SDG Insights | ความท้าทายด้านความมั่นคง: ผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี

ขณะที่คนไทยโดยมากสนใจประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมักเป็นในเชิงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการลงมือทำเพื่อช่วยลดโลกร้อน ทว่าในอีกมิติหนึ่งที่อาจจะยังขาดหายไป หรือไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายมากนัก ก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในฐานะ ‘ตัวเร่ง’ หรือ ‘ต้นตอ’ ของปัญหา ที่นอกจากจะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว มากไปกว่านั้นคือการส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทาง ‘ภูมิศาสตร์’ (Geography) และในแง่นี้ จึงส่งผลต่อเนื่องต่อ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ (Geopolitics) ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง ความมั่นคงและการรักษาผลประโยชน์ของชาติ การพัฒนาประเทศ ตลอดจนการนับเป็นหนึ่งปัจจัยในการกำหนดความสัมพันธ์และนโยบายระหว่างประเทศ ในวันที่ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ ประชากร และอำนาจเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม

ความมุ่งหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นตัวสร้างโอกาสประสานความร่วมมือโดยเฉพาะระหว่างมหาอำนาจนั้น ในทางกลับกันมันอาจเป็นแรงเสริมให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจและอำนาจที่นำมาซึ่งความตึงเครียดทางสังคม ความขัดแย้งระหว่างรัฐ ความไม่มีเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ และการพลิกโฉมขั้วอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศก็เป็นได้ SDG Insights ฉบับนี้ จึงชวนผู้อ่านมาสำรวจประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับภูมิรัฐศาสตร์ ผลกระทบทางตรงและผลกระทบทางอ้อม รวมถึงตัวอย่างในกรณีของสงครามกลางเมืองของซีเรีย และประเด็นล่าสุดอย่างภูมิรัฐศาสตร์ในมหาสมุทรอาร์กติก

เพื่อในท้ายที่สุดแล้ว ไทยจะเริ่มติดตามพัฒนาการดังกล่าว เตรียมความพร้อมรับมือและกําหนดแนวทางการปฏิสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทั้งในการพัฒนาประเทศและการกำหนดนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงต่อไป


ปูพื้นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์

ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เป็นสหวิชาที่ศึกษาผลกระทบทางภูมิศาสตร์ (มนุษย์และกายภาพ) ที่มีต่อการเมืองและความสัมพันธ์ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นศาสตร์ที่เน้นการศึกษานโยบายเพื่อทำความเข้าใจ อธิบาย และคาดการณ์พฤติกรรมทางการเมืองจากตัวแปรด้านภูมิศาสตร์ ที่หมายรวมถึงภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ ประชากร และอำนาจ

โดยที่หลายพื้นที่ในโลกยังคงถูกจํากัดด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ อาทิ การที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางต่างมีความหวาดระแวงเพราะมุมมองด้านภัยคุกคามที่มีระหว่างกัน อีกทั้งยังมีความต้องการที่จะปกป้องผลประโยชน์จากทรัพยากร เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องเสริมและสร้างกองกําลังป้องกันดินแดนและอํานาจอธิปไตยของประเทศ รวมถึงการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ โดยบางประเทศได้พยายามขยายอิทธิพลเพื่อก้าวข้ามข้อจํากัดทางภูมิศาสตร์ของตนผ่านทั้งการใช้อำนาจแข็ง (Hard Power) ซึ่งหมายถึงอำนาจรูปธรรมที่สัมผัสได้ อาทิ แสนยานุภาพทางทหาร และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพื่อบีบบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ต้องยอมปฏิบัติตาม และอำนาจละมุน (Soft Power) หรือการขยายอิทธิพลด้วยการโน้มน้าวให้เปลี่ยนแปลงความคิด การทำให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่บังคับขู่เข็ญ อาทิ การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่นในหลายประเทศทั่วโลก การส่งออกวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ผ่านภาพยนต์และเพลง และการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance – ODA) โดยเฉพาะกรณีของจีนที่ได้ขยายการลงทุนไปยังภูมิภาคเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และทวีปแอฟริกาผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative: BRI)

ทั้งนี้ ภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงภูมิศาสตร์เพื่อประเมินค่าทางการเมืองต่อพื้นที่หรือตำแหน่งแห่งที่นั้น ๆ ว่ามีความเป็นศัตรู เป็นมิตร หรือน่ากลัว ที่จำต้องสกัดกั้นหรือต้องเข้าไปยึดครองหรือไม่ ภูมิรัฐศาสตร์จึงมักถูกนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางดินแดนในหลาย ๆ กรณี ซึ่งรวมถึงกรณีที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีความคุ้มค่าที่จะขยายที่อยู่ของประชากรหรือขยายฐานทรัพยากรด้วย

ถึงกระนั้น แม้ ภูมิศาสตร์ (Geography) จะส่งผลต่อ ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และการกําหนดผลประโยชน์ทางนโยบายต่างประเทศดังที่อธิบายไว้ข้างต้น แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาด เพราะยังมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ การกำหนดผลประโยชน์ทางนโยบายต่างประเทศ และการพัฒนาประเทศ โดยหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ และอาจเรียกได้ว่าสำคัญที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์และส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์

‘…ด้านหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศควรเป็นตัวเร่งให้เกิดความร่วมมือระหว่างชาติมหาอำนาจ ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศก็ได้สร้างการการแข่งขันทางเศรษฐกิจและอำนาจที่นำมาซึ่งความตึงเครียดทางสังคม ความขัดแย้งระหว่างรัฐ ที่ก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์’

ปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ความแห้งแล้ง พายุไต้ฝุ่น เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 โดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วโลกพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกนั้นร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และในวงการวิทยาศาสตร์เองก็มีข้อสรุปว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างผิดปกตินี้ มีสาเหตุอันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลของนานาประเทศ องค์การระหว่างประเทศ รวมถึงองค์กรพัฒนาไม่แสวงผลกำไรได้เริ่มหาหนทางเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1992 (2535) ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้ร่วมกันลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United National Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่เมือง ริโอ เดอจาเนโร (Rio de Janeiro) ประเทศบราซิล เพื่อร่วมจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การเห็นชอบการประกาศใช้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เป็นกฏหมายของประเทศอุตสาหกรรม 35 ประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรป ในปี 1997 (2540) การที่หลายประเทศให้สัตยาบันข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และการที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศลงนามความร่วมมือที่จะผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งมีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เป้าหมายที่ 13: การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ในปี 2015 (2558) เป็นต้น

ผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการที่ทุกประเทศต่างมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน ควรเป็นโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ลดความบาดหมางและหันมาร่วมมือหาหนทางในการรับมือภัยต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทว่าความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น แรงกดดันจากการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความตึงเครียดทั้งภายในและระหว่างประเทศทั่วโลก วิกฤตสภาพอากาศเปรียบเสมือนดาบสองคมสำหรับความสัมพันธ์ของประเทศมหาอำนาจอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ด้านหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศควรเป็นตัวเร่งให้เกิดความร่วมมือระหว่างชาติมหาอำนาจ ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศก็ได้สร้างการแข่งขันทางเศรษฐกิจและอำนาจที่นำมาซึ่งความตึงเครียดทางสังคม ความขัดแย้งระหว่างรัฐ ที่ก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์

ผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ: ความอดอยากและการอพยพ

เมื่อโลกต้องเปลี่ยนไปด้วยฝีมือมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของโลกเองก็จะกลับมาส่งผลทางลบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เช่นเดียวกัน ตั้งแต่ปี1995 (2538) จนมาถึงปี 2015 (2558) หลายแสนคนต้องสูญเสียชีวิต และมากกว่า 4 ล้านคนได้รับบาดเจ็บหรือต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยจากอุทกภัย ความแห้งแล้ง พายุ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และคลื่นความร้อน ที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วหรือปรากฎการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ยิ่งคนในพื้นที่ยากจนหรือพื้นที่ที่มีความเปราะบางสูงและมีความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต่ำ ก็มักจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกเหนือจากการสูญเสียโดยตรงแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยในภาคการเกษตรของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อนขึ้น ภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น และฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล ซึ่งล้วนส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรทำให้พืชผลผลิตลดน้อยลง ไม่สามารถหล่อเลี้ยงทุกชีวิตภายในประเทศได้ ในสถานการณ์ที่ภาวะโลกร้อนนั้นทำให้ทรัพยากรของโลกลดน้อยลง การเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ในอนาคตไม่ใช่เพียงแค่ระบบทุนนิยมเท่านั้นที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวย ภาวะโลกร้อนเองก็สามารถก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ไม่ต่างกัน งานศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เผยว่ายิ่งอุณหภูมิสูงขึ้นมากเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำนั้นจะยิ่งสูงขึ้นตาม

ความแร้นแค้นทางด้านอาหาร การที่ต้องสูญเสียวิถีชีวิต หรือการสูญเสียที่อยู่อาศัยทำให้คนหลายคนเลือกที่จะอพยพไปยังพื้นที่อื่นที่จะสามารถทำให้เขาเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงขึ้น งานศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) สำรวจผู้คนที่แสดงความจำนงขอลี้ภัยมายังสหภาพยุโรปในช่วงตั้งแต่2000 (2543) ถึง 2014 (2557) พบว่ายิ่งประเทศใดที่มีอุณหภูมิในพื้นที่เกษตรกรรมแปรปรวนจากค่าอุณหภูมิที่เหมาะสม ประเทศนั้นก็จะมีจำนวนผู้ส่งคำขอลี้ภัยมากขึ้นตามมาด้วย หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีความกังวลกับปัญหาผู้ลี้ภัยอันเนื่องมาจากผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Refugees) ทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ เมื่อมีคนจำนวนมากย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่นั้น ๆ อาจไม่สามารถรองรับความต้องการของทุกคนได้ การไม่สามารถรองรับคนที่อพยพเข้ามาใหม่จะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและความขัดแย้งระหว่างผู้อยู่เดิมและผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่

ศาสตราจารย์ ฮารัลด์ เวลเซอร์ (Harald Welzer) แห่งมหาวิทยาลัยไฟรบวร์ค (Albert-Ludwigs-Universität Freiburg) อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะเป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ในความขัดแย้งทั่วโลก และจะเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ขับเคลื่อนความขัดแย้งต่าง ๆ การแย่งชิงทรัพยากรจะเป็นตัวแปรแท้จริงที่จะทำให้ผู้คนลุกขึ้นมาสู้รบกันเอง มีการคาดการณ์ว่าในทวีปแอฟริกาจะเผชิญกับความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากรทั้งภายในและระหว่างประเทศมากขึ้นเกือบสองเท่า ตัวอย่างความตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากแม่น้ำไนล์ระหว่างประเทศเอธิโอเปีย ประเทศซูดาน และประเทศอียิปต์ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้หลายพื้นที่ของทั้งสามประเทศยิ่งแห้งแล้งยิ่งขึ้น การแย่งชิงทรัพยากรจะยิ่งตึงเครียดขึ้นและอาจก่อให้เกิดสงครามในอนาคต

นอกจากความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สินแล้ว สงครามจะส่งผลให้เกิดการอพยพใหญ่ของประชากรจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ประเทศที่ต้องรับผู้อพยพอาจจะต้องประสบกับปัญหาด้านความมั่นคงของตนเอง เนื่องจากการปกป้องประชาชนในประเทศจากผู้ไม่หวังดีที่อาจแฝงตัวเข้ามากับผู้ลี้ภัย การควบคุมโรคระบาด และการสละทรัพยากรบางส่วนของตนเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพ ทว่าการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือหรือควบคุมผู้ลี้ภัยโดยไม่พิจารณาอย่างรอบคอบก็อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เช่นกัน สมมติว่าชนกลุ่มน้อยของประเทศหนึ่งกำลังอพยพไปยังประเทศอื่น ๆ เนื่องจากความขัดแย้งด้านทรัพยากร ประเทศที่รับผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาจถูกมองว่ากระทำโดยมิชอบหรือเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในวงกว้าง

หลายประเทศเริ่มมีความกังวลกับความมั่นคงภายในประเทศจากการรับผู้ลี้ภ้ยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเริ่มออกนโยบายและกฏหมายเพื่อเตรียมตัวกับปรากฏการณ์นี้  ในประเทศนิวซีแลนด์ เจมส์ ชอว์ (James Shaw) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Minister of Climate Change) ได้เสนอให้รัฐบาลของ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Arden) ทำการออกวีซ่าด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Visa for Climate Refugees) ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิกหรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอื่น ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการด้านความมั่นคงภายในประเทศ ทำให้นิวซีแลนด์ก้าวเข้ามามีบทบาทเกี่ยวกับการอพยพและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากขึ้นในระดับโลก อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

นอกจากประเทศหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศที่มีพื้นที่ชายฝั่งติดมหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะประเทศบังกลาเทศ และประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรจำนวนมากประกอบกิจกรรมการเกษตรอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มใกล้ชายฝั่ง โดยเฉพาะประเทศเมียนมาที่อาจเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญในแง่การเมืองด้านความมั่นคงของทวีปเอเชีย เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอินเดียกับจีน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางทางเลือกสำหรับจีนในการเข้าถึงมหาสมุทรอินเดีย โดยไม่ต้องผ่านทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือช่องแคบมะละกาที่ต้องผ่านสิงคโปร์ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ประเทศจีนที่ได้กลายเป็นมหาอำนาจระดับโลกที่สำคัญในทศวรรษที่ผ่านมาสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเมียนมาเพื่อผลประโยชน์ต่อตนเองได้เช่นเดียวกับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหรือมนุษยธรรมเพื่อแลกกับการเข้าถึงท่าเรือของเมียนมาในมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้ ความขัดแย้งในเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของสหรัฐฯ ในเมียนมา อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่น่าจะปล่อยให้จีนเข้ามาครอบครองการค้าและการทหารในมหาสมุทรอินเดีย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
SDG Updates | Climate Migration ไม่ว่าใครก็อาจต้อง ‘ย้ายบ้าน’ เมื่อภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไม่มีที่อยู่
ผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate refugees): ประเด็นใกล้ตัวที่โลกยังตระหนักถึงน้อยเกินไป
อากาศร้อนจัดจาก Climate Change อาจทำให้แพทย์ในนอร์เทิร์น เทร์ริทอรี ออสเตรเลีย พิจารณาการย้ายออกจากพื้นที่

ตัวอย่างผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : กรณีสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรีย

มีหลักฐานหลายชิ้นที่บ่งบอกว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามที่ประเทศซีเรียนั้น มีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในฐานะต้นตอหนึ่งของความขัดแย้ง ซีเรียเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมีพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งคร่อมอยู่ในดินแดนวงพระจันทร์เสี้ยวไพบูลย์ (Fertile Crescent) ซึ่งเป็นอู่อารยธรรม (Cradle of civilization) และต้นกำเนิดกสิกรรมและอารยธรรมมากมายตั้งแต่โบราณ เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่หล่อเลี้ยงชาวตะวันออกกลางมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ทว่าเมื่ออุณภูมิโลกที่สูงขึ้น พื้นที่ที่เคยสมบูรณ์ก็เปลี่ยนไป ฤดูแล้งที่ยาวนานและปริมาณฝนลดน้อยลงอย่างรวดเร็วทำให้เกษตรกรรมในพื้นที่แถบนี้ได้รับผลกระทบโดยตรง

ซีเรียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลงในช่วงปี 1999 (2542) ถึง 2009 (2552) และต้องเผชิญกับผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำหลายครั้ง เมื่อภาคการเกษตรไม่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนได้อีกต่อไป คนในชนบทจะเข้ามาในเขตเมืองเพื่อหางานทำ ขณะที่ผู้คนในประเทศกำลังประสบปัญหาครั้งใหญ่ รัฐบาลที่ถืออำนาจของซีเรียนั้นกลับไม่ได้มีเครื่องมือในการจัดการเพื่อกระจายทรัพยากรที่ดีพอ โดยได้ปล่อยให้ระบบทุนนิยมแบบพวกพ้องที่เอื้อประโยชน์ให้เพียงคนบางกลุ่มต่อไป แทนที่จะบังคับเก็บภาษีหรือกำจัดการคอรัปชั่นในหมู่ชนชั้นนำ รัฐกลับเลือกที่จะจำกัดสวัสดิการรัฐและการศึกษา อีกทั้งยังลดเงินสนับสนุนทางการเกษตรและพลังงาน เหล่านี้สร้างความไม่พอใจของประชาชนต่อประธานาธิบดีบัชชาร อัลอะซัด (Bassar Hafiz al-Asad)

ความไม่สงบเริ่มต้นในฤดูใบไม้ผลิปี 2011 (2554) ในบริบทของการประท้วงอาหรับสปริง (Arab Spring) ความขัดแย้งค่อย ๆ กลายสภาพจากการประท้วงของประชาชนเป็นการก่อกบฏที่ติดอาวุธ หลังการล้อมทางทหารหลายเดือนและพัฒนาจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่มีการแทรกแซงจากหลากหลายกลุ่ม รวมถึงประเทศมหาอำนาจ นักภูมิรัฐศาสตร์หลายคนมองว่าการเข้ามาสนับสนุนผู้ประท้วงชาวซีเรียของสหรัฐฯ และอิสราเอลนั้น คือการรักษาผลประโยชน์ด้านน้ำมันในภูมิภาค รัสเซียเองก็มองปรากฏการณ์อาหรับสปริงว่าถูกสนับสนุนโดยสหรัฐฯ เพื่อสร้างกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจ นอกจากนี้ รัสเซียยังมองว่าบทบาทดังกล่าวของสหรัฐฯ และพันธมิตร ส่งผลกระทบข้างเคียงคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเบ่งบานของกลุ่มก่อการร้ายที่อาจเชื่อมโยงกับกลุ่มแถบคอเคซัส (Caucasus) และเอเชียกลาง ซึ่งเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อรัสเซียด้วยเช่นกัน รัสเซียจึงเข้ามาสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีบัชชาร อัลอะซัด เพื่อต่อสู้กับกลุ่มกบฏดังกล่าว

อาจกล่าวได้ว่า ต้นกำเนิดของสงครามในซีเรียเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผนวกกับประเด็นด้านอำนาจและผลประโยชน์จากน้ำมันของชาติมหาอำนาจภายในภูมิภาคตะวันออกกลางและตอนเหนือของทวีปแอฟริกา แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่ชนะสงครามนี้ คนที่แพ้ก็คือประชากรชาวซีเรียกว่าล้านชีวิต

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
SDG Updates | โลกไม่อาจยุติความหิวโหยได้ หากไม่สามารถยุติความขัดแย้ง และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น

ภูมิรัฐศาสตร์ของมหาสมุทรอาร์กติก เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย

ตัวอย่างประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกที่ส่งผลต่อการการพัฒนาประเทศ, การรักษาและปกป้องผลประโยชน์, การกำหนดเขตแดน, และการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศ

ตัวอย่างของความไม่มีเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตอันใกล้ สามารถเห็นได้จากมหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Ocean) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ทะเลอาร์กติกมีส่วนที่ไม่เป็นน้ำแข็งมีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคต รัสเซียและมหาอํานาจต่าง ๆ เริ่มให้ความสําคัญกับพื้นที่บริเวณทะเลอาร์กติกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในอนาคตการเดินทางผ่านทะเลอาร์กติกจะช่วยร่นระยะทางในการเดินทางข้ามทวีป และเป็นโอกาสสําหรับการสํารวจทรัพยากรที่อยู่ใต้มหาสมุทร รัสเซียได้พัฒนาการใช้เทคโนโลยีเพื่อสํารวจและสัญจรบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งและมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีนี้มากกว่ามหาอํานาจอื่น ๆ อีกเหตุผลหลักที่ทำให้รัสเซียยิ่งต้องการครอบครองทะเลอาร์กติกมาจากความจริงที่ว่าเมื่อพื้นที่ในแถบอาร์กติกปลอดน้ำแข็งมากขึ้น ประเทศอื่น ๆ ก็จะสามารถเข้าถึงอาณาเขตทางตอนเหนือของรัสเซียได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย นอกจากกิจกรรมทางทหารเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการ “ข่ม” ชาติอื่น ๆ และการส่งเสริมเส้นทางทะเลเหนือแล้ว รัสเซียยังได้พัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบลอยตัวในมหาสมุทรอาร์กติกเครื่องแรกของโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่น ๆ เองก็ไม่ยอมให้รัสเซียมีอำนาจเหนือมหาสมุทรอาร์กติกแต่เพียงผู้เดียว สหรัฐฯ เริ่มจับมือกับนอร์เวย์ป้องกันอาณาเขตและความต้องการของตนเอง มหาอำนาจในโลกอื่น ๆ ที่ถึงแม้จะไม่มีแผ่นดินติดกับมหาสมุทรอาร์กติก อาทิ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองด้วย

ผลกระทบทางอ้อม: การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจอย่างไม่คาดคิด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีสัญญาณและแนวโน้มมากมายที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหันไปใช้พลังงานทดแทน ตัวอย่างของสัญญาณสำคัญประกอบไปด้วย การที่บีพี (BP) หนึ่งในบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกเริ่มคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ความต้องการน้ำมันของโลกกำลังจะถึงจุดสูงสุด ประเทศเยอรมันตั้งเป้าให้มีรถยนต์ไฟฟ้า 14 ล้านคันภายในปี 2030 (2573) ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งรวมกันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 1 ใน 3 ของการปล่อยทั่วโลกในปี. 2018 (2561) ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2050 (2593) สำหรับเกาหลีและญี่ปุ่น และภายในปี 2060 (2603) สำหรับจีน ส่วนในสหรัฐฯ ผลสำรวจความคิดดของประชาชนแสดงให้เห็นถึงความกังวลของประชาชนส่วนใหญ่ที่มีต่อภัยคุกคามจากสภาพภูมิอากาศ อาทิ ความแห้งแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย และผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนในรัฐทางตอนใต้ของประเทศ

การเปลี่ยนโฉมของโลกไปสู่ยุคพลังงานสะอาดนั้น จะมีผลกระทบกับความสัมพันธ์ระดับโลก มีการคาดการณ์ว่าในการแข่งขันเพื่อผลิตพลังงานสะอาด จีนจะเป็นผู้ชนะ ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะหมดความสำคัญในเวทีโลก ทว่าในความเป็นจริง ผลกระทบทางการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงของพลังงานสะอาดจะมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน โดยถึงแม้ประเทศจีนจะได้รับประโยชน์จากการครองส่วนแบ่งตลาดของสินค้าพลังงานสะอาด อาทิ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีอื่น ๆ และประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะมีอิทธิพลในระดับโลกที่น้อยลง แต่จีนก็จะไม่ได้มีอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์แบบเดียวกับที่ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต การ์ตา และรัสเซีย มีอิทธิพลจากการครอบครองน้ำมัน นี่ก็เพราะว่าแม้จีนจะมีอำนาจในการควบคุมการผลิตและส่งออกสินค้าและอุปกรณ์พลังงานสะอาดจนทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น ทว่าจีนอาจไม่สามารถสร้างความกดดันทางการเมือง (ด้วยการใช้ความเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด) ได้มากนัก ในเมื่อหลายประเทศสามารถหันกลับไปใช้พลังงานจากน้ำมันได้เช่นกัน

สินค้าโภคภัณฑ์บางอย่างที่จีนสามารถครองตลาดได้ อาทิ แร่ลิเทียม และแร่โคบอลต์ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดหลายอย่าง อาทิ แบตเตอรี่ การครองตลาดของสินค้าเหล่านี้ ทำให้จีนอาจมีอิทธิพลในระดับโลก เนื่องจากลิเทียมและโคบอลต์มีความสำคัญในด้านการทหารและการสื่อสาร ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับความมั่นคงในหลายประเทศทั่วโลก ทว่าหากจีนเลือกที่จะไม่ส่งสินค้าเหล่านี้ อุตสาหกรรมในหลายประเทศอาจได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะต้องหยุดชะงัก มิหนำซ้ำหากจีนเลือกทำเช่นนั้นก็เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณให้บริษัทต่างชาติมองหาสินค้าทดแทนอื่นแทนการพึ่งสินค้าจากจีน  จริงอยู่ที่ลิเทียมและโคบอลต์จะเป็นแร่โลหะหายาก แต่ก็ไม่ใช่จีนประเทศเดียวที่สามารถผลิตแร่เหล่านี้ได้ เพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นการผลิตให้เกิดขึ้นในสถานที่ใหม่

ในส่วนของประเทศผู้ผลิตน้ำมันในแถบตะวันออกกลาง แม้ว่าในอนาคตความต้องการน้ำมันจะลดลง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะหายไปอย่างรวดเร็ว ประเทศอย่างซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังจะสามารถขายน้ำมันได้ต่อไปในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อการผลิตน้ำมันลดลง ราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย เท่ากับว่าแม้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะขายน้ำมันได้น้อยลง แต่กำไรต่อหน่วยก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ หลายประเทศในโลกอาหรับอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และการ์ตา ก็ได้ใช้กำไรจากการขายน้ำมันมาพัฒนาด้านอื่น ๆ ของประเทศ จนทำให้เมืองใหญ่ ๆ อาทิ ดูไบ อาบูดาบี และโดฮา กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงิน การค้า และการบินระดับโลก

ขณะที่รัสเซียอาจได้รับอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ในปัจจุบันรัสเซียจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก แต่รัสเซียเองก็มีบทบาทสำคัญในเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์แบบไม่มีคาร์บอน รัสเซียเป็นผู้ส่งออกเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์พลเรือนชั้นนำในปัจจุบัน และยังได้ใช้บทบาทของตนในฐานะผู้ส่งออกนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มอิทธิพลทางการเมืองและกำหนดกฎเกณฑ์ในภาคพลังงานของโลกด้วย


บทสรุป

ในอนาคต พื้นที่ทางภูมิศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงไปและเป็นความท้าทายใหม่ที่เพิ่มเติมจากประเด็นที่ของพื้นที่ทางกายภาพดั้งเดิม ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ จึงเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำความเข้าใจกระบวนการที่ทำให้ภูมิศาสตร์กลายมาเป็นภาพแทนของการเมืองหรือมีพลังทางการเมืองขึ้นมา และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงการกําหนดนโยบายด้านการต่างประเทศของมหาอํานาจและประเทศต่าง ๆ มากขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างโชคดีที่ประชากรส่วนใหญ่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจริงและกำลังก่อให้เกิดปัญหามากมาย อย่างไรก็ตาม การสนทนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิมักจะเกี่ยวกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่องค์ความรู้และความเข้าใจไม่ว่าจะเป็นในเรื่องผลกระทบต่าง ๆ แนวโน้มความรุนแรงของภัยที่อาจเกิดขึ้น แนวทางสำคัญที่จะมีส่วนร่วมในการชะลอภาวะโลกร้อน อาทิ การลดการใช้พลังงานฟอสซิลและการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงและความเปราะบาง ตลอดจนองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความมั่นคงของชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านมุมมองภูมิรัฐศาสตร์ ในฐานะที่เป็นศาสตร์สำคัญภายใต้ร่มของภูมิศาสตร์ที่มีการบูรณาการองค์ความรู้ด้านรัฐศาสตร์และการทหารนั้น ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายนัก

ทั้งนี้ ประเทศไทยควรติดตามพัฒนาการในด้านดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและกําหนดแนวทางการปฏิสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทั้งในการพัฒนาประเทศและการกำหนดนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงต่อไป

ถิรพร สิงห์ลอ – พิสูจน์อักษร

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – เมื่อสภาพภูมิอากาศในบทความนี้เป็น ‘ตัวเร่ง’ หรือ ‘ต้นตอ’ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ความมั่นคง การพัฒนาประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบกับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว-กำลังพัฒนา / ซีกโลกเหนือ – ซีกโลกใต้ ตาม #SDG17 และการมีสันติภาพและความสงบสุขระหว่างประเทศตาม #SDG16

ขณะที่ในรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ (Geography) และภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) มีผลต่อ #SDG10 ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ ในมิติที่เกี่ยวกับผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย (10.7) #SDG1 ความเปราะบางต่อภัยพิบัติ/สภาพภูมิอากาศของคนยากจน (1.5) และ #SDG2 ความมั่นคงทางอาหาร


อ้างอิง

Agnew, J. (2003). Geopolitics: Re-visioning world politics. London: Routledge.

Ahmed, N. (2013). Peak oil, climate change and pipeline geopolitics driving Syria conflict. The Guardian. https://www.theguardian.com/environment/earth-insight/2013/may/13/1.

Bordoff, J. (2020). Everything You Think About the Geopolitics of Climate Change Is Wrong.       Foreign Policy. https://foreignpolicy.com/2020/10/05/climate-geopolitics-petrostates-          russia-china/.

Garthwaite, J. (2019). Climate change has worsened global economic inequality. Stanford News. https://news.stanford.edu/2019/04/22/climate-change-worsened-global-economic-inequality/.

Hall, N. (2020). New Zealand: A global leader on climate and displacement? Policy Forum. https://www.policyforum.net/new-zealand-a-global-leader-on-climate-and-displacement/.

สุมาลี สุขดานนท์. (2562). เส้นทางสายไหมใหม่ เส้นทางการค้าแห่งอนาคต. ค้นจาก http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/saimai/2/saimai.html.

สมานฉันท์ พุทธจักร. (2561) บทสัมภาษณ์ ‘HARALD WELZER’ ภาวะโลกร้อนจะนำเราไปสู่สงครามแห่ง     ทศวรรษ. ค้นจาก https://www.tcijthai.com/news/2018/13/article/7737.

Last Updated on ธันวาคม 4, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น