อินโดนีเซียเสนอให้อาเซียนมีกลไกด้านสุขภาพระดับภูมิภาคเพื่อตอบสนองต่อโรคระบาดในอนาคต โดยการสนับสนุนจาก ASEAN+3

ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 Foreign Ministers’ Meeting – APT FMM) ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีข้อเสนอให้จัดตั้งกลไกด้านสุขภาพระดับภูมิภาค เพื่อให้สามารถป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองต่อโรคระบาดได้ดีขึ้นในอนาคต ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

ยรัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศอินโดนีเซีย Mahendra Siregar ภาพจาก vietnamplus.vn และ tribunnews

เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุดในเอเชียทำให้กระทรวงการสาธารณสุขอินโดนีเซีย โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศ Mahendra Siregar ได้เสนอกลไกดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่าจะสามารถช่วยสร้างหลักประกันให้มีคลังยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และได้แสดงถึงความหวังที่หุ้นส่วนของอาเซียนทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) จะมีส่วนช่วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการสนับสนุนด้านงานวิจัย การพัฒนา และการผลิตวัคซีน

พร้อมกันนี้ ยังได้เน้นย้ำความสำคัญของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) ในฐานะกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะว่าที่มี ASEAN+3 เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 (ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 54) จัดผ่านการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 โดยมีดาโต๊ะ เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ (H.E. Dato Erywan Pehin Yusof) รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนดารุสซาลาม เป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการอาเซียน และหุ้นส่วนของอาเซียนอีกสามประเทศ หรือ ASEAN+3 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วม

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.3) ยุติการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ภายในปี 2573
-(3.8) ส่งเสริมการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
-(3.b) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคที่ติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา
-(3.c) ส่งเสริมการใช้งบประมาณด้านสุขภาพ การสรรหา การพัฒนา และการฝึกฝนบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการจัดให้มีหลักประกันด้านสุขภาพสำหรับบุคลากรในประเทศกำลังพัฒนา
-(3.d) ส่งเสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือ
-(17.16) ยกระดับความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรเงิน

แหล่งที่มา:
Indonesia proposes regional health mechanism to prevent pandemic issues in future (thestar)
Indonesia proposes regional health mechanism (vietnamplus)
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ร่วมรับมือกับประเด็นท้าทายและวิกฤติการณ์ร่วมกัน (aseanthai)

Last Updated on สิงหาคม 8, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น