SDG Updates | (EP.1/2) Sustainability Transformation: ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการ พลิก “ระบบ” จากฐานรากในทศวรรษสุดท้ายแห่งการลงมือทำ

ชีวิตความเป็นอยู่ของเราและโลก ณ จุดที่กำลังยืนไปจนถึงอนาคตอันใกล้และไกลจะเป็นอย่างไร เมื่อ “เมื่อจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ” ที่ได้ถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่ราว 50 ปีก่อน ณ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ที่เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เป็นปัญหาหลักแห่งยุคสมัยและนี่ไม่ได้เป็นเพียงความตระหนกเท่านั้น หากความไม่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างความไม่มั่นคงทางอาหาร การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างไม่สมดุล ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งและสงคราม กระทั่งการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในวันนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ตอกย้ำว่าวิกฤติไม่ได้เป็นเพียงวิกฤติที่เกิดขึ้นและจบไปในตัวเอง แต่ยังสร้างผลกระทบทางลบต่อแผนการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่ทำให้หลายความก้าวหน้าต้องหยุดชะงักลง 

การเดินหน้าต่อไปอย่างมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) ทศวรรษระยะสุดท้ายก่อนปิดฉากหมุดหมายในปี 2573 ทศวรรษที่เราเผชิญกับหลายวิกฤตการณ์เช่นนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยการปรับวิธีคิดใหม่และเปลี่ยนวิธีการจากเดิมที่เคยเป็นมา (Business-as-Usual) รวมทั้งการมองอย่างเป็นองค์รวมและตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

SDG Updates | Sustainability Transformation: ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการ พลิก “ระบบ” จากฐานรากในทศวรรษสุดท้ายแห่งการลงมือทำ ชิ้นนี้ จะพาท่านผู้อ่านสำรวจสถานะประเด็นปัญหาด้านการพัฒนาในปัจจุบัน ตลอดจนมุมมอง ข้อคิด และแนวทางในการ “การเปลี่ยนแปลงจากฐานราก” (Transformation) โดยผู้แทนหน่วยงานของสหประชาชาติและนักวิชาการระดับโลกด้านความยั่งยืน 3 ท่าน ได้แก่ คุณ Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ศ. ดร.Peter Messerli จาก Centre for Development and Environment, University of Bern ประธานร่วมผู้จัดทำรายงาน Global Sustainable Development Report 2019 และ ศ. ดร.Jeffrey Sachs จาก Earth Institute, Columbia University ประธานเครือข่าย UN SDSN เจ้าของผลงานตีพิมพ์การขับเคลื่อน SDGs ใน 6 ธีม “Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals” ที่แลกเปลี่ยนความรู้ในเวทีสัมมนาสาธารณะการแลกเปลี่ยนความรู้ “Sustainability Transformation” เพื่อการเร่งรัดขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา 

ให้การเปลี่ยนแปลงเป็นการเปลี่ยนแปลง “เชิงระบบ” เปลี่ยนแปลง “การพัฒนา” จากฐานราก หาทางรอดออกจากปัญหาความไม่ยั่งยืน ให้การพัฒนาในทศวรรษแห่งการลงมือทำมีความเชื่อมโยง ลดผลกระทบทางลบ สมดุลกันทั้งสามขา เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน


Renaud Meyer
ผู้แทน United Nations Development Programme (UNDP) ประจำประเทศไทย

หัวข้อบรรยาย “การขับเคลื่อน SDGs ในทศวรรษแห่งการลงมือทำ” (SDG implementation in the Decade of Action)

UNDP นำเสนอข้อมูลทางสถิติจากรายงานของคณะกรรมการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ที่ชี้ว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น ทิศทางของการพัฒนาในประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงมากที่จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้ภายในปี 2573 กระนั้นก็ดี แม้จะมีหลายเป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย SDGs ที่ยังล่าช้าและอาจจะไม่สำเร็จ แต่มี ..

| 3 เป้าหมาย (goals) ที่มีความก้าวหน้าใกล้เป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าควรจะไปถึงในปี 2563 มากที่สุด |

  • SDG 1 (ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่)
  • SDG 6 (สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน)
  • SDG 9 (โครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน การส่งเสริมนวัตกรรม)

| 5 เป้าหมาย (goals) ที่ต้องเร่งเครื่องดำเนินการ |

  • SDG 2 (บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน)
  • SDG 10 (ลดความไม่เสมอภาค/ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ)
  • SDG 13 (เร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น)
  • SDG 14 (อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)
  • SDG 16 (สังคมที่สงบสุขและครอบคลุม ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมทุกระดับ)

โดยยังชี้ให้เห็นความสำคัญของคำว่า “transformation” (การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน) ที่ตรงเป้ากว่าคำว่า “acceleration” ที่แปลว่า ไปให้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่อาจใช้วิธีการทำในรูปแบบเดิม เพราะว่าที่ผ่านมาแม้มนุษยชาติจะฉลาดหลักแหลม แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้า แต่มนุษย์ยังคงมีวิถีชีวิตสวนทางกับความยั่งยืน และต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากจุดเดิมนี้เท่านั้นเพื่ออนาคตที่ดีกว่า โดยลองดูได้จากสถานการณ์จริงดังต่อไปนี้

  • ความไม่ยั่งยืนของระบบอาหาร – 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้สูญเสียไปในกระบวนการเก็บเกี่ยว (food loss) แต่ 1 ใน 10 คนของประชากรโลกประสบกับความหิวโหย
  • ความไม่ยั่งยืนของระบบพลังงานและสิ่งแวดล้อม – มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคน 7 ล้านต่อปี แต่ เงินอุดหนุนเพื่อทำให้ราคาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกลงก็สูงกว่าการลงทุนกับพลังงานทดแทน

| ทศวรรษแห่งการลงมือทำกับ 5 ข้อเสนอแนะเพื่อเปลี่ยนแปลงจากฐานราก 

การระบุประเด็นปัญหาความไม่ยั่งยืนและเป้าหมายที่ต้องเร่งดำเนินการ เป็นสารตั้งต้นชั้นดีที่จะนำไปสู่การพินิจแนวปฏิบัติที่ดำเนินการอยู่ แต่การจะไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ Renaud Meyer ย้ำว่า การวางแผนใหม่และเปลี่ยนแปลงวิธีการเป็นสิ่งที่ต้องทำ โดย ข้อเสนอแนะของ UNDP ต่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน สำหรับประเทศไทยมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่

  1. พัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหา (solutions) ที่มีการบูรณาการศาสตร์ความรู้แขนงต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความซับซ้อนของปัญาการพัฒนา
  2. ทบทวนความเชื่อมโยงกันระหว่างมนุษย์ โลก และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (people-planet-properity) ปรับเปลี่ยนวิธีชีวิตของมนุษย์ หาสมดุลระหว่างสามมิติที่พึ่งพากันอยู่นี้
  3. ขับเคลื่อน SDGs โดยใช้แนวทางที่ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม (whole-of-society approach) ผ่านการอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (trust) ในระบบสังคม โดยเฉพาะระหว่างรัฐและประชาชน
  4. ขับเคลื่อนโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน (bottom-up) ในการนำ SDGs ไปปฏิบัติให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ (SDG Localization)
  5. ทำให้ภาคธุรกิจเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินธุรกิจที่ดี คือ สิ่งเดียวกันกับการดำเนินการที่สอดคล้องกับความยั่งยืน

เพื่อที่จะอยู่รอดในสถานการณ์ที่ระบบนิเวศและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตลอดจนนานาปัญหาที่มีความซับซ้อน โซลูชันที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดจึงจำเป็นต้องพัฒนามาจากการบูรณาการองค์ความรู้ของหลายภาคส่วนและระดับ เสริมพลังด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ และที่สำคัญคือการที่ประชากรโลกมีความรู้และความเข้าใจในสถานการณ์ด้านความยั่งยืนมากขึ้น ขณะที่ในมิติของการขับเคลื่อนการดำเนินงานนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยที่มีโครงสร้างของการกระจายอำนาจ การตระหนักถึงความต้องการและความสามารถของพื้นที่ ตลอดจนการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นปัจจัยสำคัญเอื้ออำนวยให้เกิดการบริหารจัดการนโยบายด้านความยั่งยืนภายในประเทศให้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ฐานราก  

| ทศวรรษแห่งการลงมือทำกับ 3 ธีมเพื่อเปลี่ยนแปลงจากฐานราก 

และเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงจากฐานรากให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น Renaud ระบุว่ามี 3 ธีมที่เราควรให้ความสำคัญ นอกจากการย้ำถึงระบบอาหาร (Food System) โดยเฉพาะในกรณีของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ที่หากสามารถหาโซลูชันได้เหมาะสมก็จะนำมาซึ่งความมั่นคงทางอาหารสำหรับทั้งประชาชนภายในประเทศและเกี่ยวเนื่องไปถึงความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชากรโลก ประเด็นด้านพลังงาน (Energy) ที่ถูกหยิบยกว่าจำต้องมีการสนับสนุนการลงทุนในพลังงานทดแทนให้มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาการใช้พลังงานฟอสซิลเกินขนาดในปัจจุบันและลดผลกระทบที่สืบเนื่องอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศลง ทั้งนี้ ยังมีอีกธีมสุดท้ายที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมก็คือ การสนับสนุนทางการเงิน (Finance)

เพราะการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างครบถ้วนในทุกมิติ จำต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานอย่างการได้รับการสนับสนุนทางการเงินและการจัดสรรเงินทุนที่เพียงพอทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินทุนของภาคเอกชน การจัดหาแหล่งเงินทุนโดยภาครัฐ ตลอดจนการตรวจสอบความโปร่งใสและเข้ามาร่วมวางแผนการใช้เงินทุนโดยภาคประชาสังคม เพื่อให้เงินทุนเหล่านี้ถูกใช้ไปกับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


ศ. ดร.Peter Messerli 
ผู้อำนวยการ Centre for Development and Environment (CDE) มหาวิทยาลัย Bern สวิตเซอร์แลนด์

ประธานร่วมในการจัดทำรายงาน Global Sustainable Development Report (GSDR)

หัวข้อบรรยาย “การเปลี่ยนแปลงจากฐานรากเพื่อความยั่งยืน: กรอบใหม่ในการขับเคลื่อน SDGs” (Sustainability Transformation: New framing for the SDGs implementation)

“โลกไม่มีทางสลายหายไป แต่ความสามารถของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตที่จะดำรงชีวิตได้อาจลดลง” คำกล่าวของ Peter Messerli นี้ชี้ให้เห็นว่าการจะพิชิตประเด็นปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายย่อยซึ่งเชื่อมโยงกันข้ามเป้าหมาย SDGs ได้สำเร็จ นอกจากนักวิทยาศาสตร์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในงานการพัฒนาแล้ว ยังรวมถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานของหลักการ ข้อมูล และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะเป้าหมายที่มีความล่าช้าเกินกว่าจะทำสำเร็จได้ตามที่กำหนด หรือในกรณีที่เป้าหมายหนึ่งมีความก้าวหน้าและถดถอยสวนทางกัน อย่างในกรณีของสวีเดนที่สามารถเข้าใกล้เป้าหมายย่อยในการลดจำนวนคนยากจนลงจนสามารถพ้นขึ้นไปจากเส้นความยากจน (poverty line) ได้ กระนั้น กลับเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดเป็นคำถามใหม่ที่ว่า เราจะสามารถไขทั้งสองปัญหาสำคัญนี้ไปพร้อมกันได้อย่างไร?

| Global Sustainable Development Report 2019: ตั้งต้นอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์สู่แนวทางการเปลี่ยนแปลงจากฐานรากด้วย 6 จุดเข้ากระทำและ 4 คานงัด

เพื่อไขประเด็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกัน รวมทั้งสร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานรากให้สำเร็จ Peter เสนอว่า เราสามารถตั้งต้นจากจุดเข้ากระทำ (entry point – จุดตั้งต้นเพื่อดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง) และจุดคานงัด (leverage point – จุดที่ใช้ในการแก้ปัญหาซึ่งเป็นจุดที่ใช้แรงน้อยที่สุดแต่ได้ผลลัพธ์สูงสุด) เป็นกรอบช่วย “เร่งเครื่อง” ในการขับเคลื่อนได้ โดยจุดเข้ากระทำนั้น มี 6 ประเด็น โดย 4 ประเด็น เป็นพื้นฐานสากลที่สำคัญ  ได้แก่

  1. เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม (Sustainable and Just Economies)
  2. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงานในขณะที่ยังเข้าถึงพลังงานได้ถ้วนหน้า (Energy Decarbonization with Universal Access) 
  3. ระบบอาหารและรูปแบบของโภชนาการ (Food Systems and Nutrition Patterns)
  4. การพัฒนาเมืองและพื้นที่กึ่งเมือง (Urban and Peri-urban Development)

โดยทั้ง 4 ระบบนี้เป็นประเด็นจากการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมาย (goals) และเป้าหมายย่อย (targets) ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบของ SDGs อาทิ เศรษฐกิจที่ดีทำให้ผลิตอาหารได้มากขึ้น เมืองก็เจริญขึ้น แต่เมื่อเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองก็เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศที่จะกลับมาสร้างปัญหาต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโลก จึงเป็นที่มาของอีก 2 ประเด็นที่เพิ่มเข้ามา ได้แก่

  1. ความเป็นอยู่ที่ดีและศักยภาพของมนุษย์ (Human Well-being and Capabilities)
  2. ทรัพยากรร่วมทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก (Global Environmental Commons)

กระนั้น เมื่อตั้งต้นจากจุดเข้ากระทำแล้ว ในการขับเคลื่อนให้สามารถบรรลุเป้าหมายย่อยได้ ยังต้องอาศัยเครื่องมืออย่างจุดคานงัด 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ระบบบริหารจัดการ  (Governance) ที่เป็นธรรม มีสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม 2) ระบบเศรษฐกิจและการเงิน (Economy and Finance) ในการหาเงินทุนหรือจัดสรรงบประมาณ ในการดำเนินแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs 3) การปฏิบัติการระดับบุคคลและชุมชน (Individual and Collective Action) มีความรู้ความเข้าใจและพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดความยั่งยืนในระดับประเทศและระดับโลก และสุดท้าย 4) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology) ที่มีความทันสมัย นำเข้ามาช่วยเร่งเครื่องการดำเนินงานให้รวดเร็วขึ้น และยังจะทำให้สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงข้ามเป้าหมาย SDGs รวมถึงช่วยลดผลกระทบของเป้าหมายหนึ่งที่มีต่ออีกเป้าหมายหนึ่งได้

| เส้นทางสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs

แม้ว่าเป้าหมาย SDGs จะเป็นกรอบการพัฒนาที่ช่วยกำหนดแพ็กเกจเป้าหมายย่อยและตัวชี้วัดสำหรับใช้เป็นธงของการดำเนินงานและเครื่องมือสำหรับการประเมิน อย่างไรก็ดี Peter ย้ำว่า การยึดเป้าหมายย่อยและตัวชี้วัดสากลนั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะการจะปรับวิธีคิดตลอดจนเปลี่ยนวิธีการยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่/ประเทศด้วย 

อย่างในกรณีของไทย หากนำแนวทางของ 6 จุดเข้ากระทำ และ 4 จุดคานงัดมาใช้โดยปรับให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ประการแรกคือการคิดอย่างเป็นระบบ (systematic thinking) ด้วยการสำรวจและเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องของแต่ละตัวชี้วัดภายใต้แต่ละเป้าหมายย่อย ภัยคุกคามที่แต่ละประเด็น/เป้าหมายกำลังเผชิญ ตลอดจนการติดตามดูผลกระทบจากการดำเนินงานภายใต้กรอบของแต่ละเป้าหมายย่อย เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วเป็นการพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับไทยเอง

นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้การเร่งเครื่องเดินหน้า แต่กลับพบว่าอาจไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เราจึงควรให้ความสำคัญกับ 3 วิกฤติที่น่ากังวลในเวลานี้ด้วยเช่นกัน 

  • วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment crisis) อาทิ การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินขนาด 
  • ความเหลื่อมล้ำ/ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม (Inequality) อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรในแต่ละประเทศ 
  • ระบบที่ทำงานผิดปกติ (Dysfunctional systems) อาทิ ระบบการบริหารที่ตัดโอกาสการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน 

ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติต่าง ๆ ของโลกเพื่อบรรลุสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การทำให้ สิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาพดี สังคมไม่เหลื่อมล้ำ และระบบต่าง ๆ ทำงานได้อย่างดี จึงต้องพิจารณาแก้ไขวิกฤติทั้ง 3 ประการไปพร้อมกัน ดังนี้ 

  • สร้างความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environment justice) – ต้องมีการพิจารณาการแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อม บนหลักของการคำนึงถึงผลกระทบด้านความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมต่อทุกคนด้วย
  • แก้ไขระบบ ไม่ใช่แก้ไขสิ่งแวดล้อม (System change, not environmental change) – หากระบบยังเป็นเช่นเดิม ก็จะนำมาซึ่งวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม ดังนั้น การแก้วิกฤติสิ่งแวดล้อม จึงต้องแก้ไขที่ระบบซึ่งเป็นที่มาของวิกฤตินั้น 
  • สร้างระบบการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานที่เป็นธรรม (Just system transformation) – การเปลี่ยนแปลงระบบย่อมส่งผลกระทบต่อแต่ละกลุ่มคนต่างไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องทำให้แน่ใจทุกคนจะได้รับความเป็นธรรม

| ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: ตัวช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย SDGs

อีกเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาวิธีแก้ไขปัญหา ทางออก หรือโซลูชัน นั่นก็คือบทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งนี้ เพื่อให้การนำมาใช้ไม่ขัดแย้งกับแนวทางการพัฒนาเสียเอง นักวิทยาศาสตร์ระบุแนวทางไว้ว่า จะต้องมาจาก 1) การพัฒนาโมเดลที่ตระหนักถึงความเสมอภาคและความยั่งยืนสำหรับประชากรโลกทุกคน ตลอดจน 2) การที่ทุกภาคส่วนในทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนความยั่งยืนร่วมกัน เรียนรู้และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงการทดลองเทคโนโลยี เพื่อผลักดันให้เกิดวิธีการและแนวคิดใหม่ที่ใช้ในการขับเคลื่อน SDGs

อย่างไรก็ตาม มากไปกว่าการสร้างโมเดลการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ทุกภาคส่วนจำต้องร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ นโยบาย และวิสัยทัศน์ร่วมกัน สิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานตั้งมั่นและเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ทุกคนอยากที่จะเปลี่ยนแปลงจากฐานรากไปด้วยกัน


ศ. ดร. Jeffrey Sachs
Earth Institute, มหาวิทยาลัย Columbia สหรัฐฯ 

ผู้อำนวยการ UN Sustainable Development Solutions Network (UN SDSN)

หัวข้อบรรยาย “การขับเคลื่อน Six Transformations ในทศวรรษสุดท้ายแห่งการลงมือทำ” (Implementing the Six Transformations in the last decade of action)   

หากการมองให้เห็นความเชื่อมโยงกันของเป้าหมายย่อยภายใต้ SDGs ทั้งหมด 17 เป้าหมายเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและยุ่งยาก Jeffrey Sachs ได้เสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงจากฐานรากใน 6 ธีม หรือ “Six Transformations” สนับสนุนให้ทุกภูมิภาคของโลกสามารถใช้เป็นกรอบแนวทางเร่งการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs

| Six Transformations: แกน 6 ธีมของการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก

  1. การศึกษา เพศสภาพ และความเหลื่อมล้ำ (Education, Gender and Inequality)

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องกำหนดแนวทางและปรับวิธีการใหม่ในระบบการศึกษา อย่างในบริบทของไทยซึ่งมีอัตรารายได้ของประชาชนในระดับปานกลาง ขณะที่ประเทศมีจุดแข็งหลายด้านนั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนกับระบบการศึกษาให้มากขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คุณภาพของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา การนำหลักสูตรดิจิทัลมาใช้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ ด้วยวิธีการเหล่านี้เองที่จะช่วยพัฒนาไทยสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

  1. สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และประชากร (Health, Well-being and Demography) 

รัฐบาลในแต่ละประเทศต้องพร้อมให้บริการทางด้านสาธารณสุข โดยมีเครื่องมือและระบบที่พร้อมให้บริการประชาชนภายในประเทศอย่างทั่วถึง เพราะการพัฒนาระบบสาธารณะสุขให้เป็นระบบที่เข้มแข็งเป็นประเด็นที่สำคัญมากในยุคที่โลกกำลังประสบกับวิกฤติโรคระบาดอยู่นี้

  1. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (Energy Decarbonization and Sustainable Industry)

ต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนรูปแบบของการใช้พลังงานจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) มาเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างไทยที่ยังคงพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) เป็นหลักด้วย ขณะที่ประเด็นที่น่าห่วงกังวลที่สุดคือการที่หลายประเทศยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนสำหรับการจัดการด้านการใช้พลังงาน จึงอาจต้องหาวิธีการหลากหลายวิธีในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อาจเป็นพื้นที่ที่มีพลังงานจากแสงอาทิตย์และจากลมไม่เพียงพอ หรือการที่มีพลังงานจากการขึ้นลงของระดับน้ำเฉพาะบางพื้นที่แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะมีพลังงานน้ำใช้ เป็นต้น นอกจากนี้ ในด้านพลังงานยังน่าสนใจว่าไทยจะสามารถปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจไฮโดรเจน (Hydrogen economy) ได้อย่างไร

  1. ระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Food, Land, Water, and Ocean)

การทำการเกษตรต้องมีการใช้ที่ดินที่ตระหนักถึงความยั่งยืน การรักษาผืนป่าในทุกภูมิภาคของโลก ลดการตัดไม้ลง ขณะที่ประเทศไทยประสบปัญหากับการตัดไม้ทำลายป่า พื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งถูกบุกรุกเพื่อตัดต้นไม้ขนาดใหญ่และนำไปขายให้กับต่างประเทศ อีกทั้งยังประสบปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศภายในลุ่มแม่น้ำโขง ปัญหามลพิษจากการเผาป่าและมลพิษในพื้นที่เขตเมือง

  1. เมืองและชุมชนยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)

การทำให้ชุมชนและสังคมเมืองมีความยั่งยืนคือเรื่องเร่งด่วน ในบริบทของไทยพบว่า กรุงเทพฯ ประสบปัญหาหลักจากความหนาแน่นของประชากร เนื่องจากระบบการจัดการที่ไม่มีการกระจายอำนาจและการกระจายโอกาสของงานและอาชีพไปยังภูมิภาคอื่น ๆ โดยกรุงเทพฯ ยังเผชิญกับประเด็นสำคัญอย่างการขาดความยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติ ปัญหาน้ำท่วม คลื่นความร้อน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผังเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพ คำถามสำคัญข้อหนึ่งคือจะทำอย่างไรถึงจะบริหารเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากมายได้อย่างเป็นระบบ ให้ประชากรในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจะทำอย่างไรในการจัดการผังเมืองเพื่อให้มีความยืดหยุ่นพร้อมรับมือต่อภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงเวลา

  1. การปฏิวัติเชิงดิจิทัลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Digital Revolution for Sustainable Development) 

นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาด้านสังคม การแพทย์ และการศึกษา อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญสำหรับการปฏิวัติเชิงดิจิทัลคือการคำนึงถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้โดยไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันหาแนวทางที่จะใช้ระบบดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการนำมาใช้งานได้อย่างถูกต้องตรงตามความต้องการจะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ในกรณีของไทย ยังต้องคำนึงถึงแนวทางในการจัดการด้านภาษีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนภายในประเทศด้วย

นอกจากนี้ สำหรับข้อแนะนำในภาพรวมที่มีต่อไทยในการนำแนวคิด Six Transformations มาประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงจากฐานรากให้เหมาะสมกับบริบทประเทศ Jeffrey ระบุว่าต้องคำนึงประเด็นหลัก 2 ประการ ประการแรก ไทยต้องให้ความสำคัญกับธีมเรื่องการศึกษา เพศสภาพ และความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกนั้นจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ต้องมีการเปรียบเทียบการทำงานกับ SDG Index เพื่อหาแนวทางวางแผนงานด้านความยั่งยืนทางการศึกษา พร้อมกับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย  ประการที่สอง ไทยต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศ และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) ลง

| เปลี่ยนแปลงจากฐานรากได้ ต้องมีการสนับสนุนทางการเงินและ “เงินทุน”

นอกจากธีมทั้ง 6 ธีมข้างต้นนี้ Jeffrey ยังได้แลกเปลี่ยนกับผู้รับฟังบรรยาย พูดถึงมุมมองที่มีต่อประเด็นการใช้เงินทุนในการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก โดยระบุว่า การที่ทุกประเทศในโลกใช้ทรัพยากรของโลกร่วมกัน ดังนั้น ต้องมีข้อตกลงการทำงานร่วมกันในระดับโลกและระดับประเทศในการจัดการแหล่งเงินทุนและการไหลเวียนของระบบเงินภายในประเทศต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยต้องก่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกภาคส่วน ต้องมีแผนงานการจัดสรรเงินทุนในระยะยาวอย่างต่ำ 30 ปี อาศัยความร่วมมือจากธนาคารขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของโลก รวมถึงการต้องหาเงินทุนให้เพียงพอกับงบประมาณและค่าใช้จ่ายด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ประเทศมหาอำนาจต้องมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ด้วย

เหนือสิ่งอื่นใด ท้ายที่สุดแล้วเพื่อจะพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมาได้ Jeffrey ให้ความเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า เราต้องแก้ปัญหา “ในระบบ” ส่วนสำคัญคือการที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนและจากหลากหลายอาชีพ ต้องเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการออกแบบการ “การพลิกโฉม” ในทุกขั้นตอน เพื่อร่วมกันกำหนดและพัฒนาแนวทางนโยบายที่จะใช้เป็นแกนยึดเปลี่ยนแปลงจากฐานราก เดินหน้าบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทศวรรษสุดท้ายแห่งการลงมือทำนี้

ถิรพร สิงห์ลอ – ผู้เรียบเรียง/บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ – ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
ทศพล ธิบัวพันธ์ – ผู้จัดทำสรุปจากเวทีสัมนาฯ
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง 
SDG Updates | The Future is Now: Science for Achieving Sustainable Development – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา 
SDG Updates | Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา
SDG Updates | การประชุม ‘Stockholm+50’ ครบรอบ 50 ปี จุดกำเนิดความร่วมมือพหุภาคีเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก
SDG Updates | กลไกทางการเงินกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
SDG Updates | ทำไมนโยบายสาธารณะไทย (ยัง) ไปไม่ถึงความยั่งยืน ?
ชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดย Friedrich-Ebert-Stiftung Thailand หรือ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย
รายงาน ‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ จากภาคการขนส่งในเอเชีย ชี้หลักสำคัญ 6 ข้อ สู่พลังงานสะอาดในอนาคต
โลกอาจไม่บรรลุ #SDG2 ภายในปี 2573 หากพืชผลที่ผลิตไม่ถูกใช้เป็นอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้องประชาชน
สนับสนุนครูด้าน “สุขภาวะ-ทักษะความรู้-เทคโนโลยี” เพื่อเป็นกำลังสำคัญฟื้นฟูระบบการศึกษาหลังโควิด-19
SDG Updates | ปรับโฉมการศึกษาในเอเชียเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต – สรุปการแสดงปาฐกถา โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์
SDG Insights | Health Promotion – แนวคิดที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีทำงานในวงการสาธารณสุขไทย

SDG Updates ฉบับนี้ เป็นสรุปเนื้อหาช่วงการบรรยายโดยวิทยากรจากเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “Sustainability Transformation” เพื่อการเร่งรัดขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา จัดโดยศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ภายใต้โครงการพื้นที่ทดลองค้นหาทางออกที่ยั่งยืนแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อการพลิกโฉมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Sandbox) ร่วมกับเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand)

อ่านสรุปจากเวทีสัมมนาฯ (Part 1) ได้ที่นี่: https://www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/06/Summary_Sustainability-Transformation_part_1-1.pdf
รับชมวีดีโอบันทึกจากเวทีสัมมนาฯ ได้ที่นี่: https://youtu.be/rUnB4CU9fdk
ติดตามอ่านสรุปเนื้อหา EP.2/2 เร็ว ๆ นี้

Last Updated on มิถุนายน 21, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น