SDG Insights | เลือกความสงบจบที่ตรงไหน : ความกังวลที่เปลี่ยนไปของสามจังหวัดชายแดนใต้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง

กว่า 17 ปีแล้ว ที่ปลายสุดของด้ามขวานกลายเป็นพื้นที่ภาพจำของความรุนแรง ไม่สงบสุขและแม้จะระดมสรรพกำลังทั้งในรูปแบบกำลังคน งบประมาณลงไปเท่าไรก็ยังไม่มีทีท่าว่าปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน  การถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมอันเป็นใจกลางของปัญหาจะคลี่คลายลง ตรงกันข้ามเรากลับพบความท้าทายใหม่ที่พื้นที่ส่งเสียงว่ามันคือเรื่องที่พวกเขากังวลนั่นคือ ยาเสพติด  SDG Insights ฉบับนี้ชวนทำความเข้าใจ ความสงบสุข สันติภาพ อัปเดตสถานการณ์ความเป็นไปของสามจังหวัดชายแดนใต้ในวันที่ถูกพูดถึงบนพื้นที่สื่อน้อยลง  และความกังวลต่อการระบาดของยาเสพติดผ่านข้อสังเกตที่ไม่ได้ตอบคำถาม แต่ทำให้เราฉุกคิดในมุมที่อาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง  อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย​ศิลปากร  

ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นในบทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งมาจากการ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ตามโครงการ Foresight การวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์และ การสร้างฉากทัศน์เพื่อสนับสนุนการทำแผนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.)โดยการศึกษาตามโครงการนี้คณะผู้วิจัยจะเสนอประเด็นปัญหาที่ครอบคลุมทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สันติภาพและความสงบสุขแล้วให้ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าประเด็นปัญหาใดความสำคัญ เร่งด่วนมากที่สุด เพื่อเป็นภาพสะท้อนความต้องการของพื้นที่           

สำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สังคมที่สงบสุข มีสันติภาพ คืออะไร

เท้าความผลจากการเก็บข้อมูลผ่านแบบสำรวจโครงการ Foresights เมื่อปีที่แล้ว (2563) จะเห็นว่าประเด็นที่ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ วิชาการ เอกชน ประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ ต่างให้ข้อเสนอในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ‘ความมั่นคงของมนุษย์’ มากกว่า ความมั่นคงของชาติ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมานั้นภาครัฐมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับแก้ปัญหาที่มีลักษณะเป็น ความมั่นคงของชาติ’ มากกว่าปัญหาพื้นฐานที่เป็นความมั่นคงของมนุษย์

จากผลการศึกษาในคราวนั้นปีนี้ (2564) เราได้นำประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่ภาคใต้ชายแดนเผชิญมาให้ผู้เชี่ยวชาญร่วมกันให้ความเห็นอีกครั้งว่าประเด็นสำคัญ เร่งด่วนของพื้นที่ยังคงเป็นประเด็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ ความมั่นคงของมนุษย์ดังที่พวกเขาเคยเสนอมาหรือไม่ แล้วเราก็พบว่ามีคำตอบที่ส่งสัญญาณบางอย่างเปลี่ยนไป    กล่าวคือ พวกเขายังคงเห็นว่าเรื่องปากท้องสำคัญ แต่อยู่ลำดับรองลงมาจาก ‘ยาเสพติด’ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุด เพราะมีสถานการณ์มีความรุนแรง และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อพื้นที่

อาจารย์แพรกล่าวต่อไปว่า หากเราพิจารณาตามหลักการของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development goal: SDGs) อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงขั้นพื้นฐานสำหรับชายแดนใต้นั้นให้ความสำคัญกับความมั่นคงในมิติทางเศรษฐกิจ  สังคม สันติภาพ  อย่างปีที่แล้ว (2563) ประเด็นที่คนในพื้นที่เห็นว่าสำคัญเร่งด่วนต้องเร่งดำเนินการเป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้อง หลังจากความรุนแรงยืดเยื้อยาวนาน นับแต่ปี พ.ศ. 2547  ระยะ ปีแรก คนจะให้ความสำคัญกับการที่พื้นที่มีความสงบสุข ไม่มีความรุนแรงที่มีผู้เห็นต่างต่อสู้กับรัฐ แต่ในวันนี้ผ่านมา 17 ปีแล้วเสียงสะท้อนของคนในพื้นที่กลับเปลี่ยนไป

เวลาลงพื้นที่แล้วถามว่าอะไรเป็นปัญหาที่สำคัญในชีวิตของพวกเขาจะได้รับคำตอบอยู่ เรื่อง คือ (1) ยาเสพติดที่แพร่ระบาดในระดับชุมชน กับลูกหลานของพวกเขา และ (2ปัญหาปากท้อง ได้แก่ การเกษตรถดถอย  ไม่ว่าจะเป็นราคายางพาราตกต่ำ โรคเชื้อราในใบยาง ปัญหานาร้าง การประมงที่ไม่สามารถจับปลาได้  พอเกิดวิกฤติโควิด 19 สองปีที่ผ่านมาพื้นที่ก็ต้องเผชิญกับภาวะว่างงานชาวมลายูกว่าสองแสนคนที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซีย จำต้องกลับบ้านเพราะภาวะเศรษฐกิจ


สำหรับคนในพื้นที่แล้วปัญหาเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตของพวกเขา มากกว่าความสงบ ความรุนแรงแล้ว ดังนั้น หากจะตอบว่าสังคมที่สงบสุขสำหรับชาวสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างไร ก็คงหมายถึง “สังคมที่ทำให้พวกเขาอิ่มท้องทำมาหากินได้ มีอาหารที่มีคุณภาพ ลูกหลานมีสุขภาพที่ดี ปราศจากยาเสพติด มีความมั่นคงในชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ส่วนความรุนแรงอาจะเป็นเรื่องรองลงมา แม้ว่ามันจะยังคงมีอยู่มาโดยตลอด”


เป็นไปได้ไหมว่าทุกคนเริ่มเคยชินเสียแล้ว?

อาจจะ (หัวเราะ)” อ.แพรกล่าวต่อไปว่า “ที่จริงก็ไม่ควรพูดเช่นนั้น แน่นอนว่าความรุนแรงมันยาวนาน และสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือ การที่ความรุนแรงมันกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ตอนนี้ผ่านมา 17 ปี เท่ากับว่ามีเด็ก รุ่นที่เติบโตท่ามกลางความรุนแรง ท่ามกลางคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ทั้งการเกษตรตกต่ำ เศรษฐกิจถดถอย ยาเสพติดระบาดหนักในพื้นที่ ล้วนเป็นปัญหาที่เมื่อ ขยุ้ม’ รวมกันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ในพื้นที่ ทว่า สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้มันเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแยกจากกันหรือจำแนกได้ว่าปัญหาใดเป็นสาเหตุหรือผลกระทบของอีกปัญหาหนึ่งได้อย่างตรงไปตรงมา ตรงกันข้าม ปัญหาที่กล่าวมานี้ คลุม’ คุณภาพความมั่นคงในชีวิตของคนสามจังหวัดชายแดนใต้เอาไว้ทุกอย่างจึงเชื่อมร้อยเกี่ยวพันกันไปหมด คนที่นั่นจึงเข้าถึงชีวิตที่สงบสุขไปพร้อมกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ยาก 

ถ้าเช่นนั้นเราสามารถคิดแบบย้อนกลับได้ไหมว่า หากไม่มีความรุนแรง หรือการก่อความไม่สงบเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่จะดีกว่านี้?’

หากเราเชื่อสถิติเมื่อ 17 ปีที่แล้วก่อนหน้าความรุนแรง คนสามจังหวัดโดยเฉพาะคนนราธิวาสก็เป็นจังหวัดที่มีคนอยู่ใต้เส้นความยากจนขั้นสุดมาโดยตลอด แม้ปีที่ทำวิจัยเราจะได้รับความเห็นจากผู้ตอบแบบสำรวจว่าคนในพื้นที่อาจไม่ได้ยากจนขนาดนั้น ข้อมูลที่ปรากฏว่าคนสามจังหวัดยากจนมีเงินฝากน้อยส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ไม่นิยมฝากเงินเอาไว้ในธนาคารเนื่องจาก การให้ดอกเบี้ยของธนาคารนั้นขัดกับหลักความเชื่อของศาสนาอิสลาม จึงฝากเงินเอาไว้ในรูปแบบอื่น ถึงกระนั้นพื้นที่สามจังหวัดก็ยังเป็นพื้นที่ที่มีคนลงทะเบียนคนจน ยังคงพึ่งพิงสวัสดิการของรัฐ และเป็นจังหวัดที่มีสถิติการลงทะเบียนรับค่าชดเชยผลกระทบจากการระบาดโควิด 19 เป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ หากจะยกประเด็นเงินฝากมาเป็นเหตุผลว่าเราไม่มีปัญหาความยากจนมันก็ย้อนแย้งกันกับข้อมูลที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่สะท้อนคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ภาวะทุพโภชนาการก็ยังสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ 
ซึ่งก็เป็นคำถามว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าคนในพื้นที่ไม่มีความรู้เรื่องโภชนาการ หรือไม่มีเงินที่จะให้ลูกหลานได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในมิติของงบประมาณโดยส่วนตัวคิดว่าหลังจากเกิดความไม่สงบงบประมาณกว่า 80% ทุ่มเทลงไปเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ แม้กระทั่งภาควิชาการ การให้ทุนงานวิจัยยังให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจศึกษา หาทางออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

 สามจังหวัดชายแดนใต้ก็เหมือนภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศที่มีปัญหาพื้นฐาน ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคมที่มักเกิดขึ้นโดยทั่วไป แต่มันกลับไม่ถูกพูดถึงเพราะถูกบดบังไปด้วยการเปลี่ยนภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นดินแดนที่ไม่สงบ ไม่มีสันติภาพ”  


ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงทุ่มเทสรรพกำลังไปกับการสร้างความสงบ สันติภาพทำให้ปัญหาพื้นฐานอื่น ๆ ถูกลดทอนความสำคัญ แม้กระทั่งภาคประชาสังคมที่ทำงานใกล้ชิดกับพื้นที่ก็ยังมุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่เป็นหลัก ทั้งที่ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากที่ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไข หรือมีการแก้ไขแต่ทำน้อย จนกระทั่งปัญหาเหล่านี้พอกพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ และทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น จนเสมือนเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ทว่าแม้ขณะนี้พื้นที่จะเกิดความตื่นตัว หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้บ้างแล้วพื้นที่ก็ยังมีทรัพยากรน้อยเกินกว่าจะแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงสภาวะที่เผชิญอยู่ได้มากเท่าที่ควรจะเป็น

ในทางกลับกัน หากเป็นพื้นที่อื่นปัญหาพื้นฐานของสังคมจะถูกฉายให้เด่นชัด และมีแนวทางแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่า อาจารย์แพรยกตัวอย่างจังหวัด ศรีสะเกษ จังหวัดที่ติดอันดับความยากจนลำดับต้น ๆ ของประเทศและมีแนวคิดที่จะยกระดับการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะคนในจังหวัดนำมาสู่การสร้างรายได้ ปัจจุบันศรีษะเกษมีแซนด์บ็อกซ์ มีการริเริ่มทดลองการศึกษา แต่กับสามจังหวัดชายแดนใต้แนวทางแบบนี้กลับยากที่จะเกิดขึ้น

“ที่นี่ต่อให้ส่งเสียงสะท้อนไปก็ไม่มีทางเกิดขึ้น เราจะได้การศึกษาเพื่อสร้างสันติภาพ เพราะการศึกษาของที่นี่ผูกติดเอาไว้กับความมั่นคงของชาติไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถแก้ปัญหาปากท้อง การศึกษาจึงถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติ ให้เด็กนักเรียนรู้สึกรักชาติเป็นหนึ่งเดียว แต่ไม่ได้แก้ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์” 

จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะมีนโนบายหรือแนวทางการพัฒนาพื้นที่รูปแบบใดก็ล้วนแต่ต้องมุ่งหมายให้เกิดความมั่นคง หล่อหลอมความรู้สึกความเป็นไทยเพียงหนึ่งเดียวเป็นหลัก ไม่มีพื้นที่สำหรับการแก้ปัญหาปากท้อง หรือยกระดับคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่นความเป็นอยู่อย่างจริงจัง  

   

สามปีหลังการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรง สถานการณ์ในพื้นที่เบาบางลงกว่าหลายปีก่อนมาก ในมุมมองของคนอยู่ในพื้นที่มองว่า สถานการณ์ช่วง ปีให้หลังนี้เป็นอย่างไร 

ในทางสถิติมีข้อมูลยืนยันว่าการเกิดสถานการณ์ความไม่สงบลดลงจริง แต่ในพื้นที่ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้คนในพื้นที่ ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปสิบปีก่อนปัญหาความไม่สงบก็มีรากฐานมาจากประเด็นเหล่านี้เช่นเดียวกัน โดยที่ปัญหาเหล่านี้พ่วงอยู่กับความแตกต่างทาง อัตลักษณ์วัฒนธรรมจนปัจจุบันมันก็ยังไม่ถูกแก้ และยังมีการกระทำซ้ำเดิมกับคนในพื้นที่อยู่ แบบนี้จะเรียกว่าสถานการณ์ดีขึ้นได้หรือไม่?  อาจารย์แพรเสนอว่า ในการจะพิจารณาว่าสถานการณ์ภาพรวมเป็นอย่างไร อาจทำได้ผ่าน ข้อสังเกต 

  1. งบประมาณต้องสัมพันธ์กับสถานการณ์ ถ้าความรุนแรงลดลงงบประมาณที่จัดสรรเพื่อแก้ปัญหาก็ควรลดลงตามไปด้วยหรือไม่?   
  2. การละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องไม่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันยังคงพบเห็นเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น
  3. จำนวนทหารที่เข้าไปประจำการในพื้นที่ได้ลดกองกำลังลงหรือไม่

เมื่อพิจารณาจากข้อสังเกตของอาจารย์แพรแล้วอาจเป็นการด่วนสรุปเกินไปว่าทุกอย่างกำลังดีขึ้น เพราะแม้สถานการณ์ความรุนแรงจะลดลง แต่หากยังคงมีการกระทำซ้ำเติมคนในพื้นที่เช่นเดิม สุดท้ายความรุนแรงก็จะหวนกลับมาอีก เพราะยังไม่ได้แก้ที่ปัญหาใจกลางคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม

การระบาดยาเสพติดในพื้นที่รุนแรงแค่ไหน ทำไมคนในพื้นที่ถึงกังวล

ไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่าสถานการณ์ยาเสพติดที่แท้จริงเป็นอย่างไร

ในการประเมินสถานการณ์ยาเสพติดเราจำเป็นต้องพิจารณาจากข้อมูลหลายมิติเพื่อให้มาซึ่งคำตอบว่าเรามี ผู้ใช้ยาเสพติด’ เท่าใด ข้อมูลเชิงสถิติที่พอจะเข้าถึงได้ เช่น สถิติการจับกุม  สถติผู้ป่วยที่ลงทะเบียนเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลของรัฐ ที่ผ่านมาเรามักเห็นการอ้างอิงสถิติของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นช่องทางหลัก ซึ่งไม่อาจสะท้อนภาพที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดเพราะนั่นเป็นสถิติการจับกุม และปราบปราม ในความเป็นจริงแล้วยังมีผู้ใช้ยาเสพติดที่ไม่ถูกจับกุม นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาเสพติดเมื่อไปรายงานตัวก็จะกลายเป็นผู้ป่วยไม่ใช่ผู้ค้า และไม่ใช่ผู้ใช้ยาเสพติดทั้งหมดจะไปรายงานตัวเป็นผู้ป่วย จึงไม่อาจสะท้อนความเป็นจริงของสถานการณ์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ว่าภาพใหญ่ หรือภาพเล็ก 

  

รูปแบบของสถานการณ์การระบาด

พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เท่าที่ได้รับข้อมูลสามจังหวัดเป็นทั้งพื้นที่จำหน่าย และพักยาก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าเส้นทางการลำเลียงเข้ามาและส่งออกไปนั้นมาจากทางภาคเหนือของประเทศผ่านพื้นที่สามจังหวัดเพื่อมุ่งลงไปทางใต้ หรือยาเสพติดเข้ามาจากทางใต้และลำเลียงขึ้นสู่ทางเหนือกันแน่  และนี่นำมาสู่การตั้งคำถามจากคนในพื้นที่ว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเข้มงวดในการตรวจค้น มีด่านกระจายอยู่มากมาย แต่ยาเสพติดก็ยังเล็ดลอดเข้ามาในพื้นที่และยังผ่านไปสู่ชายแดนได้ทั้งที่มีด่าน มีเครื่องตรวจค้นวัตถุระเบิด อาวุธ มีสรรพกำลังเพื่อดูแลความมั่นคงครบครัน แล้วเพราะเหตุใดยาเสพติดจึงระบาดหนักเช่นทุกวันนี้

สุไหงโกลก มีทุกอย่างยกเว้นพ่อแม่

อีกตัวอย่างที่สะท้อนระดับความรุนแรงของการระบาดยาเสพติดได้ดีคือ เมื่อลองถามคำถามว่า หากคนใช้ยาเสพติดต้องการจะหายาเสพติดได้ที่ไหนบ้างก็ได้รับคำตอบเชิงติดตลกกลับมาว่าสุไหงโก-ลก มีทุกอย่างยกเว้นพ่อแม่ ซึ่งหมายถึง พื้นที่ดังกล่าวสามารถหายาเสพติดได้ทุกชนิด แถมยังไม่มีผู้ปกครองมาคอยติดตาม ห้ามปราม ย่อมสะท้อนว่าเยาวชนสามารถเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายเพียงใด  อาจารย์แพรให้ความเห็นว่าที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะสุไหงโก-ลกเป็นพื้นที่ชายแดน ลักษณะพิเศษของชายแดนคือเป็นพื้นที่ที่เข้มข้นไปด้วยกฎหมายหลายแบบ แต่ก็เป็นพื้นที่ยกเว้นหลายแบบเช่นกัน ดังนั้นมันจึงเป็นพื้นที่สีเทามีการละเมิดและยกเว้นกฎหมายในหลายรูปแบบทำให้สิ่งผิดกฎหมายรวมอยู่ที่นั่นได้มากกว่าที่อื่น

คิดเห็นอย่างไรกับความเห็นที่ว่า ยาเสพติดเป็นแหล่งสร้างทุน และดึงเยาวชนเข้าสู่ชบวนการก่อความไม่สงบ

ประเด็นนี้เป็นความเห็นที่มีการพูดถึงในรูปแบบที่ต่างออกไปขึ้นอยู่กับจุดยืนของแต่ละฝ่าย มักมีการกล่าวอ้างจากทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายที่ต่อต้านรัฐว่าใช้ยาเสพติดเป็นเครื่องมือทำให้กำลังหรือศักยภาพของอีกฝ่ายอ่อนลง  ซึ่งก็ไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่จากข้อมูลที่คนในพื้นที่ให้ผ่านการตอบแบบสอบถามกระบวนการเดลฟายประยุกต์ในการทำวิจัย มีผู้ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยสำคัญของการระบาดยาเสพติดนั้นเป็นความสัมพันธ์ของสามตัวละคร ได้แก่ ผู้ทรงอิทธิพลในพื้นที่’ ‘ผู้นำชุมชน’ ซึ่งอาจเป็นคนเดียวกันหรือไม่ก็ได้ และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ’  ล้วนมีส่วนหล่อเลี้ยงทำให้ปัญหายาเสพติดยังคงอยู่และไม่เคยถูกพูดถึงอย่างจริงจังเพราะด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

อีกหนึ่งข้อสังเกตต่อความเห็นนี้คือ หากเราลองตั้งข้อสังเกตถึงความสมเหตุสมผลแบบคนธรรมดาสามัญจะเห็นว่าไม่ว่าฝ่ายใด ทั้งกองทัพหรือผู้ต่อต้านรัฐที่มีกองกำลังสำหรับเคลื่อนไหวล้วนต้องการกำลังพลที่มีความพร้อมในการปฏิบัติการมากกว่ากำลังพลที่อ่อนแอ มีสภาพร่างกาย สติสัมปัชชัญญะไม่สมบูรณ์จากการติดยาเสพติด ซึ่งถือเป็นตรรกะที่เรียบง่ายและสมเหตุสมผล เช่นนั้นแล้ว ต้องถามกลับไปว่าการใช้ยาเสพติดเป็นเครื่องมือเพื่อชักจูงโน้มน้าวคนให้เข้าสู่ขบวนการจะยังคงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลหรือไม่ 

 เราไม่อาจให้คำตอบเพียงหนึ่งเดียวได้ว่ายาเสพติดถูกใช้เพื่อเจตนาแอบแฝงใด หรือจากใครบ้าง แต่สำหรับความรู้สึกของคนในพื้นที่มองว่ายาเสพติดเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำให้คนในพื้นที่อ่อนแอ ประกอบกับความจริงจังในการขจัดยาเสพติดของภาครัฐไม่มากเท่าที่ควรแม้จะมีความพร้อมเรื่องทรัพยากร ย่อมทำให้คนในพื้นที่ตั้งคำถามต่อจุดยืน ความจริงใจของรัฐที่มีต่อการสร้างสันติภาพ      

สันติภาพ ความรุนแรง ยาเสพติด และปัญหาพื้นฐานในสามจังหวัดชายแดนใต้ต่างมีความเกี่ยวพันกันอย่างสลับซับซ้อนจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ ในบรรดาความสลับซับซ้อนของปัญหามองว่าช่องว่าง (Gap) ที่สำคัญที่ทำให้สังคมในสามจังหวัดไม่สงบสุข 

โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรโทษว่าปัญหามาจากโครงสร้างเพียงอย่างเดียว ในทางหนึ่งคนสามจังหวัดก็ได้รับการเกื้อหนุนดูแลจากโครงสร้างเช่นกัน ด้วยสภาพความเป็นพื้นที่พิเศษมายาวนาน มีการพึ่งพิงรัฐสูงโดยเฉพาะในเรื่องทรัพยากร งบประมาณ ต้องยอมรับว่าที่นี่ไม่ได้มีความเข้มแข็งเชิงพื้นที่มากในระดับที่จะยืนอยู่ได้ด้วยตนเองเท่าใดนักเมื่อเทียบกับท้องถิ่นอื่น ๆ ในภาวะที่ท้องถิ่นต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากรัฐ ขณะเดียวกันก็ต่อต้านรัฐจึงไม่สามารถทำให้หลุดจากกรอบหรือโครงสร้างที่ส่วนกลางออกแบบมาให้ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการสร้างโรงเรียนตามอัตลักษณ์ท้องถิ่น แต่เมื่อยังต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐจึงไม่อาจก้าวพ้นขอบเขตการกำกับควบคุมได้

แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีโครงการ มีแผนที่มุ่งให้ความต้องการของพื้นที่ถูกส่งขึ้นไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหา และทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีบทบาทในการตัดสินใจมากขึ้น ทว่าในความเป็นจริงแล้ว อปท. กลับไม่ได้รับบทบาทนั้นเท่าที่ควร สมดุลระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลางกับท้องถิ่นจึงมีความต่างกันมากเกินไป ด้วยความข้างต้นเราจึงมองว่าช่องว่างที่สำคัญคือ ‘การจัดการความสัมพันธ์ของอำนาจระหว่างรัฐกับท้องถิ่น ให้มีสมดุลกันมากขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อท้องถิ่นเข้มแข็งมีผู้นำที่มีศักยภาพในการนำสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่และการเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเท่าเทียม

 แม้ว่าประเด็นที่เราชวนพูดคุยนี้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG 16 สังคมที่มีสงบสุข ยุติธรรม สถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม แต่เมื่อพิจารณาถึงหลักการเบื้องหลังของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเห็นว่า  กรณีของสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่สะท้อน ตอกย้ำถึงความสำคัญของการมองปัญหาอย่างบูรณาการ (Integrated) และหลักการพัฒนาจากท้องถิ่น (Localizing) ที่มุ่งเน้นให้ท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดทิศทาง นโยบายและมีส่วนร่วมจัดสรรทรัพยากรที่จะกระจายเข้ามาสู่พื้นที่ หรือที่มักคุ้นเคยในชื่อการบริหารแบบล่างสู่บน (Bottom up)  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือนำมาสู่สังคมที่เคารพในสิทธิมนุษยชน และสังคมที่เติบโตอย่างครอบคลุมคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม ที่ไม่เพียงแต่เป็นเป้าหมายสูงสุดของ SDGs เท่านั้น แต่ยังเป็นเป้าหมายที่ทุกสังคมล้วนใฝ่ฝันให้เกิดขึ้น

Last Updated on กรกฎาคม 1, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น