แคมเปญการปลูกป่าแบบหมุนเวียนในเนเธอร์แลนด์ ด้วยการย้ายต้นกล้าที่เกิดริมทางไปที่ที่มีโอกาสโตมากกว่า

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์วางแผนเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 37,000 เฮกตาร์ หรือเท่ากับต้นไม้ที่ต้องปลูกเพิ่มอีก 100 ล้านต้น ภายในปี 2030 เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การเพาะชำกล้าต้นไม้จำนวนมากขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและคงไม่ทันเวลา แคมเปญ ‘Meer Bomen Nu’ (More Trees Now) จึงเกิดขึ้นจากไอเดียแสนธรรมดาว่า ..

ในทุกวันมีต้นกล้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในพื้นที่สาธารณะมากมาย ทำไมไม่แจกจ่ายมันให้ทุกคนไปช่วยกันปลูกให้เติบโตที่ต่าง ๆ

ต้นไม้ที่พบได้ทั่วไปในป่าของเนเธอแลนด์ อาทิ เฮเซลนัท เชอร์รี่หวาน เมเปิ้ลฟิลด์ บีช เกาลัดและแอช เพียงแค่หนึ่งต้นสามารถขยายพันธุ์ต้นอ่อนตามธรรมชาติได้มากมายในแต่ละปี แต่หลายต้นโตขึ้นในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมนักในป่า เช่น ใกล้พื้นที่ทางเดินของคน ใกล้แนวการก่อสร้างใหม่ หรืออยู่ใต้ร่มเงาต้นไม้อื่นหนาแน่นมากเกินไปจนไม่ได้รับแสงแดด ก็มีโอกาสโตไปเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ยาก และยังเกิดขึ้นจำนวนมากจนไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบใดต่อระบบนิเวศหากต้นกล้าเหล่านั้นถูกกำจัด อาสาสมัครของ Meer Bomen Nu จึงได้รวบรวมต้นกล้าและต้นไม้ที่ยังไม่โตเต็มที่เหล่านี้มายัง “tree hub” หรือ “ศูนย์ต้นไม้” 200 แห่งทั่วเนเธอแลนด์ เพื่อรอแจกจ่ายให้คนทั่วไป เกษตรกร หรือผู้ที่ต้องการย้ายไปปลูกในที่ที่มันจะสามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ผู้รับผิดชอบแคมเปญนี้ ระบุว่า ‘การปลูกต้นไม้แบบหมุนเวียน’ หรือ ‘circular planting’ เป็นวิธีการจัดการฟื้นฟูป่าที่ต้นทุนต่ำ ทำได้รวดเร็ว และมีความยั่งยืน โดยในฤดูหนาวที่ผ่านมานี้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของอาสาสมัครหลายพันคน Meer Bomen Nu สามารถย้ายกล้าไม้ 250,000 ต้น ที่มีความสูงตั้งแต่ระดับเข่าถึงสูงเท่าผู้ใหญ่หนึ่งคนให้ได้ไปปลูกใหม่ในสวนและทุ่งนาของชาวเมืองและเกษตรกร 800 ราย และต้นกล้าทั้งหมดนั้นรอดชีวิตถึง 80% และในปีหน้านี้ ทางแคมเปญได้วางเป้าหมายไว้ว่าต้องรวบรวมและแจกจ่ายต้นกล้าไปปลูกให้ได้ 1 ล้านต้น

ต้นไม้ที่เติบโตเต็มวัยทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นดีที่จะสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ภูมิภาคยุโรปจึงได้ประกาศคำมั่นปลูกต้นไม้เพิ่มให้ได้อีก 3 พันล้านต้นภายในปี 2030 เพื่อลดผลกระทบของความรุนแรงจากวิกฤตด้านภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผู้รับผิดชอบแคมเปญ Meer Bomen Nu จึงมีความหวังว่าวิธีการปลูกต้นไม้แบบหมุนเวียนนี้จะแพร่หลายในยุโรปและทำให้บรรลุเป้าหมายเรื่องพื้นที่ป่าได้เร็วขึ้น

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG13 ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
- (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563
- (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี พ.ศ. 2563

ที่มา :
This Dutch scheme is using free trees to tackle climate change (WEForum)
‘Every tree counts’: Dutch come up with cunning way to create forests for free (The Guardian)

Last Updated on ธันวาคม 27, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น