อันดับความโปร่งใสปี 2563 ไทยได้คะแนน 36/100 และอยู่ที่อันดับ 104/180 ของโลก

ถิรพร สิงห์ลอ

ปี 2563 เป็นปีเลวร้ายด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคและผลกระทบที่เกิดขึ้นในทุกแง่มุมของสังคม ในขณะเดียวกัน องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)  มองว่าเป็นปีที่เลวร้ายในแง่ของวิกฤติการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับวิกฤติประชาธิปไตย และการทุจริตนี้ก็อาจจะเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้มีผู้สูญเสียชีวิตจากวิกฤติทางสาธารณสุขมากขึ้นเพราะไม่สามารถทำให้โลกตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกคน หรือมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณสุขด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นปีที่นานาประเทศมีความก้าวหน้าในการจัดการกับประเด็นการทุจริตเพียงเล็กน้อย ซึ่งมีมากกว่า 2 ใน 3 ที่มีคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน จาก 100 คะแนน

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้เผยแพร่คะแนนความโปร่งใส ปี 2563 ตามดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) ซึ่งเป็นการวัดคะแนนจากหลากหลายแหล่งที่มา โดยไทยได้คะแนน 36 จาก 100 คะแนนเต็ม และอยู่ในอันดับที่ 104 จาก 180 ต่อเนื่องจากปี 2562 โดยอยู่ในลำดับที่ 5 ของอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์ได้ 85 คะแนนและอยู่ที่ดันอับที่ 3 ของโลก และอันดับหนึ่งของโลกเป็นของเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ที่ 88 คะแนน

ทั้งนี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ มีคำแนะนำ 4 ข้อ ดังนี้

  • เสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กร/สถาบันที่ทำหน้าที่ต่อต้านหรือสอดส่องการทุจริตคอรัปชั่น โดยจะต้องมีเงินทุนและทรัพยากรที่เพียงพอ และเป็นอิสระที่จะดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ของตน
  • จะต้องมีสัญญาการว่าจ้างที่เปิดเผยและโปร่งใสเพื่อป้องกันการกระทำที่มิชอบ ชี้การขัดกันทางผลประโยชน์ และมีการตั้งราคาที่เป็นธรรม
  • ต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตยและพื้นที่ของพลเมือง (civic space กล่าวคือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน) เพื่อสร้างเงื่อนไขที่จะช่วยให้รัฐบาลต้องยึดมั่นกับการแสดงความรับผิดรับชอบ และ
  • ต้องเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณะ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้

การพัฒนามนุษย์และสังคมให้มีความยั่งยืนมีความสัมพันธ์กับหลักนิติรัฐ และการทุจริตคอร์รัปชั่นมีความสัมพันธ์กับการมีสันติภาพ ความยุติธรรม สังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สถาบันที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบ และมีประสิทธิภาพ ยิ่งมีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากเท่าใดยิ่งเป็นอุปสรคคต่อการพัฒนาและเศรษฐกิจ เพราะได้พรากทรัพยากรสาธารณะไปจากความสามารถในการให้บริการพื้นฐานที่จำเป็นแก่ประชาชน เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ทำลายหลักนิติรัฐ และความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล

โดยไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 16 โดยตรง ที่มุ่งลดประเด็นการติดสินบน การเพิ่มความเข้มแข็งให้กับองค์กร/สถาบัน และการเข้าถึงข้อมูลแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบหรือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะบอกว่าการพัฒนา SDGs ในทุกเป้าหมายนั้นจะประสบผลสำเร็จได้หรือไม่

แหล่งอ้างอิง:

https://www.transparency.org/en/press/2020-corruption-perceptions-index-reveals-widespread-corruption-is-weakening-covid-19-response-threatening-global-recovery#

https://www.transparency.org/en/cpi/2020/index/tha

#SDGWatch #ihpp #SDG16

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น