SDG Updates: ‘พิษ-แพร่-พัง’ หายนะจากสงครามต่อการล่มสลายของระบบสุขภาพ

อติรุจ ดือเระ

การสู้รบครั้งล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาสล่วงเลยเข้าสู่เดือนที่ห้าแล้ว โดยข้อมูลจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 พบว่าความขัดแย้งและความรุนแรงดังกล่าวส่งผลให้โรงพยาบาลในพื้นที่กาซากว่า 16 แห่งจาก 35 แห่ง และศูนย์การแพทย์ 51 แห่งจาก 76 แห่งในฉนวนกาซา ไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากอาคารเสียหายและขาดแคลนเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังมีรถพยาบาลอีกกว่า 50 คันที่ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ [1]

นอกจากนี้ แม้ผู้คนสามารถเอาชีวิตรอดจากการโจมตีได้ แต่การใช้ชีวิตให้อยู่รอดในพื้นที่กาซาก็มีความยากลำบากและมีความเสี่ยงทางสุขภาพ เนื่องจากขาดแคลนอาหารและมีน้ำดื่มไม่เพียงพอใช้จนปรากฏภาพผู้คนดื่มน้ำเสียเพื่อประทังชีวิต สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าครอบครัวและเด็ก ๆ ในกาซา มีน้ำใช้เพียง 3 ลิตรต่อคน ทั้งสำหรับดื่มกิน ทำอาหาร และด้านสุขอนามัย ทั้งที่ปริมาณแนะนำควรอยู่ที่ 15 ลิตรต่อคนต่อวัน [2]

ขณะเดียวกันสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ยังคงคุกรุ่นสร้างหายนะต่อระบบสุขภาพไม่ต่างกัน โดยโรงพยาบาลในยูเครนกว่า 61 แห่งจำเป็นต้องหยุดให้บริการ เนื่องจากการขาดแคลนยาที่จำเป็นเหตุจากความยากลำบากในการขนส่ง มากไปกว่านั้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การสู้รบระหว่างสองประเทศได้ซ้ำเติมให้การป้องกันโรคโควิด-19 นั้นยากขึ้น และทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคข้ามพรมแดนผ่านผู้อพยพหนีภัยสงคราม เช่น โปแลนด์ ฮังการี มอลโดวา ซึ่งต้องแบกรับภาระและความตึงเครียดด้านสาธารณสุขมากขึ้น 

เหตุเหล่านี้คือตัวอย่างที่ยืนยันว่าความรุนแรง การสู้รบ และสงคราม มีความเกี่ยวโยงกับการทำลายระบบสุขภาพของประเทศต่าง ๆ ไม่น้อย อีกทั้งปลายทางของวิกฤติการณ์ข้างต้นคือการพังทลาย ‘สันติภาพและสังคมสงบสุข’ อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ SDGs ไม่ให้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน SDG Updates ฉบับนี้จึงชวนสำรวจผลกระทบของสงครามต่อสุขภาพของผู้คน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าเป็นอุปสรรคท้าทายต่อการบรรลุ SDGs โดยเฉพาะ SDG3 และ SDG16 อย่างไร 


01 – สถานการณ์สงครามกับสุขภาพ

“ภาวะสงครามนั้นถือเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งกับระบบสาธารณสุข เพราะว่าสงครามนั้นอาจไปจำกัดการดูแลทางการแพทย์ที่เตรียมไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้ และมักทำให้เกิดความแออัดของผู้คนซึ่งต้องเข้าไปหลบอยู่ในพื้นที่คับแคบ เช่น สถานที่หลบภัยและบนรถไฟ ดังนั้นนี่จึงเปรียบเสมือนกับพายุที่สมบูรณ์แบบในการสร้างความท้าทายจากครั้งหนึ่งไปสู่อีกครั้งหนึ่ง” [3]

คำกล่าวข้างต้นของ นพ.ไมเคิล ออสเตอร์โฮล์ม ผู้อํานวยการศูนย์วิจัยและนโยบายโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยมินนิโซตา ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของผลกระทบจากสงครามที่มีต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของผู้คน ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งหนบนโลกยังคงเผชิญกับปัญหานี้ เช่น อิสราเอล ปาเลสไตน์ รัสเซีย ยูเครน ซูดาน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเมียนมาก็มีผู้คนล้มตายจากเหตุแห่งสงครามทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี แม้สงครามจะเกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือเฉพาะระหว่างคู่ขัดแย้ง แต่ผลกระทบจากสงครามต่อระบบสุขภาพโลกก็ไม่ได้จำกัดพื้นที่แคบ หากแต่ขยายอาณาบริเวณกระทบประเทศอื่น ๆ ไม่น้อย “สันติภาพ” และ “สุขภาพ” จึงเป็นสองเรื่องที่เกี่ยวโยงกันอย่างยากจะแยกออกและปัจจุบันก็เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบนำมาถกสนทนาและสร้างความร่วมมือเพื่อหาแนวทางจัดการในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่นแถลงการณ์เมื่อต้นปี 2566 ในที่ประชุมเตรียมการเพื่อการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA’s plenary meeting) ของ António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ  ระบุว่าเราเริ่มต้นปี 2566 โดยมุ่งมองไปยังความท้าทายมากมายที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในชีวิตของเรา ได้แก่ สงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยากจนที่รุนแรง และความแตกแยกขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่นนั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยต้องพยายามดำเนินการมากขึ้นเพื่อสร้างสันติภาพในทุกแห่งหน โดยเฉพาะยูเครน อัฟกานิสถาน เมียนมา เฮติ ปาเลสไตน์ อิสราเอล และส่วนอื่น ๆ ของโลก พร้อมให้คำมั่นกับรัฐสมาชิกว่าองค์การสหประชาชาติจะเพิ่มพูนความมุ่งมั่นในการปฏิรูปการเสริมสร้างสันติภาพผ่านโครงการริเริ่ม ‘Action for Peacekeeping-Plus’ โดยมีสหภาพแอฟริกา (African Union) เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ [4]

แม้จะมีความเคลื่อนไหวทั้งในระดับประเทศและเวทีระหว่างประเทศเพื่อยุติสงครามและปกป้องฟื้นฟูระบบสุขภาพให้สามารถบริการได้ แต่ก็ยังมีความน่ากังวลและต้องใช้ความพยายามเร่งรัดความร่วมมือต่อประเด็นข้างต้นอยู่อีกมาก เนื่องจากข้อมูลจากหลากหลายแหล่งชี้ชัดว่าสงครามและความรุนแรงเป็นภัยต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนเพิ่มมากขึ้น เช่น รายงานวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดของตัวชี้วัด SDG 16 จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN Development Programme: UNDP)  สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime: UNODC) และ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the UN High Commissioner for Human Rights: OHCHR) ระบุว่าจำนวนพลเรือนที่ถูกสังหารจากปฏิบัติการสงครามเพิ่มขึ้นเกือบ 17,000 รายจากปี 2564 เป็นการเพิ่มขึ้นถึง 53% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการนำ ‘วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030’ มาใช้ [5]

ขณะที่ Global Citizen ระบุว่าในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ สงครามทำลายระบบสุขภาพในหลายประเทศ เช่น เอธิโอเปีย พบว่า 6 เดือนของสงครามที่เกิดขึ้นในปี 2563 ทำให้โรงพยาบาลและศูนย์บริการสุขภาพหลายแห่งต้องปิดตัวลง โดยเหลือโรงพยาบาลเพียง 27.5% ศูนย์บริการสุขภาพเพียง 17.5% และ รถพยาบาลเพียง 11% เท่านั้นที่สามารถใช้การได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับในยูเครน ที่การสู้รบกับรัสเซียทำให้อุปกรณ์และเครื่องมืออำนวยความสะดวกทางการแพทย์ตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน และโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรคมะเร็งก็ถูกตัดขาดจากการเข้าถึงอาหารและยา [6]


02 – พิษ-แพร่-พัง

สถานการณ์สงครามทั้งในอดีตและที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันสร้างผลกระทบต่อระบบสุขภาพอย่างน้อย 3 ประการสำคัญ ดังนี้

ประการแรก สงครามส่งผลให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อชีวิตผู้คน โดยการโจมตีทางทหารด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์รูปแบบต่าง ๆ ทำให้เกิดแก๊สพิษซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ดังเห็นได้จากที่องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่ามลพิษทางอากาศจากสงครามในกาซาส่งผลให้ผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวมีอาการป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจแล้วกว่า 54,866 ราย โดยมีอาการเริ่มต้นจากการมีน้ำมูกไหล ไอ และเจ็บคอ และยังพบว่าโรคระบบทางเดินหายใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 ในกาซาช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาด้วย [7]

นอกจากนี้ยังมีมลพิษทางน้ำที่ก่อให้เกิดโรคหลายชนิด เนื่องจากสงครามเอื้อให้แบคทีเรียอันตรายปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำได้ง่าย ขณะที่น้ำก็มีอยู่อย่างจำกัด ผู้คนจึงไม่มีทางเลือกแต่ต้องจำยอมอุปโภคและบริโภคน้ำที่ไม่สะอาดและมีการปนเปื้อนเพื่อประทังชีวิตรอด ส่วนหน่วยงานสาธารณสุขก็ไม่สามารถคัดกรองน้ำที่สะอาดได้ สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้ผู้คนเผชิญกับโรคตามมา เช่น โรคท้องร่วงจากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดและมีเชื้อโรคปนเปื้อน โดยพบว่าสงครามครั้งล่าสุดในกาซา มีผู้ป่วยจากโรคท้องร่วงแล้วมากกว่า 33,551 ราย [8]

โรคอื่น ๆ ที่เกิดจากมลพิษในภาวะสงคราม เช่น โรคอีสุกอีใส โรคหิด และเหา โรคผื่นผิวหนัง ซึ่งล้วนแต่ทำให้สุขภาพของผู้คนแย่ลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องเผชิญกับมลพิษรอบด้านที่แม้จะอยู่ในที่ที่ปลอดภัยจากการโจมตี แต่สภาพแวดล้อมที่ผู้คนอาศัยรวมกันอย่างแออัด การขาดแคลนน้ำ และการจัดการความสะอาดเป็นไปอย่างยากลำบาก ก็เสี่ยงนำพาความเจ็บปวดและความตายมาเยือนชีวิตของผู้ลี้ภัยสงครามได้ 

ประการต่อมา สงครามส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค สภาพแวดล้อมที่สกปรกและอุปสรรคในการจัดการระบบสุขาภิบาล เอื้อให้การแพร่เชื้อโรคทั้งจากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คนเกิดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะขยะมูลฝอยที่หมักหมมกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของหนูและแมลง ซึ่งเป็นสัตว์พาหะแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี ขณะที่การติดต่อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นด้วยปัจจัยความแออัดในการอยู่อาศัยและปัจจัยการอพยพข้ามพรมแดน ดังเห็นได้จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการอพยพข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยชาวยูเครนไปยังประเทศใกล้เคียง

ก่อนขยับไปกล่าวถึงผลกระทบอีกประการ ขอสรุปอย่างรวบรัดให้เห็นภาพว่าผลกระทบทั้งสองประการแรกนั้นทำให้ “ภาระของระบบสุขภาพ” เชิงพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก กล่าวคือ การที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสารพิษ แบคทีเรีย และการระบาดผ่านคน ทำให้โรงพยาบาลหรือศูนย์ให้บริการทางการแพทย์ที่เหลืออยู่น้อยต้องดูแลผู้คนจำนวนมากขึ้น ซึ่งหลายแห่งก็เกินกำลังทำให้ระบบการจัดสรรทรัพยากรทั้งบุคคลและอุปกรณ์ขาดแคลนและไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เผชิญกับการติดเชื้อโรคหรือได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากสงคราม ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ระบบสุขภาพเสี่ยงพิการได้มากขึ้น 

ประการสุดท้าย สงครามส่งผลให้เกิดการพังทลายลงของระบบดำเนินงานและการบริการสุขภาพ โดยสงครามที่เกิดขึ้นในทุกหนแห่งแทบจะไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม การโจมตีทางทหารทำให้โรงพยาบาล ศูนย์บริการสุขภาพ และรถพยาบาลเกิดความเสียหาย เช่นการโจมตีโรงพยาบาลเด็กในยูเครนโดยกองทัพของรัสเซีย ส่งผลให้โรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการต่อได้อย่างสมบูรณ์ และผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัวซึ่งต้องรับยาหรือเข้ารับบำบัดเป็นประจำนั้นไม่สามารถเข้าถึงยาและการบำบัดได้ต่อเนื่อง เช่นกรณีของ  Volodymyr เด็กหญิงชาวยูเครน วัย 17 ปี ที่มีอาการของโรค Opitz-Kaveggia หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางยีนส์และทำให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญา โดยเธอต้องรับประทานยาชักอย่างสม่ำเสมอ แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การขนส่งยาดังกล่าวมีความยากลำบากมากขึ้น ทำให้เธอต้องอยู่ในอันตรายจากภาวะการเสี่ยงชัก [9]

กล่าวให้ชัดคือสงครามตัดตอนกระบวนการทำงานของสถานพยาบาลในแต่ละขั้นตอนให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือกระบวนรับเข้ารักษา กลางน้ำ คือกระบวนการรักษาและดูแลผู้ป่วย และปลายน้ำ คือกระบวนการติดตามและฟื้นฟูผู้ป่วย เนื่องจากไม่มีสถานพยาบาลที่มีความพร้อม ขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ และขาดแคลนบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นับว่าเป็นภาวะความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก


03 – ผลกระทบของสงครามต่อการบรรลุ SDGs

เช่นที่กล่าวไปแล้วว่า “สุขภาพ” และ “สันติภาพ” นั้นเป็นสองเรื่องที่เชื่อมโยงกัน ผู้คนจะดำรงชีวิตอย่างสงบสุขไม่ได้หากสังคมยังมีการสู้รบและสุขภาพร่างกายของตนต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงให้ความสำคัญกับทั้งสองเรื่อง โดยเฉพาะ SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสถานการณ์ภาพรวมของโลกปัจจุบันซึ่งฉายภาพอย่างรวบรัดไปแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าโลกกำลังเผชิญกับสงครามและความขัดแย้งในระดับประเทศและภูมิภาคหลายแห่ง ทำให้สุขภาพของผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง และแน่นอนว่าวิกฤติเรื่องนี้เป็นก้างชิ้นโตต่อความพยามยามขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs ในภาพรวมทั้งหมด เช่นที่ Ola Gomaa นักการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำ UNESCO ระบุถึงกรณีสงครามระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาส ว่า “สถานการณ์ในกาซา ไม่เพียงเป็นวิกฤติความรุนแรงต่อมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการบรรลุ SDGs” [10]

Ola Gomaa ยังชี้ว่าการบรรลุ SDGs จะสำเร็จได้ เป้าหมายแต่ละเป้าหมายนั้นย่อมอาศัยความสำเร็จของกันและกัน โดยการก่อสงครามนั้นกระทบต่อทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ผลกระทบต่อ SDG1 SDG3 และ SDG16 ดังนี้ [11]

  • ผลกระทบต่อการบรรลุ SDG1 สงครามและการปิดล้อมทำให้เกิดความยากจนและการอาศัยที่อยู่รวมกันอย่างหนาแน่น โดยผู้คนกว่า 80% ของประชาการในกาซาต้องอาศัยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้การเข้ายึดครองและขยายการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลยังทำให้ชาวปาเลสไตน์สูญเสียสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และทรัพยากรในเขตเวสต์แบงค์และเยรูซาเล็มตะวันออก 
  • ผลกระทบที่มีต่อ SDG3 สงครามทำให้ระบบสุขภาพและโครงสร้างพื้นฐานในกาซาเกิดความเสียหาย ทำให้ผู้คนมากกว่า 10,000 คน ที่เจ็บป่วยและต้องการรักษาอย่างเร่งด่วนไม่สามารถเข้าถึงยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ ทั้งยังสร้างความเครียดกังวลและบาดแผลทางจิตใจโดยเฉพาะแก่เด็กและกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ 
  • ผลกระทบต่อ SDG16 ความขัดแย้งทำลายความสงบสุขและความมั่นคงทางชีวิตของผู้คนในกาซา ล่วงล้ำสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กัดกร่อนหลักนิติธรรมและการเข้าถึงความยุติธรรม อีกทั้งยังทำให้สถาบันและระบบอภิบาลในกาซาอ่อนแอ 

จึงน่าสนใจว่าในปี 2567 นี้ นานาประเทศจะร่วมมือกันเพื่อยุติสงครามที่เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลกได้หรือไม่ แน่นอนว่าจะส่งผลอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูให้ระบบสุขภาพกลับมาให้บริการเพื่อช่วยชีวิต ส่งเสริมสุขภาพที่ดี และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ อันจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำพาไปสู่การบรรลุ SDGs

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
‘สงครามคร่าชีวิตพลเรือนเพิ่มขึ้น 17,000 ราย – เด็กตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพิ่มกว่า 35%’ ชวนสำรวจผ่าน ‘รายงาน SDG 16’ ฉบับใหม่ของ UN
เด็กหลักล้านคนในโลกตกเป็นทาสสมัยใหม่ โดยรูปแบบหนึ่งคือการค้ามนุษย์ที่มีสถานสงเคราะห์เด็กบังหน้า
– ผู้อพยพเด็กที่เดินทางโดยลำพังอย่างน้อย 18,000 คน หายตัวไปในยุโรปตั้งแต่ปี 2018 เสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์
– เลขาธิการ UN แถลงประเด็น SDGs ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2566 พร้อมเรียกร้องทั่วโลกยุติการก่อสงครามทำลายล้างธรรมชาติ
– การลักพาตัวเด็กจากเหตุสงครามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชวนอ่าน Guidance Note on Abduction – บันทึกแนวทางป้องกันเเละยุติการลักพาตัวเด็กฉบับใหม่ของ UN
OHCHR ระบุปี 2565 เป็นปีที่ชาวปาเลสไตน์ถูกคร่าชีวิตในเขตเวสต์แบงก์มากที่สุดในรอบ 17 ปี พร้อมประณามอิสราเอลใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.4) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น มรดก ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก (microfinance)
– (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.1) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (6.2) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงการสุขาภิบาลและสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความต้องการของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง ภายในปี พ.ศ. 2573
– (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

อ้างอิง
[1] [2] อะมิรา มฮัดห์บี. (2566, 8 พฤศจิกายน). สงครามอิสราเอล-ฮามาส: สรุปความเสียหายตลอด 1 เดือน ในวันที่เด็กถูกฆ่าทุก ๆ 10 นาที. https://www.bbc.com/thai/articles/cv2z0zzppklo 
[3] สำนักข่าวอิสรา. (2565, 3 มีนาคม). เมื่อสถานการณ์สู้รบรัสเซีย-ยูเครนหนักขึ้น ส่อซ้ำเติมวิกฤติโควิด ส่งผลกระทบทั่วโลก. https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/107037-COVVTTTAtttttt.html 
[4] อติรุจ ดือเระ. เลขาธิการ UN แถลงประเด็น SDGs ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2566 พร้อมเรียกร้องทั่วโลกยุติการก่อสงครามทำลายล้างธรรมชาติ. https://www.sdgmove.com/2023/02/16/un-secretary-2023-priority/ 
[5] อติรุจ ดือเระ. ‘สงครามคร่าชีวิตพลเรือนเพิ่มขึ้น 17,000 ราย – เด็กตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพิ่มกว่า 35%’ ชวนสำรวจผ่าน ‘รายงาน SDG 16’ ฉบับใหม่ของ UN. https://www.sdgmove.com/2023/10/19/un-report-call-foe-action-on-sdg16/ 
[6] Berhe W Sahle and Mulu A Woldegiorgis. (2564, 3 พฤศจิกายน). Decades of Progress Gone in a Year: Tigray’s Health Care System Has Been Destroyed. https://www.globalcitizen.org/en/content/tigray-civil-war-health-care-systems-destroyed/ 
[7] [8] ไทยรัฐออนไลน์. (2566, 15 พฤศจิกายน). โรคระบาดในกาซารุมเร้า ท่ามกลางภาวะสงคราม. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2740531 
[9] The MATTER Team. (2565, 13 มีนาคม). อพยพไม่ได้ อยู่ต่อก็อันตราย กลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญากับชีวิตกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน. https://thematter.co/brief/169977/169977 
[10] [11] Ola Gomaa. (2566, 3 พฤศจิกายน). Let’s Talk About The SDGs in Gaza… . https://www.linkedin.com/pulse/lets-talk-sdgs-gaza-ola-gomaa-nygmf/ 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Authors

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

  • Wijanee Sendang [Graphic designer]

    นักออกแบบนิเทศศิลป์

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น