Global Child Health Agenda: เพราะเด็ก-เยาวชน-คนหนุ่มสาวเป็นหัวใจสู่การบรรลุ SDGs ‘การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต’ จึงสำคัญ

WHO และ UNICEF เผยแพร่ ‘วาระสุขภาพเด็กระดับโลก’ (Global Child Health Agendas) เมื่อปลายปีก่อน แสดงวิสัยทัศน์ที่สนับสนุนแนวทาง ‘การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต’ (Lifecourse approach) เป็นเครื่องมือให้แต่ละประเทศนำไปปฏิบัติ โดยเน้นย้ำว่าสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Good health and well-being) ในวัยเด็ก (childhood) และวัยรุ่น ต้องเป็นศูนย์กลางของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573

เพราะประเทศจะก้าวไปสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนได้ เริ่มต้นจากการให้ความสำคัญและสนับสนุนสุขภาพของช่วงวัยเด็ก-เยาวชน-คนหนุ่มสาว เพื่อให้เติบโตไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ของประเทศที่มีศักยภาพ

‘การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต หรือ Lifecourse approach สำคัญ เนื่องจากการบริการด้านสุขภาพไม่จำกัดเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพเท่านั้น แต่คำนึงถึงการให้บริการและนโยบายอย่างเป็นองค์รวมที่ส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีในวัยเด็ก-วัยรุ่น-คนหนุ่มสาว ที่ครอบคลุมถึงด้านสุขภาพของมารดา โภชนาการของเด็ก สุขภาวะทางจิตใจ การศึกษา สภาพแวดล้อมที่สะอาด สังคมที่สนับสนุน ความมั่นคงปลอดภัย และความสามารถในการปรับตัวและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง (resilience) เป็นต้น’

พร้อมกันนี้ Lifecourse approach ต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือออกแบบใหม่ที่คำนึงถึงแนวโน้มของโรคและการเสียชีวิตในเด็กด้วย ตามข้อมูลของ WHO มีที่สรุปไว้ ดังนี้

  • แม้จะสามารถป้องกันการตาย (‘การตายที่ป้องกันได้’ – preventable deaths) ในทารกแรกเกิดได้ แต่การตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปียังคงมีจำนวนมากจากโรคปอดบวม โรคท้องร่วง และมาลาเรีย รวมทั้งภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะเป็นกรณีที่มักเกิดในกลุ่มประชากรชายขอบ (marginalized group) ในประเทศแถบแอฟริกาซับซาฮารา ที่คาดว่าจะมีประชากรเด็กเพิ่มขึ้นในทศวรรษข้างหน้า
  • ขณะที่ในบางประเทศ วัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี เสียชีวิตมากขึ้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ความรุนแรงระหว่างบุคคล และการทำร้ายตัวเอง โดยมีจำนวนเด็กและวัยรุ่นที่รอดชีวิตแต่ได้รับบาดเจ็บ พิการ มีโรคไม่ติดต่อ หรือสุขภาพจิตย่ำแย่
  • และการที่แต่ละประเทศเผชิญกับปัญหาด้านโภชนาการ การรับสารอาหารที่มากเกินหรือน้อยเกินไปทำให้เกิดภาวะทุพโพชนาการ ตลอดจนน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กและวัยหนุ่มสาวมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในกรณีหลังนี้เป็นความท้าทายมากขึ้นโดยเฉพาะประชากรในพื้นที่เขตเมือง
  • ซึ่งปัญหาด้านสุขภาพยังซ้อนทับกับประเด็นการสูดรับอากาศที่สะอาด/ไม่สะอาด และการมีกิจกรรมที่ต้องใช้พลังกาย (physical activity) ที่มีอย่างจำกัดในพื้นที่เขตเมือง ที่กระทบต่อการให้บริการทางสุขภาพด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 หลักประกันว่าด้วยคนมีชีวิตที่มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย ซึ่งมีการกล่าวถึงสุขภาพของมารดา การตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิด การตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิต อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง: https://www.who.int/news/item/18-03-2021-reframing-child-and-adolescent-health-for-the-sdg-era

Last Updated on มีนาคม 23, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น