5 คำแนะนำสำหรับครูและผู้ปกครองในการสอนและสนับสนุนเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (Dyslexia) กับการเรียนระยะไกลในช่วงโรคระบาด

เด็กที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ (Dyslexia) หรือการมีปัญหาด้านการสะกดคำ ผสมคำ แยกเสียง และเชื่อมเสียง ทำให้มีอุปสรรคในการอ่านและเขียน รวมถึงการเรียนรู้ จดจำ และทำความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน (Learning Disorder) เป็นกลุ่มเด็กที่ต้องการรูปแบบการเรียนการสอนเฉพาะด้านที่เหมาะสม อาทิ การฝึกให้ใช้ทักษะการมอง การฟัง และการสัมผัส เพื่อช่วยให้สามารถสะกดและจดจำคำได้อย่างเข้าใจเนื้อความที่อ่านมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การวินิจฉัยหรือติดตามว่าเด็กคนใดที่น่าจะมีภาวะบกพร่องดังกล่าว ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย อย่างไรก็ดี คนรอบข้างทั้งครูและผู้ปกครองถือเป็นส่วนที่สำคัญที่จะต้องเข้าใจและให้การสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้เพื่อให้สามารถมีพัฒนาการที่ดีและเติบโตมาอย่างมีความสุข

ทว่าการเรียนรู้ทางไกลตามกฎการรักษาระยะห่างในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นความท้าทายต่อรูปแบบการสอนเฉพาะทางสำหรับเด็กกลุ่มนี้ อย่างการเรียนแบบตัวต่อตัวหรือการอ่านหนังสือด้วยกันแบบกลุ่มเล็ก ซึ่งเด็กจะเรียนรู้การพูด จดจำคำ และถอดความจากครูจากการเรียนในลักษณะนี้ได้ดีกว่า

Education Week จึงได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ 4 ท่านที่จะมาให้คำแนะนำ 5 ข้อสำหรับครูและผู้ปกครองเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีภาวะดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ปรับใช้หรือทบทวนวิธีการในช่วงโควิด-19

01 หลีกเลี่ยงรูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้สอนและผู้เรียนไม่อยู่ในเวลาและสถานที่เดียวกัน (asynchronous learning)

นักเรียนที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ต้องการคำแนะนำในการเรียนอย่างใกล้ชิด คือต้องมีการสอนให้อ่านเป็น (teaching children how to read) มากกว่าการกำหนดเรื่องที่เด็กจะต้องไปอ่านเอง (assigning reading) การเรียนรูปแบบปกติในโรงเรียนหรือกระทั่งการเรียนผ่านวีดีโอที่อัดไว้โดยให้เด็กพยายามทำความเข้าใจถอดความคำสั่ง (instruction) เองนั้นไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กกลุ่มนี้

02 หาวิธีการใหม่ที่จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนเด็ก

ครูต้องแนะนำเด็กและผู้ปกครองว่าสามารถหาความช่วยเหลือได้อย่างไรและจากช่องทางใด เพราะเด็กในแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกันอย่างเด็กวัยมัธยมต้นและปลายอาจจะสามารถขอคำปรึกษาจากอาจารย์ได้ แต่เด็กในวัยประถมนั้นอาจไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องคอยสังเกตและสนับสนุนเด็กให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียน รวมถึงเข้าใจอุปสรรคที่เด็กกลุ่มนี้มี โดยเฉพาะประเด็นการใช้เทคโนโลยีในการเรียน

03 ทบทวนว่าจะสอนอะไรและจะสอนอย่างไร

ครูไม่สามารถใช้รูปแบบการสอนแบบออฟไลน์เช่นเดิม เพียงแค่แปลงเป็นรูปแบบออนไลน์เท่านั้นได้ ครูต้องเข้าใจเด็กกลุ่มนี้และเข้าใจการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความพิการ โดยเฉพาะลักษณะที่มีผลต่อการเรียนรู้ โดยการให้งานอ่านหรือเขียนในปริมาณเดิมหรือมากขึ้นอาจไม่ตอบโจทย์ นอกจากนี้ ครูควรที่จะถามไถ่เรื่องสภาพการเรียนและให้คำแนะนำเด็กแต่ละคนเป็นการส่วนตัว

04 ใช้การเรียนการสอนระยะไกลให้เกิดประโยชน์

รูปแบบวิธีการสอนออนไลน์สำหรับเด็กกลุ่มนี้ อาจให้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะบกพร่องในการเรียนรู้เป็นผู้สอนโดยเฉพาะ

05 นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

ครูอาจใช้เครื่องมือที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการสอนทางไกล อาทิ การถอดคำพูดเป็นข้อความ (speech-to-text) หรือถอดข้อความเป็นคำพูด (text-to-speech) เพื่อช่วยสอนให้เด็กกลุ่มนี้สามารถฟัง เห็น และจดจำคำศัพท์ได้

ทั้งนี้ การมีเครื่องมือและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็กและผู้พิการ เป็นส่วนหนึ่งของ #SDG4 ว่าด้วยเรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพ ครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

แหล่งที่มา:

https://www.edweek.org/teaching-learning/5-ways-to-remotely-support-students-with-dyslexia/2021/02

#SDGWatch #ihpp #SDG4

Last Updated on กุมภาพันธ์ 15, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น