น้ำประปากร่อย – น้ำประปาเค็ม มีนัยยะอย่างไรสำหรับ #SDG6

ถิรพร สิงห์ลอ

น้ำที่สะอาดและปลอดภัยสำหรับการอุปโภคและบริโภค (Safe water) สำหรับการดื่ม กระบวนการเตรียมอาหาร สุขอนามัย และการทำความสะอาด เป็นวาระระหว่างประเทศที่มีความสำคัญอันดับต้น เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและปัจจัยสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตและกิจกรรมของมนุษย์ในทุกแง่มุม โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงและมีน้ำสะอาดใช้อย่างเพียงพอ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การพูดถึงประเด็นภาวะน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเรื่องน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ชายฝั่งหลายจังหวัดรอบอ่าวไทย ทำให้หลายภาคส่วนรวมถึงประชาชนมีความตื่นตัวกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ต้นปี 2564 น้ำทะเลบริเวณปากอ่าวไทยที่หนุนสูงขึ้นกว่าปกติและเร็วกว่าที่คาดไว้ เป็นประเด็นใหม่เรื่องภาวะน้ำขึ้นน้ำลงและค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น เกิดปรากฎการณ์น้ำประปากร่อยหรือน้ำประปาเค็มในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่คาดว่าจะยังคงอยู่ตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนเกิดคำถามว่าจะส่งผลต่อสุขภาพและการใช้น้ำอย่างไร

อย่างไรก็ดี การประปานครหลวง (กปน.) ยืนยันว่าจะมีน้ำที่เพียงพอและสะอาดปลอดภัยสำหรับการอุปโภคและบริโภคตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ดังนั้น ประเด็นที่มีจึงเป็นเรื่องของรสชาติน้ำประปาที่อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างในบางวันและบางเวลาในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งสำหรับ #SDG6 ก็มีการพูดถึง “คุณภาพน้ำ” หรือมาตรฐานน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยทั้งในด้านเคมี ชีวภาพ และกายภาพ โดย กปน. ชี้แจงว่าน้ำประปากร่อยหรือน้ำประปาเค็ม ณ ขณะนี้ กลุ่มคนปกติที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว สามารถบริโภคได้ตามปกติโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะมีระดับความเค็มที่ประมาณแก้วละ 35 มิลลิกรัม ซึ่งน้อยกว่าปริมาณการบริโภคเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน (2,000 มิลลิกรัม) ทว่าก็ควรมีการลดการปรุงอาหารหรือบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงควบคู่กันไปด้วย หรือควรนำมาผ่านระบบกรองน้ำ

นอกจากนี้ การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนหลักอย่างเขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์ให้เพียงพอกับการรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำเจ้าพระยา การใช้น้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงให้เพียงพอกับการอุปโภคบริโภคในหน้าแล้งและฤดูฝน (พฤษภาคม – มิถุนายน 2564) ก็ต้องประเมินความสมดุลกับการตัดสินใจปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อดันน้ำทะเลออกไป ในแง่นี้ การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องสำคัญในมุม #SDG6 โดยการที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกรมชลประทานหารือการบริหารจัดการน้ำ ยังต้องคำนึงแง่มุมอื่น อาทิ มุมมองของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเรื่องการปล่อยน้ำเพื่อเจือจางน้ำเค็มหรือเพื่อป้องกันความเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตรและการใช้น้ำของประชาชนด้วย ส่วนงานที่บริหารจัดการน้ำและที่เกี่ยวข้องต้องสร้างหลักประกันว่าจะมีน้ำที่ “เพียงพอ” และ “สะอาดปลอดภัย” สำหรับกิจกรรม อาทิ ในมิติสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ ความยากจน และสิ่งแวดล้อม จวบจนเกษตรกรรม พลังงาน และอุตสาหกรรม

ทั้งนี้  ในเบื้องต้น กปน. มีจุดบริการน้ำดื่มฟรี และมีช่องทางให้ประชาชนติดตามและตรวจเช็คคุณภาพน้ำประปาได้รายวัน ผ่านเว็บไซต์ www.mwa.co.th และช่องทาง facebook / twitter /IG / Line ชื่อ MWAthailand

“SDGs เป้าหมายที่ 6 สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคน และมีการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน : 6.1 กล่าวถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ 6.4 กล่าวถึงหลักประกันเรื่องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และ 6.5 กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม”

แหล่งที่มา:

https://www.thairath.co.th/news/local/2025445

https://www.intechopen.com/books/water-challenges-of-an-urbanizing-world/safe-drinking-water-concepts-benefits-principles-and-standards

#SDGWatch #ihpp #SDG6

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น