ทบทวน 5 ปี การขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย: 5 สิ่งที่ทำได้ดี

ชล บุนนาค

ทบทวนประสบการณ์ตลอดห้าปีที่ผ่านมาของผู้เขียนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDG ของประเทศไทย

วันที่ 25 กันยายนเป็นวันครบรอบ 5 ปีของการลงนามรับรองวาระการพัฒนา 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  วันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ณ ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ ในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสมาชิก 193 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable DevelopmentGoals :SDGs) ภายในปี 2030 จนถึงวันนี้ 5 ปีผ่านมาพอดีประเทศไทยทำอะไรไปบ้างและมีอะไรต้องทำ อีกบ้างเพื่อจะเร่งรัดการบรรลุเป้าหมาย SDG ในทศวรรษที่เหลืออยู่?

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนา 2030 และกล่าวถ้อย
แถลงต่อที่ประชุมสหประชาชาติ

บทความนี้เป็นการทบทวนประสบการณ์ตลอดห้าปีที่ผ่านมาของผู้เขียนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDG ของประเทศไทย แม้ผู้เขียนจะอยู่ในภาควิชาการและทำงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเป็นหลักแต่ก็ได้เห็นการขับเคลื่อนของ ภาคส่วนต่าง ๆ ในหลายแง่มุมและคิดว่าประสบการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์แก่ การขับเคลื่อน SDG ของประเทศไทยในอนาคต แน่นอนว่ามุมมองเดียวอาจไม่ใช่ภาพสะท้อนทุกอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนย่อย ๆ ในแต่ละเป้าหมายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ซึ่งในส่วนนั้นผู้เขียนอาจไม่ทราบข้อมูลทั้งหมด อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอให้ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืนโดยเร็ว

บทความนี้จะเป็นส่วนแรกของการทบทวน 5 ปีเป้าหมาย SDGs ในประเทศไทย โดยจะเริ่มจากการกล่าวถึง 5 สิ่งที่ประเทศทำได้ดีในช่วง 5 ปีแรกของการขับเคลื่อน จากมุมมองของ ผู้เขียน ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งดี ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยนั้นมีมากมาย จากหลากหลายภาคส่วน และดำเนินการในหลายประเด็น SDGs ดังนั้นสิ่งที่เลือกมา 5 ประการนี้จะเน้นไปที่การทำงานในระดับนโยบายและการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่าง ๆ ในภาพรวมของ SDGs เป็นหลัก การที่ไม่มีงานของหน่วยงานของผู้อ่านอยู่ใน 5 ประการนี้มิใช่ว่าหน่วยงานของท่านไม่ได้ทำสิ่งดี แต่เป็นเพราะผู้เขียนไม่มีความรู้และสติปัญญาที่ จะเขียนให้ครอบคลุมงานของท่านในบทความขนาดสั้นชุดนี้มากกว่า ซึ่งผู้เขียนต้องขออภัยกับทุกท่านล่วงหน้า

5 สิ่งที่ไปได้ดีในช่วง 5 ปีแรก

1. บทบาทของไทยในเวทีโลกและภูมิภาค: ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีบทบาทในเวทีโลกที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย SDGs อย่างแข็งขัน มีส่วนร่วมและมีข้อเสนอที่มาจากประสบการณ์และองค์ความรู้ของประเทศไทยให้กับเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง ความแข็งขันของประเทศไทยเริ่มตั้งแต่หลังจากมีการรับรองวาระการพัฒนา 2030 ในปี 2015 ในปีต่อมาประเทศไทยซึ่งได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม G77 อันเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 134 ประเทศในองค์การสหประชาชาติ ได้ดำเนินการจัดประชุมอย่างต่อเนื่องในปี 2016 เพื่อชูปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมาย SDGs และเป็นผู้นำในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (เบญจกาญจน์ รุ่งโรจน์วณิชย์ 2559)

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีส่วนร่วมกับการนำเสนอรายงานการทบทวนระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ในการประชุมระดับสูงทางการเมืองว่าด้วย การพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development – HLPF) ในระดับโลกอีกด้วย โดยครั้งที่ประเทศไทยมีการนำเสนอใน HLPF อย่างเป็นทางการคือปี 2017 นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการทำรายงาน VNR มาอย่างต่อเนื่องอีก 2 ฉบับและเผยแพร่ในเวทีโลกแม้ว่าจะไม่ได้นำเสนออย่างเป็นทางการก็ตาม (“MFA – SEP4SDGs” n.d.)

นอกเหนือจากบทบาทในระดับโลกแล้ว ระดับภูมิภาคประเทศไทยก็มีบทบาทอย่างแข็งขันในการผนวกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาในกรอบการทำงานของอาเซียนอีกด้วย อาเซียนมีการกำหนดกรอบเชิงนโยบายที่เป็นเป้าหมายของภูมิภาคที่ประกาศใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2015 ในการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 27 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่มีการรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราเรียกกรอบดังกล่าวว่า ASEAN Community Vision 2025 (ASEAN 2015) ดังนั้นเพื่อให้วาระของอาเซียนมีลักษณะที่หนุนเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงการต่างประเทศของไทยจึงร่วมมือกับ UNESCAP และอาเซียน ในการจัดทำกรอบการปฏิบัติการของอาเซียนตาม ASEAN Vision 2025 ที่เสริมกับเป้าหมาย SDGs ขึ้น เรียกเอกสารนี้ว่า “Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the United Nations 2030 Agenda for Sustainable Development: A Framework for Action” (อาจเรียกสั้น ๆ ว่า ASEAN Complementarities) (UNESCAP 2017) ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยยังผลักดันให้มีการตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Center for Sustainable Development Studies and Dialogue: ACSDSD) อีกด้วย ซึ่งสะท้อนบทบาทของประเทศไทยในการเชื่อมร้อยประเด็นต่าง ๆ ของอาเซียนให้เห็นความเชื่อมโยงตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

2. Mainstreaming SDGs เข้ามาในนโยบายชาติและความพยายามในการปฏิวัติการทำงานเพื่อบรรลุ SDGs ของภาครัฐ ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรกล่าวถึง ในการนำ SDGs ไปปฏิบัติ องค์การสหประชาชาติสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ มีการผนวก SDGs เข้าไปอยู่ในนโยบายระดับชาติเพื่อให้นโยบายความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระแสหลักและงานที่ประเทศต่าง ๆ ทำอยู่แล้ว และเพื่อให้ SDGs สอดคล้องกับบริบทของประเทศมากยิ่งขึ้น ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความรับผิดชอบ ตั้งแต่ช่วงต้นของการดำเนินการในปี 2016 – 2017 การ Mainstreaming SDGs มีการดำเนินการอยู่บ้างแต่เป็นเพียงการให้หน่วยงานนำแผนของตนที่มีอยู่มาเชื่อมโยงกับเป้าหมายและเป้าประสงค์ SDGs ต่อมา ในการประชุม กพย. ครั้งที่ 1/2562 วันที่ 19 ธันวาคม 2562 (โปรดอ่านบทความ –  การประชุม กพย. 19 ธันวาคม 2562 กับนัยยะต่อการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย) สศช. ได้เสนอให้มีการยกเลิกคำสั่ง กพย. เดิมทั้งหมด (ซึ่งแน่นอนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย) แล้วเสนอกรอบการดำเนินการใหม่ เรียกว่า Thailand SDG Roadmap ขึ้น

Thailand SDG Roadmap มีข้อดีในการดำเนินการอยู่ไม่น้อย ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ Roadmap ดังกล่าวเป็นหลักฐานเชิงนโยบายว่าประเทศไทยได้มีการ Mainstreaming SDGs อย่างชัดเจน ในลักษณะที่เอายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 และแผนแม่บทต่าง ๆ เป็นตัวตั้ง แล้วนำ SDGs ไปเชื่อมโยง นอกจากนี้ Roadmap ดังกล่าวยังทำให้ทิศทางการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยมีความ “ชัดเจน” มากยิ่งขึ้น (ส่วนเนื้อหาสมบูรณ์ดีหรือขาดตกบกพร่องอย่างไรเป็นสิ่งที่ถกเถียงได้) โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ การสร้างภาคีการพัฒนา และทำให้การดำเนินการของภาครัฐและการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภาครัฐอันจะนำไปสู่การบรรลุยุทธศาสตร์ชาติ มีความเป็น เนื้อเดียวกันการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs

ประเด็นสุดท้ายที่ควรกล่าวถึงและถือเป็นทิศทางที่ดี ก็คือ การปฏิรูปภายใน สศช. เองใน ด้านการทำงานเกี่ยวกับ SDGs เดิมที สศช. มอบหมายให้ฝ่ายที่ดูแลนโยบายด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการขับเคลื่อน SDGs ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นข้อดีเพราะเจ้าหน้าที่ในหน่วยนี้คุ้นเคยกับประเด็นความยั่งยืน แต่ในอีกแง่หนึ่งมันสะท้อนว่าการดำเนินงาน SDGs กำลังแยกส่วนจากนโยบายด้านอื่น หลังจากการเกษียณอายุราชการของ รองเลขาธิการ สศช. คุณลดาวัลย์ คำภา ผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อน SDGs ตั้งแต่ต้น เมื่อปลายปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ก็เกิดการส่งต่องาน SDGs ไปให้ฝ่ายต่าง ๆ ภายใน สศช. ดูแล จนกระทั่ง มีการปฏิรูปโครงสร้างภายใน สศช. ครั้งใหญ่ จึงมีการส่งต่องาน SDGs มาให้ฝ่ายที่ดูแล การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เองที่ สศช. มีการแบ่งงานด้าน SDGs ฝ่ายต่าง ๆ ภายใน สศช. ทำให้สามารถดึงเอาทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของ เจ้าหน้าที่ สศช. ทุกฝ่ายมาใช้ในการขับเคลื่อนงาน SDGs นี่เป็นข้อดีและจะมีโอกาสทำให้นโยบายต่าง ๆ ในอนาคตมีการบูรณาการเรื่อง SDGs เข้าไป อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับ ความเข้าใจที่เจ้าหน้าที่ สศช. มีเกี่ยวกับ SDGs ด้วยเช่นกัน

การที่ สศช. มาดำเนินการอย่างกระตือรือร้นและเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ สศช. จะต้องไม่ลืมก็คือ การขับเคลื่อน SDGs เป็นเรื่องใหญ่มากเกินกว่าภาคส่วนใดในระดับใดจะจัดการได้ด้วยตนเอง การสร้างและอำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อน SDGs และรู้สึกเป็นเจ้าของด้วยจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งประเด็นการสร้างการมีส่วนร่วมนี้ยังเป็นสิ่งที่ สศช. จะต้องปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น หากต้องการจะขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทยไปให้บรรลุภายในปี 2030

การขับเคลื่อน SDGs เป็นเรื่องใหญ่มากเกินกว่าภาคส่วนใดในระดับใดจะจัดการได้ด้วยตนเอง การสร้างและอำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อน SDGs และรู้สึกเป็นเจ้าของด้วยจึงมีความสำคัญมาก

3. การขับเคลื่อนของภาคเอกชน ในช่วง 5 ปีแรกของ SDGs ในประเทศไทย ต้องยอมรับมีความแข็งขันกระตือรือร้นอย่างยิ่ง แม้ว่าในช่วง 1-2 ปีแรกจะยังลังเล รั้งรอการขับเคลื่อนของภาครัฐก็ตาม

การทำงานในระดับองค์กรในบริษัทขนาดใหญ่นั้นมีการรับแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนมาใช้ตั้งแต่ก่อนจะมี SDGs แล้วเนื่องจากบริษัทระดับใหญ่มักมีการทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบของ Global Reporting Initiative (GRI) ซึ่งเน้นเรื่อง ESG (Environment, Society and Governance) เป็นประเด็นหลักในการดำเนินการด้านความยั่งยืนของบริษัทเอกชน เมื่อ SDGs ประกาศใช้และประเทศไทยประกาศรับ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายบริษัทก็ขานรับ ทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ปตท. SCG ไทยเบฟ และอีกหลายบริษัท ยิ่งในช่วงหลังดัชนีความยั่งยืนของภาคเอกชนทั้งระดับชาติและโลกปรับมาพิจารณาเรื่อง SDGs มากขึ้น ยิ่งกระตุ้นให้บริษัทเอกชนสนใจที่เกี่ยวโยงกับ SDGs มากยิ่งขึ้น สำหรับภายในประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็มีนโยบายที่จะให้บริษัทจดทะเบียนมีการทำรายงานความยั่งยืนให้เป็นรูปแบบเดียวกันในรูปของ One Report ซึ่งน่าจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังคงติด 10 อันดับแรกของตลาดหลักทรัพย์ที่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนเปิดเผยรายงานความยั่งยืนที่ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพที่สุดต่อไป (ฝ่ายส่งเสริมธรรมาภิบาลและความยั่งยืน 2020)สำหรับระดับโลกนั้น ดัชนีที่สำคัญคือ Down Jones Sustainability Index (DJSI) ยิ่งกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ต้องนำเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาพิจารณามากยิ่งขึ้น ในปี 2019 ประเทศไทยมีจำนวนบริษัทได้รับคัดเลือกให้อยู่ในดัชนี DJSI นี้กว่า 20 บริษัท และมี 7 บริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนของโลก ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนเป็นผู้นำความยั่งยืนของโลกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 (RobecoSAM 2019)

เครือข่าย GCNT เปิดเวที “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs”

นอกจากนี้การเคลื่อนไหวในระดับเครือข่ายภาคเอกชนก็มีความกระตือรือร้นไม่แพ้กัน การขับเคลื่อนของ Global Compact Network Thailand (GCNT) และ Thailand Responsible Business Network (TRBN) เป็นการเคลื่อนไหวของภาคเอกชนที่ควรกล่าวถึง Global Compact Network Thailand (GCNT) ซึ่งเป็นภาคภาษาไทยของเครือข่าย UN Global Compact ถือเป็นเครือข่ายที่มีความสำคัญและกระตือรือร้นในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 57 องค์กร มีการจัดกิจกรรมที่สำคัญเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องและแสดงเจตจำนงค์ว่าต้องการสร้างภาคีภาคเอกชนเพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างชัดเจน (thaipublica 2020; mgronline 2020) สำหรับ Thailand Responsible Business Network เป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญของภาคเอกชนอีกหนึ่งครั้ง เพราะนี่เป็นการร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายภาคเอกชนที่สำคัญถึง 8 หน่วยงาน/เครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนความยั่งยืนในประเทศไทย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม  SB ประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (“งานเปิดตัวเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย และสัมมนาพิเศษ ‘ถึงเวลา เติบโต ร่วมกัน’” 2019)

หากภาคเอกชนมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นภาคีที่จริงจังและตั้งใจ ย่อมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะคงปฏิเสธได้ยากว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งภาคเอกชนคือกลจักรสำคัญ นอกจากจะสร้างความมั่งคั่งแล้ว ยังอาจเป็นสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมบางประการด้วย การที่ภาคเอกชนเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติของตนจะมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความยั่งยืน สิ่งที่ควรระวังก็คือ จะทำอย่างไรให้ภาคเอกชนดำเนินการอย่างยั่งยืนจริง มิใช่เพียงการเอา SDGs มาฟอกตนเองเท่านั้น

4. ความตื่นตัวของภาคประชาสังคมและการขับเคลื่อนรายประเด็น ในช่วง 5 ปีแรกนั้นอาจยังไม่มากแต่นับว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ภาคประชาสังคมของไทยรับทราบถึงการรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่ช่วงปีแรก ๆ และเครือข่ายสำคัญของภาคประชาสังคม เช่น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สมัชชาเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้มีการจัดวงปรึกษาหารือเพื่อทบทวนเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายครั้ง (เช่น งาน“ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน People GO!- SDGs” 2016) และมีความพยายามในการทำงานกับภาควิชาการในการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีเจตจำนงค์ที่จะมีส่วนร่วมในการติดตามสถานการณ์และทบทวนสถานะความยั่งยืนควบคู่ไปกับการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งภาควิชาการที่มีบทบาทสำคัญก็คือ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากความหลากหลายทั้งเชิงประเด็นและเชิงจุดยืนทางการเมืองของภาคประชาสังคม รวมถึงการขาดทรัพยากรในการดำเนินการ ทำให้ในช่วง 2 ปีแรก ภาคประชาสังคมยังไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs อย่างชัดแจ้ง ถึงกระนั้นงานที่แต่ละพื้นที่ได้ทำอยู่มาเป็นเวลานานแล้วแทบทั้งหมดก็มีความสอดคล้องเป้าหมาย SDGs และหลักการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive Development) อยู่แล้ว ในช่วง 3 ปีหลังสุดนี้เองที่องค์กรระหว่างประเทศเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนในการหล่อลื่นให้เกิด platform และเครือข่ายของภาคประชาสังคมในการทำงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs เช่น โครงการสหภาพยุโรปส่งเสริมภาคประชาสังคมขับเคลื่อนวาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการใช้ SDGs ผลักดันประเด็นเชิงพื้นที่ของตนระหว่างทางเรื่อยมา เช่น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ ร่วมกับภาคี ในการหาทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องการบุกรุกป่าและที่ทำกินของชาวบ้านให้ยั่งยืน กลายเป็นแม่แจ่มโมเดล ซึ่งในการเจรจาต่อรองมีการเชื่อมโยงข้อเสนอกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (“แม่แจ่มโมเดล” 2019) หรือการขับเคลื่อนของเครือข่ายกระบี่ Go Green ก็มีการเชื่อมโยงประเด็นพลังงานหมุนเวียนและการท่องเที่ยวยั่งยืนกับเรื่อง SDGs ในการขับเคลื่อน (Greenpeace Thailand 2018)

การขับเคลื่อนเชิงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เท่าที่ผู้เขียนมีโอกาสรับทราบความเคลื่อนไหวก็เช่น การทำงานของเครือข่ายผู้หญิงดังที่ SDG Move เคยมีบทสัมภาษณ์มาแล้วก่อนหน้านี้ (โปรดดูที่นี่) การขับเคลื่อนเรื่องเมืองยั่งยืน (SDG 11) ที่มีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ทำงานกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมประสานภาคีที่เกี่ยวข้องมาร่วมขับเคลื่อน เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (Thai SCP Network: SDG 12)  ก็เป็นอีกเครือข่ายหนึ่งที่มีหลายภาคส่วนและขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (“THAI-SCP” n.d.) หรือในเชิงเครื่องมือการบรรลุเป้าหมายก็มี Thailand Social Innovation Platform ที่เป็น Platform สนับสนุนโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมและองค์กรภาคประชาสังคมให้ทำงานส่งเสริมความยั่งยืน เช่น A-CHIEVE ที่ทำเกี่ยวกับการศึกษาและการจ้างงาน (SDG 4) Local Alike ทำโครงการท่องเที่ยวชุมชน (SDG 8) Change Fusion และ Asiola ที่ทำงานด้าน platform การระดมทุน เป็นต้น (“Thailand Social Innovation Platform” n.d.) กลุ่มเยาวชนที่ทำงานด้าน SDGs โดยเฉพาะก็เริ่มเกิดขึ้น เช่น สมัชชายุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (สยพท.) หรือ Young Thai for Sustainable Development Assembly (“YSDA Thailand” n.d.) เป็นต้น

5. ความตื่นตัวของภาควิชาการและมหาวิทยาลัย ความตื่นตัวของภาควิชาการและภาคมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับเป้าหมาย SDGs นั้น แม้จะดูเหมือนว่าจะเพิ่งมาตื่นตัวอย่างคึกคักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาโดยดูจากจำนวนมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการจัดอันดับ Times Higher Education University Ranking ด้าน SDG Impact จากประเทศไทยมีถึง 19 มหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศ โดยมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่อยู่ในอันดับ 101-200 ของโลก นอกจากนี้เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนประเทศไทย (Sustainable University Network Thailand) ที่เคยขยับเรื่องมหาวิทยาลัยยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมก็เริ่มขยับเข้ามาจับงานด้าน SDG มากขึ้น

แต่ในความเป็นจริง การขับเคลื่อนของภาควิชาการและมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2016 นอกเหนือจากโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้ให้ทุนนักวิจัยจากหลากหลายมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในการทำงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับสถานะของเป้าหมาย SDGs และการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ในช่วงปี 2016-2019 แล้ว ยังมีอีกสองมหาวิทยาลัยที่ควรกล่าวถึง ที่ได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับ SDGs คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ที่ได้จัดการประชุมวิชาการ Multidisciplinary Approaches on UN Sustainable Development Goals มาตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน รวม 4 ครั้ง (“The 4th International Conference of Multidisciplinary Approaches on UN Sustainable Development Goals (UNSDGs 2020)” n.d.) อีกสถาบันหนึ่งที่มีการดำเนินการเรื่อง SDGs โดยตรงก็คือ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ปรับการจัดการประชุม International Conference on Asian Economic Development ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการประจำปีให้มีธีมที่เชื่อมโยงกับ SDGs ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2017

อย่างไรก็ดี ความตื่นตัวข้างต้นเป็นเพียงจุดเริ่มเท่านั้น ภารกิจของภาควิชาการในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องเร่งเครื่องมากกว่านี้เพื่อให้เกิดการใช้ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างจริงจังต่อไป อนึ่ง ผู้เขียนตระหนักดีว่ามีนักวิชาการจำนวนมากและเครือข่ายวิชาการเชิงประเด็นที่ทำงานสอดคล้องกับประเด็นภายใต้ SDGs อยู่แล้ว แต่นักวิชาการและเครือข่ายที่กล่าวอย่างชัดเจนว่าทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการบรรลุ SDGs อย่างชัดแจ้งยังมีไม่มากนัก อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากกลไกการสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ SDGs และการขับเคลื่อน SDGs

ในทศวรรษที่เหลือ การทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนเหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุความยั่งยืนในประเทศไทย

โดยสรุปแล้ว ในภาพรวมการขับเคลื่อนของประเทศไทยนั้น การขับเคลื่อน SDGs ในส่วนของภาครัฐและเอกชนมีการขับเคลื่อนในระดับนโยบายและความร่วมมือไปพอสมควร และผลลัพธ์ในทางปฏิบัติก็เริ่มบังเกิดผลตามนโยบายที่แต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการไปบ้าง (โปรดดูรายงาน VNR ในเว็บไซต์ “MFA – SEP4SDGs”) ภาคประชาสังคมก็มีความตื่นตัวและพยายามใช้ SDGs ในการขับเคลื่อนประเด็นและการพัฒนาพื้นที่ของตนมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรจึงทำให้การขับเคลื่อนยังไม่ได้ขยายวงกว้างมากนัก ภาควิชาการเป็นภาคที่ตื่นตัวกับเรื่อง SDGs ค่อนข้างช้าแต่ก็นับว่าเริ่มมีความตื่นตัวมากยิ่งขึ้นแล้วในช่วง 1-2 ปีหลังนี้

ในทศวรรษที่เหลือ การทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนเหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุความยั่งยืนในประเทศไทย การจัดกระบวนและกลไกสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในหลากหลายรูปแบบจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แต่กลไกเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่มีการพัฒนาไม่มากในช่วง 5 ปีแรกของการขับเคลื่อน ในบทความถัดไปผู้เขียนจะพูดถึง 5 สิ่งที่ประเทศไทยยังไม่ได้ทำ และต้องทำเพื่อให้การขับเคลื่อน SDGs มีความก้าวหน้าและทันปี 2030

อ้างอิง;

ASEAN. 2015. “ASEAN Community Vision 2025 – ASEAN | ONE VISION ONE IDENTITY ONE COMMUNITY.” ASEAN | ONE VISION ONE IDENTITY ONE COMMUNITY. August 13, 2015. https://asean.org/asean-community-vision-2025-2/.

Greenpeace Thailand. 2018. “Krabi Goes Green.” Greenpeace Thailand. June 13, 2018. https://www.greenpeace.org/thailand/publication/2953/krabi-goes-green/.

“MFA – SEP4SDGs.” n.d. Accessed September 26, 2020. https://sep4sdgs.mfa.go.th/.

mgronline. 2020. “ธุรกิจแถวหน้าผนึกพลัง หนุนGCNTขับเคลื่อนSDGs.” Mgronline. September 18, 2020. https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000095824.

RobecoSAM. 2019. “Dow Jones Sustainability Indices Review Results 2019.” Pure Play Asset Management | Robeco.Com. September 19, 2019. https://www.robecosam.com/en/media/press-releases/2019/dow-jones-sustainability-indices-review-results-2019.html.

“Thailand Social Innovation Platform.” n.d. Accessed September 26, 2020. https://www.thailandsocialinnovationplatform.org/.

thaipublica. 2020. “GCNT ผนึกกำลังทุกภาคส่วน เดินหน้าขับเคลื่อน SDGs ผลักดัน 998 โครงการ.” Thaipublica (blog). August 31, 2020. https://thaipublica.org/2020/08/gcnt-31-8-2563/.

“THAI-SCP.” n.d. Accessed September 26, 2020. https://www.thaiscp.net/.

“The 4th International Conference of Multidisciplinary Approaches on UN Sustainable Development Goals (UNSDGs 2020).” n.d. Accessed September 26, 2020. http://dept.npru.ac.th/unsdgs2020/.

UNESCAP. 2017. “Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the United Nations 2030 Agenda for Sustainable Development: A Framework for Acton.” https://asean.org/storage/2017/11/FINAL_Complementarities-Report-no-graphic-on-cover.pdf.

“YSDA Thailand.” n.d. YSDA Thailand. Accessed September 26, 2020. https://ysdathailand.org/.

“ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน People GO!- SDGs.” 2016. SDG Move. December 23, 2016. https://www.sdgmove.com/2016/12/23/%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b9%84%e0%b8%9b%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%a2%e0%b8%b1%e0%b9%88/.

“งานเปิดตัวเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย และสัมมนาพิเศษ ‘ถึงเวลา เติบโต ร่วมกัน.’” 2019. SE Thailand. November 21, 2019. https://www.sethailand.org/thailand-responsible-business-network-2019/.

เบญจกาญจน์ รุ่งโรจน์วณิชย์. 2559. “การทูตพหุภาคีของประเทศไทยในกรอบ G77 กับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ระหว่างมกราคม-ธันวาคม ค.ศ. 2016, Thailand Multilateral Diplomacy in Group of 77 and Sufficiency Economy Philosophy during January-December 2016.” Edited by จุลชีพ ชินวรรโณ. รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต, คณะรัฐศาสตร์. http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5803030559_6525_5630.pdf.

ฝ่ายส่งเสริมธรรมาภิบาลและความยั่งยืน. 2020. “ผลักดันสู่การใช้ ‘แบบ 56-1 One Report’…เปิดเผยข้อมูลด้าน ‘ความยั่งยืน’!!!” WealthyThai. August 15, 2020. https://www.wealthythai.com/web/contents/WT200800168.

“แม่แจ่มโมเดล.” 2019. Open Development Thailand. April 16, 2019. https://thailand.opendevelopmentmekong.net/th/stories/the-mae-chaem-development-model/.

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น