SDG Updates | SDG 18 – สำรวจความเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้อง เป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่หายไป

เมื่อปี 2015 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศลงนามรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวเพื่อสร้างอนาคตที่เราอยากเห็นร่วมกัน โดย SDGs. นั้นครอบคลุมประเด็นที่ต้องการการพัฒนาให้ไปถึงความยั่งยืน ตั้งแต่ความไม่เท่าเทียมทางเพศไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ 17 เป้าหมาย 169 เป้าหมายย่อย และมากถึง 247 ตัวชี้วัดที่ต้องบรรลุภายในปี 2030 นี่นับเป็นความทะเยอทะยานครั้งใหญ่ของมนุษยชาติที่จะบรรลุความยั่งยืนทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

แม้ภาระตามเป้าหมายทั้ง 17 ข้อยังเป็นที่น่าติดตามว่าโลกจะทำสำเร็จได้มากน้อยเพียงใดภายในเวลาที่กำหนด ยังมีอีกหลายความเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้เพิ่มเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 18 – SDG 18 เพื่อตอบโจทย์ประเด็นการพัฒนาที่เป้าหมายชุดนี้อาจไม่ครอบคลุมหรือเป็นประเด็นใหม่ๆ ที่จะช่วยเสริมแรงการดำเนินการตามเป้าหมายที่มีอยู่ให้ก้าวหน้ามากขึ้น

SDG Move จึงได้รวบรวมข้อเสนอ SDG 18 ที่น่าสนใจพร้อมแนวคิดเบื้องหลังจากหลากหลายองค์กร เพื่อให้ทุกคนได้สำรวจประเด็นที่มีผู้เห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็นต่อโลกและมนุษย์ โดยจะเรียงลำดับจากข้อเสนอที่มีความทับซ้อนบางส่วนกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนชุดปัจจุบัน และขยับออกไปสู่เป้าหมายที่ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาใหม่ๆ ดังนี้


SDG 18 – Disaster Risk Resilience (2018)

Climate Change Centre Reading (CCCR) ออกเอกสารเพื่อสนับสนุนให้เพิ่ม SDG 18 – Disaster Risk Resilience หรือ ‘ความสามารถในการฟื้นกลับจากความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ’ โดยต้องการให้ประชาคมโลกมีการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงของโลกด้านภัยพิบัติ ลดความเปราะบางของผู้คนในการเผชิญความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เฉียบพลันหรือสามารถลุกลามอย่างรวดเร็ว เช่น โรคระบาด สงคราม ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความเสี่ยงที่คุกคามข้ามพรมแดนระหว่างประเทศได้

CCCR กล่าวว่า หากมีเป้าหมายที่ 18 นี้ จะทำให้เมืองต่างๆ ทั่วโลกไม่เพียงมีการวางแผนและดำเนินการตามแผนการพัฒนาที่ผนวกประเด็นเรื่องความเสี่ยงเข้าไปด้วย (risk-sensitive) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนในกระบวนการสร้างความสามารถในการฟื้นกลับ และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่ง CCCR อ้างว่าเป้าหมายที่ 18 ที่เสนอนี้จะทำงานสอดรับกับกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015-2030)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านความเสี่ยงจากภัยพิบัติ มีการกล่าวถึงใน SDGs ชุดนี้แล้วอย่างชัดเจนในหลายเป้าหมาย โดยเป็นการดำเนินการที่มุ่งเน้นการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (disaster risk reduction) ดังที่ปรากฏในเป้าหมายที่
- #SDG 1.5 สร้างภูมิต้านทานและลดการเปิดรับและความเปราะบางต่อเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้อง
- #SDG 2.4 เสริมขีดความสามารถของระบบอาหารในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ
- #SDG 11.5 ลดความเสียหายจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง และ #SDG 11.bการเพิ่มจำนวนเมืองที่มีความยั่งยืนและปรับตัวและลดผลกระทบจากภัยพิบัติโดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยโยงกับกรอบการดำเนินงานเซนได 2015-2030
- #SDG 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

SDG 18 – Animal Health, Welfare and Rights (2020)

นอกจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ มีผู้เสนอว่าโลกต้องให้ความสำคัญถึง คุณภาพชีวิตสัตว์ด้วย โดยมีบทความตีพิมพ์ลงวารสาร Earth System Governance กล่าวถึง The 18th Sustainable Development Goal (SDG) on Animal Health, Welfare and Rights หรือ ‘สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพ และสิทธิสัตว์’ โดยให้เหตุผลว่าความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาที่ยั่งยืนและประเด็นเกี่ยวกับสัตว์มีความซับซ้อนและสัมพันธ์กัน จึงควรมีการกำกับดูแลทั้งสัตว์และประเด็นความยั่งยืนอย่างบูรณาการ และรวมผลประโยชน์ของสัตว์เข้ากับความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ด้วย

แม้ว่าประเด็น 'สิทธิของสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์' ไม่ว่าจะเป็น สิทธิของแม่น้ำ สิทธิของป่าไม้ ของสัตว์หรือพืช อาจยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนชุดนี้ แต่ก็ได้มีการสะท้อนความพยายามในการสร้างความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมที่สำคัญผ่านสองเป้าหมายหลัก ได้แก่ #SDG14 อนุรักษ์ ดูแล และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และ #SDG15 ปกป้อง ฟื้นฟู และใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน

SDG 18 – Digital Technologies Serving People and Planet (2020)

Future Earth เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนวัตกรระดับโลกที่ร่วมมือกันเพื่อโลกที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น เสนอข้อคิดเห็นถึงเป้าหมาย SDG ที่ตกหล่นไป นั่นคือ SDG 18 – Ensuring the Digital Age Supports People and Planet หรือ ‘ทำให้แน่ใจว่ายุคดิจิทัลจะสนับสนุนชีวิตผู้คนและโลก’ โดยกล่าวว่า ยุคดิจิทัลกำลังจะเปลี่ยนแปลงระบบสังคมอย่างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์และนี่คือโอกาสที่เราต้องคว้าไว้เพื่อสร้างการพัฒนา

เหตุผลเบื้องหลังของข้อเสนอนี้อ้างว่าเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันได้กำหนดข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับและวิธีที่เราโต้ตอบซึ่งกันและกันในและนอกโลกออนไลน์ โดยมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนหลายอย่างที่ก่อตัวขึ้นตามมา เช่น ภัยคุกคามต่อสิทธิส่วนบุคคล ความเสมอภาคทางสังคม โดยมี ‘ช่องว่างทางดิจิทัล’ หรือ อัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่แตกต่างกันเป็นปัจจัยให้ภัยคุกคามขยายตัว

แต่ความเสี่ยงก็มาพร้อมโอกาสมากมายที่จะใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถของยุคดิจิทัลเพื่อนำพาสังคมไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ใน SDGs อีก 17 ข้อ อำนาจในยุคดิจิทัลสามารถกระจายจากระดับบนไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนอย่างเสมอภาคกันผ่านข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกต้อง ซึ่งจะช่วยสร้างบรรทัดฐานสังคมใหม่หรือเปลี่ยนชุดความคิดของสังคมให้เดินไปสู่โลกที่มีความยั่งยืนมากขึ้นได้

ดังนั้น Future Earth จึงเห็นว่าโลกต้องการ SDG18 ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ยุคดิจิทัล และมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อประโยชน์ต่อทั้งผู้คนและโลก

ประเด็นการใช้พลังจากยุคดิจิทัลเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง จัดการข้อมูลข่าวสารบิดเบือน ยังไม่ถูกพูดถึงใน SDGs แต่ก็ได้เริ่มต้นสร้างรากฐานของเพื่อให้ทุกคนก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ได้อย่างเสมอภาค ผ่าน #SDG9.c ในความพยายามเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสารและจัดให้มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยถ้วนหน้า ในราคาที่สามารถจ่ายได้ สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

SDG 18 – A Meaningful and Safe Digital Life (2020)

ในประเด็นโลกดิจิทัล Vertic ซึ่งเป็น Digital Agency ชั้นนำระดับโลกได้สนับสนุนให้มี SDG 18 – A Meaningful and Safe Digital Life หรือ‘ชีวิตดิจิทัลที่มีความหมายและปลอดภัย’ โดยกล่าวถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลที่ได้กลายเป็นโลกใบที่สองที่มนุษย์ใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันในนั้นอย่างแยกจากกันไม่ได้ ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 4.5 พันล้านคนและกว่า 3.8 พันล้านคนใช้งานโซเชียลมีเดีย และมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นอีกว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้เวลาออนไลน์โดยเฉลี่ยประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของชีวิตช่วงที่ตื่นนอน

ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (data privacy) กลายเป็นประเด็นหลักที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมีความกังวล แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั่วโลกมีสิทธิที่จะจัดการการให้ข้อมูลของตน และบริษัทผู้ให้บริการต่างๆ ก็ต้องรับผิดชอบอย่างจริงจังเมื่อปฏิบัติการด้านความปลอดภัยของข้อมูลบกพร่องจนเกิดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจนำมาซึ่งอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สิน แต่ความคุ้มครองนี้ก็ยังมีช่องโหว่อยู่สำหรับผู้บริโภคอีกจำนวนมากในหลายประเทศ

Vertic ต้องการให้โลกดิจิทัลมีความปลอดภัยและน่าอยู่เหมือนกับโลกภายนอก องค์กรระดับโลกจึงต้องดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในเป้าหมาย SDGs ด้วยเหตุนี้จึงมีการเสนอให้มี SDG 18 นี้ เพราะโลกจำเป็นต้องมีมาตรฐานสากลหรือความตกลงที่เหนือไปกว่ากฎหมายระดับประเทศเพื่อปกป้องผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและข้อมูลของพวกเขา


SDG 18 – Life with Artificials (2020)

องค์กรไม่แสวงหากำไร MindFuture เสนอความคิดริเริ่มให้มี SDG 18 – Life with Artificials หรือ ‘ชีวิตกับปัญญาประดิษฐ์‘ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการมีอยู่และบทบาทของเทคโนโลยีในยุคหน้าในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ ส่งเสริมความก้าวหน้าของการพัฒนาหุ่นยนต์ AI และเทคโนโลยีชีวภาพอย่างยั่งยืนและมีจริยธรรม ซึ่งจะสามารถปลดล็อกศักยภาพมหาศาลในการบรรลุ SDGs อีก 17 เป้าหมาย 

เป้าหมายที่ 18 นี้ มาพร้อมกับ 10 เป้าหมายย่อย (targets) ที่โฟกัสว่าชีวิตของมนุษย์ในอนาคตจะต้องข้องเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์อย่างไรและเราจำเป็นต้องปรับตัวและให้ความรู้แก่ผู้คนอย่างไรให้อยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ โดยคำว่า Artificials ในเป้าหมายนี้ถูกใช้เพื่อกำหนดระบบทางกายภาพ (physical) หรือเสมือนจริง (virtual) ที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองและ/หรือพัฒนาตนเองได้โดยไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์

MindFuture ได้กล่าวถึงจุดประสงค์หลักของ SDG 18 – Life with Artificials ว่ามีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และกระตุ้นการถกเถียงเกี่ยวกับสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ที่คิดได้เหมือนมนุษย์ ว่าจะมีผลต่อชีวิตมนุษย์ของเราทั้งในแง่ของการดำรงอยู่ของมันและในแง่ของศีลธรรมอย่างไร


SDG 18 – Space Economy (2018)

The National Space Society (NSS) หรือ สมาคมอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ เรียกร้องให้ “ตระหนักถึงบทบาทที่จำเป็นของอวกาศในอนาคตของเรา” เพื่อกำหนดให้เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 18 โดยมีความเชื่อว่าประชาคมโลกจะไม่สามารถบรรลุ 17 เป้าหมายที่ตกลงร่วมกันได้เว้นแต่จะมีการสนับสนุนการสำรวจอวกาศ การใช้ประโยชน์จากอวกาศและการพัฒนาชุมชนอวกาศให้เกิดขึ้น NSS จึงได้เสนอต่อสาธารณะว่าโลกจำเป็นต้องมี SDG 18 – Space Economy หรือ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจอวกาศ‘ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายใหม่ร่วมไปด้วย

ทั้งนี้ ในเอกสารยังให้ตัวอย่างของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อกิจกรรมอวกาศที่เป็นประโยชน์ต่อประชากรบนโลก เช่น การมีดาวเทียมสำรวจระยะไกลที่ให้ข้อมูลสำคัญด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการสื่อสารทางดาวเทียมที่ทำให้ผู้คนที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงข้อมูลและสามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านอินเตอร์เน็ต และความก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ ที่เพิ่มขึดความสามารถการใช้ทรัพยากรให้ยั่งยืนที่สุดเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนอวกาศให้ได้ ซึ่งจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการทรัพยากรบนพื้นโลก อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้เกิดความร่วมมือแบบพหุภาคีจากหลายๆ ประเทศทั่วโลกเพื่อโครงการอวกาศซึ่งล้วนแล้วแต่ตอบสนองการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีอยู่ทั้ง 17 ข้อ


SDG 18 – Space for All (2020)

SDG 18 – Space for All หรือ ‘อวกาศเพื่อทุกชีวิต‘ เสนอโดย กลุ่มนักศึกษาจาก Windesheim Honors College ในเนเธอร์แลนด์ ภายใต้ชื่อ Space for All ซึ่งขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ UN รวมประเด็นอวกาศไว้ใน SDGs ด้วย

เป้าหมายด้านอวกาศนี้มีเหตุผลเบื้องหลังมาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่การเดินทางในอวกาศและการสำรวจอวกาศกลายเป็นจุดสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่สำหรับหน่วยงานของรัฐเท่านั้นแต่สำหรับภาคเอกชนเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วย เมื่อหลายธุรกิจด้านอวกาศเห็นถึงความเป็นไปได้ของเม็ดเงินที่มาจากอวกาศ จึงเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการเดินทางในอวกาศรวดเร็วขึ้นอย่างก้าวกระโดดและนั่นอาจหมายถึงผลกระทบที่จะเกิดกับพื้นที่อวกาศในอนาคต

ทีม Space for All จึงต้องการให้มีการกำกับดูแลกิจกรรมทางอวกาศในอนาคตอันใกล้นี้และกล่าวถึงข้อกังวลในสามมิติหลักคือ มิติทางการเมือง – ปัจจุบันโลกมีกฎและข้อบังคับเกี่ยวกับกิจกรรมด้านอวกาศไม่ได้รับการปรับปรุงและแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง มิติทางเศรษฐกิจ – กฎระเบียบด้านอวกาศที่มีไม่ได้ครอบคลุมกิจกรรมในเชิงพาณิชย์ และกำหนดขึ้นในช่วงเวลาที่มีเพียงรัฐบาลแต่ละประเทศเป็นคู่แข่งในการสำรวจอวกาศเท่านั้น การพิจารณาและกำหนดระเบียบใหม่จึงจำเป็นเพื่อควบคุมไม่ให้มีการดำเนินการทางธุรกิจอย่างไร้ทิศทางซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับโครงการอวกาศในอนาคต และ มิติทางสิ่งแวดล้อม – ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับทรัพยากรบนโลกที่ลดลง การค้นหาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดาวอื่นจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในไม่ช้าแต่จะต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดการขูดรีดทรัพยากรดังที่เกิดขึ้นบนโลก อีกประการคือ การจัดการกับวัตถุที่มนุษย์ส่งออกไปโคจรนอกโลก ส่วนใหญ่ได้กลายเป็นเศษซากชิ้นส่วนทางอวกาศที่ปัจจุบันยังมีความคลุมเครือว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการขยะเหล่านี้  Space for All มีความเชื่อว่าอวกาศก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบจักรวาลที่มนุษย์อาศัยอยู่ การใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อปกป้องมนุษยชาติจะต้องไม่เป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศอื่น

เมื่อปี 2020 กลุ่ม Space for All ได้เข้าร่วม UN75 Dialogue เวทีหารือระดับนานาชาติว่าด้วยอนาคตของโลกในวาระครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสหประชาชาติ ในหัวข้อ “Should space protection be added on a global agenda? – ควรเพิ่มประเด็นการปกป้องอวกาศในวาระระดับโลกหรือไม่?” โดยตั้งชื่อเป้าหมายที่ 18 ที่เกี่ยวกับอวกาศว่า ‘Life in Space’ ร่วมกับนักวิจัยด้านอวกาศและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของสหประชาชาติหลายท่าน

จะเห็นได้ว่าข้อเสนอ SDG 18 ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากหลายองค์กร ได้แก่ ‘ประเด็นด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล และประเด็นด้านอวกาศ‘ ซึ่งถูกเสนอขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อเสนอเหล่านี้สะท้อนให้เห็นพลวัตของสังคมโลกที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาและมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของประเด็นปัญหาและสถานการณ์ความท้าทายของมนุษยชาติใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หรือ Agenda 2030 ไม่ใช่ชุดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาระดับโลกชุดแรกและจะไม่ใช่ชุดสุดท้าย เป้าหมายการพัฒนามีการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมโลกในห้วงเวลานั้นเสมอ ทั้งเป็นการสานต่อเป้าหมายเดิมที่ยังทำไม่สำเร็จ และเพื่อจัดการความท้ายทายใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่าเราอาจเห็นหัวข้อเหล่านี้ประกอบอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาชุดใหม่หลังปี 2030 เพราะเมื่อถึงเวลานั้น เส้นทางเพื่อไปสู่โลกที่ยั่งยืนอาจจำเป็นต้องก้าวเท้าเกินขอบเขตพื้นพิภพนี้แล้ว


เอกสารอ้างอิง

Advocating for an 18th Sustainable Development Goal: A Meaningful and Safe Digital Life. (n.d.). Vertic. Retrieved May 10, 2021, from https://www.vertic.com/our-thinking/advocating-for-an-18th-sustainable-development-goal-a-meaningful-and-safe-digital-life

Carl, A. (2018, February 13). The conclusion of the 9th World Urban Forum, #KualaLumpurDeclaration towards 2036 #SDGDRR – #SDG18 – Climate Change Centre Reading. Climate Change Centre Reading. https://tvb-climatechallenge.org.uk/2018/02/13/the-conclusion-of-the-9th-world-urban-forum-kuala-lumpur-declaration-towards-2036-sdgdrr-sdg18/

Future Earth. (2020, July 6). The Missing SDG: Ensure the Digital Age Supports People, Planet, Prosperity & Peace. Inter Press Service. http://www.ipsnews.net/2020/07/missing-sdg-ensure-digital-age-supports-people-planet-prosperity-peace/

MindFuture. (2020). Global Goal 18 – Life with Artificials. Global Goal 18 – Life with Artificials. https://globalgoal18.com

National Space Society. (2018). The 18th Sustainable Development Goal: Recognizing the Imperative Role of Space in our Future [Slides]. UNOOSA. https://www.unoosa.org/documents/pdf/copuos/lsc/2018/tech-04.pdf

Space for All. (2020). SDG 18 – SPACE FOR ALL. SDG 18 – SPACE FOR ALL. https://sdgspace.org

Visseren-Hamakers, I. J. (2020). The 18th Sustainable Development Goal. Earth System Governance3, 100047. https://doi.org/10.1016/j.esg.2020.100047

Last Updated on พฤษภาคม 11, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น