Director’s Note: 14: ก้าวเข้าสู่ปี 2022 – ปีที่ 6 ของ SDG Move

สวัสดีปีใหม่ครับทุกท่าน

ปี 2021 เป็นปีที่ยากลำบากอีกปีหนึ่งของคนทั่วโลกจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ Delta ความยากลำบากดังกล่าวส่งผลต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่น้อย แต่ความเปลี่ยนแปลงในทางบวกที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็มีอยู่เช่นกัน ใน Director’s Note ฉบับนี้ขอใช้โอกาสที่เป็นฉบับแรกของปี 2022 ชวนผู้อ่านมาทบทวนภาพรวมบางประการเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา และการทำงานกับทิศทางในอนาคตของ SDG Move กันครับ

| ภาพรวมการขับเคลื่อน SDGs ในปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางความยากลำบากสำหรับทุกภาคส่วนจากการระบาดของโควิด-19 ปี 2021 ยังเป็นปีที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยหลายประการ ทั้งองค์กรระหว่างประเทศที่ขยับมาเล่นบทบาทที่แอคทีฟมากขึ้นในการเชื่อมประสานบูรณาการให้ภาครัฐหน่วยต่าง ๆ มาทำงานขับเคลื่อน SDGs มากยิ่งขึ้น หน่วยงานภาครัฐที่พยายามสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรในหน่วยงานของตนมากยิ่งขึ้น ภาคเอกชนที่มิใช่แค่ภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่เริ่มขยับมาทำงานด้าน SDGs และพยายามผนวก SDGs เข้าไปในองค์กร มหาวิทยาลัยที่ถูกกระตุ้นและจูงใจจากการจัดอันดับ THE University Impact Ranking ภาคประชาสังคมเองก็มีการใช้ภาษา SDGs ตีความ วิพากษ์ และใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานของตนมากขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม การขับเคลื่อนในภาคเยาวชนที่เป็นเรื่อง SDGs โดยตรงก็มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ปี 2021 ถือเป็นปีที่เกิดความตระหนักรู้และขยับเข้ามาขับเคลื่อนของหน่วยงานในภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้ยังไปไม่ถึงผู้คนทั่วไปมากนัก การสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณะได้ทราบว่ามีสิ่งที่เรียกว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs อยู่ในโลกนี้มีการขยับเขยื้อนไปอย่างช้า ๆ ผ่านวิชาเรียนในบางโรงเรียน บางมหาวิทยาลัย การอบรมในหน่วยงานและการประชาสัมพันธ์ของภาคเอกชนและภาครัฐเป็นครั้งคราว ที่เห็นว่ามีอิทธิพลต่อความสนใจของคนในสังคมเรื่อง SDGs ที่สุดเห็นจะเป็นตอนที่ศิลปินเกาหลีชื่อดังมาเป็นทูต SDGs ขององค์การสหประชาชาติ แต่ยังไม่เห็นความพยายามอย่างจริงจังในประเทศไทย เรื่องนี้มิใช่เพียงความรู้ว่ามี SDGs แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ต้องทำให้ตระหนักถึงความเร่งด่วนของปัญหาที่เกี่ยวข้อง และเห็นความเชื่อมโยงของบทบาทของตนเอง และบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย การสร้างความตระหนักรู้ในส่วนดังกล่าวแทบไม่เห็นเลยในระบบการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย

ปี 2021 มีรายงานที่สำคัญในเชิงการดำเนินการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs โดยตรงเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ

  1. การเผยแพร่ ‘รายงานการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563’ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันถือเป็นรายงานสถานะ SDGs ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ผลิตโดยหน่วยงานภาครัฐ ฉบับแรกของประเทศไทย และ
  2. การจัดทำ ‘รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review)’ และมีการนำเสนอที่เวที High-level Political Forum on Sustainable Development ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทย นำเสนอความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเวทีนี้

รายงานทั้ง 2 ฉบับนี้ มีข้อเด่นข้อด้อยที่แตกต่างกัน รายงานฉบับแรกใช้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในการประเมินสถานะของเป้าหมายย่อย 169 เป้าหมาย ซึ่งนับว่าครบถ้วนและอยู่บนฐานของข้อมูลอย่างมาก ในขณะที่รายงานฉบับหลัง มีกระบวนการปรึกษาหารือและมีส่วนร่วมจากหน่วยงานหลายภาคส่วนอย่างกว้างขวางพอสมควร แต่ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นการบรรยายเชิงคุณภาพ หากภาครัฐสามารถผนวกกระบวนการทำรายงาน 2 ฉบับนี้เข้าด้วยกัน เราน่าจะได้เห็นรายงานสถานการณ์ SDGs ประเทศไทยที่อยู่บนฐานของข้อมูลและการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อทำให้รายงานนี้ทุกคนเป็นเจ้าของและมีการช่วยตรวจสอบความถูกต้องต่าง ๆ อย่างรอบด้าน

อีกภาพที่เด่นชัดในปี 2021 คือ การที่ SDGs และหลักการที่สำคัญยังไม่ได้ถูกผนวกเข้าไปในนโยบายและแนวปฏิบัติของภาครัฐ

ดูได้จากหลายกรณีที่ภาครัฐดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และหลักสิทธิมนุษยชนสากล ทั้งกรณีของการขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกที่แลกมากับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง (เช่น การบังคับสูญหาย) ของผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ การขังนักกิจกรรมทางการเมืองโดยไม่มีการพิจารณาคดี การปราบปรามผู้ชุมนุมทั้งกรณีการเมืองและกรณีการชุมนุมด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา เช่น กรณีจะนะ ในแบบที่ไม่เป็นไปตามหลักการสากล ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ได้จริงจังและจริงใจกับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและยังไม่ได้ผนวกหลักการต่าง ๆ เข้าไปในการทำงาน

ในภาพรวม ปัจจัยที่ต้องการเพิ่มเติมเพื่อให้การขับเคลื่อน SDGs มีประสิทธิภาพมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น คือ การสร้างจัดระบบที่จะสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น ซึ่งระบบดังกล่าวมีองค์ประกอบย่อยหลายอย่าง อาทิ (1) ระบบข้อมูลที่รายงานสถานะของ SDGs แต่ละข้อในแบบที่ทันการณ์ ถูกต้อง เข้าถึงได้ง่าย (2) งบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อการขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะภาคเยาวชนและภาคประชาสังคม (3) การนำงานวิจัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ และให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความยั่งยืนอย่างเป็นระบบทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น (4) ระบบบริหารจัดการ (Governance) ที่ทำให้การทำงานข้ามกระทรวง ข้ามภาคส่วนมีประสิทธิภาพกว่าคณะกรรมการที่มีอยู่และประชุมปีเว้นปี (5) การส่งเสริมการให้ความรู้และสร้างศักยภาพที่จำเป็นกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบผ่านการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development) (6) การปรับกฎกติกาที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการตรากฎหมายและการอนุมัติงบประมาณให้คำนึงถึงผลกระทบและความเร่งด่วนที่ปรากฏตามการประเมินสถานะ SDGs ด้วย โดยอาจใช้รายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นตัวตั้ง

หากมีการทำงานในเชิงปัจจัยเชิงระบบ น่าจะทำให้การขับเคลื่อน SDGs ตั้งแต่ปี 2022 มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และบูรณาการมากขึ้น นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยั่งยืนที่ซับซ้อนและเป็นช่วงสุดท้ายของการเดินทางที่ผลักดันประเทศไปสู่การบรรลุ SDGs

| ภาพรวมการทำงานของ SDG Move ในปีที่ผ่านมา

จากกระแสดังกล่าว SDG Move ได้มีโอกาสร่วมขับเคลื่อน SDGs กับทุกภาคส่วนผ่านการทำงานสื่อสารความรู้ การจัดการฝึกอบรมและเสริมสร้างศักยภาพ และการวิจัยเชิงนโยบาย ซึ่งโอกาสดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากองค์กรภาคีให้การสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อน SDGs ทุกองค์กรจากทุกภาคส่วนในปีที่ผ่านมา

สำหรับพวกเรา สิ่งที่บ่งชี้ความสำเร็จของการทำงานประการหนึ่งคือ การสื่อสารความรู้ผ่านโครงการ SDG Watch ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และสามารถผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับ SDGs ในโครงการ SDG Watch มากกว่า 800 ชิ้น ตลอดทั้งปี ครอบคลุมข่าวที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ประเด็นการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ทั้งระดับโลกและระดับชาติ ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ SDGs แต่ละเป้าหมายและประเด็นสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงได้รับความอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญจาก 15 หน่วยงานมาร่วมแบ่งปันความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่าน Facebook Page: SDG Move TH มีผู้เข้าถึงกว่า 400,000 users และมีผู้เข้าชมเว็บไซต์ในปี 2021 กว่า 1,040,804 ครั้ง

อีกประการหนึ่งคือ เราได้มีโอกาสทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศและก้าวสู่เวทีระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) และ ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue (ACSDSD) รวมถึงได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีสำคัญ ๆ เช่น การประชุมวิชาการ International Conference on Sustainable Development (ICSD) 2021 งาน 6th ASEAN China UNDP Symposium งานเสวนา UNGA Conference 2021 และงาน TEDx Chiangmai เป็นต้น และในต้นปีนี้ SDG Move ในนามของ SDSN Thailand จะมีโอกาสนำเสนอผลงานของเราในงาน Global Solution Forum 2021 อีกด้วย

แต่ความสำเร็จที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่เราได้สร้างเครือข่ายกับองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ได้แข็งแกร่งและกว้างขวางมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม การทำงานร่วมกันกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) อย่างใกล้ชิดและเข้มแข็งส่งผลให้เกิดการผลักดันนโยบาย SDGs อย่างมีพลังมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะ SDGs ในด้านสุขภาพ การได้ทำงานโครงการ Area-Needs กับทีมอาจารย์ทั้ง 6 ภาคอีกครั้งหนึ่งซึ่งเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายของพวกเรามากยิ่งขึ้น การได้ทำงานกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชนบางส่วนผ่านการจัดการอบรมและสัมมนา การได้เข้าไปร่วมทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ทั้ง มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย มูลนิธิคอนราด อเดนาว สิงคโปร์ ActionAid และมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ SDGs

| ทิศทางของปี 2022

สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2021 จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากทีมงานที่เข้มแข็งกว่า 10 ชีวิต และทีมงานที่เข้ามาร่วมสนับสนุนในโครงการต่าง ๆ ตามโอกาสอีกหลายท่าน เมื่อเทียบกับงานที่ทำมาในปีที่ผ่านมากับกำลังพลที่มีนั้น ต้องถือว่าขาดความสมดุลพอสมควร ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน ซึ่งหากสภาวะดังกล่าวยังดำรงอยู่ต่อในปีถัดไปคงไม่เป็นผลดีต่อคนทำงานและผู้ที่เราเข้าไปร่วมทำงานด้วย ดังนั้นหนึ่งในทิศทางการทำงานภายใน SDG Move เองจะปรับให้โครงสร้างองค์กรมีคนทำงานตามโครงการมากยิ่งขึ้น และขยับให้ทีมงานที่ทำงานร่วมกันมามากกว่า 2 ปีแล้วให้มีความรับผิดชอบที่สูงขึ้นและมีคนมาช่วยงานมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งน่าจะช่วยให้การทำงานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุณภาพ และตรงเวลามากขึ้น

อีกประการหนึ่ง ที่มีความชัดเจนมากขึ้นคือ เป้าหมายปลายทางของการทำงานของ SDG Move เมื่อทบทวนดูแล้วในเวลาที่เหลืออีกประมาณ 3,200 กว่าวัน จะสิ้นสุดปี 2030 แต่ความตระหนักของผู้คนยังไม่มากนัก และคนที่จะมาร่วมขับเคลื่อนเองยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น

ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดการบรรลุ SDGs ได้ทันเวลาทางหนึ่ง คือ การทำให้มีคนและหน่วยงานจำนวนมากที่สุดที่เป็นไปได้มาร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามบทบาทหน้าที่และทรัพยากรของพวกเขาเหล่านั้น

นำมาซึ่งแนวคิด A-B-C-D-E ที่สามารถประยุกต์ใช้กับการทำงานในโครงการต่าง ๆ ของเราได้

A – Aware – มุ่งให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับ SDGs และความเร่งด่วนของประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

B – Benefit – มุ่งให้เห็นประโยชน์ของการใช้ภาษาและประยุกต์ SDGs เป็นกรอบในการทำงานและรายงานผลกระทบจากการดำเนินการขององค์กร หรือประโยชน์ต่อบุคคลจากการเรียนรู้เรื่อง SDGs

C – Contribute – มุ่งให้คนที่ตระหนักและเห็นประโยชน์แล้ว ขยับมาเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อน SDGs

D – Data – ในการทำงานต่าง ๆ ต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้าในการขยายกำลังพลเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ

E – Evaluation – มีการประเมินและทบทวนกระบวนการและวิธีการทำงานสม่ำเสมอเพื่อพัฒนา

ในระยะยาว การจัดการองค์ความรู้ตามกรอบ A-B-C-D-E นี่ก็จะช่วยทำให้เห็นบทเรียนและเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลการทำงานเพื่อสร้างความตระหนัก ทำให้คนเห็นประโยชน์ และร่วมขับเคลื่อน SDGs ได้ ยิ่งเมื่อเราได้ทำงานกับหลายภาคส่วน อาจทำให้เราเห็นโอกาสหรือข้อจำกัดที่สำคัญของแต่ละภาคส่วนและนำมาปรับยุทธศาสตร์และวิธีการการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น

| ทิ้งท้าย ก่อนก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 ของ SDG Move

นับจากวันนี้ เวลาในการบรรลุ SDGs ค่อย ๆ เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ การทบทวนวิธีการขับเคลื่อนและกลไกเชิงระบบในสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs ของภาคส่วนต่าง ๆ และในการบูรณาการการทำงานข้ามภาคส่วนจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน SDGs ให้บรรลุทันปี 2030 แต่ในขณะเดียวกัน คนทำงานเองก็ต้องดูแลตนเองและคนทำงานให้ยั่งยืนด้วย ดูแลเครือข่ายของผู้คนและหน่วยงานที่ทำงานด้วยกัน และเรียนรู้ไปตลอดเส้นทางนี้อย่างเป็นระบบ แม้ว่าปี 2030 เราจะยังไม่บรรลุ SDGs และมีเป้าหมายโลกชุดอื่นเข้ามาแทนที่ แต่องค์ความรู้และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นและสะสมไว้ก็น่าจะเป็นประโยชน์และเพิ่มความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายชุดต่อไปได้มากขึ้น ขอให้ปี 2022 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบหลาย ๆ อย่างและเป็นภาคต่อของการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนที่ผ่านมาที่ประสบความสำเร็จสำหรับทุกคนและทุกองค์กร เพื่อชีวิตที่ยั่งยืนของพวกเราและลูกหลานของเราครับ


● อ่านเพิ่มเติม SDG Insights | ปี 2021 ของ SDG Move – งานและบทเรียนจากคนขับเคลื่อน SDGs

Last Updated on มกราคม 13, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น