SDG Insights | (EP.2/2) Sustainability Transformation: มองโอกาส ก้าวข้ามความท้าทายด้วยองค์ความรู้ เพื่อ “พลิกโฉม” การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

การเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในทศวรรษสุดท้ายแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) นี้คงไม่เกินจริงที่จะกล่าวว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของนานาประเทศที่ต้องค้นหาแนวทางใหม่ในการทำงานที่เหมาะสมภายใต้บริบท ข้อจำกัดเฉพาะตัว และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง แนวคิด “การเปลี่ยนแปลงจากฐานรากเพื่อความยั่งยืน” (Sustainability Transformation) จึงเป็นข้อเสนอที่ถูกพูดถึงขึ้นมาอย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มโอกาสในการบรรลุ SDGs ให้ทันภายในปี 2573 โดยเป็นตัวเลือกในจัดกระบวนทัพการขับเคลื่อนใหม่อย่างบูรณาการมากขึ้น

สำหรับการออกแบบเส้นทางเพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่าง “พลิกโฉม” ของแต่ละพื้นที่นั้นมีความต้องการตอบโจทย์ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม แกนสำคัญของการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานกับ SDGs ที่มีความเชื่อมโยงเชิงระบบที่ซับซ้อน ย่อมต้องอาศัยกลไกสนับสนุนที่เข้มแข็ง องค์ความรู้หลากหลายศาสตร์ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมกันอย่างเท่าเทียมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อทลายอุปสรรคเดิมด้วยทางเลือกที่มีประสิทธิภาพกว่า

สำหรับประเทศไทยเองก็เช่นกัน ..

อ่านตอนก่อนหน้า – SDG Updates | (EP.1/2) Sustainability Transformation: ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการ พลิก “ระบบ” จากฐานรากในทศวรรษสุดท้ายแห่งการลงมือทำ 

ต่อเนื่องจากการทำความเข้าใจมุมมอง ข้อคิด และแนวทางของหลักการ “การเปลี่ยนแปลงจากฐานราก” (Transformation) แล้ว SDG Insights | Sustainability Transformation: กำหนดทิศทาง ก้าวข้ามความท้าทายด้วยองค์ความรู้ เพื่อ “พลิกโฉม” การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ชิ้นนี้ จะพาท่านผู้อ่านรับฟังทรรศนะจากผู้เชี่ยวชาญในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคนโยบายระบบวิจัย และภาคประชาสังคมต่อความท้าทายปัจจุบันของการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในบริบทของประเทศไทยในห้วงเวลาครึ่งทางกว่า 6 ปีที่ผ่านมา พร้อมร่วมกำหนดทิศทาง อุดช่องว่าง เสริมพลังภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเร่งสปีดการเปลี่ยนแปลงอย่าง “พลิกโฉม” ไปสู่ความยั่งยืนให้ทันเวลา จากการสรุปเสวนาในหัวข้อ “ประโยชน์และความท้าทายในการขับเคลื่อน SDGs ตามแนวการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Transformation)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวทีสัมมนาสาธารณะการแลกเปลี่ยนความรู้ “Sustainability Transformation” เพื่อการเร่งรัดขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา


| ความท้าทายของแนวทางการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อความยั่งยืนในบริบทประเทศไทย

ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อํานวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงความสอดคล้องของแนวทางการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Transformation) กับธีมหลักของ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 “พลิกโฉมประเทศไทยสู่ สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” และเห็นว่า “จุดคานงัด” (leverage point) ในประเด็น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (science and technology) ตามแนวคิดของ Prof. Dr. Peter Messerli เป็นปัจจัยเอื้อ (enabling point) ที่จะขยับไทยให้เป็นประเทศรายได้สูงตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องทุนและแรงงาน

เมื่อกล่าวถึงความท้าทายที่สำคัญของของการทำงานเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง ดร.ธัชไทพบ 3 ประเด็นที่จำเป็นต้องแก้ไข ได้แก่ 1) การทำงานของแต่ละภาคส่วนที่ยังคงทำแบบแยกกัน ตัวใครตัวมัน (silo) 2) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและฉับพลัน (economic shock) ที่ไทยพบเจอทำให้การขับเคลื่อนเดินถอยหลัง และ 3) การกระตุ้นให้ทุกผู้เล่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมเดินไปข้างหน้าพร้อมกันอย่างเต็มที่

ไม่ต่างกันนักกับมุมมองของ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่เห็นว่าความท้าทายของการเปลี่ยนการขับเคลื่อน SDGs ไปสู่แนวทางใหม่ มีทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่ 1) การทำงานที่ไปไม่ถึงการปฏิบัติจริง ทั้งมาตรการที่ไม่ชัดเจน และการนำไปใช้ในพื้นที่โดยคำนึงถึงบริบทความหลากหลายของพื้นที่ไม่ดีพอ (SDG localizing) 2) การไม่ให้ความสำคัญกับความเร่งด่วนเพื่อบรรลุ SDGs เท่ากับการแก้วิกฤตอื่นที่เกิดขึ้น และ 3) องคาพยพที่ไม่ครบถ้วนในการทำงาน โดยเฉพาะบทบาทจากภาคประชาสังคมที่น้อยเกินไป

แต่ก่อนจะไปถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางใหม่ รศ. ดร.ปัทมาวดี ได้ชี้ให้เห็นจุดที่เป็นปัญหา (pain point) ของการขับเคลื่อน SDGs ภายในประเทศด้วย SDG Framework จากประสบการณ์ของภาควิชาการที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 พบ 3 จุดอ่อนที่สำคัญ ได้แก่ 1) กับดักของความยึดติดและความพยายามจัดการกับตัวชี้วัดของ SDGs (SDG indicator) ที่ไทยไม่มี 2) ไม่มีกระบวนการติดตามผลลัพธ์ที่เกิดจากกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ของภาคเอกชน ว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโมเดลธุรกิจได้จริงหรือไม่ และ 3) คำถามต่อภาคงานวิจัยว่าควรใช้ SDGs เป็นกรอบในการทำงานวิจัยอย่างไรให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ


| กำหนดทิศทางอนาคตด้วยการ คิด-นิยาม-ปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ไปสู่ความยั่งยืน

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พาผู้ร่วมเสวนาตั้งคำถามไปถึงระดับความหมายของคำว่า “transformation” ที่มองในมิติความลึก มากกว่า ความกว้างและความเชื่อมโยงที่เกี่ยวพันซับซ้อนหลายด้านดังที่ปรากฏผ่านการนำเสนอของนักวิชาการท่านอื่น โดยมองว่าคำว่า “การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อความยั่งยืน” นี้ต้องลงลึกถึงการเปลี่ยนแปลงระดับวิธีคิด เป็นไปอย่างพร้อมเพรียงทุกระดับ ทำงานระยะยาว มีความสามารถในการปรับตัวและยืดหยุ่น มองเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนและผันผวน (adaptive challenge) ต้องสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ โดยต้องคิดใหม่ นิยามใหม่ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับมนุษย์ และ มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เมื่อต้องทำงานกับประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนจากนี้ไป

โดยยกตัวอย่างสิ่งที่ต้องทำ 4 ประการ เพื่อขับเคลื่อน SDGs ตามแนวคิดการเปลี่ยนระดับรากฐานเพื่อความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริง ได้แก่

  1. Rethink development – คิดใหม่เรื่องการพัฒนา แลกเปลี่ยนความหมายของการพัฒนา
  2. Rethink prosperity – คิดใหม่เรื่องความมั่งคั่ง การแสวงหากำไร
  3. Redefine policy process – นิยามใหม่ถึงกระบวนการเชิงนโยบาย ปรับเปลี่ยนวิธีคิดเชิงนโยบาย
  4. Redefine partnership – นิยามใหม่ของเรื่องการเป็นหุ้นส่วน โดยมีจุดประสงค์คือเพื่อการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น
  5. Redefine management practices and relationships – นิยามใหม่แนวทางการจัดการและความสัมพันธ์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

โดยการปรับเปลี่ยนความคิดนี้ รศ. ดร.ปัทมาวดี ให้ทรรศนะว่า ภายใต้ภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เห็นความจำเป็นในการปรับกระบวนทัศน์ (paradigm shift) เพื่อค้นหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุดใหม่ แต่ในสถานการณ์ปราศจากวิกฤต ต้องมีการสร้างการเรียนรู้และมีระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้จริง


| การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในฐานะพันธมิตรที่เท่าเทียมในการขับเคลื่อนระดับชาติ

จากมุมมองของภาคประชาสังคม ดร.วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์กร Climate Watch Thailand กล่าวถึงข้อดีของ SDGs คือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานจะเกิดไม่ได้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (systemic change) ซึ่งเชื่อมโยงถึงการเปลี่ยนแปลงระดับโลกในประเด็นความร่วมมือพหุภาคี (multilateralism) ที่ยังคงต้องตั้งคำถามถึง ความจริงใจของหน่วยงานระดับโลกในการแก้ปัญหาความยั่งยืน อาทิ ปัญหาเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิล และความจริงจังของการให้คำมั่นของประเทศพัฒนาแล้วในการให้เงินทุนที่เป็นความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) สำหรับขับเคลื่อน SDGs

สำหรับในประเทศไทย ดร.วนันเห็นว่า เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนระดับรากฐานจะต้องสร้างสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเดิม ประเทศไทยต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของประชาชนในพื้นที่ที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้วและในฐานะที่ประชาชนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นปัญหาด้านการพัฒนาเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากนี้เกิดขึ้นได้จริง โดยทำงานกับคนในพื้นที่ด้วยการชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นระบบแยกย่อยออกไปกับเป้าหมายระดับโลกอย่าง SDGs และในการทำโครงการด้านพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่จากส่วนกลางต้องดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นในฐานะพันธมิตรที่เท่าเทียมกัน (equal partner) ให้ประชาชนมีอำนาจในการต่อรอง ไม่ใช่เพียงเห็นเป็นผู้รับประโยชน์หรือผู้ได้รับผลกระทบแต่เพียงเท่านั้น เพื่อร่วมสร้างโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของพื้นที่ได้จริง

ความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งในไทย คือ จะทำอย่างไรให้ภาคส่วนอื่นเห็นคุณค่าของสิ่งที่ภาคประชาชนทำอยู่ตลอดมาโดยไม่ต้องรอให้มีการนำเอา SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่จากส่วนกลาง และยกระดับการดำเนินการเหล่านั้นขึ้นมาประกอบในรายงานความก้าวหน้าที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัด SDGs ระดับชาติ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางที่ทำให้สามารถกำหนดแผนการพัฒนาของประเทศได้ว่าควรเป็นไปในทิศทางใด

ทั้งนี้ 4 ประเด็นสำคัญ ที่ ดร.วนัน เสนอให้ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงเพื่อให้การขับเคลื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่

  1. Inclusive – รวมทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน
  2. Integration – ต้องเกิดการรับรู้ ให้ความสำคัญและมีการเชื่อมโยงทางความคิด รวมถึงการปฏิบัติแผนงานจริงในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
  3. Knowledge – ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งจากภาควิชาการ และจากคนในพื้นที่หรือความรู้จากภาคประชาสังคม
  4. Partnership – ต้องมีการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม

| ภาควิชาการ – โซ่ข้อกลางของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

รศ. ดร.ปัทมาวดี มองเห็นโอกาสและศักยภาพของภาควิชาการในการเป็น “system integrator” หรือผู้ประสานงานระบบ ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นโซ่ข้อกลาง เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่มีข้อมูลในมือที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจะเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกันได้ โดยจะต้องหาวิธีใช้ประโยชน์จากศักยภาพในการเป็นผู้ประสานงานระบบของภาควิชาการที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่และทำงานในแต่ละประเด็นให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ว่าจะมีความพยายามในการใส่แนวคิด SDGs ลงไปในแผนการทำงานของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในท้ายที่สุด แม้ได้องค์ความรู้จากวิจัยแล้ว แต่การนำความรู้เหล่านั้นมาในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ยังคงเป็นช่องว่างสำคัญที่ภาควิชาการต้องเข้าเติมเต็ม และต้องการนักวิชาการที่มองรอบด้าน (well-rounded) และสามารถที่จะเห็นความเชื่อมโยงของประเด็นปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบเพื่อหาคานงัดที่มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงได้

ประสบการณ์การทำงานของนพ.สมศักดิ์ ก็ทำให้ได้ค้นพบว่า ไม่เพียงประชาชนในพื้นที่เท่านั้นที่มีความรู้มาก แต่หน่วยงานที่่่ทำงานในพื้นที่นั้น ๆ เองก็มีนวัตกรรมที่หลากหลาย แต่กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จุดนี้เองก็เป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องเป็นตัวกลางทำการเชื่อมความรู้ในตัวคนทำงาน (tacit knowledge) กับความรู้ชัดแจ้งให้ได้ (explicit knowledge) ให้ได้

นพ.สมศักดิ์เอง ก็อยากให้ภาควิชาการของประเทศไทย เป็นตัวกลางสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs ไปถึงขั้นการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานในหลาย ๆ มิติ ผ่านการทำงานกับพื้นที่ โดยการใช้ SDGs เป็นตัวตั้งในการทำงานจะทำให้เกิดการคิดใหม่ (rethink) ในหลาย ๆ ประเด็น และต้องมีการทำงานด้วยการเคลื่อนไหวทางวิชาการ (academic activism) ขับเคลื่อนเพื่อสร้างเปลี่ยนแปลง (drive change) โดยไม่ใช่เพียงให้ได้ความรู้ด้านทฤษฎีเท่านั้น แต่ต้องมีการจัดการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของนักวิชาการไปพร้อมกับเกิดวงจรในการเรียนรู้ของผู้คน เพื่อสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนไปได้ไกล มีการสร้างเครือข่ายทางวิชาการที่ทำงานแบบ activism และมีการกลไกสนับสนุนที่จะทำให้นักวิชาการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมองว่าด้วยการส่งเสียงของนักวิชาการที่เป็นผู้ประสานถึงความต้องการในพื้นที่ จะมีส่วนช่วยให้กระบวนการกำหนดนโยบายระดับชาติมีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีขึ้น

สอดคล้องกับ ดร.ธัชไท ที่กล่าวว่า ภาครัฐเห็นด้วยกับการสนับสนุนให้ภาควิชาการเป็นตัวกลางในการใช้ข้อมูลความรู้ทางวิชาการเพื่อช่วยกำหนดแนวทางพัฒนาและการขับเคลื่อนที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยลักษณะเฉพาะของความเป็นกลางทางวิชาการที่จะทำให้ก้าวข้ามความขัดแย้งและแรงเสียดทาน ในการดึงให้คนในพื้นที่เห็นเป้าหมายร่วมกันได้มากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นที่มีความเข้าใจบริบทปัญหาและการทำงานของภาครัฐในพื้นที่เป็นอย่างดี และการดำเนินงานของภาครัฐจะต้องใช้งานวิจัยและข้อมูลบนฐานวิทยาศาสตร์มาทำงานเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน


ท้ายที่สุด การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อไปสู่ความยั่งยืน จำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความซับซ้อนและความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ขาดของมิติสิ่งแวดล้อม-เศรษฐกิจ-สังคม การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และการลงทุนทั้งทรัพยากรเงินทุนและความรู้ความสามารถที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับแต่ละประเทศที่มีลักษณะเฉพาะ และสำคัญที่สุดคือ “การลงมือทำ” ในวันนี้ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าเพียงการให้คำมั่นสัญญา

เนตรธิดาร์ บุนนาค – ผู้เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ -บรรณาธิการ
ทศพล ธิบัวพันธ์ – ผู้จัดทำสรุปจากเวทีสัมนา
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง 
SDG Updates | The Future is Now: Science for Achieving Sustainable Development – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา 
SDG Updates | Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา
SDG Updates | โค้งสุดท้ายก่อน 2030: แผนพัฒน์ 13 กับการพลิกโฉมประเทศไทยสู่ความยั่งยืน?

SDG Insights ฉบับนี้ เป็นสรุปเนื้อหาช่วงการเสวนาในหัวข้อ “ประโยชน์และความท้าทายในการขับเคลื่อน SDGs ตามแนวการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Transformation)” จากเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “Sustainability Transformation” เพื่อการเร่งรัดขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา จัดโดยศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ภายใต้โครงการพื้นที่ทดลองค้นหาทางออกที่ยั่งยืนแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อการพลิกโฉมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Sandbox) ร่วมกับเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand)

อ่านสรุปจากเวทีสัมมนาฯ ทั้งสองส่วนได้ที่นี่: Part 1 และ Part 2

รับชมวีดีโอบันทึกจากเวทีสัมมนาฯ ได้ที่นี่: https://youtu.be/rUnB4CU9fdk

Last Updated on สิงหาคม 6, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น