จิตตปัญญาศึกษา-ผลิบานอย่างยั่งยืน

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานมหิดลเพื่อการตื่นรู้ ครั้งที่ 1 (การประชุมวิชาการประจำปีเชิงปฏิบัติการจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ 8) จิตตปัญญาศึกษา…จากต้นกล้าสู่วันเวลาที่ผลิบาน (Contemplative Education : From Seedlings to Blossoms) วันพฤหัสบดีที่ 15 และวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2559 ณ มหิดลสิทธาคาร และ อาคารศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

โดยงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวมหิดล มีสติรู้ตัว เตรียมพร้อมรับมือกับภาวะปกติใหม่ (New Normal) และสภาพการผันผวนของโลกแบบ VUCA ที่กำลังเผชิญอยู่ คือ มีความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) และความกำกวม (Ambiguity) สูง ภาวะตื่นรู้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เรารู้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง และเกิดปัญญา สามารถมุ่งสู่ความเป็นเลิศ World Class University ได้อย่างมีความสุข ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

ในงานนี้ ได้ฟังปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การตื่นรู้: อนาคตของมนุษยชาติที่กำลังผุดบังเกิด (Awakening: The Emerging Future of Mandkind) โดย ศ. เกียรติคุณ นพ. ประเวศ วะสี  เป็นการบรรยายที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จึงขออนุญาตถอดความ สรุปการบรรยายของท่านอาจารย์ มาให้ผู้สนใจได้อ่านกันค่

อนาคตของมนุษยชาติ ไม่ใช่แบบที่พูดกันว่า ประเทศไทย 4.0 หรือเป็นสังคมดิจิทัล อนาคตของมนุษยชาติต้องไปไกลกว่านั้น เป็น สังคมแห่งการตื่นรู้ หรือ สังคมจิตสำนึกใหม่ จึงจะเกิดความลงตัวของการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ

IMG_2757.JPG

การอยู่ร่วมกันด้วยสันติ เป็นสิ่งสูงสุดของความเป็นมนุษย์ 

ซึ่งขณะนี้ เรายังไม่สามารถมีการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ที่กำลังมีวิกฤติการณ์ทั่วโลก เป็นวิกฤติการณ์ของการอยู่ร่วมกัน ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม และไม่มีทางจะเกิดขึ้นด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างที่พยายามพูดกัน แม้เราจะพยายามพัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกัน นำไปสู่ปัญหาต่างๆ รวมทั้งเกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า เรื่องโลกร้อน นำไปสู่หายนะภัยต่างๆ มีความขัดแย้ง เช่นในตะวันออกกลาง มีการก่อการร้ายสากล มีความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกและโลกอิสลาม และ spin off ไปเป็นเรื่องราวต่างๆ สารพัด ไม่มีวิธีการอื่นจะแก้ได้ นอกจากมนุษย์เกิดจิตสำนึกใหม่ (New Conciousness) เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) สมองของมนุษย์มีศักยภาพที่ตรงนี้  และรอให้ใช้มาประมาณสองแสนปีแล้ว แต่การเรียนรู้ต่างๆ ในปัจจุบันไปไม่ถึงการใช้ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์

สิ่งที่กำลังผุดบังเกิดเห็นชัดเจน เป็นกระแสใหญ่ (Megatrends) ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการเกิดขึ้นของจิตสำนึกใหม่ หรือจะเรียกว่าการตื่นรู้ก็ได้ อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในที่สุด เพราะฉะนั้น เราไม่ควรมองเฉพาะสิ่งที่พูดกันว่า ประเทศไทย 4.0 ควรจะมองเลยไปให้ไกล สิ่งที่เราจะคุยกันวันนี้ และตั้งชื่อว่า “การตื่นรู้: อนาคตของมนุษยชาติที่กำลังผุดบังเกิด” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของความเป็นมนุษย์

  • “การตื่นรู้” เป็นประสบการณ์ ไม่ใช่วิชาการหรือการคิดคำนวณ ต้องประสบเอง ต้องรู้เอง ประสบการณ์มีความสำคัญเพราะเป็นของจริง
  • มนุษย์บางคนเกิดประสบการณ์แปลกประหลาดขึ้นในตัวเอง คือ เกิดความแจ่มแจ้ง เบาเนื้อเบาตัว มีปิติสุขอย่างลึกล้ำ ซึมซ่านทั่วสรรพางค์กาย ประสบความงามทุกทิศทุกทาง เกิดมิตรภาพอันไพศาลต่อคนทั้งหมดและสรรพสิ่ง ความมหัศจรรย์ในตัวเองเช่นนี้ ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อาจเรียกว่า สภาวะอันเป็นทิพย์ การเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า การเข้าถึงปรมาตมัน การตื่นรู้ การเข้าถึงสิ่งสูงสุด คือ ความจริง ความดี ความงาม การเข้าถึงความว่างจากตัวตน
  • ธรรมชาติมี 2 อย่าง คือ ธรรมชาติอันไม่ปรุงแต่ง สงบ เป็นอนันตกาล ต่อมาเอกภพเริ่มต้นขึ้นเมื่อเกิด Big Bang เมื่อประมาณ 6 พันล้านปี เกิดจักรวาล เกิดดวงดาว ดวงอาทิตย์ ธรรมชาติเกิดการปรุงแต่ง เกิดเป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ เป็นมนุษย์ เป็นอะไรต่างๆ ธรรมชาติที่ปรุงแต่ง ภาษาบาลีเรียกว่า สังขาร เป็นเบญจขันธ์ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เกิดความคิดปรุงแต่ง เข้าไม่ถึงธรรมชาติที่แท้จริง จะจมอยู่ในความคิด ถูกความคิดบีบคั้น ไม่เป็นอิสระ ถ้าจิตสงบ จะไปสัมผัสความจริงตามธรรมชาติ เกิดการตื่นรู้ รู้ความจริง
  • การตื่นรู้เกิดจากอะไรได้บ้าง
  • พหุบท (Multiple Pathways) สู่การตื่นรู้ 
    1. สัมผัสธรรมชาติที่ใหญ่ และเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด จิตที่ปรุงแต่งจะอยู่กับตัวเอง เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง จึงคับแคบ และถูกบีบคั้น ถ้าไปสัมผัสกับธรรมชาติที่มันใหญ่กว่าตนเอง จิตจะเป็นอิสระขึ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงชอบเห็นธรรมชาติที่ใหญ่ ชอบไปสัมผัสธรรมชาติ สายลมแสงแดด แล้วจะมีความสุข เห็นท้องฟ้า มหาสมุทร ถ้าจะให้เกิดการตื่นรู้ จิตสงบจากการปรุงแต่ง จะต้องเข้าป่า ไปสัมผัสธรรมชาติล้วนๆ นักบินอวกาศคนหนึ่งชื่อ เอ็ดการ์ มิตเชล เมื่อออกไปยังดวงจันทร์แล้วมองกลับมา เห็นโลกทั้งใบ โลกทั้งโลกเป็นหนึ่งเดียว เมื่อกลับมายังโลก มุมมองของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เกิดจิตสำนึกใหม่
    2. กาย : การเคลื่อนไหวทางกาย โยคะ ไทเก๊ก การทำงานทุกชนิด ถ้ามีสติรู้ขณะร่างกายเคลื่อนไหว ก็จะถอนตัวออกจากความคิดปรุงแต่ง ทำให้สัมผัสความจริงได้ ความทุกข์เกิดจากการคิด ถ้าหยุดคิดได้ก็จะหายทุกข์ ถ้าเราทำงานด้วยสติ รู้ตัวในสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะทำงานอะไร จะเกิดความสุขไปหมด เป็นกำไรชีวิตมหาศาล
    3. วาจา : สุนทรียสนทนา ตั้งใจฟัง เน้นการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) พิจารณาด้วยความเงียบ ผ่านการกลั่นกรองด้วยปัญญา ปฏิสัมพันธ์โดยไม่ใช้อำนาจ ไม่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ถ้าเราเข้าใจสุนทรียสนทนา ก็จะเกิดการตื่นรู้ได้  ไม่พูดเปรี้ยง-ทำเปรี้ยง ไม่ตอบโต้ทันทีด้วยอารมณ์ ทฤษฎีตัวยู (Theory U) ของ Otto Scharmer บอกว่า ถ้าเรารับรู้อะไรไป ให้พิจารณาด้วยความเงียบ อย่าเพิ่งเชื่อหรือปฏิเสธ ใช้เวลาคิด พิจารณา ใคร่ครวญให้นานขึ้น ดึงปฏิสัมพันธ์ให้ยาวลงไปเป็นรูปตัว U เรียกว่า แขวนไว้ก่อน (suspend) จากนั้นพิจารณาดูเงียบๆ ความเงียบทำให้เกิดปัญญา เมื่อลงไปถึงก้นตัว U จะใช้คำศัพท์เรียกว่า presencing  ซึ่งเป็นสภาพจิตที่สงบ เป็นอุเบกขา เปี่ยมด้วยปัญญา ก่อนที่จะเป็นขาขึ้นของตัว U และตอบโต้ออกไป วิธีนี้จะเป็นการพัฒนาให้เกิดจิตสำนึกใหม่
    4. ใจ : ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ เป็นปฏิสัมพันธ์โดยไม่ใช้อำนาจ  ความรักของแม่ การเลี้ยงลูก ถ้าเข้าใจ จะทำให้เกิดจิตสำนึกใหม่ พัฒนาตัวเองได้ ความเมตตา การแผ่เมตตาจะทำให้หลุดจากปัญหา ถ้ามีเมตตา ก็จะไม่มีความโกรธ เพราะเมตตาเป็นข้าศึกของความโกรธ การคิดโดยใช้เหตุผลถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ ให้ใช้ความเมตตา จิตอาสา การทำเพื่อผู้อื่น ก็เช่นกัน ย่อมทำให้เกิดจิตสำนึกใหม่
    5. ศิลปะ : “ความจริง ความดี ความงาม” เป็นสิ่งสูงสุด ทั้งสามสิ่งนี้อยู่ด้วยกัน ดังนั้น ผ่านความดี ความงาม จะเข้าถึงความจริงได้
    6. การศึกษา : การศึกษาที่มีทุกวันนี้ ไปไม่ถึง  คณาจารย์มีความทุกข์ มีความขัดแย้งกันทั่วไปหมด มหาวิทยาลัยเป็นดินแดนแห่งความทุกข์ แสดงว่าการเรียนรู้ยังไม่ถูกต้อง การเรียนรู้ที่ดี ควรนำไปสู่ความสุข ควรไปสู่สิ่งสูงสุด คือ ความจริง ความดี ความงาม (นี่เป็นสาเหตุที่มีศูนย์จิตตปัญญาศึกษาขึ้น ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแห่งแรก)
    7. ปัญญา : การคิดถึงความจริงของชีวิต (เอ็กค์ฮาร์ท โทลเล  เคยคิดที่จะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเขาพูดออกมาว่า I can’t live with myself any longer. แล้วเกิดการกระตุกทางปัญญา กับคำว่า I และ myself เกิดการตื่นรู้ขึ้นมา เข้าไปสู่สภาวะความไม่มีตัวตน ค้นพบอนัตตา ทำให้เกิดเป็นความสุข ต่อมาเขาได้เขียนหนังสือชื่อ “The Power of Now” อำนาจพลังแห่งปัจจุบันขณะ
    8.  ภาวนา : ทุกศาสนาเหมือนกันหมดโดยหลักการ คือ  “ศีล – สมาธิ – ปัญญา” เป็นวิธีการเชิงระบบ แต่รวมทั้งหมดเรียกว่าเป็น  “ภาวนา”
  • สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนมากที่สุด ในปีที่ประทับอยู่ที่เขาคิชกูฎเป็นครั้งสุดท้าย คือ ธรรมะที่ชื่อ อปริหานิยธรรม  มี 7 ข้อ ข้อที่ 1 คือ หมั่นประชุมกันเป็นเนืองนิตย์ ข้อ 2 คือ พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ เป็นธรรมะเพื่อความไม่ฉิบหาย เป็นธรรมะแห่งการรวมตัว ร่วมคิดร่วมทำ มีความเป็นสังคมชุมชน
  • เรื่องที่ซับซ้อนและยาก แก้ปัญหาด้วยวิธีและความรู้เก่าๆไม่ได้ การใช้เงิน การใช้ความรู้สำเร็จรูป การใช้ความรุนแรง ด่าทอ วิพากย์วิจารณ์ นั้นแก้ไม่ได้ เนื่องจากการทำอะไรให้สำเร็จจะมีคนเกี่ยวข้องมาก มักมีความซับซ้อนมาก มีหลายมิติ หลายแง่มุม ต้องใช้การเรียนรู้ร่วมกัน ในการปฏิบัติ ในสถานการณ์จริง(Interactive Learning through Action)  ต้องเรียนรู้ร่วมกัน ใครจะไปเก่งคนเดียวก็ไม่ได้ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation)
  • การเรียนรู้ร่วมกัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน 8  ประการ ได้แก่
    • เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของทุกคน
    • เคารพความรู้ในตัวคน (ถ้าเราเคารพความรู้ในตำรา คนส่วนน้อยเท่านั้นจึงจะมีเกียรติ / แม่เป็นครูที่ดีที่สุด เพราะมีความรู้ในตัว แม้ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย  / สังคมที่เป็นอำนาจนิยม มักมีมายาคติมาบดบัง หรือเป็นเพียงวาทะกรรม ไม่ใช่ปฏิบัติจริง)
    • เอื้ออาทรและจริงใจต่อกัน
    • เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน
    • เกิดสามัคคีธรรม เกิดพลังทางสังคม
    • เกิดปัญญาร่วม และจะเกิดนวัตกรรมขึ้นเสมอ เรียกว่าเกิด Group Genious (คนต่างกันเจอกัน จะเกิดของใหม่ขึ้น เช่น Hydrogen เจอ oxygen เกิดเป็น H2O)
    • ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ
    • เกิดความสุข ประดุจบรรลุนิพพาน

Screen Shot 2559-12-15 at 11.07.06 PM.png  Screen Shot 2559-12-17 at 12.25.35 AM.png

  • “สติ” คือ การตื่นรู้
  • “ประมาท” คือ ความหลับไหล ความไม่มีสติ
  • การเจริญสติ ทำให้จิตสงบ อยู่กับปัจจุบัน เป็นอิสระ เกิดความสุข การเจริญสติ เป็นทางสายเอก
  • มีผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสติไว้หลายเล่ม เช่น ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ของท่านติช นัท ฮันห์ / The Power of Now ของ Eckhart Tolle / The Power of Mindfulness ของพระญาณโปนิกมหาเถระ  (พระชาวเยอรมันไปบวชที่ศรีลังกา)

ผลแห่งการเจริญสติ คือ

  • มีสุขภาพดี ลดความเครียด
  • ภูมิคุ้มกันเพิ่ม อายุยืน
  • เพิ่มการเรียนรู้ – ความจำ
  • ส่งเสริมสัมพันธภาพ – การอยู่ร่วมกัน
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางสมอง – หลั่งสารสุข
  • ประสบความสุขและความงามอย่างล้นเหลือ => ชีวิตใหม่

การเจริญสติ เป็นกระแสใหญ่ (Megatrends)  พยากรณ์ได้ว่า ต่อไปมนุษย์ทั้งโลกจะเจริญสติ เพราะทำให้เกิดความสุข ทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นไปได้

สุดท้าย นอกจากปัจเจกบุคคลจะเจริญสติแล้ว จะเป็นการเจริญสติระดับสถาบัน เป็นองค์กร ชุมชนแห่งการเจริญสติ ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มีศูนย์จิตตปัญญาศึกษา จึงควรเป็นมหาวิทยาลัยแรก ที่ประกาศว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเจริญสติ มหาวิทยาลัยมหิดลประกาศตัวว่าจะเป็นปัญญาของแผ่นดิน ก็จะได้เป็นจริงๆ และสอดคล้องกับอนาคตที่กำลังจะบังเกิดขึ้น ว่าเป็นอนาคตของมนุษย์ที่เจริญสติ และนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันเป็นสิ่งสูงสุดของมนุษยชาติ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Ruchareka blog

IMG_2760.JPG

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น