ภาคประชาชนยื่นหนังสือ ขอให้แก้ปัญหาการใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. เหตุกระทบผู้ป่วยที่เคยมีนัดกับโรงพยาบาลรับส่งต่อ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 ตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบบัตรทองในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกลุ่มเพจ Facebook “รวมคนได้รับผลกระทบจากใบส่งตัว บัตรทอง นโยบายใหม่ของ สปสช.” เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อขอให้แก้ปัญหาการใช้สิทธิบัตรทองในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากภายหลังที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  เขต 13 กทม. เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. เป็นรูปแบบ OP New Model 5 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา ได้ส่งผลต่อผู้ป่วยที่เคยมีนัดกับโรงพยาบาลรับส่งต่อ เนื่องจากคลินิกชุมชนอบอุ่นยกเลิกใบส่งตัวที่ออกก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2567 ขณะที่โรงพยาบาลรับส่งต่อก็ให้ผู้ป่วยที่เคยนัดไว้กลับไปขอใบส่งตัวใบใหม่ก่อนเข้ารับบริการ

ข้อเรียกร้องสำคัญในหนังสือดังกล่าว ได้แก่

  1. ขอให้กำกับดูแลให้คลินิกชุมชนอบอุ่นส่งตัวผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับบริการที่โรงพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ 
  2. ขอให้กำหนดให้คลินิกชุมชนอบอุ่นเขียนใบส่งตัวในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนในกรณีโรคไม่เรื้อรัง และ ไม่ต่ำกว่า 1 ปีในกรณีโรคเรื้อรัง 
  3. ขอให้กำหนดให้ผู้ป่วยไปขอรับใบส่งตัวที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ในกรณีที่คลินิกชุมชนอบอุ่นไม่ออกใบส่งตัวให้
  4. ขอให้เผยแพร่ข้อมูลรายชื่อหน่วยบริการที่มีเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับบริการ 

ขณะที่ นพ.ชลน่าน กล่าวถึงกรณีนี้ว่า “กทม. เป็นจังหวัดที่มีความสลับซับซ้อน รูปแบบของหน่วยบริการไม่เหมือนต่างจังหวัดที่มีความหลากหลาย ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กทม. โรงเรียนแพทย์ ทหาร และตำรวจ เป็นต้น การบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกับต่างจังหวัดอาจไม่ได้ผล ดังนั้นจึงต้องรอให้ระบบมีความพร้อมทั้งหมดก่อนแล้วค่อยดำเนินการได้ ตั้งเป้าหมายในเดือนตุลาคมนี้ที่ให้ทุกที่เชื่อมต่อข้อมูลกันได้ การยกเลิกใบส่งตัวก็จะเป็นไปโดยปริยาย” พร้อมรับคำมั่นว่า “ข้อเรียกร้องที่ตัวแทนผู้ป่วยยื่นหนังสือในวันนี้ ย้ำว่าเราเข้าใจและจะพยายามหาทางออกให้ดีที่สุด คนไข้ต้องไม่เดือนร้อน แต่การส่งต่อผู้ป่วยต่อก็ต้องสมเหตุสมผลและมีความจำเป็นจริง ๆ”

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ได้ทำหนังสือชี้แจงแนวทางปฏิบัติกับคลินิกชุมชนอบอุ่นว่า ผู้ป่วยที่เคยส่งตัวไปแล้วขอให้เป็นแบบเดิม ซึ่งหลังจากนี้หากมีผู้รับบริการที่ไม่ได้รับความสะดวกหรือถูกปฏิเสธการออกใบส่งตัวทั้งที่มีความจำเป็นต้องไปรับบริการในโรงพยาบาลรับส่งต่อ ให้แจ้งเข้ามาที่สายด่วน 1330 ตลอด 24 ชม.

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ทำให้หลายคนยากจนขั้นรุนแรงเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล
– เอเชียแปซิฟิกจะฟื้นคืนจากโรคระบาด เมื่อมีนโยบายที่ประสาน ‘สุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม’
 การประชุมระดับสูงด้านสุขภาพ ผู้นำโลกยืนยันความมุ่งมั่นสร้าง ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ – เตรียมรับมือโรคระบาดและยุติวัณโรค
 การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีความเชื่อมโยงกับการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง 
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา : กลุ่มผู้ป่วยยื่น 4 ข้อเสนอ “หมอชลน่าน” แก้ปมใบส่งตัว (The Active)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น