SDG Updates | ACT NOW! in “DECADE OF ACTION (2021-2030)” : อัปเดตความก้าวหน้า สำรวจความท้าทาย แล้วลงมือทำได้เลย!

ถิรพร สิงห์ลอ

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดเสวนาวิชาการ (ออนไลน์) “ความก้าวหน้าและความท้าทายในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย” โดยมี ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move เป็นวิทยากร

SDG Move ได้สรุปสาระสำคัญที่ประชาชนคนไทยควรรู้ ฉายภาพเส้นทางความคืบหน้าของการสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ การวางแผนและเตรียมการกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในบริบทของไทย และเมื่อเราเข้าสู่ห้วงสำคัญของการลงมือทำ “Decade of Action (2021-2030)” อย่างเป็นทางการแล้ว ประเด็นใดที่ยังคงเป็นความท้าทาย และอะไรบ้างที่ควรคำนึงถึงเมื่อพูดถึง SDGs

ปูพื้นความเข้าใจ SDGs
สำหรับชาวราชการและแบบฉบับภาษาชาวบ้าน

ด้วยความที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ผลักดันโดยสหประชาชาติ พร้อมกับการมีส่วนร่วมของคนกว่า 8.5 ล้านคน เป็น “แนวทาง” มากกว่าผูกพันกับรัฐบาลในเชิงบังคับให้ทำ/มีบทลงโทษ ประชาคมโลกจึงสามารถรับมาปรับใช้ด้วยความสมัครใจเพื่อช่วยปรับวิธีคิดและมองการพัฒนาในแง่มุมที่หลากหลาย ไม่จำกัดอยู่เพียงประเด็นสิ่งแวดล้อม “ที่ยั่งยืน” เท่านั้น แต่ SDGs ยังครอบคลุมทุกมิติของชีวิตมนุษย์ โดยหากจัดเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายเป็นหมวดหมู่จะสามารถแบ่งออกได้ 5 กลุ่ม ดังนี้

“คน” [ (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาพและสุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ ]

“ความมั่งคั่ง” [ (7) พลังงาน (8) งานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (9) อุตสาหกรรม นวัติกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (10) ความไม่เท่าเทียม/ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและชุมชน ]

“โลก” [ (6) น้ำและสุขาภิบาล (12) การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (14) ทะเลและมหาสมุทร (15) ระบบนิเวศบนบกและความหลากหลายทางชีวภาพ ]

“สันติภาพ” [ (16) สันติภาพ ความยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิภาพ]

“ความร่วมมือ” [ (17) หุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก และระหว่างภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ]

โดยเครื่องมือ/กลไกที่จะนำมาใช้ผลักดันให้การพัฒนาในมิติต่าง ๆ เป็นไปอย่างยั่งยืน มีอยู่หลากหลายและไม่จำกัด ตราบเท่าที่สามารถสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนได้ ซึ่งแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็ถือเป็น “หนึ่งในเครื่องมือ/กลไก” ที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนในบางประเด็นและเป้าหมาย

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับ สอดคล้อง และเชื่อมโยงกับ SDGs ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐที่เร่งดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ อาจไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดกับ “การบรรลุ” ทุกเป้าหมายหรือบางเป้าหมายให้เป็น “สีเขียว” (บรรลุเป้าหมาย 100%) เพื่อยืนยันว่ามีความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะบางลักษณะงานหรือประเด็นที่ตั้งใจผลักดัน อาจมีส่วนเกี่ยวข้องเฉพาะกับบางเป้าหมายเท่านั้น รวมทั้งการจะบอกว่ายั่งยืนหรือไม่ ยังมีตัวแปรเป็นสถานการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ณ ปัจจุบัน และย่อมส่งผลกับการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

การดำเนินการตลอดจนการรายงานประเด็น SDGs จึงเป็นการฉายภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อนึ่ง แก่นแท้อย่างวิธีคิดเพื่อความยั่งยืนและลงมือทำโดยเริ่มต้นจากตัวเราต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญ

บทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อ SDGs

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อทุกแวดวง ซึ่งมีทั้งผลกระทบในเชิงบวกและเชิงลบต่อเป้าหมาย SDGs ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเผยให้เห็นและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น (เป้าหมายที่ 10) มีรายงานว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงภายในบ้านมากขึ้น (เป้าหมายที่ 5) การที่วิถีชีวิตทั้งพฤติกรรมการบริโภค แนวทางการประกอบธุรกิจ และรูปแบบการทำงานได้พึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น (เป้าหมายที่ 9) ทุกประเทศใส่ใจทุ่มงบประมาณเพื่อดูแลประชากรภายในประเทศของตนมากกว่าความร่วมมือระหว่างประเทศ (เป้าหมายที่ 17) ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ สถานการณ์ SDGs ในเป้าหมายข้างต้นถดถอยลง ขณะเดียวกันการหยุดชะงักลงของการเดินทางและการเคลื่อนย้ายของคนไปชั่วขณะส่งผลให้สิ่งแวดล้อมฟื้นฟูได้ดีขึ้น (เป้าหมายที่ 14, 15) เป็นต้น ในแง่หนึ่ง โควิด-19 ทำให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์และความสัมพันธ์ของประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงไว้ด้วยกันและส่งผลกระทบต่อกันเป็นห่วงโซ่ พร้อมกับชี้ให้เห็นสถานะและความต้องการของกลุ่มเปราะบางในสังคม ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusiveness) ของ SDGs

ความก้าวหน้าของไทย
และเรากำลังทำอะไรอยู่ ณ ตอนนี้ ?

2559 – 2563 (2016 – 2020)

เมื่อเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) สิ้นสุดลงในปี 2558 (2015) ไทยได้ถอดบทเรียน สานต่อความสำเร็จและประเมินประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการจาก MDGs ไปสู่การ เตรียมการและวางรากฐาน SDGs ตั้งแต่ปี 2559 (2016) เป็นต้นมาจนถึงปี 2563 (2020) ซึ่งเป็นระยะเวลา 5 ปีแรกที่ไทยมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับการจัดตั้งกลไกระดับชาติอย่าง “คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.)” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเป็นการดำเนินการในระดับนโยบายที่ส่งเสริมภาคีและหุ้นส่วนการพัฒนาที่ดำเนินการเชิงรุก (active partners) ทั้งกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในทุกประเด็น พร้อมกับพยายามทำ SDGs ให้เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ (Localizing / SDG Localization) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความยั่งยืน โดยเริ่มนำร่องในระดับจังหวัด 9 จังหวัด รวมถึงพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น

ไทยได้มีรายงานทบทวนระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review) ประจำปี 2017 (2560) ซึ่งได้นำเสนอในเวทีทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) และจะได้มีการรายงานอีกครั้งในปี 2564 นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำลังจัดทำ “รายงานระยะ 5 ปี” ซึ่งเป็นการทบทวนสถานะ SDGs ของไทยตามรายเป้าประสงค์ทั้งหมด โดยคาดว่าจะได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณชนภายในปี 2564 นี้

ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ รักษาการผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ชาติและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สศช.

Decade of Action 2564 – 2573 (2021-2030)

ดร.ธัชไท กล่าวถึงสิ่งที่ไทยมุ่งทำต่อเพื่อบรรลุ SDGs ว่า ปัจจุบันไทยมีแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand SDGs Roadmap) โดยมีการสร้างตระหนักรู้ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจ SDGs ซึ่งสถาบันการศึกษาบางสถาบันก็ได้เริ่มผลักดันให้ SDGs เป็นวิชาเลือกในหลักสูตรการเรียนแล้ว ในแง่การมีส่วนร่วมยังได้ผนวกภาคีการพัฒนา กลไกการขับเคลื่อนที่ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงขยายขอบเขตการดำเนินงาน SDGs ไปยังระดับพื้นที่ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้ SDGs ผนวกรวมอยู่ใน “แผนระดับจังหวัด” ในอนาคต

นอกจากนี้ ในแง่ยุทธศาสตร์และการติดตามประเมินผล มีการดำเนินการสำคัญ 2 ประการคือ การเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ เข้ากับแผน 3 ระดับของประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ นั่นหมายความว่าสำหรับการดำเนินการของภาครัฐจะเป็นการตอบทั้งเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและเป้าประสงค์ของ SDGs ไปพร้อมกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบติดตามประเมินผล รวมทั้งการจัดทำตัวชี้วัดตามบริบทของประเทศไทยเพื่อสำรวจดูความคืบหน้าและประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยคาดว่าจะมีการพัฒนาระบบดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปีนี้

และแน่นอนว่าเมื่อเป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ เราทุกคนจึงเป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนาที่สำคัญที่สุดและสามารถลงมือทำได้เลยทันที ในฐานะปัจเจกบุคคล ในฐานะที่มีบทบาทอยู่ในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม จวบจนภาคการศึกษา

ความท้าทาย

วิทยากรทั้งสองท่านต่างเห็นพ้องกันในประเด็นความท้าทายที่ไทยมีร่วมกับประเทศอื่นในโลก พร้อมกันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ยังได้เพิ่มเติมข้อสังเกตความท้าทายตามบริบทของประเทศไทยด้วย

ความท้าทายที่ไทยมีร่วมกับประเทศอื่นในโลก

“การเก็บข้อมูลและจัดทำตัวชี้วัด” ยังคงเป็นปัญหาพื้นฐานแต่สำคัญที่สุดในการวัดผลความก้าวหน้าของการดำเนินการ “Global indicators” หรือตัวชี้วัดที่กำหนดใน SDGs นั้นเปรียบเสมือนไม้บรรทัดขนาดใหญ่ที่นำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับทุกประเทศที่ให้การรับรอง SDGs ทว่าบริบทแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลจากหลากหลายแหล่งและประเภท ในระดับองค์กร/พื้นที่/ท้องถิ่น/ประเทศ รวมไปถึงการสร้างความต่อเนื่องของการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอที่จะนำมาปรับใช้และจัดทำตัวชี้วัดของประเทศ ขณะที่วิธีการทางสถิติและการจัดทำตัวชี้วัดนั้นก็ต้องมีการหารือและพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

 “แปลงระดับโลกย่อส่วนเป็นระดับพื้นที่ แปลงการรายงานเป็นการลงมือทำในระดับพื้นที่” เพราะความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จริง ต้องมีการ “Mainstream” สู่ระดับท้องถิ่น เป็นการพัฒนาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ได้ และให้คนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการและตัดสินใจด้วย

ความท้าทายสำหรับไทย

การพินิจดูความท้าทายของไทยเป็นที่เฉพาะ ต้องดูบริบทและสถานการณ์ทั้งระดับสถาบัน นโยบาย การปฏิบัติ และการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วนว่าให้ความสำคัญและลงมือทำ SDGs มากน้อยเพียงใด อาทิ

  • อุดมการณ์และทัศนคติทางการเมือง/เศรษฐกิจของไทย หรือ ศักยภาพของไทยเป็นอย่างไร ย่อมส่งผลต่อมุมมองและวิธีคิดที่มีต่อการพัฒนาตามหลักของ SDGs และย่อมส่งผลต่อ SDGs บางเป้าหมายด้วย อาทิ เป้าหมายที่ 16 ว่าด้วยสันติภาพ ความยุติธรรม สถาบันที่มีความรับผิดชอบ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ
  • นโยบายและสถาบัน/องค์กร/ส่วนงาน มีการทำงานที่สอดคล้องและเชื่อมโยงเป็นเอกภาพหรือไม่
  • มีวิธีการในการบรรลุเป้าหมาย (Means of Implementation) ซึ่งเป็นกลไกเชิงระบบสำหรับแผนงานการขับเคลื่อน อาทิ เงินทุนสำหรับการดำเนินการ การเพิ่มศักยภาพของบุคลากร เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานการพัฒนาหรือไม่ โดยเฉพาะกลไกที่ส่งเสริมการทำงานของภาคีเครือข่ายการพัฒนา
  • มีการทำงานร่วมกันข้ามสายเพื่อแลกเปลี่ยนและเติมเต็มทักษะความรู้ พร้อมทำ SDGs ไปด้วยกันหรือไม่ อาทิ การทำงานร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์กับสายสังคมศาสตร์ วิศวกรกับนโยบายสาธารณะ
  • ภาคส่วนงานวิจัยและวิชาการ ซึ่งเป็นส่วนที่ผลิตชุดองค์ความรู้ที่สำคัญ ควรให้สำคัญกับ SDGs มากขึ้น
  • ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามากน้อยเพียงใด

จะลงมือทำแล้วใช่มั้ย ?
อย่าลืมนึกถึงกุญแจสำคัญเหล่านี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move

หลังจากวิทยาทั้งสองท่านได้เสนอให้เห็นความก้าวหน้าและความท้าทายแล้ว ในช่วงท้ายของการเสวนาได้เน้นย้ำสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการนำ SDGs ไปใช้ในทางปฏิบัติ ว่านอกจากจะมุ่งบรรลุประเด็นทั้ง 17 เป้าหมาย การจะพิจารณาว่างาน/โครงการที่ทำสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ ต้องพิจารณา 3 หลักการสำคัญด้วย ได้แก่

3  หลักการสำคัญของ SDGs

  • Inclusive – การพัฒนาที่ครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยเน้นให้ความสำคัญกลุ่มเปราะบาง และลดเหลื่อมล้ำ วิธีการใดที่ดำเนินการแล้วไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกกลุ่มคนหรืออาจทำให้บางกลุ่มได้รับผลกระทบและตกหล่นไปจากการพัฒนา วิธีการนั้นควรพิจารณาตัดทิ้งไป เพราะไม่ช่วยสนับสนุนความยั่งยืน
  • Integrated – การพัฒนาอย่างบูรณาการ ทุกประเด็นต่างสอดรับสนับสนุนกัน จึงควรทำทุกประเด็นไปพร้อมกัน และร่วมมือทำด้วยกัน
  • Universal – การพัฒนาที่เป็นสากล กล่าวคือ ทุกคนเข้าใจและลงมือทำเหมือนกัน

เสริมหลัก SDGs กับ “Transformation การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบสู่การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน”
ปรับวิธีคิดและการลงมือทำ อุดช่องโหว่ความท้าทาย สู่ความยั่งยืน

วิทยากรทั้งสองท่านได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า หากเรายังคงลงมือทำด้วยวิธีการและความเร่งเท่าที่เคยทำอยู่ โลกจะไม่สามารถบรรลุ SDGs ได้ทันปี 2030 ดังนั้น สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทำคือ หันกลับมาปรับเปลี่ยนทั้งวิธีคิด และลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน โดยมีประเด็นต้องพิจารณา ดังนี้

  • การมองเชิงระบบ การทบทวนผลของการดำเนินการว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหรือไม่ สำรวจความเชื่อมโยง (Interlinkage) ของประเด็นระหว่างกัน
  • ทำงานแบบเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ขับเคลื่อนเป็นระบบ มียุทธศาสตร์ที่กำหนดประเด็นที่จะเน้นให้ความสำคัญ มีความสอดคล้องเชิงนโยบาย (Policy Coherence) และความสอดคล้องเชิงสถาบัน (Institutional Coherence)
  • Means of Implementation
  • “Synergies ลด trade-offs” ผนึกกำลังทำให้ดีขึ้นไปพร้อมกันกับลดผลกระทบด้านลบ กล่าวคือหากลงมือทำแล้วมีผลลัพธ์ที่ย้อนแย้งหรือตรงข้ามกัน (ไม่ดีขึ้นทั้งหมด) จำเป็นต้องปรับ/เปลี่ยนวิธีการใหม่ เพื่อให้ยั่งยืนมากขึ้น
  • “Circularity and Decoupling” การพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกันหากลงมือทำแล้วมีผลลัพธ์ที่ย้อนแย้ง ก็จำเป็นต้องปรับ/เปลี่ยนวิธีการใหม่
  • มีทุนวิจัยเกี่ยวกับ SDGs สำหรับภาคส่วนงานวิจัยและวิชาการ มีการเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แบบสหวิชาชีพและประเด็นความยั่งยืน โดยต้องมีส่วนในการผลักดัน ติดตาม และประเมินนโยบายได้อย่างอิสระ
  • เวทีและกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

สุดท้ายนี้ อย่าลืมว่า เราทุกคนเป็นแรงกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาให้มีความยั่งยืน และเยาวชนเป็นกลุ่มที่สำคัญที่จะแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจกำหนดทิศทาง และลงมือทำเพื่อปัจจุบันและอนาคตที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ บุคคลที่สนใจ สามารถติดตามข่าวสารเรียนรู้ SDGs หรือเข้าไปมีส่วนร่วมได้ตามช่องทางเหล่านี้

งานศึกษาประกอบประเด็น “การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบสู่การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน” จากงานเสวนาวิชาการ:

https://resources.unsdsn.org/six-transformations-to-achieve-the-sustainable-development-goals-sdgs
https://sustainabledevelopment.un.org/content/documents/24797GSDR_report_2019.pdf

“เพราะ SDGs เป็นเรื่องของ

ทุกคน เพื่อทุกคน และเราทุกคนสามารถลงมือสร้าง

ความเปลี่ยนแปลงได้เลย”

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น