เทคโนโลยี ‘Swarm grids’ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสคนในพื้นที่ยากจนเข้าถึงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต้นทุนต่ำ

ในปัจจุบันผู้คนกว่า 789 ล้านคนทั่วโลกยังไม่สามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะในชุมชนที่มีความเปราะบางตั้งแต่ประเทศ ลาว โมซัมบิก ไปจนถึงวานูอาตู ซึ่งการไม่มีไฟฟ้าใช้ในพื้นที่ย่อมเป็นอุปสรรคต่อทั้งการพัฒนาพื้นที่และการดำเนินชีวิตของผู้คน ดังนั้นทางสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จึงได้เข้ามาสนับสนุนจัดตั้งโครงการ ‘Swarm grids’ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนในพื้นที่ให้เข้าถึงพลังงานไฟฟ้าให้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนการเข้าถึงที่จ่ายได้

ที่มา : https://power-blox.com/products

‘Swarm grids’ คือ โครงข่ายไฟฟ้าขนาดย่อมโดยมีกล่องอัจฉริยะดังรูปด้านบนที่สามารถกระจายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ชุมชนได้เป็นวงกว้าง โดยตัวกล่องสามารถชาร์จพลังงานผ่านแผงโซล่าเซลล์ ทั้งนี้หากกล่องไหนมีการทำงานผิดพลาดจะไม่ส่งผลให้ชุมชนทั้งหมดขาดแคลนพลังงานไฟฟ้ากระทันหัน เพราะตัวกล่องสามารถยืมพลังงานจากกล่องอื่น ๆ มาทดแทน รวมถึงหากชุมชนมีการเติบโตหรือขยายพื้นที่ สามารถเพิ่มจำนวนกล่องในการเชื่อมต่อได้ดังวิดิโอด้านล่าง โดยเส้นสีแดงในคลิปคือกล่องดังกล่าว และเส้นสีเขียวคือครัวเรือนหรือสิ่งก่อสร้างของชุมชน เช่น ศูนย์บริการสุขภาพ

โดยโครงการ ‘Swarm grids’ ได้ดำเนินการนำร่องบนกาะ Lelapa ประเทศวานูอาตู ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความยากจนมากที่สุดในโลกและมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหลาย ๆ เกาะรวมกัน ผู้ให้สัมภาษณ์ Reuben Natamatewia ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยบนเกาะได้กล่าวว่า

“เมื่อชุมชนของเรามีพลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มที่แล้ว พวกเราก็สามารถแช่เย็นปลาที่จับมาได้ มีปั๊มน้ำไฟฟ้าที่จะช่วยชุมชนมีน้ำดื่มสะอาด และคุณครูและเด็กนักเรียนสามารถใช้งานเครื่องปรินเตอร์ในที่โรงเรียนได้ รวมถึงผู้หญิงสามารถใช้จักรเย็บผ้าในการเพิ่มผลผลิตงานหัตถกรรมต่าง ๆ ได้”

โดยทาง Alexandra Soezer ที่ปรึกษาด้านเทคนิคของ UNDP กล่าวว่า “UNDP ได้สร้างโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบดั้งเดิมในเกาะ Malekula ซึ่งการเชื่อมต่อไปหาแต่ละครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายประมาณ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 90,000 บาท) ในขณะที่การเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าบนเกาะ Lelapa มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 36,000 บาท) เท่านั้น”  (น่าจะเป็นการเชื่อมต่อแบบประมาณว่าทางโครงการช่วยออกนะครับไม่แน่ใจผมเข้าใจผิดไหม)

และยังได้กล่าวต่ออีกว่า “ในปี ค.ศ. 2018 ยังมีผู้คนกว่า 789 ล้านคนทั่วโลกที่ยังไม่สามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้า หากพวกเราสามารถขยายขนาดของโครงการ Swarm grids พวกเราก็สามารถนำพลังงานไฟฟ้าไปสู่ชุมชนที่มีความเปราะบางได้อีกถึง 80% โดยมีต้นทุนในการเชื่อมต่อแต่ละจุดประมาณ 400-500 ดอลลาร์สหรัฐ (1,200-1,500 บาท) แต่ละครัวเรือนจะจ่ายค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 60 บาท)

อย่างไรก็ตามเพื่อให้โครงการมีความยั่งยืนในระยะยาว ต้องมีการติดตามว่าสมาชิกในชุมชนมีกำลังจ่ายค่าไฟฟ้าได้หรือไม่  ในกรณีเกาะ Lelapa ซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งก่อสร้างชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานก่อน ได้ใช้รูปแบบการจ่ายตามปริมาณการใช้งานของแต่ละครัวเรือน (Pay-as-you-go model) ในขณะที่ชุมชนอื่นอาจใช้รูปแบบการจัดเก็บค่าไฟในอัตราที่เห็นว่าเหมาะสม

ความสำเร็จของโครงการแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่คนยากจนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น ด้วยวิธีการที่ใช้งบประมาณลงทุนที่ไม่สูงมาก ดังนั้นความเป็นไปได้ที่จะนำพาพลังงานไฟฟ้าไปสู่ผู้คนนับพันล้านที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็เริ่มมีแสงสว่างในปลายทางมากขึ้น แต่ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วยให้การบรรลุเป้าหมาย ‘#SDG7 สร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่เข้าถึง เชื่อถือได้และยั่งยืน’ มีความเป็นไปได้จำเป็นต้องได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐในการดำเนินการและภาคเอกชนในเรื่องของเงินทุน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 มีคุณภาพด้านการศึกษา
(4.a) สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษา ที่เอื้อต่อเด็ก ผู้พิการ และบุคคลทุกเพศ และให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพสำหรับทุกคน
#SDG6 การมีน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี
(6.1) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ภายในปี 2573
#SDG7 เข้าถึงพลังงานสะอาด
(7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ภายในปี 2573
(7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
(7.b) ขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งบริการพลังงานที่เป็นสมัยใหม่และยั่งยืนให้โดยถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนา เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ภายในปี 2573
#SDG9 ส่งเสริมอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
(9.a) อำนวยความสะดวกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและทนทานในประเทศกำลังพัฒนาผ่านทางการยกระดับการสนับสนุนทางการเงินเทคโนโลยี และด้านวิชาการ ให้แก่ประเทศในแอฟริกา ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก

ที่มา :

Energypedia.org

UN

Author

  • Itthiporn Teepala

    Knowledge Communication [Intern] สนใจในการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความรวดเร็ว มีผลกระทบต่อความยั่งยืนหรือมั่นคงในด้านต่าง ๆ อย่างไร

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น