SDG Updates | สำรวจกระแสการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติ – เมื่อไทยอาจเผชิญปัญหา ‘ขาดแคลนแรงงาน’ 

แพรวพรรณ ศิริเลิศ*

ในปัจจุบัน ประเทศเทศไทยประสบกับภาวะความต้องการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการลดลงของผลิตภาพของแรงงาน (labour productivity) การขาดแคลนกำลังแรงงาน  (labour force) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าปัจจุบันจนสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยจะเป็นประเทศอันดับที่สองรองจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีจำนวนประชากรลดลงจากปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 30 กว่าล้านคนเท่านั้น[1] ซึ่งจากจำนวนประชากรที่อาจลดลงแสดงให้เห็นว่าในอนาคตประเทศไทย จะมีความต้องการในการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ (migrant workers) เพิ่มมากขึ้น 

รัฐบาลไทยจึงมีความจำเป็นที่ต้องรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นกำลังแรงงานภายในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ปัจจุบัน ไทยจึงได้เป็นประเทศปลายทางสำคัญในการย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา โดยเฉพาะเมียนมาซึ่งเป็นประเทศที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากที่สุด [2]

SDG Updates ฉบับนี้ ชวนผู้อ่านสำรวจสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในวันที่ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น การย้ายถิ่นฐานเข้ามาของแรงงานข้ามชาติใน พ.ศ.นี้ เป็นเช่นใด  ประเทศไทยได้ให้การรองรับคุ้มครองพลเมืองต่างสัญชาติอย่างไรบ้าง และการเข้ามาของพวกเขาเป็นการแย่งอาชีพและเพิ่มภาระแก่ประเทศไทยจริงหรือไม่ หาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้ 


01 – บทนำ

องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) กำหนดความหมายคำว่า ‘แรงงานข้ามชาติ’ ไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของบรรดาแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว (Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Member of their Families: CMW) มาตรา 2 ว่าแรงงานข้ามชาตินั้น หมายถึงบุคคลซึ่งถูกว่าจ้างให้ทำงาน กำลังถูกว่าจ้าง หรือเคยถูกว่าจ้างให้ทำงาน โดยได้รับค่าตอบแทนในรัฐที่ตนไม่ได้เป็นคนของชาตินั้น[3] สำหรับบางประเทศการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาตินั้น ช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกโดยการเข้ามาเติมเต็มในตำแหน่งงานที่ว่าง ลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และเพิ่มผลผลิตและรายได้ รวมถึงยังช่วยเพิ่มปริมาณเงินตราต่างประเทศในภาคการส่งออก ซึ่งจากรายงานของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization :ILO) ระบุว่าในปี 2561 พบว่าประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติถึงร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศหรือประมาณ 3.9 ล้านคน[4] แรงงานข้ามชาติ จึงนับเป็นกำลังแรงงานสำคัญภายในประเทศ 

ขณะที่บางประเทศมองว่าการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติก็สร้างผลกระทบเชิงลบ เพราะ ทำให้ประเทศปลายทางต้องเพิ่มภาระทางการคลังสำหรับการบริการสาธารณะและการจ่ายสวัสดิการให้แก่แรงงานที่เข้ามาในประเทศ ซึ่งในประเด็นนี้ยังคงเป็นเรื่องที่นานาประเทศต่างถกเถียงกัน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย [5]

ผลกระทบที่เกิดขึ้นเสมือนเหรียญสองด้าน จึงจำเป็นต้องสำรวจว่าประเทศไทยจำเป็นต้องรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นกำลังแรงงานภายในประเทศจริงหรือไม่ และต้องการแรงงานกลุ่มใดเป็นหลัก ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดในหัวข้อถัดไป


02 – สำรวจการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาของประชากร ‘แรงงานข้ามชาติ’

ทวีปเอเชียถือเป็นหนึ่งปลายทางสำคัญในการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration : IOM) ระบุว่าในปี 2563 ทวีปเอเชียมีผู้ย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศกว่าร้อยละ 40 ของโลก หรือประมาณ 115 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยติดลำดับที่ 14 ของประเทศปลายทางการย้ายถิ่น[6] โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเส้นทางสำคัญของการย้ายถิ่นมาหลายศตวรรษ ทำให้ปัจจุบันประเทศไทย มีประชากรหลากหลายชนชาติเป็นอย่างมาก (แสดงดังรูปที่ 1)

รูปที่ 1 : 20 อันดับประเทศที่ย้ายถิ่นฐานในภูมิภาคเอเชียในปี 2563
ที่มา: IOM, 2565

| จำนวนแรงงานข้ามชาติและกลุ่มคนที่เข้ามาในประเทศ

ด้วยกระแสการหลั่งไหลเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ พบว่าสถิติแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย ตามพระราชกำหนดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับ 2) พ.ศ.2561 มีแรงงานข้ามชาติจำนวน 2,745,223 คนที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานภายในประเทศไทย ซึ่งสามารถจำแนกตามลักษณะการเข้าเมือง ดังนี้ 

1) เป็นแรงงานต่างด้าวมาตรา 59 คือ รูปแบบตลอดชีพ จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 0.0002 2) ประเภททั่วไป คือ เป็นแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยมิใช่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว จำนวน 110,529 คน คิดเป็นร้อยละ 4.03 3) ประเภทนำเข้าตาม MOU จะเป็นแรงสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งสามารถเข้ามาทำงานตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศต้นทาง จำนวน 567,684 คน คิดเป็นร้อยละ 20.68 4) แรงงานต่างด้าวมาตรา 62 ประเภทส่งเสริมการลงทุน เป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม เช่น นักลงทุน ช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ จำนวน 48,272 คน คิดเป็นร้อยละ 1.76 5) แรงงานต่างด้าวมาตรา 63/1 ประเภทชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย จำนวน 92,440 คน คิดเป็นร้อยละ 3.37 6) แรงงานต่างด้าวมาตรา 63/2 คือแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตให้ทำงานเป็นการชั่วคราว จำนวน 1,912,031 คน คิดเป็นร้อยละ 69.65 และ 7) แรงงานต่างด้าวมาตรา 64  เป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดน ในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดน จำนวน 14,262 ร้อยละ 0.52  [7] (แสดงดังรูปที่ 2)

รูปที่ 2 แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย จำแนกตามประเภทของแรงงานต่างด้าว (ร้อยละ)
ที่มา : กรมการจัดหางาน

สามารถสรุปได้ว่าจากแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 7 ประเภท จำนวนแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากที่สุด คือแรงงานต่างด้าวมาตรา 63/2 เป็นแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตให้ทำงานเป็นการชั่วคราว จำนวน 1,912,031 คน คิดเป็นร้อยละ 69.65 นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงาน 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในตำแหน่งกรรมกร หรือแรงงานทำงานบ้าน (domestic workers) เป็นแรงงานประเภทไร้ฝีมือ ซึ่งตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา เพื่อทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลน รวมถึงแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองได้รับการปรับสถานะเป็นเข้าเมืองถูกกฎหมายได้รับอนุญาตทำงาน[8]

อย่างไรก็ดี แม้แรงงานข้ามชาติประเภทไร้ฝีมือหรือกึ่งฝีมือ จะเป็นแรงงานกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในหมู่แรงงานข้ามชาติของประเทศไทย แต่พบว่าแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นแรงงานไร้ฝีมือ มักได้รับความคุ้มครองและค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมและอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบ เพราะมักอยู่ในภาคการทำงานที่อยู่ชายขอบการคุ้มครองของกฎหมาย ทำให้ต้องประสบปัญหานานัปการทั้งด้านการเดินทางเข้ามาทำงาน หรือแม้เมื่ออยู่ในประเทศปลายทางแล้ว อาจเสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะระดับการศึกษา ชนชาติหรือชาติพันธุ์ เพศ สภาวะการทำงาน หรือสถานะแรงงานข้ามชาติของตน โดยพบว่าแรงงานไร้ฝีมือหรือกึ่งฝีมือ มักถูกเอารัดเอาเปรียบมากกว่าแรงงานที่มีทักษะในประเทศปลายทางไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นแรงงานข้ามชาติ มักถูกละเว้นไม่ได้รับความคุ้มครอง สิทธิ และประโยชน์อื่น ๆ ที่พลเมืองของประเทศนั้นได้รับ สวนทางกลับความต้องการที่ต้องพึ่งพากำลังแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญในการกำหนดนโยบายหรือสวัสดิการให้กับแรงงานที่ย้ายเข้ามาในประเทศ


03 – สถานะความเป็นอยู่ สิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการของ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ในประเทศไทย

จากสถิติการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย เห็นได้ชัดเจนว่าแรงงานข้ามชาตินั้นเป็นกำลังแรงงานสำคัญของประเทศ แต่ปัจจุบันยังคงพบว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมของการคุ้มครองทางกฎหมาย ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และบริการสาธารณะของภาครัฐได้อย่างครอบคลุม

แม้ประเทศไทยมีบทบัญญัติต่าง ๆ ที่กำหนดสภาพเงื่อนไขการทำงานและการจ้างงานขั้นต่ำสำหรับแรงงานและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดว่าแรงงานทั้งหมดไม่ว่าสัญชาติใดและมีสถานะทางกฎหมายเช่นใด ย่อมมีหลักประกันที่จะได้รับสภาพเงื่อนไขและความคุ้มครองที่เท่าเทียมกันเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำจำนวนชั่วโมงการทำงาน และเวลาพัก การลางานที่ได้รับค่าจ้าง การเลือกปฏิบัติ การคุกคามในที่ทำงาน เป็นต้น ขณะที่ หน้าที่รับผิดชอบของนายจ้างในการดูแลและจัดให้มีความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งกำหนดให้แรงงานไม่ว่าสัญชาติใดและมีสถานะทางกฎหมายเช่นใดย่อมมีสิทธิที่จะร้องเรียนเกี่ยวกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัย [9]

นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติยังมีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 รวมถึงสิทธิและสิทธิประโยชน์ภายใต้กองทุนเงินทดแทนอีกด้วย ซึ่งแม้จะถูกระบุไว้เช่นนั้นแต่ตามความคุ้มครองกับพบว่าแรงงานจะสามารถเข้าถึงสิทธิได้มากน้อยเพียงย่อมขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ เช่นประเภทการจ้างงานและสถานะทางกฎหมายของผู้ใช้แรงงาน ยกตัวอย่างเช่น ตามมาตรา 33 ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด แรงงานทำงานบ้านก็ไม่มีสิทธิรับประโยชน์จากการประกันสังคม รวมนายจ้างของแรงงานทำงานบ้านไม่มีหน้าที่รับผิดชอบใด ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และหากเป็นแรงงานข้ามชาติ มักพบอุปสรรคในเรื่องค่าใช้จ่ายและข้อจำกัดเฉพาะในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ที่มีสิทธิเข้าถึงการรักษาได้บางโรงพยาบาลเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี ยังมีแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ร่วมโครงการสวัสดิการสังคม ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือคลอดบุตร จึงไม่ได้รับบริการด้านประกันสังคมที่ครอบคลุม[10] จะเห็นได้ว่าแม้แต่แรงงานทำงานบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มงานหนึ่งที่มีความต้องการกำลังแรงงานสูง ซึ่งเมื่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่เพียงแม้แต่แรงงานข้ามชาติ ยังขาดความคลอบคลุมต่อคนทุกกลุ่มและยังมีช่องโหว่ ทำให้กลายเป็นการผลักให้แรงงานข้ามชาติเหล่านั้นได้รับการดูแลเสมือนเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศไปโดยปริยาย 


04 – บทสรุป

แรงข้ามชาติที่ย้ายถิ่นฐานไปทำงานในประเทศไทย ก็เพื่อหวังว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่มักเข้ามาทำงานที่มีทักษะต่ำ ไม่ได้เป็นคู่แข่งโดยตรงกับแรงงานไทย เพราะแรงงานเหล่านี้มักจะทำ งานที่คนงานไทยไม่ทำกัน แสดงให้เห็นว่าการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาช่วยเสริมกำลังแรงงานที่ขาดแคลนภายในประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างคุณค่าจากการเสริมทรัพยากรมนุษย์ (human resource complementation) ในตลาดแรงงานไทย 

ดังนั้น เพื่อสร้างการรองรับการย้ายเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ ควรมีการขยายขอบเขตการคุ้มครองด้านแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม เช่น การพิจารณาขยายสิทธิแรงงานให้เอื้อกับแรงงานทำงานบ้าน รวมถึงการประกันสังคมด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าระบบการคุ้มครองทางสังคมหรือการประกันสังคมจะเกิดประโยชน์อย่างครอบคลุม และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและจำกัดผลเสียที่เกิดขึ้นต่อสังคมให้น้อยที่สุด ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบเพื่อรับรองทักษะฝีมือให้แรงงานเหล่านี้ และสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศบ้านเกิดของตนเองได้ ซึ่งเป็นการเอื้ออำนวยความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายแรงงานด้วยในอนาคต

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ILO รายงานสภาพการทำงานภาคเกษตรไทย พร้อมชี้แรงงานข้ามชาติ ยังเผชิญการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม 
โควิด-19 กระทบต่อเทรนด์การเติบโตของ “ผลิตภาพแรงงาน” ในเอเชียแปซิฟิก โดยเป็นไปอย่างไม่ได้สัดส่วน
ข้อยกเว้นทางกฎหมายและการจ้างงานนอกระบบ อุปสรรคต่อการมีงานที่มีคุณค่าของแรงงานทำงานบ้าน
ILO ชี้นโยบายคุ้มครองทางสังคมไทย ยังไม่ครอบคลุมถึง แรงงานทำ ‘งานบ้าน’ 
SDG Updates | โควิด-19 แพร่ระบาดไม่เลือกหน้า แต่ไทยให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทุกคนในประเทศแล้วหรือยัง? 
SDG Updates | การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร: หนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
– (10.2) เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563


เอกสารอ้างอิง

[1] สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2566). แรงงานไทยหายไป แรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนได้หรือไม่. สืบค้นจาก http://seajunction.org

[2] นรากร ศรีเที่ยง. (2564). แรงงานข้ามชาติกับการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพในรัฐไทย กรณีศึกษาแรงงานข้ามชาติ จังหวัดสมุทรสาคร. สืบค้นจาก https://www.amnesty.or.th/latest/blog/921/

[3] เอมพิกา ศรีอุดร. (2566). แรงงานข้ามชาติ : ชีวิต สิทธิ และความหวัง. สืบค้นจาก https://www.masscomm.cmu.ac.th

[4] Harkins, Benjamin (ed.). (2019). Thailand Migration Report 2019. Bangkok: IOM.

[5] ฟิลิป มาร์ติน. (2560). คุณูปการของแรงงานข้ามชาติต่อประเทศไทย: แนวทางสู่การพัฒนานโยบาย. สืบค้นจาก https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—asia/—ro-bangkok/documents/publication/wcms_098231.pdf

[6] International Organization for Migration. (2022). World Migration Report 2022. from https://publications.iom.int/books/world-migration-report-2022

[7][8] สำนักงานปลัดกระทรวง. (2566). แรงงานสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 2 ปี2566 (เมษายน – มิถุนายน 2566). สืบค้นจาก http://warning.mol.go.th/uploadFile/pdf/pdf-2023-09-06-1693972846.pdf

[9] ILO. (2563). การส่งเสริมแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยให้เข้าถึงความยุติธรรม:การประเมินผลปฏิบัติการของศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว. สืบค้นจาก https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—asia/—ro-bangkok/documents/publication/wcms_769841.pdf

[10] ILO. (2565).  รายงานสภาพการทำงานและการจ้างงานในภาคเกษตรของประเทศไทย: การสำรวจแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไร่อ้อย สวนยาง สวนปาล์ม และไร่ข้าวโพด (ฉบับเต็ม). สืบค้นจาก https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—asia/—ro-bangkok/documents/publication/wcms_844438.pdf

Last Updated on กันยายน 28, 2023

Authors

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

  • Wijanee Sendang [Graphic designer]

    นักออกแบบนิเทศศิลป์

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น