เมื่อ Gen Z สนับสนุนความยั่งยืนในการเลือกซื้อมากกว่าใคร และอยากให้ทุกช่วงวัยหันมาใส่ใจความยั่งยืนด้วยกัน

ปัจจุบัน กลุ่มประชากร Gen Z มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องวิถีชีวิตยั่งยืน โดยเฉพาะผ่านพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า นอกจากนี้ กลุ่ม Gen Z ในฐานะพลเมืองรุ่นใหม่ยังช่วยทำให้กลุ่มประชากรช่วงวัยอื่นหันมาสนใจวิถีชีวิตยั่งยืนมากขึ้น กระนั้น การปรับเปลี่ยนมามีวิถีชีวิตยั่งยืนอาจยังไม่ตอบโจทย์คนบางกลุ่ม เนื่องจากเป็นวิถีชีวิตที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอเพื่อการตัดสินใจ

จากรายงานการสำรวจ “The State of Consumer Spending: Gen Z Influencing All Generations to Make Sustainability-First Purchasing Decisions” โดย First Insight และ the Baker Retailing Center แห่ง The Wharton School of the University of Pennsylvania ในหัวข้อที่ว่า “คุณให้ความสำคัญกับองค์ประกอบเหล่านี้อย่างไรเมื่อตัดสินใจซื้อสินค้า” จากผู้ตอบการสำรวจมากกว่า 1,000 คน จากทั้งหมดสี่กลุ่มประชากรในสหรัฐฯ ประกอบด้วย กลุ่ม Baby Boomers (ผู้ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2489 – 2507) กลุ่ม Generation X (ผู้ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2508 – 2519) กลุ่ม Millennials (ผู้ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2520 – 2538) และกลุ่ม Generation Z พบว่า กลุ่ม Generation Z (Gen Z) (ผู้ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2538 – 2553) จำนวนมากกว่า 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจ เลือกที่จะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่สนับสนุนความยั่งยืนมากกว่าจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ พฤติกรรมของกลุ่ม Gen Z เองยังมีอิทธิพลต่อกลุ่มประชากรช่วงอายุอื่นในการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยดูได้จากความต้องการซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีความยั่งยืน (Prefer to Buy from Sustainable Brands) ในกลุ่ม Generation X ซึ่งเป็นวัยของผู้ปกครองกลุ่ม Gen Z เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหากเปรียบเทียบกับรายงานความยั่งยืนของบริโภคของ First Insight เองในปี พ.ศ. 2563

โดยเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสำรวจการเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่สนับสนุนความยั่นยืนของประชากรทั้งสี่ช่วงวัยในปี พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2564 พบว่า ข้อมูลของปี พ.ศ. 2564 ชี้ให้เห็นว่าทุกกลุ่มช่วงวัย ทั้งกลุ่ม Baby Boomers กลุ่ม Generation X กลุ่ม Millennials และกลุ่ม Gen Z มีความยินดีจ่ายสูงกว่า (willing to pay more) เพื่อซื้อสินค้าที่ยั่งยืนกว่า เป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นนับจากข้อมูลปี พ.ศ. 2562

กระนั้น ยังพบความแตกต่างในเรื่องของมุมมองที่มีต่อความยั่งยืน จากการสำรวจดังกล่าวในหัวข้อ “ความยั่งยืนหมายถึงอะไรในสายตาของคุณ” (What does sustainability mean to you?) พบว่า กลุ่ม Gen Z มองว่าความยั่งยืนต้องเริ่มมาตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตสินค้า (48%) และแนวปฏิบัติในการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน (34%) ถือเป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรช่วงวัยอื่น ขณะที่ส่วนใหญ่ของกลุ่ม Baby Boomers (44%) กลุ่ม Generation X (48%) และกลุ่ม Millennials (46%) มองว่าความยั่งยืนหมายถึงสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบซึ่งผ่านกระบวนการรีไซเคิลมาแล้ว และที่เก็บเกี่ยวได้จากธรรมชาติอย่างยั่งยืน

นอกจากการศึกษาของ First Insight ทางฝั่งสหรัฐฯ แล้ว การสำรวจการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับความยั่งยืนของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรโดย Deloitte ในปีพ.ศ. 2564 ผ่านคำถามที่ว่า “ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา กิจกรรมที่สนับสนุนวิถีชีวิตยั่งยืนกิจกรรมใดที่คุณทำไปแล้วบ้าง” พบว่า วิธีการเปลี่ยนแปลงมามีวิถีชีวิตยั่งยืนที่ผู้ตอบแบบสอบถามทำร่วมกันมากที่สุด ที่ 61% คือการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ตามมาด้วยการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตตามฤดูกาลธรรมชาติ (49%) และการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในชุมชน (45%) ทั้งนี้ แม้ว่าการรับเอาวิถีชีวิตยั่งยืนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อโลกและสังคมและผู้คนมีแนวโน้มให้ความสนใจมากขึ้น แต่จากการสำรวจกับผู้ตอบแบบสอบถามในสหราชอาณาจักรเอง พบว่า อุปสรรคสามประการที่พบมากที่สุดที่ทำให้ผู้คนไม่เปลี่ยนมามีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ได้แก่ การที่ไม่มีความสนใจในวิถีชีวิตยั่งยืน (22%) ตามมาด้วยการมองว่าวิถีชีวิตยั่งยืนมีค่าใช้จ่ายที่สูง (16%) และท้ายที่สุดคือการมองว่ายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากพอที่จะทำให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเอง (15%)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12: การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573

ที่มา:
Gen Z cares about sustainability more than anyone else – and is starting to make others feel the same (World Economic Forum)
The State of Consumer Spending: Gen Z Influencing All Generations to Make Sustainability-First Purchase Decisions (First Insight)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 1, 2022

Author

  • Phongnarin Sukcham

    Knowledge Communication | ผู้ชอบสำรวจการ "ข้าม" วัฒนธรรมของตนเองและสังคม แต่ไม่มองข้ามความอยุติธรรมที่ฉุดรั้งการพัฒนา

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น