อค้นพบสำคัญของข้อมูลการตายที่เกี่ยวข้องกับความร้อนจากปี 2000 – 2018 พบว่าอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเพิ่มขึ้นถึง 53.7% และในปี 2018 มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากถึง 296,000 ราย โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตเหล่านี้เป็นผลมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ในซีกโลกตะวันออก จีนและอินเดียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิต 62,000 คนและ 31,000 คนตามลำดับ เยอรมนีและอเมริกาเป็นประเทศซีกโลกตะวันตกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยแต่ละประเทศมีผู้เสียชีวิตราว 20,000 ราย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์คลื่นความร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดบ่อยครั้งขึ้น เมืองใหญ่ทั่วเอเชียได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนอย่างกว้างขวางและรุนแรงกว่าในพื้นที่ชนบท เนื่องจากความร้อนที่แผดเผายังคงอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ เช่น อาคารและทางเท้า ทำให้เกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (urban heat island)

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อสุขภาพประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และสำหรับสภาพอากาศร้อนจัด จะมีผลต่อผู้ที่จำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งมากกว่า สำหรับข้อมูลในประเทศไทย ข้อมูลจารายงานกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 – 2562 พบรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนเฉลี่ยปีละ 38 ราย โดยในช่วงฤดูร้อนปีพ.ศ. 2562 ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูง 40 องศาเซลเซียส มีผู้เสียชีวิตถึง 57 ราย และเสียชีวิตมากที่สุดในเดือนเมษายน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปในทางเดียวกับแนวโน้มระดับโลก

ข้อมูลรายประเทศขององค์การอนามัยโลกในปี 2015 ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนในผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ในประเทศไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 58 รายต่อประชากร 100,000 รายภายในปี 2080 เมื่อเทียบกับค่าพื้นฐานที่ประมาณ 3 รายต่อ 100,000 รายต่อปีในระหว่างปี 1961 – 1990 ที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงอย่างรวดเร็วเท่านั้นอาจช่วยจำกัดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนในผู้สูงอายุให้เหลือเพียง 11 รายต่อประชากร 100,000 รายภายในปี 2080

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
ปี 2543 – 2562 ภาวะโลกรวน-ภาวะโลกร้อน ทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุณหภูมิที่ ‘ไม่เหมาะสม’
1 ใน 3 ของการตายจากอากาศร้อนเป็นผลมาจาก Climate Change ไทยได้รับผลกระทบเป็นลำดับต้น
อ่านรายงานล่าสุด ‘สถานะสภาพภูมิอากาศของโลก 2563’: ดู Climate Change ว่าเป็นอย่างไรในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา
รายงานเผย ผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศสร้าง ‘ต้นทุนแฝง’ มหาศาลต่อปัญหาสุขภาพจิต


| เมื่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ‘ไม่เป็นธรรม’

รายงานจาก Lancet ระบุว่าไม่มีประเทศใด – ไม่ว่าจะรวยหรือจน – ได้รับการยกเว้นจากผลกระทบด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงนี้ แต่ในความเป็นจริงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะความร้อนจัดที่เพิ่มขึ้นนี้กลับเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมต่ออทุกฝ่าย

แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากความร้อนมากกว่าหนึ่งในสามที่สามารถเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นกระจายตัวไปทั่วโลก แต่ในบางประเทศ เช่น ในอเมริกาใต้ คูเวต อิหร่าน และบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้นมากกว่า โดยมากถึง 77% ในเอกวาดอร์ และ 61% ในฟิลิปปินส์ ความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะพื้นที่เหล่านี้อยู่ในเขตที่มีอากาศร้อนเป็นพิเศษ แต่ยังมาจากอุปสรรคการเข้าถึงเครื่องปรับอากาศหรือบ้านที่สามารถกระจายความร้อนได้ดี รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น พื้นที่สีเขียวในเมืองที่อาจช่วยลดความเปราะบางต่อการเผชิญความร้อนของผู้คนได้

จะเห็นได้ว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบมากกว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาน้อยที่สุด ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางเศรษฐกินน้อยกว่า ประเทศพัฒนาแล้วขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกามีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงประมาณ 25% ของปริมาณทั้งหมดที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ ในขณะที่ กัวเตมาลา มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนเพียงประมาณ 0.0002% เท่านั้น แต่กว่า 75% ของการเสียชีวิตจากความร้อนในประเทศนั้นเชื่อมโยงกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่เพียงเท่านั้น การวิเคราะห์ล่าสุดยังพบว่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 4,434 เมตริกตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดช่วงชีวิตปัจจุบันของชาวอเมริกัน 3.5 คน ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นมากพอที่จะทำให้ประชาชนหนึ่งคนในโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร


| เปรียบเทียบวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกหนึ่งวิกฤตสาธารณสุข

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความท้าทายต่อระบบดูแลสุขภาพที่คล้ายคลึงกับการเกิดโควิด-19 แม้ว่าจะรุนแรงน้อยกว่า แต่เนื่องจากเหตุการณ์สภาพอากาศที่เลวร้ายจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น นานขึ้น ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องรีบระบุกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดก่อนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เร็วที่สุด และลงทุนในระบบดูแลสุขภาพเพื่อให้แน่ใจว่าสถานพยาบาลและกำลังคนในภาคสุขภาพจะไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากจนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มสมรรถภาพ และเช่นเดียวกับสถานการณ์โรคระบาด การป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ให้เกิดขึ้นย่อมดีกว่าการรักษาและแก้ไขเมื่อเกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข เสริมสร้างศักยภาพ ทักษะของประชาชนในการจัดการต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามบริบทของพื้นที่ ประเทศไทยนำโดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564-2573) โดยมีจุดประสงค์เพื่อ “ลดการเจ็บป่วยของประชาชน ลดผลกระทบต่อประเทศ และเป็นศูนย์กลางในระดับเอเชียในการจัดการกับความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”


แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจะหยุดลงในวันพรุ่งนี้ แต่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็คงไม่ได้ลดลงในทันที และนั่นจะทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศร้อนจัดที่หลายประเทศเผชิญอยู่ในปัจจุบันยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบร้ายแรงมากขึ้นเพียงใดในอนาคต ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อจัดการวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่ทุกคนกำลังทำอยู่ในวันนี้

ผลกระทบด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะจากสภาพอากาศร้อนจัด เกี่ยวข้องโดยตรงกับ #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ #SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการเสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ (13.1)

นอกจากนั้น ยังเกี่ยวข้องกับ #SDG1 ขจัดความยากจน ในแง่ของการสร้างภูมิต้านทานและความเปราะบางต่อเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสภาวะเปราะบาง (1.5) และ #SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในและระหว่างประเทศ จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่เป็นธรรม และ #SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและบริการพื้นฐาน (11.1) เพื่อลดผลกระทบจากอากาศร้อนจัด และความพยายามลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภัยพิบัติ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง (11.5)


ที่มา :
Climate change: US-Canada heatwave ‘virtually impossible’ without warming (BBC)
Climate Change Linked to 5 Million Deaths a Year, New Study Shows (Bloomberg)
Global Energy Review: CO2 Emissions in 2020 (International Energy Agency)
Heatwaves, the other silent killer (Bangkok Post)
Heat waves kill people—and climate change is making it much, much worse (Nationan Geographic)
The Climate Crisis is a Health Crisis (University of California San Francisco)

The danger posed by heatwaves deserves to be taken more seriously (The Economist)
WEF Report Identifies Environmental Degradation, Climate Change Among Top Risks (IISD Knowledge Hub)
คลื่นความร้อนถาโถมยุโรปใต้ ร้อนสุดที่เคยบันทึกไว้ (SpringNews)
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนเจ็บป่วยจากสภาพอากาศร้อนจัดสัปดาห์นี้ แนะป้องกันการป่วยและเสียชีวิตจากโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (สำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์)
ตะลึง!! เปิดสถิติผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อน 4 ปี 158 ราย (The Bangkok Insight)


Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น