Machine Learning กับการเป็น ‘เครื่องมือติดตาม’ ผลกระทบจากการใช้ที่ดินของมนุษย์ที่มีต่อ #SDG15

สองนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน School of Global Environmental Sustainability มหาวิทยาลัย Colorado State และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Michigan พัฒนาส่วนการเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) หรือมันสมองของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้สามารถผลิต ‘แผนที่’ ฉายภาพดาวเทียมที่มองกลับมายังโลกและ ‘แปลความหมาย’ ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของภูมิทัศน์ (landscape) จากทั่วทุกมุมโลก อันเป็นผลมาจาก ‘การใช้ที่ดิน’ ของมนุษย์อย่างการตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมือง การขยายถนน การกลายเป็นเมือง และการทำเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยได้เผยแพร่เป็นเอกสารการศึกษา ‘A machine-learning approach to human footprint index estimation with applications to sustainable development’ ใน Environmental Research Letters Vol.16 No.4 ให้ผู้สนใจใช้เป็นเครื่องมือ ‘ตัวชี้วัดรอยเท้ามนุษย์’ (Human Footprint Index – HFI) ใหม่ที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด

ในกระบวนการพัฒนาแผนที่นั้น ทีมผู้พัฒนาได้ใส่ชุดข้อมูลที่มีอยู่เดิมแล้ว อาทิ ภาพดาวเทียมที่เป็นเสมือน ‘ตา’ มองจากนอกโลกเข้ามาเห็น ‘ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์’ ที่มีต่อโลก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนและอาคาร การแปลงที่ดินเพื่อการปศุสัตว์และการตัดป่าไม้ และดำเนินการเขียนโค้ด พัฒนา และฝึกฝน ‘อัลกอริทึ่มใหม่’ ด้วยกันถึง 8 ตัวบรรจุในส่วนมันสมองของ AI ให้เรียนรู้และจดจำภาพเหล่านั้นจนสามารถรวบรวมข้อมูลภาพจากแต่ละพื้นที่ ผสานภาพรวมรอบโลก และแปลความหมายภาพออกมา เพื่อให้ผู้ใช้งานนำข้อมูลที่ผ่าน ‘การประมวล’จาก Machine Learning ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ต่อไป

โดยทีมผู้พัฒนาได้เลือกอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกของการศึกษาวิเคราะห์ เพราะเป็นตัวอย่างที่มีการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะเจาะลึกไปที่ประเทศกายอานา โมรอกโก แกมเบีย และขยายการศึกษาต่อไปให้ครอบคลุมทั้งโลก ซึ่งจำเป็นต่อการทำความเข้าใจชุดข้อมูลที่ได้รับให้มากที่สุด

นอกจากแผนที่ชุดนี้แล้ว ทีมผู้พัฒนายังคาดหวังว่าจะฝึกฝนอัลกอริทึ่มต่อไปให้สามารถผลิตแผนที่ใหม่ทุกปี เพื่อให้มีชุดข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการเปรียบเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศอันเนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์ในแต่ละปี พร้อมกับที่ได้สนับสนุนให้นำแผนที่ดังกล่าวไปใช้เป็น ‘เครื่องมือติดตามความคืบหน้า’ ของ #SDG15 การอนุรักษ์ทรัพยากร ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพบนบกด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 ซึ่งมีส่วนที่กล่าวถึงการสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การยกระดับเทคโนโลยี และส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วย #SDG15 การอนุรักษ์ทรัพยากร ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพบนบกด้วย

เข้าถึงเอกสารการศึกษาได้ที่: Machine-learning HFI

แหล่งที่มา:
https://source.colostate.edu/satellite-map-of-human-pressure-on-land-provides-insight-on-sustainable-development/

Last Updated on เมษายน 19, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น