SDG Updates | การเงินเพื่อความยั่งยืน ท่ามกลางพายุวิกฤตและความขัดแย้ง : กรณีศึกษาจากประเทศไทย

ฎาฎะณี วุฒิภดาดร
อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์
อภิญญา สิระนาท
ธนวัฒน์ วชิรทองคำ


การเงินเพื่อความยั่งยืน (sustainable finance) จะช่วยสนับสนุนประเทศสู่การพัฒนามนุษย์และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้อย่างไร ? 

คำถามนี้ คือ คำถามสำคัญสำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามต้องเผชิญวิกฤตที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก ปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนขัดขวางความก้าวหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผลกระทบจากวิกฤตเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนและโอกาสในการวางกรอบงานทางด้านการเงินที่เหมาะสมยิ่งขึ้น การประสานรวมเงินทุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้มั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ภายในปี พ.ศ. 2573

โควิด-19 คือวิกฤตด้านการพัฒนามนุษย์ระดับโลก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิต ตลอดจนกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ในทุกแง่มุม วิกฤตนี้ตอกย้ำความตึงเครียดที่ยังไม่คลี่คลาย ทั้งระหว่างมนุษย์กับโลก และระหว่างคนมีทรัพย์สินและคนไร้ทรัพย์สิน เป็นสิ่งบั่นทอนความก้าวหน้าของประเทศสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เป็น ความจริงที่ประจักษ์ชัดขึ้น เมื่อความผันผวนของสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียมากกว่า 475,000 ชีวิตทั่วโลก และ 2.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ในแง่ PPP) อันเป็นผลโดยตรงจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ในระหว่างปี พ.ศ. 2543 – 2562 [1] (Germanwatch’s Global Climate Risk Index, 2021) โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาเป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศเหล่านี้เปราะบางต่อความเสียหายจากภัยพิบัติมากกว่า กอปรกับมีศักยภาพในการรับมือที่ต่ำกว่า  ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤตสงครามยืดเยื้อในยูเครน ตลอดจนการคว่ำบาตรรัสเซีย เกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ในอีกครา เนื่องจากทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ราคาพลังงานและอาหารเพิ่มสูงขึ้น การค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวชะลอตัวลง และความผันผวนรุนแรงในตลาดการเงิน 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จีดีพีของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2563 หดตัวลงร้อยละ 6.2 ก่อนจะโตขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 ในปี พ.ศ. 2564 แม้ว่าประเทศไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี แต่โควิด-19 ก็ส่งผลกระทบรุนแรงในด้านเศรษฐกิจและสังคมยังทวีความรุนแรง เนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของ GDP โดยการท่องเที่ยวระหว่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 12 – 15 ของ GDP  ซึ่งผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 คือ แรงงานนอกระบบจำนวน 20.36 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.7 ของอัตราการจ้างงานทั้งหมด [2] และมีผู้หญิงที่ได้รับการจ้างงานในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เช่น การท่องเที่ยว  เป็นผลให้ตัวเลขประมาณการการเติบโตของ GDP ประเทศไทยในปี พ.ศ.2565 ถูกปรับลดลงจากร้อยละ 3.5 – 4.5 [3] เหลืออยู่เพียงร้อยละ 3.2 [4] ทั้งนี้ เพราะผลกระทบจากสงคราม ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งภาคการส่งออกยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ส่วนประมาณการการเติบโตของจีดีพีในปี พ.ศ.2566 ยังคงอยู่ระหว่างร้อยละ 3-4 [5]

ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก ภาพจาก : thaipublica.org

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตเหล่านี้เป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย  ซึ่งรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยปี พ.ศ. 2565 ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 44 จาก 165 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ในด้านความก้าวหน้าสู่การบรรลุป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยประเทศไทยทำคะแนนได้ 74.1 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาค ซึ่งอยู่ที่ 65.9 [6] อย่างไรก็ตาม มีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยในแง่การลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และสนับสนุนพลังงานสะอาดในราคาย่อมเยา มีความท้าทายสำคัญในเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการยุติความหิวโหย สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ทรัพยากรทางทะเล ระบบนิเวศบนบก และสังคมที่สงบสงบสุข กระบวนการยุติธรรม และสถาบันที่มีความรับผิดชอบ จากดัชนีชี้วัดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) ปีพ.ศ. 2564 โดย Germanwatch  ระบุ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสิบประเทศทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุด และอยู่ในอันดับที่เก้าจากสิบอันดับสูงสุดของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ในระหว่างปี พ.ศ. 2543 – 2562  ทั้งนี้ มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญว่ากลุ่มคนที่ยากจนและกลุ่มคนชายขอบ จะประสบกับความสูญเสียและความเสียหายมากกว่าคนกลุ่มอื่นอย่างไม่เท่าเทียมมากที่สุด สะท้อนว่า จำเป็นต้องพยายามมากกว่านี้ในการจัดการกับปัญหาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้า 

นอกเหนือจากวิกฤตเรื่องโรคระบาด สภาพภูมิอากาศ และภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ประเทศไทยยังเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีอัตราการเกิดต่ำ และผู้สูงวัยมีอายุยืนยาวมากขึ้น ปัจจุบันนี้ ในประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และภายในปี พ.ศ. 2593 คาดการณ์ว่าประชากรสูงอายุของประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 35.8 ของประชากรทั้งหมด [7] โดยการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยนี้จะเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพ และทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระด้านสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่วิกฤตมากมายทั้งในประเทศและระดับโลก ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ หากแต่วิกฤตเหล่านี้ยังเป็นโอกาสให้ประเทศไทยทบทวนหนทางสู่การเติบโตและการพัฒนา รวมถึงวางกลยุทธ์ด้านการเงินใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีภูมิคุ้มกันต่อปัญหา ครอบคลุม และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเพิ่มบทบาทของภาคการเงิน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการจัดหาทรัพยากรอย่างเพียงพอให้ประเทศก้าวหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมั่นคง

ประเทศไทย ได้พยายามเป็นอย่างมากที่จะฟื้นฟูให้ดีขึ้นกว่าเดิม (building forward better) โดยในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็วและครอบคลุม มูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท (5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองทางสังคมและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมทั้งกู้เงิน 5 แสนล้านบาท (1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของ GDP เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับใช้นโยบาย จัดการปัญหาการแพร่ระบาด และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

ประเทศไทยขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งเน้นย้ำวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”    ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคมแห่งโอกาสและความเท่าเทียม วิถีชีวิตที่ยั่งยืน และเสริมสร้างปัจจัยในการเปลี่ยนแปลง โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) ประเทศไทย ได้เน้นย้ำจุดยืนในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 และในฐานะประธานเอเปค ประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงการนำเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economic : BCG) มาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมการเติบโตสีเขียวและครอบคลุมทุกคน ซึ่งอยู่ในเป้าหมายกรุงเทพฯ (ฺBangkok Goals) ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ที่ผ่านการรับรองจากสมาชิกเอเปค

ถึงแม้ว่าประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตมากมาย แต่ยังคงรักษาระดับความน่าเชื่อถือไว้ได้  ในปี 2565 สถาบัน Moody’s จัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับ Baa1 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มีภาคการเงินที่เข้มแข็ง และการจัดการการคลังภาครัฐที่รอบคอบ [8] ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็งในการดึงดูดนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

Moody’s Investors Service (Moody’s) ภาพจาก : thestandard.co

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังกำหนดแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) เพื่อเสริมสร้างบทบาทของภาคการเงินในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแนวทางดังกล่าวครอบคลุมถึงการออกพันธบัตรและสินเชื่อสีเขียว พันธบัตรและสินเชื่อเพื่อสังคม รวมถึงพันธบัตรและสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้ เงินทุนที่ได้จะนำมาใช้เพื่อสนับสนุนและรีไฟแนนซ์เงินกู้หรือรายจ่ายของรัฐบาลในปัจจุบันและอนาคต ในรูปแบบรายจ่ายเพื่อการลงทุนทางตรง เงินอุดหนุน มาตรการการคลัง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยในปี พ.ศ. 2563 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้เปิดตัวพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล (Environmental, Social, and Governance : ESG) และทำให้ตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทย ได้เป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาสังคม ซึ่งปัจจุบันในตลาดมีตราสารหนี้และพันธบัตร (ค้ำประกัน) ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ด้าน ESG มูลค่า 2.299 แสนล้านบาท ได้แก่ พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน พันธบัตรสีเขียว และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน นอกจากนี้ ในภาคเอกชนยังมีความสนใจมากขึ้นที่จะออกพันธบัตร ESG โดยมีมูลค่าคงค้างทั้งสิ้น 1.186 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) [9]

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการอีกมากเพื่อขับเคลื่อนทรัพยากรอันจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา  เพราะก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 UNESCAP (2019) ประมาณการว่า สำหรับประเทศไทย ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีเงินลงทุนรายปีเพิ่มเติมประมาณ 1.27 ล้านล้านบาท (4.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2573 คิดเป็น 50 บาทต่อคนต่อวัน ตัวเลขประมาณการนี้ ประกอบด้วยการลงทุนในมนุษย์ (5.135 แสนล้านบาท หรือ 1.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) การลงทุนเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ (4.261 แสนล้านบาท หรือ 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม (3.278 แสนล้านบาท หรือ 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) [10] นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความท้าทายด้านเศรษฐกิจ-สังคม ภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ทับทวีขึ้น ยิ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้เงินลงทุนมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทว่าสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 17.2 [11] ในปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 21.0 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2562 สัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP ของประเทศไทยลดลงร้อยละ 0.3 กล่าวคือ จากร้อยละ 17.6 ลงมาที่ร้อยละ 17.2 ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนว่า ประเทศไทยไม่เพียงต้องส่งเสริมการขับเคลื่อนการคลังภาครัฐเท่านั้น แต่ยังต้องเพิ่มบทบาทของการเงินภาคเอกชน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ และจัดหาทรัพยากรเพิ่มเติม เพื่อระดมเงินทุนในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญและสอดคล้องกับ SDG ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น


การส่งเสริมบทบาทของภาคการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมุ่งเน้น 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

ประเด็นแรก ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกรอบการเงินแบบครบวงจรและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ เพื่อให้การลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนสามารถส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจึงได้สนับสนุนกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการจัดทำกรอบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Integrated National Financing Framework : INFF)  ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามอุปสรรคในการลงทุน เพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งกรอบการเงินดังกล่าว ได้ระบุถึงแหล่งเงินทุนทุกประเภท โดยมุ่งเน้นในการส่งเสริมให้การลงทุนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของประเทศ รวมถึงการใช้พื้นที่การคลัง (fiscal space) และมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเพิ่มการลงทุนในประเด็นการพัฒนาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตลอดจนการใช้ทรัพยากรของภาคเอกชนเพื่อการฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม (Build Forward Better) ทั้งหมดนี้ เพื่อส่งเสริมแนวทางการพัฒนาที่ทั่วถึงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในขั้นแรก โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้ทำการประเมินระบบการเงินเพื่อการพัฒนา (Development Finance Assessment : DFA) ซึ่งคำนวณความต้องการในการใช้ทรัพยากรทางการเงินเพื่อเป้าหมายการพัฒนา รวมถึงความต้องการในการใช้ทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเด็นสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 

  1. การจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
  2. การส่งเสริมความเท่าเทียม 
  3. การสนับสนุนภาคสาธารณสุข 
  4. การคุ้มครองและการสร้างงาน และ 
  5. การส่งเสริมพัฒนาการเงินผ่านระบบดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ผลการประเมินจะเป็นพื้นฐานในการวางกลยุทธ์ด้านการเงิน ที่จะผสานเครื่องมือทางการเงินหลากหลายประเภท ตั้งแต่ด้านภาษี การจัดสรรงบประมาณ การวางแผนหนี้สาธารณะ มาตรการส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนตราสารการเงินอื่น ๆ และกลยุทธ์ดังกล่าวจะมีข้อเสนอแนะด้านการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ให้เหมาะสม เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นต่อการพัฒนา ด้วยกลยุทธ์ทางการเงินแบบครบวงจร ในที่สุดแล้ว กรอบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นเวทีที่สำคัญซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหุ้นส่วนในการพัฒนาอื่น ๆ ได้ร่วมกันปลดล็อคในด้านเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เพื่อขยายการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเด็นที่สอง ประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากเงินทุนของภาคเอกชนมากขึ้น ผ่านโอกาสทางการลงทุนที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในการจัดทำแผนที่โอกาสการลงทุนในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Investor Map) สำหรับประเทศไทย  โดยต่อยอดจากบทบาทของภาคเอกชนที่ทวีความสำคัญมากขึ้น ในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งแผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการลงทุนในด้านต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งจะมอบทั้งผลตอบแทนทางการเงิน และโอกาสในการช่วยให้ประเทศก้าวหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน  เครื่องมือนี้จะทำให้นักลงทุนเอกชนได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสด้านการลงทุน (investment opportunity areas : IOAs) หรือแนวทางการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาความจำเป็นเร่งด่วนด้านการพัฒนา โดยแผนที่ดังกล่าว ได้แนะนำ 15 โอกาสด้านการลงทุนใน 8 ภาคส่วน ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก บริการด้านสุขภาพ การขนส่ง การเงิน โครงสร้างพื้นฐาน และการบริการ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ประเด็นที่สาม ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์การเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม และเพื่อบริหารผลกระทบจากความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากประเทศไทยต้องเผชิญความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่าง ๆ มากมาย การบริหารความเสี่ยงและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยงจึงควรเป็นส่วนสำคัญของกรอบการเงินของประเทศ ภายใต้กรอบงานของข้อตกลงไตรภาคี ระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ความร่วมมือด้านการประกันเพื่อการพัฒนา (Insurance Development Forum-IDF) และรัฐบาลเยอรมนี โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้จัดทำการศึกษาเชิงวิเคราะห์ (diagnostic study) ว่าด้วยการประกันอย่างครอบคลุมและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง สำหรับประเทศไทย รายงานวิเคราะห์เน้นถึงความจำเป็นที่กรอบการเงินจะต้องครอบคลุมถึงกลยุทธ์ว่าด้วยการประกันที่ครอบคลุมและการเงินเพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติของประเทศในขั้นต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังระบุโอกาสในการสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาตลาดเพื่อการประกันที่ครอบคลุมและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง และชี้ถึงโอกาสในการใช้เครื่องมือการประกันภัย เพื่อโอนถ่ายความเสี่ยง ทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบของความเสี่ยงต่อผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนยากจน และกลุ่มคนเปราะบางที่สุด ซึ่งมักได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยสอดคล้องกับหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leave No One Behind)

บทสรุป

การเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องท้าทายท่ามกลางวิกฤตต่าง ๆ เส้นทางสู่การฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง ครอบคลุม และสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน หาใช่หนทางที่เรียบง่าย เพราะพลวัตและมิติต่าง ๆ ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในหลายช่วงเวลา ทำให้การแก้ไขวิกฤตเหล่านี้ไม่มีสูตรสำเร็จ และจำเป็นต้องปรับใช้นโยบายที่หลากหลายเข้ามาสอดประสานกัน กรอบการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จะช่วยทำให้การวางแผนพัฒนาและการระดมเงินทุนมีความสอดคล้องกันมากขึ้น และเสนอทางเลือกเชิงนโยบายต่าง ๆ เพื่อปรับและขับเคลื่อนเงินทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน  แผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะระบุถึงโอกาสการลงทุนภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และปลดล็อกเงินลงทุนจากภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกเสริมด้วยการประกันที่ครอบคลุมและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง ที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านการเงินและบริหารความเสี่ยงในบริบทของประเทศ เพื่อให้สามารถฟันฝ่าวิกฤตการณ์ต่างๆในอนาคตได้ เครื่องมือทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพในการสนับสนุนให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ปลดล็อคทรัพยากรเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนา และจัดหาทรัพยากรใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับนโยบายและกรอบด้านการเงินใหม่ และทบทวนแนวทางด้านการพัฒนา ให้ประเทศฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง ครอบคลุม และยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา ความขัดแย้ง และความท้าทายอื่น ๆ อีกนานัปการ

ผู้เขียน : ฎาฎะณี วุฒิภดาดร (CO Chief Economist) อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์ (CO Development Economist) อภิญญา สิระนาท (Head of Exploration) และ ธนวัฒน์ วชิรทองคำ (Research Assistant) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ


● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เปิดตัว “แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) โดย 5 หน่วยกำกับดูแลภาคการเงินไทย 
การลงทุนอย่างยั่งยืนมีมูลค่าสูงกว่าหนึ่งในสามของสินทรัพย์ใน 5 ตลาดการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก 
รายงานธนาคารโลกชี้ “เศรษฐกิจโลกปี 2564 จะฟื้นตัว แต่เป็นไปอย่างช้าจนถึงปี 2568”
SDG Updates | เปิดรายงาน WIR 2021 การลงทุนที่ยั่งยืนยังเป็นไปได้หรือไม่? ในยุคหลังโควิด
–  SDG Updates | กลไกทางการเงินกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม อุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.1) เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถภายในประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่น ๆ ของรัฐ
– (17.2) ประเทศพัฒนาแล้วจะดำเนินการ (ให้เป็นผล) ตามพันธกรณีเรื่องการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการโดยเต็มที่ โดยรวมถึงพันธกรณีที่ให้ไว้โดยประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่จะบรรลุเป้าหมายการมีสัดส่วน ODA/GNI ร้อยละ 0.7 ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และมีสัดส่วน ODA/GNI ร้อยละ 0.15 ถึง 0.20 ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยสนับสนุนให้ผู้ให้ ODA พิจารณาตั้งเป้าหมายที่จะให้มีสัดส่วน ODA/GNI ถึงอย่างน้อยร้อยละ 0.20 ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.5) ยอมรับและดำเนินการตามระบอบการส่งเสริมการลงทุนให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

อ้างอิง

[1] ตรงกันข้ามกับหลายปีก่อนหน้านี้ ฐานข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณดัชนีชี้วัดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Index 2021) ไม่ได้รวมข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา
[2] สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2563. การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2563
[3] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ: ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสหนึ่งปี 2565 และแนวโน้มปี 2565 (พฤษภาคม 2565) https://www.nesdc.go.th/nesdb_en/article_attach/article_file_20220517085428.pdf
[4] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ: ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามปี 2565 และแนวโน้มปี 2565-2566 (พฤศจิกายน 2565) article_file_20221121085936.pdf (nesdc.go.th)
[5] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ: ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามปี 2565 และแนวโน้มปี 2565-2566 (พฤศจิกายน 2565)
[6] https://s3.amazonaws.com/sustainabledevelopment.report/2022/2022-sustainable-development-report.pdf
[7] https://www.eria.org/publications/population-ageing-in-thailand/
[8] Moody’s Maintains Thailand’s Credit Rating at Baa1 (prd.go.th)
[9] http://www.Thaibma.or.th/EN/Bandinfo/ESG.aspx
[10] อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากทำการคำนวณในปี พ.ศ. 2562 https://www.oecd.org/tax/tax-policy/revenue-statistics-asia-and-pacific-thailand.pdf
[11] ตามการนิยามของ OECD คำว่า “ภาษี” หมายถึงเงินที่รัฐบาลบังคับจัดเก็บ โดยผู้จ่ายเงินอาจไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดี ภาษีอาจไม่ให้ผลตอบแทนที่ดีในแง่ว่า โดยปกติแล้วสิทธิประโยชน์ที่ผู้เสียภาษีได้รับจากรัฐบาลมักไม่สอดคล้องกับสัดส่วนที่ตนได้จ่ายไป http://www.oecd.org/tax/tax-policy/oecd-classification-taxes-interpretative-guide.pdf

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น