สกอตแลนด์เดินร่าง พ.ร.บ. ผนวกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (UNCRC) แบบจัดเต็ม เพราะ ‘สิทธิเด็ก’ เป็นวาระแห่งชาติปี 2563 – 2564

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ. ผนวกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ UNCRC (Incorporation) (Scotland) Bill ที่สกอตแลนด์ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 กำลังอยู่ในขั้นที่ 3 ก่อนที่จะประกาศใช้เป็น พ.ร.บ. ต่อไป

โดยร่างกฎหมายนี้เป็นหมุดหมายสำคัญของการปรับหน้าวัฒนธรรมชาวสกอตแลนด์ (cultural shift) ที่ทุกภาคส่วนในสกอตแลนด์ ทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาครัฐได้ร่วมกันต่อสู้มากว่า 10 ปี เพื่อให้สิทธิเด็กเกิดขึ้นจริงในวิธีคิดและการปฏิบัติต่อกัน ผ่านบทบัญญัติทางกฎหมายและเจตจำนงค์ทางการเมือง พร้อมกับที่รัฐบาลกำหนดให้สิทธิมนุษยชนของเด็กและคนวัยหนุ่มสาวเป็นวาระแห่งชาติปี 2563 – 2564 ที่สำคัญไม่แพ้การฟื้นฟูประเทศจากการระบาดของโควิด-19

แม้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of the Child: UNCRC) ที่เป็นการ ‘ยอมรับหลักการ’ มีผลผูกพันทางกฎหมายในเวทีระหว่างประเทศและตระหนักถึงสิทธิเด็กภายใต้อนุสัญญานี้ ทว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ ‘ผนวก’ (incorporate) อนุสัญญาฯ เป็นกฎหมายภายในประเทศโดยตรง (direct) ทุกมาตรา (full intent of every article) และบังคับใช้เป็นข้อกฎหมาย (maximum extent of powers) ซึ่งปัจจุบันมีนอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน และที่กำลังผลักดันอยู่ก็คือสกอตแลนด์

การผนวกรวมเข้ามาเป็นข้อกฎหมายภายในประเทศมีระดับความเข้มข้นที่มากกว่าเพียงการให้สัตยาบัน เพราะหมายถึงเป็นการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายและให้เด็กเข้าถึงการคุ้มครองนี้ได้อย่างจริงจัง ครอบคลุมถึงครอบครัวของเด็ก ให้รัฐบาลต้องออกแผนที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กและมีการทบทวนทุกปี ให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมาธิการเด็กและเยาวชนสกอตแลนด์สามารถดำเนินการทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเด็กได้ รวมถึงให้หน่วยงานภาครัฐต้องรายงานการดำเนินการที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กทุกสามปี และมีความรับผิดรับชอบ (accountability) ที่สอดคล้องกับหรือไม่ให้สิทธิเด็กที่กำหนดตาม UNCRC ต้องถูกละเมิดด้วย

เผยแพร่โดย Together (Scottish Alliance for Children’s Rights) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564

ทั้งนี้ จากข้อกฎหมายยังมีผลที่นอกเหนือไปจากนั้น อาทิ ทำให้กระบวนการตัดสินใจทางนโยบายจะต้องอยู่บนฐานของสิทธิเด็ก เกิดวัฒนธรรมการเคารพเด็กในฐานะปัจเจกบุคคลที่รวมไปถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การปฏิรูปการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน

เพื่อให้การสนับสนุนหลักการสิทธิมนุษยชนในทุกมิติและทุกวัยมีความแข็งขันมากขึ้น สกอตแลนด์ยังพิจารณาความเป็นไปได้ของการผนวกสนธิสัญญาระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนเป็นกฎหมายภายในประเทศด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข มีส่วนร่วม ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ ซึ่งมีที่กล่าวถึงการยุติการข่มแหง ความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก การบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ

แหล่งอ้างอิง:
https://www.togetherscotland.org.uk/about-childrens-rights/monitoring-the-uncrc/incorporation-of-the-un-convention-on-the-rights-of-the-child/
https://betaproxy1.parliament.scot/bills-and-laws/bills/united-nations-convention-on-the-rights-of-the-child-incorporation-scotland-bill
https://www.ucc.ie/en/law/news/does-legal-incorporation-of-the-uncrc-matter.html

Last Updated on มีนาคม 22, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น