UN แนะ 12 วิธี ท่องเที่ยวสนุกอย่างใส่ใจความยั่งยืน

ทราบหรือไม่ว่าในแต่ละปี มีผู้คนกว่าสองพันล้านคนจากทั่วโลกเลือกออกเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวทั้งหลายได้เชื่อมโยงผู้คนจากที่ต่าง ๆ เข้าหากัน อีกทั้งยังทำให้โลกใบนี้ใกล้ชิดกันมากขึ้นผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน การรับรู้ทางวัฒนธรรม และการสร้างสรรค์กลุ่มคน มากไปกว่านั้นการท่องเที่ยวยังช่วยจัดสร้างงาน กระตุ้นการพัฒนาภูมิภาค และเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวก็ยังมีข้อเสียให้เห็น เนื่องจากจุดหมายปลายทางยอดนิยมหลายแห่งกำลังถูกคุกคามจากมลภาวะที่เพิ่มขึ้น ความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม (environmental hazards) ความเสียหายต่อแหล่งมรดก (damage to heritage sites) และการใช้ทรัพยากรมากเกินไป (overuse of resources) รวมถึงการไม่คำนึงถึงมลภาวะที่เกิดจากการเดินทางไปและกลับจากจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวอีกด้วย

ปัญหาข้างต้นจึงควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดย UN ได้ให้คำแนะนำแนวทางการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) 12 วิธี ดังนี้

1. เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Ditch single-use plastics)
เรามักใช้พลาสติกครั้งหนึ่งน้อยกว่า 15 นาที แต่ทราบหรือไม่ว่าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวนั้นต้องใช้เวลานานกว่า 1,000 ปีในการย่อยสลาย แน่นอนว่าตอนนี้พวกเราหลายคนกำลังเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกที่ยั่งยืนในชีวิตประจำวัน ขณะที่เราเดินทางท่องเที่ยว ก็ควรใช้ทัศนคติแบบเดียวกันนั้นด้วยการเลือกใช้ขวดและถุงที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ในทุกที่ที่เดินทางไป พร้อมกันนั้นเรายังสามารถช่วยสร้างหลักประกันว่าจะมีขยะพลาสติกในมหาสมุทรและแหล่งที่อยู่อาศัยอื่น ๆ ลดน้อยลง

2. ใช้น้ำอย่างฉลาด (Be ‘water wise’)
โดยรวมแล้ว นักท่องเที่ยวมักใช้น้ำมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น ด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นของสถานที่ทำให้เกิดการประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งทางเลือกที่เราสามารถช่วยให้มั่นใจได้ว่าผู้คนจะสามารถเข้าถึงน้ำได้อย่างเพียงพอในอนาคต ก็คือ การไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอนและผ้าเช็ดตัวทุกวันระหว่างการเข้าพักในโรงแรม ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดน้ำได้หลายล้านลิตรในแต่ละปี

3. อุดหนุนสินค้าท้องถิ่น (Buy local)
การซื้อสินค้าของท้องถิ่น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในท้องถิ่น และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการขนส่งสินค้า รวมถึงการเลือกบริโภคอาหารขณะท่องเที่ยวก็ควรเลือกรับประทานอาหารจากผลิตผลที่ปลูกในท้องถิ่นซึ่งมีความสดใหม่ด้วย

4. เลือกใช้บริษัทนำเที่ยวที่มีจริยธรรม (Use an ethical operator)
การดำเนินการกิจการนำเที่ยวซึ่งรวมถึงผู้คน โลจิสติกส์ ผู้ขาย การขนส่ง และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ละส่วนที่เชื่อมโยงกันในห่วงโซ่การท่องเที่ยวดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในเชิงบวกหรือเชิงลบ เช่นนั้น หากเราต้องการให้บริษัทนำเที่ยวหรือคนอื่นวางแผนการท่องเที่ยวให้ เราควรเลือกบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น

5. อย่าให้อาหารสัตว์ (‘Please don’t feed the animals’)
การแบ่งปันอาหารกับสัตว์ป่าหรือสัตว์ที่อาศัยบริเวณแหล่งท่องเที่ยวเพราะการทำเช่นนั้นจะเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายโรคต่าง ๆ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ และปอดบวมจากคนสู่สัตว์ นอกจากนี้ เมื่อสัตว์คุ้นชินกับการได้รับอาหารจากมนุษย์ พฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมันจะเปลี่ยนแปลงไป และพวกมันก็จะต้องพึ่งพาผู้คนเพื่อความอยู่รอด ในบางกรณีอาจนำไปสู่กาต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ได้

6. อย่าบริโภคสัตว์บางชนิด! (And don’t eat them either!)
ความต้องการในการบริโภคสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์หรือสัตว์ต่างถิ่นนำไปสู่การลักลอบล่าสัตว์ การค้าและการแสวงประโยชน์จากสัตว์ที่เพิ่มขึ้น นอกจากอันตรายที่เกิดกับสัตว์แต่ละตัวบนจานอาหารแล้ว การรับประทานอาหารที่ขาดความรับผิดชอบสามารถนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย และพึงตระหนักด้วยเสมอว่าควรหลีกเลี่ยงการซื้อของที่ระลึกที่เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งทำมาจากสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์

7. แบ่งปันการเดินทางร่วมกับคนอื่น (Share a ride)
การคมนาคมขนส่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) จากการท่องเที่ยว แทนที่จะใช้แท็กซี่ส่วนตัว เราเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟ รถประจำทาง และรถแท็กซี่ที่ใช้ร่วมกันกับคนอื่น นอกจากนี้ การปั่นจักรยานก็อีกเป็นวิธีที่สะดวกและช่วยประหยัดได้มากกว่า

8. พิจารณาที่พัก (Consider a homestay)
การพักอาศัยกับคนในท้องถิ่นหรือครัวเรือนในชุมชนเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ช่วยเราให้ได้ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น อีกทั้งยังช่วยยกระดับชุมชนด้วยการสร้าวรายได้พร้อมกับการได้แลกเปลี่ยนมุมมองชีวิตที่แตกต่างออกไปด้วย

9. ทำการบ้านก่อนออกเดินทาง (Do your homework)
ก่อนเดินทาง เราควรศึกษาจุดหมายปลายทางที่จะไป การทำเช่นนี้จะช่วยให้ดื่มด่ำกับประเพณีและการปฏิบัติในท้องถิ่นได้ดีขึ้นและซึมซับกับสิ่งต่าง ๆ ที่อาจไม่มีใครสังเกตเห็น นอกจากนี้ การได้รับรู้ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ยังช่วยให้สำรวจแหล่งท่องเที่ยวอย่างละเอียดยิ่งขึ้น 

10. เยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์ (Visit national parks and sanctuaries)
การสำรวจธรรมชาติและสัตว์ป่าผ่านอุทยานแห่งชาติเป็นวิธีที่จะช่วยให้เรียนรู้สัตว์และระบบนิเวศของพวกมันโดยตรงได้อย่างใกล้ชิด บางครั้ง ค่าเข้าชมของอุทยานยังช่วยสนับสนุนความพยายามในการอนุรักษ์และปกป้องสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตและภูมิทัศน์ และรักษาพื้นที่ธรรมชาติเหล่านั้นไว้สำหรับคนที่จะมาเที่ยวในอนาคต

11.อย่าทิ้งร่องรอยความเสียหาย (Don’t leave a trace)
เราสามารถทำเครื่องหมายได้โดยไม่ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้กับสถานที่ที่ไปท่องเที่ยว ข้อแรก คือ ต้องทิ้งขยะให้ถูกที่ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ขยะเกลื่อนกลาด ข้อต่อมา คือ ห้ามเคลื่อนย้ายหรือดัดแปลงสิ่งใดโดยไม่ได้รับอนุญาต และสุดท้าย ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม

12. บอกเพื่อนถึงประโยชน์ของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Tell your friends)
เมื่อคุณพร้อมที่จะเดินทางตามแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้วก็แจ้งให้เพื่อนที่เป็นนักเดินทาง และครอบครัวรู้ว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นประโยชน์ต่อคนในท้องถิ่นอย่างไร ทั้งประโยชน์จากการเสริมสร้างความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของพวกเขา และยังช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมที่สวยงามของเราอีกด้วย

หากมีแผนออกเดินทางท่องเที่ยวช่วงท้ายปีนี้ อาจลองนำคำแนะนำ 12 วิธีการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนข้างต้นไปใช้กันดู จะช่วยให้ท่องเที่ยวได้อย่างสนุก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ทิ้งคนท้องถิ่นไว้ข้างหลังอีกด้วย

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 องค์การท่องเที่ยวโลกภายใต้สหประชาชาติ ประกาศผลรางวัลผู้ชนะ “Global Startup Competition” Startup ด้านการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
–  อพท. จัดโครงการ “DASTA SE HERO 2022” หนุนชาวบ้านและเยาวชนเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม-หวังชุมชนมีรายได้ผ่านการจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
–  อ่าวมาหยาเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง 1 ม.ค. 65 นี้ พร้อมโมเดลการจัดการใหม่ เพื่อควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อม
UNWTO ประกาศ 44 รายชื่อหมู่บ้านท่องเที่ยวยั่งยืน รางวัล BEST TOURISM VILLAGES ประจำปี 2021
เกาะลังกาวี เตรียมแผนนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยมุ่งเป้าไปที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและความยั่งยืน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี 2573
– (12.b) พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อจะติดตามตรวจสอบผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.7) ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อจะยุติการล่าและการขนย้ายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์คุ้มครอง และแก้ปัญหาทั้งอุปสงค์และอุปทานต่อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย
– (15.c) เพิ่มพูนการสนับสนุนในระดับโลกสำหรับความพยายามที่จะต่อสู้กับการล่า การเคลื่อนย้ายชนิดพันธุ์คุ้มครอง รวมถึงโดยการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น

แหล่งที่มา: Is it possible to be a ‘sustainable tourist’? 12 ways to make a positive impact on your travels (UN)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น