6 Checklist สำหรับภาครัฐกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้พร้อมรับมือกับปัญหาในอนาคตและความก้าวหน้าของ SDGs ทุกเป้าหมาย

ถิรพร สิงห์ลอ

เทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงของการล็อคดาวน์ เป็นตัวกลางที่มีบทบาทสำคัญยึดโยงและเชื่อมต่อ (Connectivity) การทำงานของแต่ละภาคส่วนในขณะที่พื้นที่และพรมแดนปิดลงให้ยังคงทำงานเป็นปกติได้ โดยมี “การทำให้เป็นดิจิทัล” (Digitalisation) อาทิ ในภาคธุรกิจ ระบบห่วงโซ่อุปทาน เครื่องจักรที่ทำงานโดยอัตโนมัติเพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ (Automation) ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อดีของการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ขณะเดียวกันมันยังเผยให้เห็น “ต้นทุนทางสังคม” ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ คนที่ไม่สามารถหรือสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีได้น้อยกลายเป็นกลุ่มคนที่เสียโอกาสในสังคม นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีด้วยอย่างประเด็นความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) และที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) อย่างไรก็ดี การพัฒนาเทคโนโลยีก็ยังคงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) และ PricewaterhouseCoopers (PwC) เผยแพร่รายงาน “Harnessing Technology for the Global Goals: A framework for government action” เป็นกรอบการทำงานสำหรับภาครัฐในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รับมือกับปัญหาในอนาคต และเพื่อความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เราเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

รายงานระบุว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ควรมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

  • การปรับตัว (Adaptability) – ประสบการณ์จากวิกฤติบอกเราว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาควรอยู่บนฐานการสร้างภูมิคุ้มกันให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง (resilience) และการปรับตัว ทั้งในแง่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ชุมชน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ความรวดเร็ว (Swiftness) – เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เรื้อรังแต่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาทิ ความหิวโหย ความยากจน การมีงานทำ และประเด็นอื่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 “ให้รวดเร็วขึ้น” ได้อย่างไรบ้าง
  • ความร่วมมือ (Collaboration) – รักษาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมกับนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมประเด็นที่ได้จากการถอดบทเรียนร่วมกันกับภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญกับการจัดการโควิด-19 อาทิในประเด็นนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

พร้อมกันนี้ รายงานได้ให้เครื่องมือเป็น “6 checklist” สำหรับภาครัฐในการนำเทคโนโลยีมาใช้และเพื่อความก้าวหน้าของ SDGs” ดังนี้

  • วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ – ต้องดำเนินการเชิงรุกในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์ “Tech-for-good” มีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ยืดหยุ่นและปรับตัวได้เร็ว (Agile and adaptable)
  • การปกครองและความรับผิดรับชอบ – ต้องกำหนดภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน พัฒนาแผนปฏิบัติงานที่ยืดหยุ่น รวมถึงให้มีพื้นที่การทดลอง/ทดสอบนวัตกรรม (Sandbox)
  • นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา (R&D) –  ในระยะแรก SDGs อาจไม่เป็นที่รู้จักในภาคเอกชนมากนัก ภาครัฐจึงต้องมีบทบาทผลักดันและสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศสำหรับการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา โดยอาจเป็นการสร้างแรงจูงใจ (incentives) สำหรับหน่วยงานวิจัย นวัตกรรม และการลงทุน และสร้างบรรยากาศของการลองผิดลองถูกในการพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น
  • เงินทุนสำหรับ “การพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์” (Commercialisation) – รัฐบาลสามารถพิจารณาพัฒนาวิธีการทางการเงินเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลนีไปต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ และผลักดันเข้าสู่ตลาด อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงรากฐานนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล และอัปเดทนโยบายการเงินและการตลาดให้ทันสมัย
  • ทรัพยากรมนุษย์และทักษะ – ข้อนี้มีความสำคัญมากเพราะทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะความสามารถจะเป็นผู้สรรค์สร้างเทคโนโลยี รวมไปถึงเป็นประโยชน์ต่อแรงงานเองที่จะมีความพร้อมสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดงานด้วย
  • การลงมือทำและความร่วมมือร่วมกัน – ตระหนักว่าปัญหาและความท้าทายในปัจจุบันไม่สามารถทำงานกันอย่างแยกส่วนได้ไม่ว่าจะในระดับชาติหรือระดับระหว่างประเทศ จึงต้องมีหุ้นส่วนการพัฒนาให้แลกเปลี่ยนทรัพยากรและความรู้ พร้อมลงมือทำด้วยกัน เพื่อให้ประเด็นปัญหาที่มีความซับซ้อนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

อ่านเพิ่มเติมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์และทักษะที่:

“Talentism” เตรียมทักษะให้พร้อมหลังโควิด-19 เริ่มได้ด้วย “การศึกษา” และ “อินเตอร์เน็ต” ที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน

อ่านรายงานฉบับเต็มที่:

Click to access WEF_Harnessing_Technology_for_the_Global_Goals_2021.pdf

แหล่งอ้างอิง:

https://www.weforum.org/agenda/2021/01/here-s-how-governments-can-mobilize-technology-for-the-sdgs

#SDGWatch #ihpp #SDG9

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น