รายงานของ The Lancet ชี้ Climate Change กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก ด้าน WMO เผย CO2ในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2565 The Lancet ได้เผยแพร่รายงาน “Lancet Countdown on Health and Climate Change” ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นรายงานฉบับที่ 8 นับตั้งแต่มีการเผยแพร่เมื่อปี 2558 เป็นต้นมา

รายงานฉบับล่าสุดเผยแพร่ภายใต้ใต้ธีม ‘Health at the Mercy of Fossil Fuels’ โดยมุ่งเน้นการติดตามความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก 43 ตัวชี้วัด แบ่งเป็นตัวแปรจำนวน 5 ตัวแปร ได้แก่

  1. อันตรายต่อสุขภาพ ความเสี่ยง และผลกระทบ (health hazards, exposures, and impact)
  2. การปรับตัว การวางแผน และการตั้งรับฟื้นตัวเพื่อสุขภาพ (adaptation, planning, and resilience for health)
  3. การดำเนินการบรรเทาผลกระทบและผลประโยชน์ร่วมกันด้านสุขภาพ (mitigation actions and health co-benefits)
  4. เศรษฐศาสตร์และการเงิน (economics and finance)
  5. การมีส่วนร่วมของประชาชนและการเมือง (public and political engagement)

ข้อค้นพบที่สำคัญซึ่งปรากฏในรายงาน อาทิ

  • การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างตะบี้ตะบันกำลังขยายผลกระทบด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
  • ขณะที่รัฐบาลยังคงอุดหนุนเงินสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณที่เทียบได้กับงบประมาณด้านสุขภาพทั้งหมด แต่กลับขาดเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานส่งผลให้“การขาดเงินทุนที่ทั่วถึงบ่อนทำลายการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่ไม่มีคาร์บอน ราคาไม่แพง และส่งผลดีต่อสุขภาพ” กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนและอนาคตที่น่าอยู่
  • การตอบสนองต่อปัญหาโดยเน้นประเด็นด้านสุขภาพและประเด็นที่สอดคล้องกันกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ยังคงสามารถส่งต่ออนาคตให้ที่ผู้คนไม่เพียงแต่สามารถอยู่รอดได้เท่านั้น แต่ยังเติบโต เจริญก้าวหน้าได้ด้วย

Diarmid Campbell-Lendrum ผู้ประสานงานโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพของ WHO และสมาชิกของ Lancet Countdown Board เน้นย้ำถึงผลกระทบต่ออากาศที่สะอาด น้ำสะอาด อาหาร และที่อยู่อาศัยว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นอย่างเต็มที่ มีศักยภาพที่จะบ่อนทำลายความก้าวหน้าด้านสุขภาพโลกเป็นเวลาหลายทศวรรษ และการลดผลกระทบนั้นต้องใช้นโยบายที่ออกแบบโดยอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based policy) ซึ่งวางอยู่บนฐานการสนับสนุนโดยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเครื่องมือการจัดการที่ดีที่สุด” 

ขณะที่ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ก็ได้เผยแพร่วารสารก๊าซเรือนกระจก ประจำปี 2565 (Greenhouse Gas Bulletin) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญย้ำเตือนว่า ก๊าซเรือนกระจก  (Greenhouse Gas: GHG)  หลักสามชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ มีความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2564 โดย มีเทน เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้ WMO ยังเปิดเผยด้วยว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการผลิตปูนซีเมนต์เป็นสองสาเหตุหลักที่ทำให้ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงถึง 149% ของระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมในปี 2564

จากข้อค้นพบของ Lancet Countdown และ WMO ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้เกิดความคาดหวังว่าประเด็นปัญหาเหล่านี้จะถูกนำมาสู่การถกเจรจาในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 (UNFCCC COP 27) ซึ่งเพิ่งเปิดฉากการประชุมไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองชาร์ม ประเทศอียิปต์

ทั้งนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ขยับขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาผ่านแพลตฟอร์มสร้างความตระหนักและการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อปกป้องผู้คนจากความเสี่ยงด้านสุขภาพของ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Wellcome Trust ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านการวิจัยชีวการแพทย์ที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

การตื่นตัวและเล็งเห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อมิติด้านสุขภาพ จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เป็นปัญหาเชิงรูปธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าส่งผลร้ายต่อมวลมนุษยชาติอย่างไร และการหยุดยั้งความเสี่ยงนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ผลิต บริโภค และอุปโภคสิ่งที่เป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในชีวิตประจำวัน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 SDG Updates | หายนะจาก ‘สภาพอากาศร้อนจัด’ ผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก
 คนทั่วโลกถึง 216 ล้านคน อาจต้องย้ายถิ่นฐานภายในประเทศเพราะผลกระทบจาก Climate Change ภายในปี 2050
–  หลายประเทศผนวกมิติสุขภาพของพลเมืองในการรับมือกับผลกระทบ – โรคที่มาจาก Climate Change แต่อุปสรรคหลักคือขาดเงินทุน
–   รายงาน IPCC ฉบับใหม่เผยข้อมูลผลกระทบและความเสี่ยงจาก Climate Change ต่อปัญหาสุขภาพปัจจุบัน
 ‘Global Climate & SDG Synergy Conference 2022’ หวังสร้างความเข้มแข็งเเก่นักเคลื่อนไหวเยาวชนในการจัดการสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงกับการบรรลุ SDGs
 ประชุมสมัชชา ICAO สมัยที่ 44 – ประเทศสมาชิกร่วมหารือจัดการการบินอย่างยั่งยืน หวังช่วยบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.d)  เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (7.2)  เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.b)  ภายในปี 2563 เพิ่มจำนวนเมืองและกระบวนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เลือกใช้และดำเนินการตามนโยบายและแผนที่บูรณาการ เพื่อนำไปสู่ความครอบคลุม ความมีประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีภูมิต้านทางต่อภัยพิบัติ และให้พัฒนาและดำเนินการตามการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติแบบองค์รวมในทุกระดับ ให้เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ.2558-2573
#SDG12 การผลิตเเละบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.c) ทำให้การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพและนำไปสู่การบริโภคที่สิ้นเปลืองมีความสมเหตุสมผล โดยกำจัดกการบิดเบือนทางการตลาดโดยให้สอดคล้องสภาวะแวดล้อมของประเทศ รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีและเลิกการอุดหนุนที่เป็นภัยเหล่านั้นในที่ที่ยังมีการใช้อยู่ เพื่อให้สะท้อนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงอย่างเต็มที่ถึงความจำเป็นและเงื่อนไขที่เจาะจงของประเทศกำลังพัฒนาและลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นที่จะมีต่อการพัฒนาของประเทศเหล่านั้นในลักษณะที่เป็นการคุ้มครองคนจนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1)  เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา: Climate and Health Linkages Come to the Fore Ahead of COP 27 (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น